คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท

“Save a little money each month and at the end of the year you’ll be surprised at how little you have.”

― Ernest Haskins

เก็บเงินให้ได้เดือนละนิดหน่อยแล้วตอนสิ้นปีคุณจะแปลกใจที่คุณมีเงินเก็บแค่นิดหน่อย

Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือ I Will Teach You To Be Rich บอกว่าคนส่วนใหญ่ชอบถามคำถามร้อยบาท (จะซื้อกาแฟแก้วนี้ดีมั้ย) ทั้งที่จริงแล้วสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จด้านการเงินคือคำถามล้านบาท เช่นจะให้ลูกเรียนที่ไหน (โรงเรียนอินเตอร์ในเมืองไทยมีค่าเทอมตั้งแต่แสนกว่าบาทถึงล้านกว่าบาท)

นักประวัติศาสตร์นาม Cyril Parkinson ได้ตั้งกฎที่ชื่อว่า Parkinson’s Law of Triviality – กฎพาร์คินสันแห่งเรื่องไม่เป็นเรื่อง

กฎนี้ระบุว่า “ความใส่ใจต่อปัญหาจะแปรผกผันกับความสำคัญของปัญหานั้น” (The amount of attention a problem gets is the inverse of its importance.)

เพื่อให้เห็นภาพ พาร์คินสันให้เราจินตนาการถึงคณะกรรมการที่มีงบประมาณสามโปรเจ็กต์ให้พิจารณา

ตู้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์งบ 300 ล้านบาท

ซุ้มจอดรถจักรยานของพนักงานงบ 10,000 บาท

ขนมกับเครื่องดื่มสำหรับพนักงานงบ 1,000 บาท

คณะกรรมการอนุมัติตู้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์แทบจะทันที เพราะตัวเลขสูงเกินกว่าจะรู้ว่าแพงหรือไม่แพง ตัวเลือกอื่นก็ไม่อยากนึกถึง และไม่มีใครในคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานนิวเคลียร์

โปรเจ็กต์ซุ้มจักรยานนั้นใช้เวลาคุยนานกว่า พวกเขาเถียงกันว่าแค่ตั้งรางจอดจักรยานก็พอแล้วหรือไม่ หรือถ้าจะทำหลังคาควรจะใช้ไม้หรือใช้อลูมินัมดี

ส่วนขนมและเครื่องดื่มนั้นใช้เวลาคุยนานที่สุด เพราะคณะกรรมการทุกคนต่างมีความเห็นที่แน่วแน่ของตัวเองว่าควรใช้กาแฟยี่ห้อไหน คุ้กกี้รสอะไร ฯลฯ

เวลาที่เราคุยกับคนในครอบครัว เราก็มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ถกเถียงในเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญเช่นกัน


ข้อความด้านบนนี้ผมเรียบเรียงและดัดแปลงมาจากบทความชื่อ The Art and Science of Spending Money ของ Morgan Housel

มีทั้งหมด 13 ข้อ แต่ผมชอบข้อ 6 เป็นพิเศษ – Asking $3 questions when $30,000 questions are all that matter

เราจะคุ้นเคยกับคำสอนของ financial guru ที่บอกว่า ถ้าไม่กินกาแฟยี่ห้อ XX เป็นเวลากี่สิบปี เราจะมีเงินเก็บ YY บาท

จริงอยู่ว่าเรื่องเล็กน้อยนั้นก็ใช่ว่าจะไม่สำคัญเลย เพราะ how you do anything is how you do everything.

แต่การใส่ใจเรื่องเล็กน้อยจะแทบไม่มีความหมาย ถ้าเราไม่จัดการเรื่องใหญ่ๆ ให้ถูกต้อง เพราะโลกใบนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย Pareto Principle หรือกฎ 80/20

จะเลือกกินกาแฟแบรนด์ไหน จึงไม่สำคัญเท่ากับเราเลือกซื้อรถยี่ห้ออะไร

หรืออย่างการเลือกที่ทำงาน A กับ B – บริษัท A อาจให้เงินเดือนมากกว่า 10% แต่ถ้าบริษัท B มีปัจจัยอื่นๆ เช่นใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า ให้ทำงานที่บ้านได้บ้าง อยู่ในเซ็กเตอร์ที่กำลังเติบโต ปัจจัยเหล่านี้รวมกันแล้วน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าฐานเงินเดือนที่น้อยกว่าบริษัท A

คนบางคนซื้อของกับแม่ค้าแล้วต่อราคาแล้วต่อราคาอีก แต่คนคนเดียวกันนี้กลับพร้อมลงทุนในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้เป็นเงินหลักแสนได้หน้าตาเฉย

เราใช้เวลากับคำถามร้อยบาทมากไปหรือไม่

เราใช้เวลากับคำถามล้านบาทน้อยไปหรือเปล่า

เป็นเรื่องน่าคิด และอาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้ครับ