Shiny Object Syndrome – อาการของคนตามหาของเล่นใหม่เรื่อยไป

ลองถามตัวเองว่าเรา (หรือคนรอบตัว) มีอาการเหล่านี้หรือไม่

ชอบลองของใหม่ๆ อยู่ตลอด ไม่ว่า “ของ” ในที่นี้จะเป็น product, services, หรือ framework ในการทำงาน

ชอบริเริ่มโปรเจ็คใหม่ๆ ด้วยความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ แต่ผ่านไปได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ทิ้งโปรเจ็คเดิมไปทำโปรเจ็คอื่น จนแทบไม่มีโปรเจ็คไหนเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน

ถ้าฟังดูแล้วคุ้น แสดงว่าเรา(หรือเขา) อาจกำลังประสบกับ SOS – Shiny Object Syndrome อาการของคนที่เห็นอะไรสุกสกาวแวววาวเป็นไม่ได้ ต้องกระโจนเข้าหาตลอด

เรื่องส่วนตัวก็อย่างคนที่ต้องซื้อ gadget ใหม่ๆ เข้าบ้านตลอด

ตัวอย่างในองค์กรก็เช่น framework การทำงานที่ผู้บริหารชอบเอามาใช้กันอย่าง Digital Transformation, Agile, Scrum, OKR, CFR, Gamification etc.

ในวงการ content creator ก็มี shiny object syndrome ให้เห็นอยู่เหมือนกัน ช่วงแรกเฟซบุ๊คดังคนก็แห่กันเปิดเพจ จากนั้นก็เป็นยุคของคนทำพ็อดแคสต์ พอเฟซบุ๊คมี FB Live ออกมาก็มีหลายคนหันไปทำ FB Live จากนั้นพอ Elon Musk จุดกระแส Clubhouse คนก็แห่ไปออก Clubhouse และตอนนี้ TikTok กำลังมาคนก็ไปทำวีดีโอติ๊กต่อกกันสนุกสนาน

ซึ่งในฐานะบล็อกเกอร์คนหนึ่งก็เข้าใจว่าเมื่อเครื่องมือใหม่ๆ มาเราก็ควรต้องเรียนรู้เอาไว้ เพราะเทคโนโลยีนั้นอายุสั้น เฟซบุ๊คไม่ได้อยูค้ำฟ้า หากของใหม่มาแล้วเราไม่ลองใช้เราก็อาจกลายเป็นคนหลงยุคสักวันหนึ่ง

Shiny Object Syndrome นี้เขาบอกว่ามีต้นทางมาจากตอนเด็กๆ ที่เราอยากจะได้ของเล่นชิ้นใหม่ทั้งที่ของเก่าเราก็ยังใช้ได้อยู่

เมื่อเห็นของใหม่แล้วตาวาว เราจึงแทบไม่เคยเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่

ผมคิดว่าอีกหนึ่งสาเหตุหลักของ Shiny Object Syndrome คือ “ความหวัง” ที่ Oliver Burkeman เขียนเอาไว้ในหนังสือ Four Thousand Weeks

ความหวังว่าเราจะเจอเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนชีวิตเราให้กลายเป็นคนในอุดมคติที่จัดการทุกอย่างได้อยู่หมัด

แต่เราก็ต้องผิดหวังอยู่เสมอเพราะเครื่องมือนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เราก็ไม่วายหลอกตัวเองด้วยการวิ่งหาสิ่งใหม่เรื่อยไป

Shiny Object Syndrome นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ผมคิดว่ามีข้อเสียเยอะกว่า

ข้อดีคือเราจะเป็นคนไม่ตกยุคและอาจะฟลุ้คได้ของที่มันจะเปลี่ยนชีวิตเราได้จริงๆ

ข้อเสียคือเรามีความเสี่ยงจะกลายเป็นคนหยิบโหย่ง ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่างเพราะไม่มีความอดทนที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานพอ ในขณะที่ของดีมีคุณค่าต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งนั้น

และถ้าเราเป็นผู้บริหารที่มีอาการ SOS ลูกน้องก็จะสับสนเพราะเราเปลี่ยน focus อยู่ตลอดเวลา นานๆ เข้าลูกน้องก็จะรู้ตัวว่าไม่ต้องทุ่มเทมากก็ได้เพราะเดี๋ยวนายก็เปลี่ยน เดี๋ยวนายก็ลืมอีก

แล้วเราจะเอาชนะอาการ Shiny Object Syndrome ได้อย่างไร?

ผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ถ้ามีคนถามแนวทางที่ผมให้คงประมาณนี้

  • เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีและสิ่งที่เรากำลังทำ
  • เตือนตัวเองว่าความสำเร็จไม่มีทางลัด
  • เลิกหวังว่าเราจะเจอ software/hardware/framework อะไรที่จะทำให้ชีวิตเราเพอร์เฟ็กต์
  • มี craftsman mindset ที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานพอจนเราสามารถเก็บเกี่ยวคุณค่าจากมันได้จริงๆ ครับ

ว่าด้วยเรื่องเงินเดือนนายกรัฐมนตรี

บทความนี้มีจุดตั้งต้นจากการที่ผมอ่านเจอคำถามนี้ใน Quora:

What are the most underpaid jobs?

อาชีพอะไรที่ได้เงินเดือนน้อยเกินไป?

Asim Qureshi ซึ่งเคยเป็น VP ของ Morgan Stanley และ Credit Suisse มาตอบคำถามนี้ว่า อาชีพที่เงินเดือนน้อยเกินไปคือครูกับ Heads of Government (นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี หรือตำแหน่งใดก็ตามที่บริหารประเทศนั้น)

สำหรับอาชีพครูนั้น คนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยว่าควรได้เงินเดือนมากกว่านี้

แต่สำหรับนายกนั้นเขารู้ดีว่าคงมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง (controversial)

Asim เล่าว่าตอนที่เขาอายุยี่สิบปลายๆ และลาออกจาก Credit Suisse เงินเดือนของเขามากกว่า Tony Blair นายกของอังกฤษหลายเท่า

เขามองว่าเมื่อผู้บริหารประเทศได้ผลตอบแทนน้อยเกินไป ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการคอรัปชั่น และย่อมหมายความว่าเราอาจไม่ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมาบริหารบ้านเมือง

เราปรารถนาดีต่อคนในครอบครัวของเรายังไง เราก็ควรปรารถนาดีต่อคนในชาติเราอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?

ไม่มีนายก (หรือประธานาธิบดี) คนไหนในโลกที่ได้เงินเกินปีละ $600,000 เหรียญ ยกเว้นประเทศเดียวคือสิงคโปร์ซึ่งได้เงินปีละ 2.2 ล้านเหรียญ ในขณะที่เงินเดือนของ CEO ในบริษัทที่รายได้สูงสุด 500 บริษัทในอเมริกานั้นมีรายได้เฉลี่ยปีละ 11 ล้านเหรียญ

Asim บอกว่า ลีกวนยูซึ่งเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์และอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นคนที่ตั้งกฎให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนสูงๆ เพื่อจะได้โฟกัสที่การทำงาน ทำงาน ทำงาน มากกว่าที่จะเข้ามาหากิน


คำตอบของ Asim บน Quora จบเท่านี้ แต่ผมสงสัยก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แค่กูเกิล prime minister salaries by country ก็เจอหน้า Wikipedia ที่บอกว่านายกแต่ละประเทศได้เงินเดือนเท่าไหร่บ้าง จากนั้นก็หาข้อมูลอื่นๆ มาเสริม

ถ้าใครอยากดูข้อมูลประกอบบทความนี้ไปด้วย ลองเข้า Google Sheets อันนี้แล้ว Make a copy หรือดาวน์โหลดมาเล่นได้ครับ

https://bit.ly/ampmsalaries

Wikipedia มีรายชื่อเกือบ 200 ประเทศ แต่ที่มีข้อมูลเงินเดือนนายกนั้นมีเพียง 144 ประเทศ

5 อันดับแรกได้แก่

  1. สิงคโปร์ ปีละ 1.6 ล้านเหรียญ (ต่างจากที่ Asim บอกว่าได้ 2.2 ล้าน) หรือตกเดือนละ 4.3 ล้านบาท (ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของ 1 USD = 32 บาทเพราะข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนในตารางของ Wikipedia บอกว่ามาจากปี 2019)
  2. ฮ่องกง เดือนละ 1.5 ล้านบาท
  3. สวิตเซอร์แลนด์ 1.3 ล้านบาท
  4. สหรัฐอเมริกา 1.1 ล้านบาท
  5. เยอรมันนี 990,000 บาท

อันดับ 6-10 ได้แก่ออสเตรีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 700,000-980,000 บาท

ส่วนนายกของไทยนั้นจำง่ายมาก ได้อันดับที่ 100 พอดี รับอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับบทความที่ iTax เคยเขียนเอาไว้

อันดับข้างเคียง (95-105) ได้แก่บัลแกเรีย เวเนซูเอล่า ปาเลสไตน์ บุรุนดี เบลีซ แทนซาเนีย แซมเบีย ตองก้า และโบลิเวีย

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นายกไทยได้เงินเดือนน้อยกว่าฟิลิปปินส์ (สองแสนห้า) มาเลเซีย (แสนหก) และอินโดนีเซีย (แสนสี่) แต่ได้มากกว่าพม่า (แปดหมื่นเจ็ด) และกัมพูชา (แปดหมื่น) ที่ประหลาดและเชื่อได้ยากหน่อยคือเวียดนามที่ Wikipedia ระบุว่านายกได้เงินเดือนแค่สองหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

แน่นอนว่าถ้าดูเงินเดือนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ควรจะดูเรื่องอย่างค่าครองชีพ (Cost of Living Index) จำนวนประชากร และ GDP ของประเทศนั้นๆ ด้วย

อย่างที่กล่าวไป ถ้าดูเงินเดือนอย่างเดียว ไทยได้อันดับที่ 100 จาก 144 ประเทศ (ที่มีข้อมูลเงินเดือนนายก) หรืออยู่ที่ 30th percentile (Percentile ยิ่งต่ำแสดงว่ายิ่งอยู่รั้งท้าย)

ถ้าดูเงินเดือนโดยคิดเรื่องค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ ด้วย ไทยจะได้อันดับที่ 78 จาก 100 ประเทศ (เพราะ Cost of Living Index ไม่ได้มีครบทุกประเทศ) หรือประมาณ 22nd percentile

ประเทศไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 จาก 190 ประเทศ (89th percentile)

ถ้าเอาเงินเดือนนายกหารด้วยจำนวนประชากร ไทยจะได้อันดับที่ 109 จาก 125 ประเทศ (13th percentile) (ผมตัดประเทศที่ประชากรน้อยกว่าสามแสนคนออกไปก่อน ไม่งั้นอันดับต้นๆ จะมีแต่ประเทศเล็กๆ ที่เราไม่รู้จัก)

โดยนายกไทยจะได้เงินเดือน 1.7 บาทสำหรับการดูแลประชาชน 1000 คน ใกล้เคียงกับพม่า (1.6 บาท) และฟิลิปปินส์ (2.2 บาท) แต่แพ้มาเลเซียกับอินโดนีเซียที่ได้เงินเดือนประมาณ 5 บาทต่อการดูแลประชากร 1000 คน

ประเทศไทยมี GDP มากเป็นอันดับที่ 26 จาก 189 ประเทศ (86th percentile)

ถ้าเอาเงินเดือนหารด้วย GDP ไทยจะได้อันดับที่ 105 จาก 126 ประเทศ (17th percentile)

สำหรับทุกๆ $1 million ของ GDP นายกไทยได้เงินเดือนเกือบสลึง (24 สตางค์) น้อยกว่าพม่า (1.34 บาท) ฟิลิปปินส์ (65 สตางค์) กับมาเลเซีย (44 สตางค์) แต่มากกว่าอินโดนีเซีย (12 สตางค์)

คำถามว่าถ้านายกได้เงินเดือนเยอะแล้วคอรัปชั่นจะน้อยลงหรือเปล่า (ไม่ว่าจะเป็น causation หรือ correlation ก็ตาม) ผมคิดว่าข้อมูลอาจยังไม่ได้บ่งชี้ขนาดนั้น

ใน 180 ประเทศ ไทยเป็นอันดับที่ 114 เรื่องการต่อต้านคอรัปชั่น (37th percentile)

5 ประเทศที่คอรัปชั่นน้อยที่สุดคือเดนมาร์ค ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสิงคโปร์ ซึ่งนายกได้เงินเดือนอันดับที่ 26, 43, 12, 38 และ 1 ตามลำดับ (คิดเรื่องค่าครองชีพแล้ว)

ถ้าดูประเทศที่นายกได้เงินเดือนเยอะที่สุด 5 ประเทศโดยคิดเรื่องค่าครองชีพแล้ว ก็จะเห็นว่าบางประเทศยังมีการคอรัปชั่นพอสมควร (ตัวเลขในวงเล็บยิ่งสูง แสดงว่าคอรัปชั่นยิ่งเยอะ)

Singapore (5)
Hong Kong (12)
South Africa (71)
Austria (13)
Turkey (101)


บทสรุป

  1. เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นายกไทยถือว่าได้เงินเดือนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึง GDP และจำนวนประชากร
  2. ถ้าเราขึ้นเงินเดือนให้คนในรัฐบาลเยอะๆ เราอาจจะเหมือนสิงคโปร์หรือฮ่องกงที่คอรัปชั่นน้อย หรืออาจจะเหมือนแอฟริกาใต้หรือตุรกีที่คอรัปชั่นยังเยอะอยู่ดีก็ได้

อย่างที่คุณ Asim เขียนไว้ว่าหัวข้อนี้มันละเอียดอ่อนและน่าจะทำให้เกิดการโต้แย้ง แต่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่านำไปขบคิดต่อ เพราะ

  1. ถ้ามองด้วยเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์ คนเราจะตอบสนองต่อแรงจูงใจเสมอ (People respond to incentives) เพียงแต่ว่า incentives ที่ว่านั้นมันจะพาให้คนส่วนใหญ่ดีขึ้นหรือคนส่วนใหญ่แย่ลง
  2. ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณเนื้อหาครึ่งแรกจาก Quora: Asim Qureshi’s answer to What are the most underpaid jobs?

นิทานกางร่ม

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ยังมีอุบาสกผู้หนึ่งหลบฝนอยู่ใต้ชายคา พอดีกับที่มีอาจารย์เซนผู้หนึ่งกางร่มเดินผ่านมา อุบาสกผู้นี้จึงร้องเรียกขอให้อาจารย์เซนพาตนไปด้วย

ทว่าอาจารย์เซนกลับปฏิเสธคำขอของอุบาสก

“ประสกอยู่ใต้ชายคาซึ่งไม่มีฝน มิได้เปียกปอน ฉะนั้นอาตมาไม่จำเป็นจะต้องพาประสกออกไป”

เมื่อุบาสกได้ยินดังนั้น จึงก้าวออกมานอกชายคา ยืนอยู่ท่ามกลางสายฝนพรำจนร่างกายเปียกชุ่มโชก จากนั้นจึงขอร้องอีกครั้งให้อาจารย์เซนพาเขาไปด้วย

ยามนั้น อาจารย์เซนจึงเอ่ยว่า

“ประสกยังคงไม่เข้าใจ แม้ว่าขณะนี้เราทั้งสองล้วนอยู่ใต้สายฝน แต่อาตมาไม่เปียกเพราะมีร่มคุ้ม ส่วนประสกกลับเปียกปอนเพราะไร้ร่มกำบัง ดังนั้นมิใช่ว่าอาตมาไม่พาประสกไป แต่ประสกต้องเสาะหาร่มคุ้มฝนของตน เพื่อข้ามผ่านไปด้วยตนเอง”


ขอบคุณนิทานจาก Mgr Online: นิทานเซน : ร่มกันฝน

20 กฎเล็กๆ สำหรับเรื่องใหญ่ๆ จากผู้เขียน The Psychology of Money

Morgan Housel เป็นผู้เขียนหนังสือ Thy Psychology of Money ซึ่งผมยกให้เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2021

Housel เขียนบล็อกลง The Collaborative Fund ซึ่งผมตามอ่านตลอด

วันนี้เจอบทความ Little Rules About Big Things ซึ่งผมคิดว่าน่าจะถูกจริตผู้ติดตาม Anontawog’s Musings เลยขอแปลบางส่วน (ประมาณหนึ่งในสาม) มาให้ชิมลางนะครับ


  1. ถ้าความคาดหวังของเราเติบโตเร็วกว่ารายได้ เราจะไม่มีวันมีความสุขกับเงินแม้ว่าเราจะมีมันมากเท่าไหร่ก็ตาม
  2. การไม่กลัวตกรถไฟ (Having no FOMO) อาจเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุน
  3. ในโลกยุคนี้แทบไม่มีทักษะใดสำคัญไปกว่าการมี bullsh*t detector
  4. สิ่งที่เราบอกว่าเป็น “ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า” มักเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลใหม่ๆ ที่อาจทำให้เราเปลี่ยนใจ
  5. มนุษย์มีความต้องการที่แตกต่างกันอย่างมาก ยกเว้นสามเรื่องที่ทุกคนต้องการเหมือนกัน: การได้รับความเคารพจากคนอื่น, ความรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์, และการได้เป็นนายของเวลา
  6. ตลาด (The market) นั้นมีเหตุผลเสมอ แต่นักลงทุนล้วนเล่นเกมที่แตกต่างกัน ดังนั้นเกมบางเกมจึงดูไร้เหตุผลสำหรับคนที่กำลังเล่นเกมอื่นอยู่
  7. สิ่งที่เราควรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ก็คืออดีตนั้นไม่ได้หอมหวานอย่างที่เราระลึกถึง ปัจจุบันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด และอนาคตนั้นจะดีกว่าที่เราคาดการณ์
  8. การปลอบใจตัวเองที่พบเห็นบ่อยๆ คือการบอกตัวเองว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดกับคนอื่นจะไม่เกิดกับเรา
  9. เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่าอะไรจะทำให้เรามีความทุกข์ แต่เราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าอะไรจะทำให้เรามีความสุขเพราะความคาดหวังของเราขยับสูงขึ้นตลอด
  10. ประโยชน์สำคัญที่สุดของการมีเงินคือมันช่วยให้เราได้เป็นนายของเวลา
  11. ช่วงเวลาที่ดีสุดๆ หรือแย่สุดๆ ไม่อาจคงอยู่ได้ยาวนาน เพราะช่วงเวลาดีๆ จะปลูกเมล็ดแห่งความประมาทและความย่ามใจ ส่วนช่วงเวลาแย่ๆ ก็จะปลูกเมล็ดแห่งการแก้ไขปัญหาและการใช้โอกาสให้คุ้มค่าที่สุด
  12. ประสบการณ์ตรงของเราเป็นเพียง 0.00000001% ของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ แต่เป็น 80% ของวิธีคิดของเราว่าโลกใบนี้ทำงานยังไง
  13. ในมุมมองของนโปเลียน อัจฉริยะในศึกสงครามคือ “คนที่สามารถทำเรื่องปกติสามัญในเวลาที่ทุกคนกำลังสติแตก” โลกธุรกิจและการลงทุนก็เป็นเช่นนั้น
  14. การโกหกด้วยตัวเลขนั้นง่ายกว่าการโกหกด้วยคำพูด เพราะมนุษย์เราเข้าใจเรื่องราว (stories) ได้เป็นอย่างดีแต่มักจะมองตัวเลขแค่เพียงผ่านๆ จำนวน “นิยาย” ที่ถูกเขียนในโปรแกรม Word จึงเทียบไม่ได้เลยกับจำนวน “นิยาย” ที่ถูกเขียนใน Excel
  15. ช่วงเวลาและสถานที่ที่เราเกิดนั้นอาจมีผลต่อชีวิตของเรามากกว่าทุกอย่างที่เราทำ
  16. ความผิดพลาดทางการเงินส่วนใหญ่เกิดจากการที่เราใช้ทางลัด
  17. “ความเสี่ยง” คือสิ่งที่เรามองไม่เห็น สิ่งที่เราคิดว่าเกิดขึ้นกับคนอื่นเท่านั้น สิ่งที่เราไม่ได้ใส่ใจ สิ่งที่เราตั้งใจเพิกเฉย สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในข่าว เรื่อง surprise เล็กน้อยจึงมักสร้างความเสียหายได้มากกว่าเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นข่าวมาหลายเดือนแล้ว
  18. คนเราไม่ว่า IQ จะสูงแค่ไหนก็แพ้อารมณ์ได้เสมอ
  19. ไม่มีใครคิดถึงเรามากเท่ากับเราคิดถึงตัวเอง
  20. ถ้าเราเชื่อเรื่องความเสี่ยง (risk) เราก็ต้องเชื่อเรื่องโชค (luck) ด้วย เพราะสุดท้ายมันคือสิ่งเดียวกัน – นั่นคือการยอมรับว่ามีอะไรบางอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเราซึ่งอาจส่งผลลัพธ์ได้มากกว่าทุกสิ่งที่เราทำ

ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ

ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีหนังสือดังๆ ที่ใครหลายคนบอกว่า “ต้องอ่าน”

Principles ของ Ray Dalio, Sapiens ของ Yuval Noah Harari, Atomic Habits ของ James Clear, No Rules Rules ของ Reed Hastings, Think Again ของ Adam Grant คือตัวอย่างของหนังสือที่ขายดีไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ยิ่งพอมีปัจจัยอย่าง Social Media เข้ามา การอ่านหนังสือดังจึงกลายมาเป็นแฟชั่น เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อเอาเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่อ่านเพื่อให้อยู่ในกระแส อ่านเพื่อให้ได้รับการยอมรับ อ่านเพื่อจะได้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง

ถ้าเปรียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน การอ่านหนังสือดังจึงมีหลายอย่างคล้ายคลึงกับการดูละครช่อง 7 ที่ผู้คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ใครไม่ดูถือว่าเชย ใครไม่ดูจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง

ข้อเสียอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือดังๆ ก็คือสิ่งที่เราได้อ่าน ได้รู้ คนอื่นเขาก็ได้อ่านได้รู้เหมือนกับเรา ไอเดียและวิธีคิดของเราจึงแทบไม่ต่างจากของคนอื่นเลย อ่านมากเข้าเราก็เลยกลายเป็น “แกะ” อีกตัวหนึ่ง อาจจะขนสวยกว่าหน่อยแต่ก็ยังเป็นแกะอยู่ดี

Shane Parrish ผู้เขียนบล็อก Farnam Street จึงแนะนำว่า ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ

เมื่อวานนี้ผมเขียนบทความ “17 ความลับของฟ้าจาก “พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร”

พี่เล้งบริหารคน-บริหารชีวิตโดยใช้หลักการในคัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ที่ปรมาจารย์เหลาจื่อประพันธ์ไว้เมื่อ 2500 ปีที่แล้ว

แนวคิดของพี่เล้งสดใหม่มากทั้งที่ต้นธารนั้นมาจากหนังสือที่เก่ามาก – อีกหนึ่งความลับของฟ้าอาจซ่อนอยู่ตรงนี้

Nassim Nicolas Taleb ผู้เขียน The Black Swan และ Antifragile แนะนำว่าหนังสือเล่มไหนออกมาใหม่ๆ อย่าเพิ่งไปอ่าน ควรจะรออย่างน้อย 10 ปี เพราะถ้าหนังสือออกมานานขนาดนั้นแล้วยังมีคนพูดถึงอยู่แสดงว่ามันน่าจะมีอะไรดี

แต่ถ้าอยากให้ชัวร์ว่าหนังสือดีจริงๆ ให้หาหนังสือที่เก่าเกินร้อยปี หรือถ้าเก่าเกินพันปียิ่งดี เพราะเวลาคือตัวกรองที่ยอดเยี่ยมที่สุด – Time is the Greatest Filter.

Naval Ravikant ซึ่งเป็น angel investor ให้บริษัทอย่าง Twitter และ Uber ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า แทนที่เขาจะอ่านหนังสือธรรมดา 100 เล่ม เขาขออ่านหนังสือระดับตำนาน 10 เล่มจบ 10 รอบดีกว่า

หนังสือดังยังมีจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่ง คือเนื้อหาในหนังสือเหล่านี้เต็มไปด้วยสิ่งที่พี่เล้งเรียกว่า “ความรู้เทียม” ที่มันจะจริงเฉพาะในบางบริบทและในบางช่วงเวลาเท่านั้น

ตอนที่ Reed Hastings CEO ของ Netflix เขียน No Rules Rules ออกมาใหม่ๆ ผู้คนต่างชื่นชมและอยากทำตาม นั่นเป็นเพราะตอนนั้นธุรกิจของ Netflix กำลังไปได้สวย ชี้นกก็เลยเป็นนกไปเสียหมด

แต่หนึ่งปีที่ผ่านมามูลค่าของเน็ตฟลิกซ์ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จนอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่ Reed Hastings เคยบอกว่าเป็นนกในตอนนั้นมันยังเป็นนกในตอนนี้อยู่รึเปล่า

แต่สำหรับหนังสืออย่างเต้าเต๋อจิงที่ผ่าน The Greatest Filter มา 2500 ปี มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเต็มไปด้วย “ความรู้แท้” ที่เป็นอกาลิโก

เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม เคยโลภยังไงก็โลภอย่างนั้น เคยอ่อนแอยังไงก็อ่อนแออย่างนั้น เคยมีจุดอ่อนอะไรก็ยังมีจุดอ่อนเดียวกันเหมือนกับเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว

อ่านหนังสือใหม่อาจจะทำให้เรามีความรู้แน่นจนเป็นชาล้นถ้วย

อ่านหนังสือเก่า เราจะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่นั่นแหละคือการเทชาออกจนถ้วยนั้นว่างเปล่า และจากความว่างเปล่าเท่านั้นที่ปัญญาจะผุดขึ้นมาได้

ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ ครับ