รีวิวหนังสือ Love Never Fails ไม่มีความรักครั้งไหนที่สูญเปล่า

20190219_loveneverfails

ต้องออกตัวก่อนว่าหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อะไรเอ่ย ผู้พิมพ์หนังสือ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” ของผมเอง

“Love Never Fails ไม่มีความรักครั้งไหนที่สูญเปล่า” ของคุณสีตลา ชาญวิเศษ ถือเป็นผลงานเล่มที่ 3 ของสำนักพิมพ์นี้ ต่อจาก TGIM และ “Read to Lead อ่านอย่างผู้นำ” ของดร.ณัชร สยามวาลา

เดือนมกราคม พอเห็นในเพจ What Is It? Press ว่าหนังสือกำลังจะวางแผง ผมก็สั่งซื้อออนไลน์ทันที แถมยังแปะสลิปว่าโอนเงินแล้วเรียบร้อยใต้ช่องคอมเม้นท์ขายหนังสือเล่มนี้อีกต่างหาก

พี่ปิ๊ก เจ้าของสำนักพิมพ์ก็เลยมาคอมเมนท์ต่อว่า “อย่าลืมช่วยรีวิวด้วยนะ”

ก็เลยเป็นที่มาของบทความนี้

คุณสีตลา หรือคุณส้ม เป็นนักวางแผนกลยุทธ์โฆษณาอยู่ที่ The Matter สื่อออนไลน์น้ำดีที่ผมก็ติดตามอยู่เป็นประจำ แถมเธอยังเคยเป็นทีมงานแฟนเพจ Mission to the Moon ของคุณแท็บ รวิศ CEO ของศรีจันทร์อีกด้วย เมื่อบวกกับความเป็นเด็กอักษร จุฬา ก็เลยเชื่อมือได้เรื่องชั้นเชิงในการถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ

หนังสือเล่มนี้คือการรวบรวบบทความที่คุณส้มเคยเขียนเอาไว้ในคอลัมน์ Love Actually ของนิตยสาร a day BULLETIN

เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมา สิ่งแรกที่สะดุดตาคือดีไซน์ปกที่เรียบง่าย พื้นน้ำเงิน อักษรขาวและใช้สีส้มสะกดคำว่า Love ข้างในพิมพ์สี่สีกระดาษอาร์ตมันทั้งเล่ม มีการดึงคำพูดเจ๋งๆ ขึ้นมาแซมเป็นระยะๆ กรีดหน้ากระดาษแล้วจะเจอคำพูดประมาณนี้

“ถ้าเจอคนที่ใช่ ทุกอย่างจะง่ายและไม่ต้องพยายาม”

“เรายอมรับความรักที่เราคิดว่าเราสมควรได้ – we accept the love that we think we deserve”

“ถ้าอะไรที่มันเป็นของคุณ มันก็จะเป็นของคุณ”

ด้วยความหนาประมาณ 270 หน้า จึงต้องใช้เวลาอ่านพอสมควร ถึงกระนั้นแฟนผมก็อ่านจบภายในบ่ายเดียว ส่วนผมใช้เวลาราวสองสัปดาห์

ช่วงครึ่งแรกของหนังสือ ผมอาจจะอ่านช้าไปหน่อย เพราะเรื่องราวมักจะเกี่ยวกับช่วงเริ่มชอบกัน วิธีการจีบ การตัดใจจากคนรักเก่า ฯลฯ ซึ่งสำหรับคนแต่งงานมีครอบครัวแล้วอย่างผมมันผ่านจุดนั้นมานานแล้วเลยไม่ค่อยอินเท่าไหร่

แต่พอมาบทหลังๆ ก็อ่านได้เร็วขึ้น โดยบทที่ผมชอบเป็นพิเศษก็เช่น

– รักให้แฮปปี้ แค่เปลี่ยนจาก “คาดหวัง” มาเป็น “หวัง”

– เรียนรู้จากการเป็น “แฟนคลับ” เพื่อการเป็น “แฟนที่ดี”

– ทัศนคติอะไรบ้าง? ถ้ามีแล้วชีวิตรักจะดีขึ้น

– ทะเลาะกับแฟนแบบไหนที่ไม่ทำให้เลิกกัน

– ชีวิตรักจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตอนเราเป็นโสด

ยกตัวอย่างเรื่องการทะเลาะ จากงานวิจัยพบว่า การทะเลาะด้วยอารมณ์โมโหไม่ได้เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์เท่ากับสิ่งที่ซ่อนอยู่ในการทะเลาะ เช่นการดูหมิ่นอีกฝ่าย การพยายามเอาชนะ การเมินเฉย และการไม่เคยยอมรับว่าตัวเองผิด

เมื่ออ่านจบ ผมก็เห็นสามสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสือ how to ด้านความรักที่เคยเห็นในท้องตลาด

1. “มีวิชา” หลายบทความมีการอ้างอิงถึงงานวิจัยวิชาการ อาจเป็นเพราะจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้และคอลัมน์ Love Actually คือการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง “การจีบกันบนสื่อออนไลน์” ทำให้คุณส้มไม่ได้เขียนโดยใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังอ้างอิงหนังสือและงานวิจัยด้านจิตวิทยาและสังคมวิทยาอย่างพองามอีกด้วย

2. “มีความถ่อมตน” คุณส้มไม่ได้วางตัวเองเป็นกูรูเรื่องความรัก ในหลายบทความเธอยังยอมรับด้วยซ้ำว่าเธอเป็นคนที่ทำผิดพลาดเอาไว้มากมาย บางทีก็ติดแฟนเกินไป บางทีก็ขี้งอนเกินไป การอ่าน Love Never Fails จึงไม่เหมือนโดนอาจารย์หรือรุ่นพี่มาแนะนำว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เหมือนมีเพื่อนหัวอกเดียวกันมาสะกิดบอกเราว่า ถ้าทางนี้มันไม่เวิร์คก็ลองอีกทางนึงดูมั้ย

3. “มีความหวัง” ซึ่งไม่ใช่การหวังแบบลมๆ แล้งๆ แต่มีหวังเพราะว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุผลของมัน พระเจ้าจะไม่ให้บททดสอบอะไรที่เกินกว่าที่เราจะรับได้ และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ตราบใดที่เรายังรู้จักรักตัวเองและไม่เอาความสุขและคุณค่าของตัวเราไปฝากไว้กับคนอื่น

ใครที่ยังไม่มีแฟนหรือยังไม่ได้แต่งงาน อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วน่าจะรับมือกับความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น ถ้าทุกข์อยู่ก็จะทุกข์น้อยลง ถ้าดิ้นอยู่ก็จะดิ้นเบาลง

ส่วนใครที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว หนังสือ Love Never Failsฯ ก็จะช่วยให้เรากลับไปมองความสัมพันธ์ที่ผ่านๆ มาด้วยสายตาที่เข้าอกเข้าใจมากกว่าเดิม

ซึ่งบางทีมันอาจช่วยปลดล็อคเราจากอะไรบางอย่างในอดีต และทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคตครับ

—–

เปิดรับสมัคร Time Management รุ่นที่ 12 วันเสาร์ที่ 9 มีนาคมนี้ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/tgimtimemar19 (เหลือ 15 ที่)

รีวิวคณะภาษาและการสื่อสารที่นิด้า

20170902_nidagslc

วันนี้ขอเขียนบทความเกี่ยวกับหลักสูตรปริญญาโท คณะภาษาและการสื่อสารที่นิด้าหน่อยนะครับ

จุดประสงค์ของบทความนี้มี 2 ข้อ

1.เป็นข้อมูลสำหรับคนที่สนใจจะลงเรียนคณะนี้ – ตอนที่ผมคิดจะลงเรียนหลักสูตรนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมกูเกิ้ลหารีวิวของหลักสูตรนี้ไม่เจอเลย วันนี้ลองกูเกิ้ลดูก็เจอกระทู้ในพันทิปอยู่ 3-4 กระทู้แต่ข้อมูลก็ยังน้อยมากอยู่ดี ผมเลยอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อจะเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับคนที่สนใจเรียนคณะนี้ให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจได้ครับ

2.เตรียมตัวสำหรับการขึ้นพูดในวันเสาร์หน้า – จริงๆ ผมคิดจะเขียนรีวิวนี้มาตั้งนานแล้ว แต่ก็ผัดวันประกันพรุ่งมาเรื่อย จนกระทั่งผมได้รับเชิญไปร่วมแชร์ประสบการณ์ “เส้นทางสู่ความสำเร็จกับภาษาและการสื่อสาร” ที่นิด้าในวันเสาร์ที่ 9 กันยายนนี้ เลยคิดว่า ไหนๆ ก็จะต้องเตรียมตัวอยู่แล้ว ก็ถือโอกาสเขียนลงบล็อก Anontawong’s Musings ด้วยเลยแล้วกัน

ขอออกตัวก่อนว่า ผมเรียนจบตั้งแต่ปี 2556 ดังนั้นข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่อัพเดตแล้ว แต่คิดว่าเนื้อหาอย่างน้อย 90% ยังคงใช้ประโยชน์ได้อยู่ครับ

==ทำไมผมถึงเลือกเรียนภาษาและการสื่อสาร==

ถ้าใครได้ติดตามอ่านบล็อกมหากาพย์ Sapiens 20 ตอนของผม น่าจะพอจำได้ว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเราได้ขึ้นมาครองโลกก็คือความสามารถในการใช้ภาษานี่เอง ภาษาจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เรามองข้ามมันมาตลอด เหมือนนกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ แต่ความจริงแล้วมันสำคัญมากในระดับที่ถ้าเราขาดมันไปการพัฒนาทุกอย่างจะหยุดชะงักเลยนะครับ

แต่ตอนที่ผมเริ่มเรียนหลักสูตรนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เจ้าหนังสือ Sapiens นี้ยังไม่ออกมาหรอกนะ 🙂

ผมจบวิศวะไฟฟ้ามา แล้วก็จับพลัดจับผลูได้งานโปรแกรมเมอร์ที่บริษัททอมสันรอยเตอร์ (เจ้าเดียวกับสำนักข่าวรอยเตอร์) จากนั้นก็เปลี่ยนมาทำงานซัพพอร์ตดูแลลูกค้า (ได้รู้จักกับยอด CEO ของ Wongnai ตอนอยู่ทีมนี้) แล้วพอเริ่มเบื่องานสาย IT ก็เลยลองสมัครตำแหน่ง Communication Manager หรือสื่อสารองค์กรของทอมสันรอยเตอร์ดู พอเขารับเข้ามาทำตำแหน่งนี้ ผมก็เลยคิดว่าควรจะหาความรู้เพิ่มเติมเรื่องการสื่อสารเสียหน่อย จึงขอทุนกับบริษัทและตัดสินใจเรียนที่นิด้าเพราะเห็นว่าหลักสูตรดูน่าสนใจ แถมบ้านผมก็อยู่แถวพัฒนาการ การเดินทางไปนิด้าจึงค่อนข้างสะดวก

==เกี่ยวกับหลักสูตร==
ชื่อเต็มๆ คือ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสาร (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเรียนเป็นภาษาอังกฤษนั่นเอง

ปริญญาโทใบนี้ใช้เวลาเรียน 2 ปี วันเสาร์-อาทิตย์ 9.00-16.00 หรือจะเลือกเรียนแบบภาคค่ำก็ได้ ค่าเล่าเรียนทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท

หลักสูตรนี้คัดนักศึกษาโดยใช้การสอบสัมภาษณ์ โดยอาจารย์จะดูประวัติการทำงาน ผลการเรียนตอนปริญญาตรี และผลสอบภาษาอังกฤษเช่น TOEIC, CU-TEP, TOEFL, หรือ IELTS ถ้าภาษาอังกฤษเราอยู่ในเกณฑ์ดี โอกาสที่จะได้เรียนก็มากพอตัวเพราะการแข่งขันไม่สูงครับ

ผมเข้าเรียนปีพ.ศ. 2554 เป็นรุ่นที่ 26 ตอนที่เริ่มเรียนมีกันอยู่ประมาณ 30 คน ผ่านไปหนึ่งเดือน เหลืออยู่ประมาณ 18 คน (เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังว่าทำไม)

==ประโยชน์ที่ได้จากการเรียนหลักสูตรนี้==
– ได้ “เลนส์วิเศษ” ที่ทำให้เราเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น
– อ่านภาษาอังกฤษได้เร็วขึ้น
– เขียนได้กระชับขึ้น เขียนได้เร็วขึ้น เขียนได้ดีขึ้น
– ระวังเรื่องการสื่อสารมากขึ้นเพราะเราตระหนักว่าคนอาจตีความได้หลายแบบ
– “อ่านระหว่างบรรทัด” (read between the lines) หรือ “เห็น” ข้อความที่ละไว้ได้ชัดขึ้น

==หลักสูตรนี้เหมาะกับ==
– คนที่ชอบภาษาอังกฤษ
– คนที่ภาษาอังกฤษดีอยู่แล้วและอยากเก่งขึ้นไปอีก
– คนที่อยากจะต่อปริญญาเอกหรือไปทางสายวิชาการ

==หลักสูตรนี้ไม่เหมาะกับ==
– คนที่ไม่เคยสอบภาษาอังกฤษได้สูงกว่าเกรด 3 (เพราะเวลาคุณมาเจอภาษายากๆ คุณจะท้อเสียก่อน)
– คนที่อยากจะพัฒนาทักษะการพูด เพื่อไปทำงานที่ต้องพูดภาษาอังกฤษเป็นประจำเช่นมัคคุเทสก์ เพราะหลักสูตรนี้จะเน้นเขียน-อ่านมากกว่า
– คนที่ชอบทางลัด เพราะหลักสูตรนี้ต้องลงทุนลงแรง แต่ถ้าตั้งใจก็จะเก็บเกี่ยวอะไรไปได้ไม่น้อย

==รีวิววิชาที่ได้เรียน==

Perspectives on Language
มาเรียนรู้ว่า “ภาษา” คืออะไร ส่วนประกอบของภาษามีอะไรบ้าง ได้เรียนรู้ว่าภาษาเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง แล้วสัญลักษณ์นั้นก็มีคุณลักษณะ AAA (ทริปเปิ้ลเอ) อันได้แก่ abstract arbitrary และ ambiguous

Abstract เพราะภาษานั้นเป็นนามธรรม เป็นเพียงตัวสะท้อนถึงสิ่งของหรือความคิด เหมือนชี้นิ้วไปที่พระจันทร์ ภาษาเป็นเพียงนิ้วที่ชี้ แต่ไม่ใช่ดวงจันทร์

ภาษานั้น Arbitrary คือมันเป็นสิ่งที่ถูกตั้งขึ้นเอาเองตามอำเภอใจ คนกรุงเทพเรียกผลไม้ลูกเขียวๆ ข้างในสีแดงว่า “แตงโม” แต่จริงๆ แล้วไม่มีส่วนไหนของผลไม้ชนิดนี้ที่บ่งบอกว่ามันควรจะชื่อว่า “แตงโม” เลย ในพื้นที่อื่นมันจึงมีชื่อที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงเช่น “ลูกแตง” (คนใต้) หรือ “ว้อเท่อเม้เลิ่น” (คนอังกฤษ)

Ambiguous เพราะภาษานั้นกำกวมและอาจถูกตีความได้หลายแง่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเข้าใจกันผิดบ่อยๆ

Perspectives on Communication
เป็นการปูพื้นฐานว่าการสื่อสารคืออะไร แต่สิ่งที่ผมจำได้แม่นจากคอร์สนี้คือหนังสือเรียน Communication Theories in Actions ของ Julia T. Wood  ที่อ่านยากมาก ขนาดผมทำงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษทุกวันมาสิบกว่าปี มาเจอหนังสือเล่มนี้ยังอ่านไม่ค่อยรู้เรื่องเลยครับ คุณจะได้เจอคำศัพท์ที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน เช่นคำว่า epistemology, ethnography, ontology, thrownness (ที่ไม่ได้แปลว่าการโยน!) มีเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนเจอวิชานี้แล้วถอดใจหยุดเรียนไปเลย (จึงทำให้จาก 30 กว่าคนเหลือแค่ 18 คน) แต่ผมอยากบอกว่าให้ “กัดฟัน” อีกนิดนะครับ ถ้าคุณผ่านช่วง 4 สัปดาห์แรกได้มันจะโอเคเอง

Research Methodology
วิชาปูพื้นฐานสำหรับการทำวิทยาพนธ์ (Thesis) หรือสารนิพนธ์ (Independent Study หรือที่เราเรียกว่า “ไอเอส” – IS) มาเรียนรู้วิธีการทำวิจัยในแบบต่างๆ การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative) และคุณภาพ (qualitative) ตอนจบคอร์สยังได้ลองทำ mini-IS เป็นการชิมลางอีกด้วย

Academic and Research Writing 1 & 2
เรียนเทอมละตัว ตัวแรกได้เรียนหลักการเกี่ยวกับการเขียนบทความทางวิชาการ เทคนิคต่างๆ ที่ต้องรู้เช่น hedging (ซึ่งผมขอแปลว่า “การไม่ออกตัวแรง ไม่อย่างนั้นถ้าโดนหักล้างจะขายหน้าได้) และวิธีการอ้างอิงงานวิจัยของคนอื่นให้ถูกตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ตัวที่สอง จะได้เรียนเรื่องการเขียนให้ดีขึ้น เข้าใจโครงสร้างของรูปประโยคและโครงสร้างของแต่ละย่อหน้า รู้ว่าจะเล่าเรื่องอย่างไรให้ลื่นไหล จะวางแผนการเขียนอย่างไรเพื่อจะสื่อถึง core message ของเราได้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิชานี้นี่ผมเอาไปเปิดคอร์สสอน Writing Workshop ที่บริษัทได้เลยนะครับ (และเตรียมจะเปิดเป็นคลาสให้คนทั่วไปได้เรียนเร็วๆ นี้)

Discourse Analysis and Applications
วาทกรรมวิเคราะห์ (หรือคำที่ยากกว่านั้นคือ “ปริจเฉทวิเคราะห์”) คือการศึกษาวาทกรรมที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง (ไม่ใช่นิยาย) เช่นบทสนทนา ปาฐกถา การอภิปรายในสภา เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยง และเจาะลึกลงไปให้ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังและสิ่งที่่แฝงอยู่เช่นอำนาจ อคติ และความไม่เท่าเทียม

Socioinguistics
ฟังชื่อดูยาก แต่สังเกตดีๆ มันคือการเอาคำว่า Society และ Language มารวมกัน โดยวิชานี้จะเรียนว่าภาษามันส่งผลต่อสังคมอย่างไร และสังคมส่งผลต่อภาษาอย่างไร ภาษาที่แตกต่างกันทำให้เกิดอคติได้อย่างไร (เหมือนที่คนกรุงเทพได้ยินคนพูดเสียงเหน่อแล้วจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนบ้านนอกนิสัยซื่อๆ) สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคลาสนี้เป็นชนวนให้ผมเขียนบล็อกตอน “ชนชั้นของภาษา” ด้วยครับ

Gender, Sexuality and Communication
ภาษามีส่วนในการกำหนด “ความเป็นชาย” และ “ความเป็นหญิง” ของเราอย่างไรบ้าง เรียนเสร็จทำให้กลับมาเห็นความหมายที่ซ่อนอยู่ในประโยคคุ้นหูอย่าง “เป็นลูกผู้ชายเค้าไม่ร้องไห้กันหรอกนะ” ที่สะท้อนให้เห็นความคาดหวังของสังคมว่าถ้าร้องไห้แสดงว่าเราไม่ใช่ลูกผู้ชาย หรือแม้กระทั่งคำง่ายๆ อย่าง “ผู้หญิงเก่ง” (แต่ไม่มีคำว่า “ผู้ชายเก่ง”) ก็มีนัยว่าผู้หญิงทั่วไปนั้นไม่เก่งรึเปล่า

Introduction to Media Studies
วิชานี้มีประโยชน์มาก ทำให้เห็นถึงความแยบยลของภาษาในการข่าว เช่นถ้าคนที่ลงมือกระทำเป็น “ตัวร้าย” เขาจะใช้โครงสร้าง active voice เช่น Mr.A killed a hostage during the shootout. แต่ถ้าการกระทำผิดนั้นเกิดจากตำรวจ (ซึ่งเป็นพระเอก) การเขียนมักจะเป็น passive voice เพื่อจะได้ไม่ต้องบอกว่าใครเป็นคนยิง – a hostage was killed during the shootout.

Seminar in Language and Communication Research
มันคือวิชา “ซ้อมออกงานสัมมนา” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสายวิชาการต้องทำกันบ่อยๆ คือการเอางานวิจัยของตัวเองไปนำเสนอตามงาน conference ต่างๆ วิชานี้จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำพรีเซนเทชั่นและออกมาพูดหน้าชั้นบ่อยที่สุด สนุกดีครับ ไม่เครียด

English for Specific Purposes
วิชานี้เหมาะสำหรับคนที่จะทำโรงเรียนสอนภาษา เพราะจะครอบคลุมเรื่องการออกแบบการเรียนการสอน การวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน รวมถึงการวัดผลที่เหมาะสมด้วย

Translation Theories and Applications
อาจารย์ที่สอนท่านเป็นนักแปลมายาวนาน เรียนวิชานี้ทำให้เห็นเลยว่าหนังสือแปลที่มันอ่านไม่รู้เรื่องเพราะว่าคนแปลไปยึดติดกับรูปแบบแทนที่จะให้ความสำคัญกับความหมายและความเป็นธรรมชาติของภาษาปลายทาง ถ้านักแปลได้เรียนวิชานี้ทุกคน หนังสือแปลในเมืองไทยจะน่าอ่านขึ้นอีกเยอะเลย

Second Language Acquisition
ได้คุยกันว่าจะเรียนภาษาที่สองยังไงเพื่อให้ได้ผล ทำไมบางคนอยู่เมืองนอกมานานแต่ภาษาอังกฤษกลับย่ำอยู่กับที่ (fossilized) วิชานี้ได้เขียน essay เกือบทุกสัปดาห์เลยครับ สนุกดี

Independent Study
เมื่อเรียน course work ครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาทำโปรเจ็คจบ ตอนนั้นเรื่องที่ผมอยากทำคือการวิเคราะห์เนื้อเพลงของวง “อพาร์ตเมนต์คุณป้า” ซึ่งผู้ฟังจำเป็นต้องเข้าใจบริบทของสังคมไทยถึงจะฟังเพลงได้อย่างมีอรรถรส

ความยากที่สุดสำหรับผมคือการทำ Literature Review (อ่านทฤษฎีและงานวิจัยที่ใกล้เคียงกัน) และตัดสินใจว่าจะเอาทฤษฎีไหนมาจับ ผมใช้เวลาไปกับช่วงนี้นานมาก แต่พอตัดสินใจได้แล้วก็ฉลุยครับ อ่าน IS ของผมได้ที่นี่ครับ Intertextuality and Conceptual Metaphors in Apartmentkhunpa Lyrics 

==ความเห็นต่ออาจารย์ที่เรียนด้วย==
อ.กันยารัตน์ เกตุขำ (Academic and Research Writing 1)
เป็นอาจารย์ที่สอนคลาสแรกของผมเลย (แถมผมยังไปสายอีก!) น่าจะเป็นอาจารย์ที่อาวุโสสุดคนหนึ่ง มีความเฮี้ยบและความเนี้ยบพอตัว แต่จริงๆ อาจารย์เป็นคนใจดีนะครับ ตอนทำ IS ผมต้องเปิดอ่านหนังสือของอาจารย์อยู่ตลอดเลยเพราะกลัวจะอ้างอิงผิดวิธี

อ.เกศกานดา จตุรงคโชค (Perspectives on Language, Sociolinguistics)
อ.เกศเก่งมาแถมสอนสนุกมากด้วย หนังสือที่อาจารย์เลือกมาใช้จะเป็นหนังสือง่ายๆ และใช้วิธีสอนแบบ “จูงมือ” ลูกศิษย์ คือค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ข้อสอบก็เอาเรื่องที่คุยในห้องเรียนมาถาม ถ้าตั้งใจเรียนยังไงก็ผ่านแน่นอน เคล็ดลับที่จะได้เกรดดีๆ จากอาจารย์ก็คือเวลาอาจารย์ถามอะไรให้ยกมือตอบครับ

อ.รุจิระ โรจนประภายนต์ (Perspectives on Communication)
อ.รุจิระเป็นอาจารย์ปากร้ายแต่ใจดี ผมเชื่อว่าที่เด็กหลายคนถอนตัวไปในช่วงหนึ่งเดือนแรกก็เพราะอาจารย์ขู่ไว้เยอะนี่แหละ (แถมหนังสือเรียนวิชานีก็ดันยากมากอีก) แต่เอาเข้าจริง พอตอนท้ายๆ อาจารย์ก็จะช่วยเต็มที่นะครับ ผมถึงบอกว่าให้กัดฟันไว้ ผ่านเดือนแรกมาได้แล้วจะดีเอง อ.รุจิระจะแจกแฮนด์เอาท์สไลด์ที่อาจารย์จะใช้สอนทั้งเทอมให้ตั้งแต่วันแรกเลย วิธีที่ผมลองใช้แล้วเวิร์คคือให้อ่านแฮนด์เอาท์มาก่อนเข้าคลาส (ซึ่งอ่านง่ายกว่าหนังสือของคุณ Julia Wood เยอะ) พอมาฟังอาจารย์พูดก็จะเก็ทมากขึ้น เรียนจบแล้วค่อยมาอ่านหนังสือตามครับ

อ.สาวิตรี คทวณิช (Discourse Analysis + Independent Study)
อ.สาวิตรีสอนเข้าใจง่าย เพราะมักจะยกตัวอย่างเรื่องใกล้ๆ ตัวเช่นบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับลูกสาวมาอธิบายเสริมอยู่เสมอ อาจารย์สาวิตรียังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา IS ของผมด้วย แนะนำหนังสือให้ผมมาอ่านไม่อั้น เล่มที่อ่านแล้วได้เรื่องได้ราวที่สุดคือ Intertextuality ของ Graham Allen ซึ่งถ้าไม่ได้เล่มนี้นี่ผมคงทำ IS ไม่ได้แน่ๆ ที่สำคัญอาจารย์ยังใจดีให้นัดพบวันธรรมดาหลังเลิกงานอีกด้วย (อาจารย์จะนัดแถวเอ็มโพเรียมเพราะบ้านอาจารย์อยู่แถวนั้น)

อ.กษมา สุวรรณรักษ์ (Discourse Analysis & English for Specific Purposes)
อ.กษมาเป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ใจดีและใจเย็นที่สุดแล้วในคณะนี้ อะไรตรงไหนไม่เข้าใจสามารถเข้าไปคุยกับอาจารย์ได้ตลอดเลยครับ

อ.จเร สิงหโกวินท์ (Gender, Sexuality and Communication)
ผมชอบสไลด์ของอาจารย์จเรเพราะจะใช้คำน้อยๆ แล้วเน้นพูดขยายความ ตอนเรียนวิชานี้อาจารย์เปิดหนังให้ดูหลายเรื่อง แล้วก็ให้การบ้านเราไปคิดไปเขียนต่อเอาเอง ผมชอบการสอนแนวนี้นะเพราะมันได้ใช้ความคิดเยอะดี ไม่มีอะไรต้องท่องจำ แค่นำคอนเซ็ปต์ที่เราเรียนในห้องมาอธิบายปรากฎการณ์ที่เราเห็นในหนัง ฟุ้งได้เต็มที่!

อ.พัชรี โภคาสัมฤทธิ์ (Translation Theories and Applications)
เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ผมชอบที่สุด เพราะอาจารย์เป็นคนที่สอนสนุกและอธิบายก็เรื่องราวต่างๆ ได้เข้าใจง่ายมาก เสียดายที่อาจารย์เกษียณไปแล้ว เลยไม่แน่ใจว่ายังมีสอนวิชานี้กันอยู่มั้ย

อ.ศักดิ์สิทธิ์ แสงบุญ (Research Methodology, Second Language Acquisition)
น่าจะเป็นอาจารย์ที่ผมได้คุยบ่อยสุดแล้วตั้งแต่จบมา คงเป็นเพราะผมตอบคำถามในห้องเยอะสุด (และบางทีก็เถียงเยอะสุดด้วย) อาจารย์ศักดิ์สิทธิ์พูดภาษาอังกฤษเพราะมาก เวลาสอนก็จะเน้นถามคำถามเพื่อให้นักเรียนระลึกได้ถึงคอนเซ็ปต์และค่ีย์เวิร์ดสำคัญๆ ของวิชานั้น หากเวลาอาจารย์ถามแล้วเราพูดคำพวกนั้นออกมาได้อาจารย์จะยิ้มแก้มปริครับ คอนเฟิร์ม!

อ.แอนดรูว์ เจมส์ เวสท์ (Academic and Research Writing 2)
อาจารย์แอนดรูว์ (ซึ่งผมเรียกติดปากว่าแอนดี้) มีฟิลลิ่งของนักประพันธ์หรือศิลปินมากกว่าเป็นอาจารย์นะครับ ลีลาการสอนของแอนดี้อาจจะสู้อาจารย์ท่านอื่นไม่ได้ แต่คำแนะนำของแอนดี้หลังจากตรวจการบ้านให้เราแล้วนี่มีประโยชน์มากๆ ถ้าตั้งใจเรียนวิชานี้เราจะเขียนเก่งขึ้นอย่างแน่นอน

ยังมีอาจารย์อีกสองท่านคืออ.ฮิวโก้ (คนจีน) กับอ.เจสซี่โอเว่น (คนแคนเนเดียน) เก่งทั้งคู่ สอนสนุกทั้งคู่แต่ได้ย้ายไปประจำที่อื่นแล้ว

==สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด==
– ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
– อาจารย์ที่นี่มีจิตวิญญาณความเป็นครูสูงมาก ไม่ใช่นักธุรกิจที่รับจ๊อบสอนหนังสือ
– ถ้ามาถึงก่อน 8.30 จะหาที่จอดรถง่ายมาก (ถ้ามาช้าก็จะหายากมาก)
– ห้องน้ำสะอาดสุดๆ (อย่างน้อยก็ตึกที่ผมเรียน)
– ห้องสมุดใหม่เอี่ยม น่านั่ง+น่านอน แถมยังรับบริจาคหนังสือไม่อั้น (ผมเอาหนังสือไปบริจาคแล้ว 3 รอบ) เป็นที่สิงสถิตของผมทุกเย็นวันเสาร์หลังเลิกเรียน
– ร้านซีเอ็ดสาขานี้ใหญ่ดีเดินเพลิน
– Mixed Berries Smoothie (ใต้อาคาร 6 ติดกับสวนน้ำ) อร่อยลงตัวมาก ผมไปทีไรต้องแวะซื้อทุกครั้ง

==สิ่งที่ประทับใจน้อยไปหน่อย==
– โปรเจ็คเตอร์ในห้องเล็คเชอร์ชอบมีปัญหา
– โรงอาหารเล็กไปหน่อย
– การสื่อสารกับศิษย์เก่าตอนนี้ใช้วิธีส่งอีเมลจากใครก็ไม่รู้ – ยิ่งเราเป็นคณะภาษาและการสื่อสารด้วยแล้วเรายิ่งควรจะทำได้ดีกว่านี้ครับ (ใช้ Facebook Group ดีมั้ย?)

ผมต้องขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ได้ทุ่มเทสอนสิ่งที่ตัวเองรู้และสิ่งที่ตัวเองรักให้ลูกศิษย์มากว่า 30 รุ่น หากมีอะไรที่ผมพอจะช่วยคณะภาษาและการสื่อสารได้ก็เรียกใช้ผมได้เลยนะครับ

และสำหรับคุณผู้อ่านที่ผ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หากอยากจะซักถามอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนที่นี่ ก็มาร่วมพูดคุยกับผมและศิษย์เก่าอีกสองท่านคืออ.ต้น (เพจสอนภาษาอาจารย์ต้น) และคุณน้ำเจ้าของเพจ Trip & Teach ได้ในวันเสาร์ที่ 9 กันยายน ที่นิด้า อาคารสยามบรมราชกุมารี ห้อง 601 เวลา 13.00-15.00 ครับ

สำรองที่นั่งได้ที่ http://bit.ly/nidalctalk2017 หรือโทร.02-727-3142  ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ  ยกเว้นว่าฟังจบแล้วจะอยากไปนั่งกิน mixed berries smoothie กันต่อครับ