หัวใจเต้นแรงที่สุดก่อนลงมือทำ

เวลามี guest speaker มาพูดที่บริษัท แล้วเขาถามคนฟังว่าใครมีคำถามอะไรบ้าง เรามักจะมีคำถามแต่เราไม่กล้ายกมือทันที

ช่วงที่เรากำลังชั่งใจว่าจะยกมือถามหรือไม่ยกมือถามนั้น หัวใจเราจะเต้นแรงมาก คิดไปต่างๆ นาๆ คำถามของเรามันเข้าท่ารึเปล่า เราจะพูดจารู้เรื่องรึเปล่า ถามแล้วเราจะกลายเป็นตัวตลกรึเปล่า

แต่เมื่อเราตัดสินใจยกมือขึ้น หัวใจก็ยิ่งเต้นแรงขึ้นระหว่างที่รอไมค์ แต่พอได้ลุกขึ้นพูด หัวใจกลับค่อยๆ เต้นช้าลง


เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมสวนสนุกที่มีเครื่องเล่นดังๆ ถึงปล่อยให้คนเข้าคิวรอเป็นชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอก ทำไมเขาไม่ทำให้ process ได้เร็วกว่านี้

ผมเคยอ่านเจอว่า เพราะการเข้าคิว ก็เป็นหนึ่งในประสบการณ์สำคัญสำหรับสวนสนุก

ระหว่างที่รอคิว เราก็จะเงยหน้าไปมองคนอื่นๆ ที่เขากำลังเล่นกัน ได้ยินเสียงกรีดร้องคลอไปกับเสียงของเครื่องเล่น คนรอคิวได้เห็นได้ยินแล้วก็ทั้งตื่นเต้น ทั้งกลัว ทั้งอยากเล่นไปพร้อมๆ กัน

เมื่อได้ขึ้นเครื่องเล่นจริง ได้กรี๊ดประมาณ 2 นาทีก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ประสบการณ์ที่เราตื่นเต้นระหว่างรอนั้นยาวนานกว่าประสบการณ์ตื่นเต้นตอนที่เราเล่นจริงเสียอีก


พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อกเคยกล่าวไว้ในโฆษณาว่า ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง

สิ่งที่ทำให้เราหัวใจเต้นแรง คือความปรุงแต่งของเราที่คิดไปก่อนล่วงหน้า ทั้งก่อนที่จะยกมือถามคำถามและก่อนจะก้าวขึ้นรถไฟเหาะ

แต่เมื่อได้ทำจริงๆ แล้ว มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิดหรอก

ลองนึกถึงประสบการณ์ adventure ที่ผ่านมาก็ได้ ว่าหัวใจเราเต้นแรงสุดตอนไหน

ไม่ใช่ตอนที่ทำกิจกรรมนั้น แต่เป็นตอนก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ว่าจะลงสไลเดอร์ยักษ์ในสวนน้ำ กระโดดหอ หรือบันจี้จัมพ์

ดังนั้น อย่าไปกลัวสิ่งต่างๆ จนเกินไป

รู้ทันถึงความกลัวที่เราสร้างขึ้นมาเอง แล้วลองลุยดูสักตั้งครับ

นิทานไก่กับไข่

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ลูกไก่ถามแม่ไก่

“แม่ขา…วันนี้ไม่ออกไข่ได้ไหม พาหนูออกไปเที่ยวเล่นเถอะ”

“ไม่ได้หรอก แม่ต้องทำงาน”

“แต่แม่ออกไข่มาตั้งเยอะแล้วนะ”

“หนึ่งวันออกไข่หนึ่งฟอง มีดอีโต้ย่อมห่างตัว”


ขอบคุณนิทานจากเพจ PAG Design

ความสามารถสูง ความต้องการต่ำ

นี่คือทิศทางที่เราควรมุ่งไป

ลองมาดูอีกสามทางที่เหลือ

ความสามารถต่ำ ความต้องการต่ำ ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใครมากนัก แต่ก็ไม่สร้างโทษให้กับใครมากมายเช่นกัน

ความสามารถต่ำ ความต้องการสูง จะทำให้เราเป็นคนที่ดิ้นรนและร้อนรน ใช้ทางลัดและทางที่มิชอบเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งนอกจากจะไม่ยั่งยืนแล้วยังทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปด้วย

ความสามารถสูง ความต้องการสูง สามารถสร้างประโยชน์ได้มาก สร้างงาน-สร้างคน-สร้างเมืองได้ แต่ถ้ามีมิจฉาทิฏฐิก็สามารถสร้างโทษได้อย่างรุนแรงและกว้างไกลเช่นกัน

แต่ถ้าเราเป็นคนที่มีความสามารถสูง และมีความต้องการต่ำ เราจะใช้ชีวิตเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม เราจะบริโภคแต่น้อย เราจะไม่เบียดเบียนโลกโดยไม่จำเป็น มีชีวิตที่น่าอิจฉาเพราะไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ไม่ใช่แก่นสารครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากธรรมบรรยายของพี่พศิน อินทรวงค์ บน Youtube

3 ไอเดียจากหนังสือ Future Mindset

เมื่อตอนต้นเดือน อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจและพอดคาสท์ Nopadol’s Story ได้กรุณาส่งหนังสือ “เมื่อวิธีคิดที่คุณมีใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้ (Future Mindset)” ของสำนักพิมพ์วีเลิร์นมาให้

ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะได้เริ่มเปิดอ่าน แต่พอได้อ่านก็อ่านจบอย่างรวดเร็ว

วันนี้เลยขอมาแชร์สามไอเดียจากหนังสือเล่มนี้ครับ อาจจะมีบางส่วนที่ผมเสริมไอเดียและสำนวนของตัวเองลงไปด้วยนะครับ

1. P-I Matrix

P คือ Performance เราทำได้ดีรึเปล่า
I คือ Importance มันสำคัญรึเปล่า

เมื่อรวมกันจะออกมาเป็นสี่ combinations
หนึ่ง เราทำได้ดี และมันเป็นเรื่องสำคัญ
สอง เราทำได้ดี แต่มันไม่สำคัญ
สาม เราทำได้ไม่ดี และมันไม่สำคัญ
สี่ เราทำได้ไม่ดี และมันเป็นเรื่องสำคัญ

เราควรจะใช้เวลากับเรื่องแรกให้มาก เพราะเราทำได้ดีและมันเป็นเรื่องสำคัญ นี่คือ sweet spot ที่เราจะสามารถสร้างคุณค่าได้อย่างสูงสุด

และเราควรจะให้เวลากับข้อสี่รองลงมา เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญที่เรายังไม่เก่งพอ เราจึงควรจัดการอย่างเร่งด่วน อาจจะเร่งพัฒนาตัวเอง อาจจะขอความช่วยเหลือ หรือมอบหมายให้คนอื่นทำก็ไม่เสียหาย

ส่วนวิธีการจัดการกับเรื่องที่เหลือ คือลดข้อสอง เพราะเรามีแนวโน้มที่จะทำมันเยอะเกินไปทั้งๆ ที่มันไม่สำคัญ ข้อสามไม่ต้องทำอะไรกับมัน ในเมื่อมันไม่สำคัญเราทำได้ไม่ดีก็ถูกแล้ว

2. คนที่ได้เกียรตินิยมไม่ใช่คนที่ได้ 100 เต็มวิชาเดียว แต่สอบตกวิชาที่เหลือ

เพราะความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง เราจึงไม่จำเป็นและไม่ควรมุ่งไปที่ความสมบูรณ์แบบจนทำให้มิติอื่นๆ ในชีวิตพัง

ถ้าการงานและการเงินก้าวหน้ามาก แต่สุขภาพแย่ทั้งกายและใจ อย่างนี้อาจจะเรียกได้ว่าสอบตกในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ไม่ต้องมุ่งไปที่ 100 คะแนนหรอก ทำให้ได้ซัก 80-90 คะแนนในหลายๆ วิชาน่าจะเป็นทางที่ยั่งยืนและฉลาดกว่า

3. Yes No Yes และ Plan B

คนไทยไม่ค่อยกล้าปฏิเสธใคร แต่ถ้าอยากปฏิเสธคนให้เป็นเราควรใช้สูตร Yes No Yes

Yes แรกคือเราต้องรู้ก่อนว่าอะไรสำคัญในชีวิตเรา เมื่อเรา Yes กับสิ่งสำคัญในชีวิตเช่นเรื่องการมีเวลาให้ลูก เราก็จะมี “หลัก” ให้ยึดเมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ

No คือการตอบปฏิเสธ เช่นเจ้านายขอให้เราทำงานด่วนและจะเอาคืนนี้ แต่เมื่อเรา Yes กับการมีเวลาให้ลูกแล้ว เราจึงมีเหตุผลที่แข็งแรงพอที่จะเซย์ No กับเจ้านายได้

Yes สุดท้ายคือการหาทางออกให้กับคนที่มาขอความช่วยเหลือ เช่นขอผัดผ่อนเวลา หรือแนะนำให้คนอื่นช่วยแทน

ซึ่งก็เป็นไปได้อีกว่าเขาอาจจะไม่รับทางเลือกที่เราเสนอให้ก็ได้ เราจึงต้อง Plan B เช่นบอกกับเจ้านายอย่างจริงจัง สุภาพ และด้วยความเคารพว่าถ้าเขายังยืนยันจะให้เราทำงานแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็อาจต้องขออนุญาตลาออกแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เราไม่ได้อยากทำเลย สิ่งสำคัญคืออย่าให้เจ้านายตัดสินใจทันที เพราะจะเป็นการกดดันให้เขาพูดโดยใช้อารมณ์และแม้จะอยากเปลี่ยนใจภายหลังก็กลับคำไม่ทันแล้ว


ใครอ่าน 3 ไอเดียนี้แล้วคิดว่าเข้าท่า ลองไปหาหนังสือเล่มจริงมาอ่านดูได้นะครับ 😉

เมื่อการบ้านได้เกรด C

ในปี 1962 Frederick Smith เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย Yale ในอเมริกา

ในคลาสหนึ่ง อาจารย์ให้นักศึกษาเขียนแผนธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพ สมิธเลยออกแบบธุรกิจที่สามารถส่งพัสดุให้ถึงที่หมายภายในข้ามคืนแม้ว่ามันจะต้องส่งข้ามรัฐก็ตาม

สมิธได้เกรด C สำหรับรายงานชิ้นนั้น

อาจารย์ให้คอมเมนท์ว่า

“The concept is interesting and well-formed, but in order to earn better than a ‘C’, the idea must be feasible.”

“เป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจและสื่อสารได้ชัดเจน แต่ถ้านักศึกษาอยากได้คะแนนมากกว่า C ไอเดียนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ทำได้จริงด้วย”

ไม่กี่ปีต่อมา สมิธก็ก่อตั้ง FedEx

คำแนะนำของผู้มีประสบการณ์เป็นสิ่งที่เราควรเงี่ยหูฟัง แต่สิ่งที่เขาเห็นไม่เหมือนสิ่งที่เราเห็น เพราะเราโตมาในโลกที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าเราเชื่อมั่นในไอเดียของเราก็อย่าให้ใครมา kill มันง่ายๆ นะครับ