นิทาน MVP

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

Kevin Durant เป็นนักบาสเกตบอลผิวสีที่เคยได้รางวัล “ผู้เล่นทรงคุณค่าที่สุดของ NBA” (Most Valuable Player) ประจำฤดูกาล 2014

Durant ในวัย 25 ปีขึ้นรับรางวัล MVP และกล่าวคำขอบคุณผู้คนมากมาย

นี่คือช่วงสุดท้ายของสุนทรพจน์ครับ

“…และคนสุดท้ายที่ผมอยากขอบคุณ ก็คือแม่

ผมว่าแม่ไม่รู้ตัวหรอกว่าแม่ได้ทำอะไรลงไป

แม่คลอดพี่ชายของผมตอนแม่อายุ 18 ปี

อีก 3 ปีต่อมา ผมก็ลืมตาดูโลก

การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองตอนที่แม่อายุแค่ 21 ปีมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

พวกเรามักถูกขับไล่ไสส่ง ต้องย้ายที่อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

หนึ่งในความทรงจำที่ดีที่สุด คือตอนที่เราย้ายเข้าอพาร์ตเมนต์เป็นครั้งแรก ไม่มีเตียง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไรทั้งนั้น แต่เราก็นั่งกอดกันอยู่ที่พื้นห้อง เพราะเราคิดว่าพวกเรารอดแล้ว

ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่สำหรับผม เวลามีสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต ผมมักจะมองย้อนกลับไปเพื่อดูว่าอะไรที่พาให้ผมมาถึงจุดนี้

แม่ชอบปลุกผมตอนกลางดึกในคืนฤดูร้อนและสั่งให้ผมวิ่งขึ้นเนิน สั่งให้วิดพื้น แถมยังคอยตะโกนเชียร์ผมอยู่ข้างคอร์ตบาสตั้งแต่สมัยผมอายุ 8-9 ขวบ

จริงๆ แล้วเราไม่ควรมาถึงจุดนี้ด้วยซ้ำ แม่ทำให้ผมและพี่ชายมีศรัทธาในตัวเอง แม่ไม่ยอมปล่อยให้พวกเราเป็นกุ๊ยข้างถนน

แม่เป็นคนหาเสื้อผ้ามาให้พวกเราใส่ หาอาหารมาให้พวกเรากิน

แม้ตอนที่แม่ไม่ได้กินข้าว แม่ก็ยังเมคชัวร์ว่าผมกับพี่ได้กินอะไรเสมอ แม่เข้านอนทั้งๆ ที่ท้องหิวอยู่อย่างนั้น

แม่เสียสละให้พวกเรามากมาย

แม่ต่างหากที่เป็น MVP ตัวจริง


ฟังนิทานจากปาก Kevin Durant ได้ที่ https://youtu.be/MN5YnVlDnIQ?t=299

เงินไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจ่ายเวลาซื้อของ

พอชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เราจะคิดถึงเรื่องเงินน้อยลง

เมื่อจิตใจไม่ได้จับจ้องกับรายได้/รายจ่ายเท่าไหร่นัก มันจึงมีที่ว่างให้มองเห็นมิติอื่นที่เราต้องจ่ายด้วย

โต๊ะทำงานใหม่

  • เงิน 20,000 บาท
  • เวลา/พื้นที่ในบ้านที่เสียไปสำหรับการหาที่อยู่ใหม่ให้โต๊ะทำงานเก่า

หนังสือ pocket book ที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว

  • เงิน 250 บาท
  • เวลา 2 ชั่วโมงที่เราควรเอาไปอ่านหนังสือที่มีประโยชน์หรือสนุกกว่านี้

คืนนี้ดูซีรี่ส์ Netflix เพิ่มอีกสองตอน

  • เงิน 0 บาท (เหมาจ่ายรายเดือนอยู่แล้ว)
  • อารมณ์ที่หม่นๆ ทั้งวันเพราะนอนไม่พอ

ชานมไข่มุก 1 แก้ว

  • เงิน 60 บาท
  • LDL +0.1 หน่วยสำหรับการตรวจสุขภาพปีถัดไป (100 แก้ว = LDL +10!)

เราอาจคุ้นชินกับวิธีคิดแบบทุนนิยมมาเนิ่นนาน จนให้น้ำหนักกับเรื่องตัวเงินมากไปหน่อย

ทั้งที่จริงแล้วการซื้อของแต่ละอย่าง มีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น มันมักต้องแลกมาด้วยเวลา สุขภาพ physical space หรือ mental space เสมอ

มองหามันให้เจอ และไตร่ตรองให้ดีก่อนซื้ออะไรเข้าบ้าน/เข้าปากครับ

คนที่มี self-discipline คือคนที่มีเมตตากับตัวเอง

เพราะเขารู้ดีว่าชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

วันนี้แข็งแรง พรุ่งนี้อาจจะป่วยก็ได้

วันนี้มีงานทำ พรุ่งนี้อาจตกงานก็ได้

วันนี้มีเงินใช้ พรุ่งนี้อาจขัดสนก็ได้

วันนี้ไร้ความทุกข์ใด พรุ่งนี้อาจทุกข์อย่างเหลือคณานับก็ได้

ดังนั้นเขาจึงจะใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่หลงคิดว่าฟ้านี้จะสีครามไปตลอด

เขาจึงออกกำลังกาย กินของดีๆ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มความน่าจะเป็นที่จะมีร่างกายที่แข็งแรงตลอดชั่วอายุขัย

เขาจึงตั้งใจทำงานให้เกินเงินเดือน ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ระมัดระวังคำพูด ไม่เอาเปรียบใคร ไม่หวั่นงานหนัก ไม่หยุดเรียนรู้ เพราะความมั่นคงในหน้าที่การงานไม่ได้เกิดจากความมั่นคงของบริษัทหรือเศรษฐกิจ แต่เกิดจากความมั่นคงในทักษะและ EQ ของคนคนนั้น

เขาจึงใช้เงินให้น้อยกว่าที่หามาได้ มีเงินเหลือเก็บและลงทุน มองหารายได้แหล่งที่สอง-สาม-สี่ เพราะรู้ว่าไม่อาจเอาชีวิตทั้งหมดไปฝากไว้กับเงินเดือนได้

เขาจึงหมั่นฝึกฝนจิตใจเพื่อให้ความทุกข์มาเกาะได้ยาก เมื่อถึงวันที่มีฝนฟ้าคะนองจะได้ยังคงสติเอาไว้ได้

การมีวินัยคือการเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวในอนาคต ตัวเราที่อ่อนแอกว่าตอนนี้และอาศัยอยู่ในโลกที่ผันผวนยิ่งกว่าตอนนี้

คนที่มี self-discipline จึงเป็นคนที่มีเมตตากับตัวเองที่สุดครับ

Outcome สำคัญกว่า Output

นี่เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับคนที่ชอบความ productive

เราบอกตัวเองว่าต้องเก่งขึ้น เร็วขึ้น ทำให้มากขึ้น มีผลงานให้มากขึ้น

แต่คำถามสำคัญก็คือสิ่งต่างๆ ที่เราทำออกมา สุดท้ายแล้วนำมาสู่อะไรบ้าง

เหมือนเราเล่นเกม เก็บไอเท็มมาได้มากมาย (output) แต่สุดท้ายแล้วเราเอาชนะตัวบอสและช่วยเจ้าหญิงได้รึเปล่า (outcome)

ปี 2564 กำลังจะหมดลง เป็นเวลาที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวเอง ว่า what you’ve got to show for all the hard work you have done

ถ้าพบว่า เหนื่อยแทบตาย แต่สุดท้ายไม่ค่อยมีอะไรที่เราจะหยิบขึ้นมาบอกได้ว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่มีความหมายและเราภาคภูมิใจ

ก็อาจต้องกลับมาทบทวน game plan ของตัวเองใหม่ ว่าปีหน้าจะวางตัว-วางใจอย่างไร อะไรคือสิ่งที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้และทำได้ดี

โจทย์นี้ไม่ได้ง่าย แต่คุ้มค่าต่อการใช้เวลาใคร่ครวญ

ไม่อย่างนั้นเราจะติดกับดักตัวเลขและการวัดผล ซึ่งมันอาจไม่ได้มีความหมายอะไรจริงๆ ก็ได้ครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ ทำมากเหนื่อยฟรี ทำถูกวิธีไม่เหนื่อยเลย โดย ฮิโรคาซึ ยามานาชิ (Hirokazu Yamanashi)

วิธีคำนวณว่าเราควรมี net worth อยู่เท่าไหร่

คำศัพท์หนึ่งทางการเงินที่ฝรั่งใช้บ่อยแต่คนไทยมักจะไม่ได้พูดถึงกันคือคำว่า net worth

Net worth หรือความมั่งคั่งสุทธิ คือการเอาทรัพย์สินที่เรามีอยู่ทั้งหมด ลบด้วยหนี้สินที่เรามีอยู่ทั้งหมด

เวลาสื่อพูดว่า Elon Musk หรือ Jeff Bezos กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก เขาก็มักจะดูกันที่ net worth นี่แหละครับ โดยตัวแปรที่สำคัญที่สุดสำหรับคนเหล่านี้ก็คือราคาหุ้นอย่าง Tesla หรือ Amazon ที่พวกเขาถืออยู่นั่นเอง

สำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ net worth น่าจะดูได้จากเงินเก็บ พอร์ตการลงทุน รถ บ้าน หรือคอนโดที่เราซื้อเอาไว้ หักด้วยหนี้ผ่อนบ้านหรือหนี้ผ่อนรถต่างๆ

สมมตินาย A มีเงินเก็บอยู่ 1 ล้านบาท
มี SSF/LTF/RMF อยู่ 1 ล้านบาท
มี Provident Fund อยู่ 1 ล้านบาท
มีบ้านชานเมือง ราคาตลาด 6 ล้านบาท
มีรถที่ซื้อมา 3 ปี ถ้าขายต่อน่าจะราคา 5 แสนบาท

นาย A ก็จะมีทรัพย์สินอยู่ทั้งสิ้น 9.5 ล้านบาท

ส่วนฝั่งหนี้สิน นาย A มีหนี้ผ่อนรถอยู่ 5 แสนบาท และหนี้ผ่อนบ้านอยู่ 5 ล้านบาท รวมเป็น 5.5 ล้านบาท

ดังนั้น net worth ของนาย A ก็คือ 9.5-5.5 = 4 ล้านบาทนั่นเอง

คำถามก็คือมันเป็น net worth ที่เหมาะสมรึยัง

ในหนังสือ The Millionaire Next Door บอกว่า วิธีคำนวณว่าเราควรมี net worth เท่าไหร่ คือให้เอาอายุคูณด้วยรายได้ทั้งปี แล้วหารด้วย 10

สมมติว่านาย A อายุ 40 ปี มีรายได้ทั้งปี 1,500,000 บาท (เงินเดือน โบนัส เงินปันผล และรายได้อื่นๆ)

Net worth ที่นาย A ควรจะมี ก็คือ (40*1,500,000)/10 = 6 ล้านบาท

แต่ net worth ของนาย A มีอยู่แค่ 4 ล้านบาท ดังนั้นถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ และนาย A อาจจะต้องเร่งเครื่องขึ้นอีกหน่อยด้วยการมีเงินเก็บให้มากขึ้นหรือปิดหนี้ให้เร็วกว่าเดิม

แน่นอนว่าสูตรนี้ไม่ใช่บัญชาจากสวรรค์ เราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมันมากจนเกินไป

แต่ผมชอบตรงที่มันคำนวณง่ายดีและทำให้เรารู้ว่าสุขภาพทางการเงินของเราควรได้รับการใส่ใจมากกว่าเดิมในปี 2022 หรือไม่ครับ