Shiny Object Syndrome – อาการของคนตามหาของเล่นใหม่เรื่อยไป

ลองถามตัวเองว่าเรา (หรือคนรอบตัว) มีอาการเหล่านี้หรือไม่

ชอบลองของใหม่ๆ อยู่ตลอด ไม่ว่า “ของ” ในที่นี้จะเป็น product, services, หรือ framework ในการทำงาน

ชอบริเริ่มโปรเจ็คใหม่ๆ ด้วยความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ แต่ผ่านไปได้ไม่กี่สัปดาห์ก็ทิ้งโปรเจ็คเดิมไปทำโปรเจ็คอื่น จนแทบไม่มีโปรเจ็คไหนเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน

ถ้าฟังดูแล้วคุ้น แสดงว่าเรา(หรือเขา) อาจกำลังประสบกับ SOS – Shiny Object Syndrome อาการของคนที่เห็นอะไรสุกสกาวแวววาวเป็นไม่ได้ ต้องกระโจนเข้าหาตลอด

เรื่องส่วนตัวก็อย่างคนที่ต้องซื้อ gadget ใหม่ๆ เข้าบ้านตลอด

ตัวอย่างในองค์กรก็เช่น framework การทำงานที่ผู้บริหารชอบเอามาใช้กันอย่าง Digital Transformation, Agile, Scrum, OKR, CFR, Gamification etc.

ในวงการ content creator ก็มี shiny object syndrome ให้เห็นอยู่เหมือนกัน ช่วงแรกเฟซบุ๊คดังคนก็แห่กันเปิดเพจ จากนั้นก็เป็นยุคของคนทำพ็อดแคสต์ พอเฟซบุ๊คมี FB Live ออกมาก็มีหลายคนหันไปทำ FB Live จากนั้นพอ Elon Musk จุดกระแส Clubhouse คนก็แห่ไปออก Clubhouse และตอนนี้ TikTok กำลังมาคนก็ไปทำวีดีโอติ๊กต่อกกันสนุกสนาน

ซึ่งในฐานะบล็อกเกอร์คนหนึ่งก็เข้าใจว่าเมื่อเครื่องมือใหม่ๆ มาเราก็ควรต้องเรียนรู้เอาไว้ เพราะเทคโนโลยีนั้นอายุสั้น เฟซบุ๊คไม่ได้อยูค้ำฟ้า หากของใหม่มาแล้วเราไม่ลองใช้เราก็อาจกลายเป็นคนหลงยุคสักวันหนึ่ง

Shiny Object Syndrome นี้เขาบอกว่ามีต้นทางมาจากตอนเด็กๆ ที่เราอยากจะได้ของเล่นชิ้นใหม่ทั้งที่ของเก่าเราก็ยังใช้ได้อยู่

เมื่อเห็นของใหม่แล้วตาวาว เราจึงแทบไม่เคยเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่

ผมคิดว่าอีกหนึ่งสาเหตุหลักของ Shiny Object Syndrome คือ “ความหวัง” ที่ Oliver Burkeman เขียนเอาไว้ในหนังสือ Four Thousand Weeks

ความหวังว่าเราจะเจอเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนชีวิตเราให้กลายเป็นคนในอุดมคติที่จัดการทุกอย่างได้อยู่หมัด

แต่เราก็ต้องผิดหวังอยู่เสมอเพราะเครื่องมือนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เราก็ไม่วายหลอกตัวเองด้วยการวิ่งหาสิ่งใหม่เรื่อยไป

Shiny Object Syndrome นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ผมคิดว่ามีข้อเสียเยอะกว่า

ข้อดีคือเราจะเป็นคนไม่ตกยุคและอาจะฟลุ้คได้ของที่มันจะเปลี่ยนชีวิตเราได้จริงๆ

ข้อเสียคือเรามีความเสี่ยงจะกลายเป็นคนหยิบโหย่ง ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่างเพราะไม่มีความอดทนที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานพอ ในขณะที่ของดีมีคุณค่าต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งนั้น

และถ้าเราเป็นผู้บริหารที่มีอาการ SOS ลูกน้องก็จะสับสนเพราะเราเปลี่ยน focus อยู่ตลอดเวลา นานๆ เข้าลูกน้องก็จะรู้ตัวว่าไม่ต้องทุ่มเทมากก็ได้เพราะเดี๋ยวนายก็เปลี่ยน เดี๋ยวนายก็ลืมอีก

แล้วเราจะเอาชนะอาการ Shiny Object Syndrome ได้อย่างไร?

ผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่ถ้ามีคนถามแนวทางที่ผมให้คงประมาณนี้

  • เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีและสิ่งที่เรากำลังทำ
  • เตือนตัวเองว่าความสำเร็จไม่มีทางลัด
  • เลิกหวังว่าเราจะเจอ software/hardware/framework อะไรที่จะทำให้ชีวิตเราเพอร์เฟ็กต์
  • มี craftsman mindset ที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานพอจนเราสามารถเก็บเกี่ยวคุณค่าจากมันได้จริงๆ ครับ