อย่าฝากความหวังไว้กับตัวเราในอนาคต

20181231_futureself

คนที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งก็เพราะว่าเชื่อมั่นตัวเองในอนาคตมากเกินไป

“ตอนนี้ขอดูทีวีก่อน คืนนี้ค่อยทำงานแล้วกัน”

“ตอนนี้ขอกินให้สะใจก่อน ปีใหม่ค่อยเริ่มลดน้ำหนัก”

“ตอนนี้ทนกับปัญหานี้ไปก่อน ไว้มีจังหวะค่อยแก้ปัญหาแล้วกัน”

เหล่านี้คือการฝากความหวังไว้กับตัวเองในอนาคตทั้งสิ้น

เรามักจะประเมินอนาคตไว้ดีกว่าความเป็นจริงเสมอ ไม่รู้ว่าเพราะเราเชื่อมั่นอย่างนั้นจริงๆ หรือเราแค่ปลอบใจตัวเอง

เพราะตัวเราในวันพรุ่งนี้คงไม่ได้ขยัน/เก่ง/มีเวลา/มีความกล้า มากไปกว่าวันนี้ซักเท่าไหร่

จะฝากความหวังไว้กับตัวเองในอนาคตทำไม

ตัวเราในอนาคตต่างหากที่ฝากความหวังไว้กับตัวเราในปัจจุบัน

หยุดฝันว่าปีใหม่หรือปีไหนๆ จะดีขึ้น ถ้าวันนี้-ปีนี้ยังทำตัวเหมือนเดิมครับ

—–

ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือเทคนิคเปลี่ยนคุณให้เป็นคนไม่ผัดวันประกันพรุ่งและลงมือทำทันที โดย ซะซะกิ โชโกะ

Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้เปิดรับสมัครแล้วดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

บทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings:

LINE: bit.ly/tgimline

Facebook: bit.ly/tgimfb

Twitter: bit.ly/tgimtwt

ถ้ามันง่ายแสดงว่าเราอาจจะมาผิดทาง

20181230_wrongway

ช่วงหยุดยาวปีใหม่ หากไม่ได้ไปเที่ยวไหน ชีวิตอาจดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

เมื่อสองชั่วโมงที่แล้ว “ปรายฝน” ลูกสาววัยสามขวบมาชวนผมระบายสีในสมุดภาพของเธอ เมื่อระบายได้ซักพัก ดินสอสีเหลืองก็หัวทู่ ปรายฝนวิ่งไปหยิบเครื่องเหลาดินสอมา เอาดินสอเสียบเข้าไปแล้วลงมือหมุนก้าน

ปรายฝนหันมาถามผมว่า “ทำไมมันลื่นจัง”

ปรายฝนแปลกใจ เพราะธรรมดาเวลาเหลาดินสอ มือซ้ายต้องออกแรงยึดเครื่องเหลาไว้กับพื้น ส่วนมือขวาก็ต้องออกแรงดันสุดตัว แต่มารอบนี้กลับแทบไม่ต้องใช้แรงอะไรเลย

ผมมองแว้บเดียวก็รู้คำตอบ “ปรายฝนหมุนผิดทางลูก”

แทนที่จะหมุนไปข้างหน้า ปรายฝนกำลังหมุนถอยหลังอยู่ พอปรายฝนลองหมุนอีกทางนึงแทน จึงพบว่าต้องออกแรงเยอะกว่าเดิมมากจนผมต้องเขาไปช่วย แต่สุดท้ายก็ได้ดินสอสีเหลืองหัวแหลมเปี๊ยวเป็นผลลัพธ์

การปั่นจักรยานก็เช่นกัน

เมื่อเราออกแรงปั่นไปได้ซักพักแล้ว ถ้าเราหยุดถีบ หรือถีบถอยหลัง ก็จะไม่ต้องออกแรงแต่ประการใด แถมจักรยานยังวิ่งไปได้อีกซักพัก ก่อนจะช้าลงจนเราต้องออกแรงถีบกันอีกรอบ

ชีวิตก็เช่นกัน

เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง ได้งานดี เงินดี เพื่อนร่วมงานดี ก็เป็นการง่ายที่เราจะเข้าเกียร์ว่างและปล่อยให้โมเมนตั้มชีวิตพาเราไป หรือบางทีก็เลือกทำแต่งานง่ายๆ ที่เราถนัดแต่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มเท่าไหร่นัก

ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าทำอย่างนั้นไปนานๆ จักรยานชีวิตของเราก็อาจจะค่อยๆ ช้าลงโดยที่เราไม่รู้ตัว

ดังนั้น ถ้าสิ่งที่เราทำอยู่มันง่ายดายไปเสียทุกอย่าง ควรตั้งคำถามด้วยว่าเรากำลังทำอะไรผิดทางอยู่รึเปล่า

ถ้าทำถูก มันควรจะต้องออกแรง มันควรต้องมีอุปสรรค มันควรมีความยากลำบากแซมเข้ามาบ้าง

เหนื่อยกว่าแน่นอน แต่เราจะได้ดินสอที่แหลมคมกว่าเดิมครับ

—–

Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้เปิดรับสมัครแล้วดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

บทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings:

LINE: bit.ly/tgimline

Facebook: bit.ly/tgimfb

Twitter: bit.ly/tgimtwt

อย่าโทษสนาม

20181229_dontblamethepitch

สมัยเรียนมัธยมปลายที่นิวซีแลนด์ ผมเป็นนักฟุตบอลทีมเยาวชนประจำเมืองและนักฟุตบอลของโรงเรียน

ไม่ใช่เพราะว่าเก่งกาจอะไรมากมาย แต่เพราะเมืองมีคนแค่ 4500 คน และโรงเรียนมีนักเรียนแค่ 400 คน แถมฟุตบอลก็ไม่ใช่กีฬายอดนิยมของคนนิวซีแลนด์

บอลที่เราแข่งเป็นบอล 11 คน มีทั้งเหย้าและเยือน สภาพสนามของแต่ละที่ก็แตกต่างกันไป ใหญ่บ้างเล็กบ้าง หญ้าขึ้นดีบ้าง หญ้าขาดแคลนบ้าง แมทช์แข่งวันไหนที่มีฝนตกสนามก็จะเจิ่งนอง หรือถ้าวันไหนอากาศหนาวมากๆ ก็จะมีแม่คะนิ้งจับอยู่บนหญ้าจนสนามลื่นชวนให้ล้มอยู่บ่อยครั้ง

แมทช์ไหนที่เราแพ้เพราะสภาพสนามไม่เป็นใจ เราก็จะบ่นกันอุบ ส่งบอลพอตกพื้นแล้วแทนที่บอลจะกลิ้งไปดันไปติดอยู่ในแอ่งน้ำ หรือกำลังจะวิ่งเข้าชาร์จทำประตูดันลื่นล้มซะก่อน ฯลฯ

มีครั้งหนึ่งที่โค้ชคงทนฟังเราบ่นไม่ไหว เขาก็เลยบอกว่าเลิกบ่นเรื่องสนามได้แล้ว

เพราะทีมที่เราแพ้มาเขาก็เล่นสนามเดียวกับเราไม่ใช่เหรอ

เอ้อ จริงด้วยแฮะ

เมื่อทั้งสองทีมเล่นอยู่ในสนามเดียวกัน แถมยังมีสลับฝั่งกันเมื่อครบ 45 นาที ถ้าสนามมันจะแย่มันก็ต้องย่อมแย่สำหรับทั้งสองทีม

ดังนั้น การจะมาบอกว่าเราแพ้เพราะสนามไม่ดีนั้นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

เราแพ้เพราะเราเล่นสู้เขาไม่ได้เองต่างหาก

บทเรียนนี้สำคัญมากสำหรับชีวิตนะครับ

เวลาเราชนะ เรามักจะเอาความดีใส่ตัว

เวลาเราแพ้ หรือเราไม่กล้าแม้จะสู้ เรามักจะโทษนู่นโทษนี่

โทษโชคชะตา โทษเศรษฐกิจ โทษรัฐบาล

ทั้งๆ ที่คู่แข่งของเราส่วนใหญ่ก็อยู่ในสนามเดียวกับเรา

ดังนั้น ถ้าเรากำลังแพ้เกมชีวิต ลองมองไปรอบตัวว่ามีคนที่ชนะอยู่บ้างมั้ย

ถ้ายังมีคนชนะได้ เราก็ควรเลิกโทษสนามได้แล้วครับ


Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้เปิดรับสมัครแล้วดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

บทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings:

LINE: bit.ly/tgimline

Facebook: bit.ly/tgimfb

Twitter: bit.ly/tgimtwt

นิทานกาเจ็บใจ

20181228_teapot

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

ชายชราคนหนึ่งมีกาน้ำชาโบราณเก่าแก่สูงค่ามีอายุกว่าร้อยปี เขาวางชุดกาน้ำชานี้ไว้ที่หัวเตียงอย่างทะนุถนอม

คืนหนึ่ง ท่ามกลางความมืด มือของชายชราปัดไปโดนฝากาน้ำชาตกลงพื้น

ชายชราทั้งโกรธทั้งเจ็บใจ และในเมื่อเขาได้ทำฝากาน้ำชาแตกไปแล้ว จะเก็บตัวกาไว้ดูให้เจ็บใจซ้ำอีกทำไม คิดได้ดังนั้นเลยหยิบกาน้ำชาเขวี้ยงออกไปนอกหน้าต่าง

รุ่งเช้า ชายชราตื่นขึ้นมา เห็นฝากาน้ำชาหล่นอยู่บนรองเท้าที่ข้างเตียงโดยไม่มีอะไรแตกเสียหาย แต่พอคิดได้ว่าเขาเขวี้ยงกาน้ำชาออกนอกหน้าต่างทิ้งไปแล้วก็เลยยิ่งเจ็บใจ จึงกระทืบฝากาน้ำชาจนแตกละเอียด

พอตอนสาย ชายชราเดินออกไปหน้าบ้าน จึงเห็นว่ากาน้ำชาที่เขวี้ยงทิ้งไปเมื่อคืนนั้นยังคาอยู่บนต้นไม้โดยไม่มีอะไรบุบสลาย

ชายชราหัวเราะเสียงดังลั่น

—–

ขอบคุณนิทานจากเว็บนิทานน้ำใจไมตรี

ทำไมเราถึงอยากมีสนามหญ้าอยู่หน้าบ้าน

20181224_lawn

วิหารเทพในเอเธนส์ไม่มีสนามหญ้า

จัตุรัสโรมันไม่เคยมีสนามหญ้า

พระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งก็ไม่มีสนามหญ้า

แล้วสนามหญ้ามาได้ยังไง? ทำไมเราถึงอยากได้สนามหญ้าหน้าบ้านกันนัก เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว มันแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย แถมยังต้องออกแรงดูแลรักษาอีก

เรื่องราวเริ่มจากในช่วงยุคกลางของยุโรป (ค.ศ.500-1500) ที่เหล่าชนชั้นสูงเริ่มมีการปลูกหญ้าไว้รอบบ้าน (เรียกว่าวังหรือคฤหาสน์อาจจะเหมาะกว่า)

ตอนนั้นยังไม่มีเครื่องตัดหญ้าและหัวสปริงเกอร์รดน้ำ สนามหญ้าพวกนี้จึงต้องใช้คนงานดูแลเป็นจำนวนมาก แถมหญ้าก็เอาไปทำประโยชน์ไม่ได้ เพราะถ้าเอาแกะหรือวัวมาเลี้ยง สนามหญ้าก็จะเสียหายและดูไม่สวยงาม คนส่วนใหญ่ที่มีอาชีพเป็นชาวนาจึงไม่อาจมีสนามหญ้าอยู่หน้าบ้านได้

การมีสนามหญ้าจึงเป็นการบอกกับชาวโลกว่า ดูสิว่าฉันฐานะดีแค่ไหน มีเงินจ้างคนงานเป็นสิบๆ คนเพื่อมาดูแลหญ้าหน้าบ้านของฉันให้ดูสมบูรณ์งดงามอยู่เสมอ

ในทางกลับกัน ถ้าสนามหญ้าบ้านไหนหญ้าเริ่มเฉาหรือไม่ได้รับการดูแล นั่นก็แสดงว่าครอบครัวชั้นสูงนั้นกำลังประสบปัญหาอะไรบางอย่าง

200 ปีที่แล้ว เมื่อโลกเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความมั่งคั่งถูกผลัดมือจากชนชั้นสูงไปสู่ “เศรษฐีหน้าใหม่” ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของโรงงาน นายธนาคาร หรือนักกฎหมาย สามัญชนที่มีเงินก็เลยเริ่มมีสนามหญ้าอยู่หน้าบ้านเพื่อแสดงถึงสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าเช่นกัน

พอเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 20 ที่บ้านชานเมืองเริ่มผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด สิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะได้ดีที่สุดก็คือสนามหญ้าหน้าบ้านอันเขียวขจีนี่เอง

ชนชั้นสูงเมื่อพันปีที่แล้วปลูกหญ้าที่ไร้ประโยชน์เพื่อโชว์ออฟว่าบ้านเขามีคนใช้มากมายที่จะดูแลหญ้าเหล่านั้น และพันปีต่อมาสนามหญ้าก็กลายเป็นมรดกตกทอดให้ชนชั้นกลางอย่างเราๆ อยากมีสนามหญ้ากับเขาบ้าง

เราไม่ได้รู้อดีตเพื่อทำนายอนาคต แต่เรารู้อดีตเพื่อที่จะได้ปลดปล่อยตัวเองจากมันได้

หากบ้านของคุณมีสนามหญ้า และคุณต้องเสียเวลากับการดูแลมันมากเกินไป ลองปลดปล่อยตัวเองจากความคิดว่าบ้านในฝันต้องมีสนามหญ้านะครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Homo Deus, A Brief History of Tomorrow by Yuval Noah Harrari

Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้เปิดรับสมัครแล้วดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

บทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings:

LINE: bit.ly/tgimline

Facebook: bit.ly/tgimfb

Twitter: bit.ly/tgimtwt