ธรรมะ Q&A

20160718_dhamma

วันนี้วันพระ มาคุยกันเรื่องธรรมะกันซักวันนะครับ

ขอเขียนเป็นแนวถามเอง-ตอบเอง โดยใช้ความรู้และความรู้สึกของตัวเองล้วนๆ ดังนั้น ผมจึงขอให้อ่านอย่างมีวิจารณญาณและมีเมตตานะครับ

Q: ธรรมะคืออะไร?

A: ตามความเข้าใจของผม ธรรมะก็คือการศึกษาธรรมชาติของกายและใจเราเอง

Q: ศึกษาเพื่ออะไร?

A: ศึกษาเพื่อให้รู้ว่า แท้จริงแล้วธรรมชาติของกายและใจเรานั้นถูกความทุกข์เสียดแทงตลอดเวลา ไม่น่ายึดถือไว้เลย

Q: จะมีแต่ความทุกข์ได้อย่างไร ก็เห็นๆ อยู่ว่าเดี๋ยวมันก็ทุกข์บ้าง สุขบ้าง อย่างตอนกินข้าวอิ่ม หรือตอนถ่ายท้อง หรือตอนมีความรักก็มีความสุขดีนี่?

A: ผู้รู้บอกว่า ถ้าเข้าใจถ่องแท้ จะเห็นเลยว่ามีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย แต่เพราะว่าเห็นว่ามีทั้งสุขและทุกข์นี่แหละ เราถึงต้องกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

Q: แล้วเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันไม่ดีตรงไหน?

A: ไม่ดีตรงที่เกิดเราอาจจะไม่ได้โชคดีได้มาเกิดในสุคติภูมิก็ได้ การไปเกิดในทุคติภูมินี่ชีวิตแย่กว่าเป็นมนุษย์ไม่รู้ตั้งเท่าไหร่

Q: แล้วคุณรู้ได้ไงว่าสังสารวัฏมีอยู่จริง?

A: ไม่รู้ แต่อย่างน้อยผมก็คิดว่าพระพุทธเจ้าไม่น่าจะโกหกเรานะ

Q: ท่านคงไม่โกหกหรอก แต่คำสอนที่สืบทอดกันมาอาจจะมีการดัดแปลงเพิ่มเติมพระไตรปิฎกให้เรื่องราวพิสดารเกินเหตุก็ได้นี่?

A: ก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเรื่องราวใดเป็นเรื่องโกหก อย่างน้อยก็น่าจะมีคนที่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วออกมาให้ข้อมูลคัดค้านบ้าง แต่เท่าที่ผมเห็น พระหลายๆ องค์ก็ออกมายืนยันถึงความมีอยู่จริงของภพภูมิอื่นๆ

Q: แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะมีอยู่จริงอยู่ดีนี่?

A: วิธีเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองยังไงล่ะ เพราะแม้สุดท้ายแล้ว สังสารวัฏจะไม่มีอยู่จริง แต่การมีธรรมะอยู่ในใจก็จะทำให้เราใช้ชีวิตนี้ได้อย่างมีความสุขแล้ว

Q: กลับมาที่เรื่องศึกษาธรรมะ ทำยังไงถึงจะดูออกว่ากายนี้ใจนี้เป็นทุกข์?

A: ก็ด้วยการฝึกสติปัฎฐานสี่ หรือที่เราเรียกกันว่าวิปัสสนา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ไม่มีในศาสนาอื่น

Q: สติปัฏฐานสี่คืออะไร ทำไม่ชื่อมันฟังดูยากจัง?

A: ชื่อมันฟังดูยากไปอย่างนั้นเอง แต่ถ้าลองแตกคำดูดีๆ มันก็คือการฝึกสติด้วยการใช้ฐานใดฐานหนึ่งในสี่ฐานคือกาย เวทนา จิต ธรรม

– กายานุปัสสนาก็คือการฝึกสติโดยใช้กายเป็นฐาน เช่นยืน เดิน นั่ง นอนก็คอยรู้คอยดูกายไปเรื่อยๆ

– เวทนานุปัสสนา (อ่านว่า “เว ทะ นา”) คือการใช้ความรู้สึกเป็นฐาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกทางใจเช่นสุขหรือทุกข์ก็รู้ หรือความรู้สึกทางกายอย่างเย็น ร้อน คัน ปวด จั๊กจี้ อึดอัด

– จิตตานุปัสสนาคือการใช้ความคิดเป็นฐาน เช่นโลภก็รู้ โกรธก็รู้ กำลังคิดมากก็รู้ กำลังน้อยใจก็รู้

– ธัมมานุปัสสนาคือการพิจารณาธรรมทั้งหลายเช่น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อริยสัจ ๔ ฯลฯ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร แต่ขอบอกว่ามันแอดว๊านซ์ไป เท่าที่ผมรู้ นอกจากพระพุทธเจ้าแล้วยังไม่เคยมีใครใช้ธัมมานุปัสสนาจนบรรลุได้

Q: แล้วสติปัฏฐานสี่นี่เราต้องทำทั้งสี่อย่างเลยรึเปล่า?

A: ไม่จำเป็น ถ้าเปรียบนิพพานเป็นห้องๆ หนึ่ง กายาฯ เวทนาฯ จิตตาฯ ธัมมาฯ ก็เป็นเหมือนประตูสี่บานที่เปิดเข้าสู่ห้องเดียวกัน

Q: แล้วหลักการใหญ่ๆ ของวิปัสสนาคืออะไร?

A: เท่าที่ผมจับใจความได้มีดังนี้

– รู้เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในกายในใจเรา (การเพ่งไฟหรือเพ่งกษิณจึงไม่ใช่วิปัสสนา)

– รู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ใช่โกรธเมื่อชั่วโมงที่แล้วเพิ่งมารู้ตัวเอาตอนนี้

– รู้อย่างเป็นกลาง คือรู้แล้วไม่ตัดสินว่าสภาวนะดีหรือไม่ดี เพราะถ้าเราไม่เป็นกลางเมื่อไหร่ ใจเราจะเริ่มทำงานใจเราจะเริ่มคิด และเมื่อคิดเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้เมื่อนั้น

Q: เป้าหมายของวิปัสสนาคืออะไร?

A: ให้เห็นถึงไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

Q: ศัพท์ยากอีกแล้ว

A: อนิจจังคือเห็นความเปลี่ยนแปลง เช่นเมื่อกี้ยังอารมณ์ดีอยู่ ตอนนี้อารมณ์เสียแล้ว

ทุกขังคือเห็นสภาะวะบีบคั้นที่อยู่ในกายในใจเราเสมอมา เช่นนั่งอยู่ซักพักเริ่มเมื่อยนั่นก็คือทุกข์อย่างหนึ่ง

ส่วนอนัตตาคือให้เห็นว่าสภาวะต่างๆ ไม่ใช่ตัวเราหรือของๆ เรา เช่นเวลาเรานั่งแล้วปวดขา ให้เห็นว่าขากับอาการปวดนั้นอยู่คนละส่วน ขาก็อยู่ส่วนหนึ่ง ความปวดก็เป็นเวทนาหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในขา หรือที่เขาเรียกกันเท่ๆ ว่า “แยกรูป-แยกนาม” นั่นแหละ

หรือเวลาเราโกรธ จริงๆ แล้วตัวเราไม่ได้โกรธ แต่ความโกรธต่างหากที่เป็นสภาวะแปลกปลอมที่แทรกซ้อนเข้ามา เป็นแค่แขกที่มาเยี่ยมใจเรา ซักพักเดี๋ยวเขาก็ไป

Q: เห็นไตรลักษณ์แล้วยังไงต่อ?

A: ก็ไม่ยังไงต่อ ได้แต่ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเรา “เข้าใจ” จริงๆ ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดติด เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถูกความทุกข์เสียดแทงตลอดเวลา และยึดเอามาเป็นของเราไม่ได้ซักอย่าง

Q: แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามาถูกทางแล้ว?

A: น่าจะมีสองขั้นตอน คือศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าเพื่อเข้าใจหลักใหญ่ใจความ จากนั้นก็พิจารณาโดยใช้ common sense เปรียบเทียบดูว่าผลลัพธ์ที่ได้มามันใกล้เคียงกับที่พระพุทธเจ้าสอนรึเปล่า

Q: ผลลัพธ์เช่นอะไรบ้าง?

A: เราเห็นกิเลสตัวเองบ่อยขึ้นไหม? เรามีสติบ่อยขึ้นรึเปล่า? ตอนโกรธเรารู้ตัวรึเปล่า? เรามีใจที่เป็นกลางกับสิ่งต่างๆ ที่มากขึ้นรึเปล่า? ถ้าคำตอบคือใช่ก็แสดงว่าเราน่าจะยังมาถูกทางอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรฟังควรอ่านธรรมะจากผู้รู้ด้วย

Q: ถ้าอยากศึกษาเรื่องพวกนี้ควรไปหาอ่านจากที่ไหน?

A: ที่ผมรู้จักและอยากแนะนำมีอยู่สามที่คือ dungtrin.com ของดังตฤณ thaidhamma.net ของอาจารย์โกเอ็นก้า และ dhamma.com ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

Q: แต่ละวันก็ยุ่งจะแย่อยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปปฏิบัติ?

A: ถ้าคุณก็มีเวลาอ่านบทความนี้มาถึงบรรทัดนี้ ก็แสดงว่าคุณมีเวลาปฏิบัติแล้วล่ะ

Q: อย่ามาพูดให้รู้สึกผิดได้มั้ย ถามดีๆ ก็ตอบดีๆ สิ

A: สำหรับคนเมืองอย่างเรา วิธีที่ง่ายสุดคือปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี่แหละ เช่นเวลาแปรงฟันก็รู้สึกถึงฟันที่กำลังถูกแปรงถูไถ เวลาอาบน้ำก็รู้สึกถึงความรู้สึกเย็นๆ เวลาน้ำกระทบร่างกาย เวลากินข้าวก็รู้สึกถึงรสชาติอาหาร เดินไปขึ้นรถไฟฟ้าก็ให้ลองดูร่างกายของตัวเองที่มันเคลื่อนไหว ตอนขึ้นลิฟต์แทนที่จะหยิบมือถือขึ้นมาเล่นเพื่อฆ่าเวลา ก็ลองสังเกตลมหายใจของตัวเองดู แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนเข้านอนก็ควรจะสวดมนต์และนั่งสมาธิซักหน่อยเพื่อให้ใจได้ผ่อนคลายและหลับสบายนะ

Q: แต่ชีวิตเรายุ่งมากเลยนะ หาเวลามาปฏิบัติไม่ได้เลย

A: ยิ่งยุ่งจนไม่มีเวลาแปลว่ายิ่งต้องปฏิบัติเลยล่ะ และคำถามก็คือ เรายุ่งเพราะอะไร? ยุ่งเพราะเรากำลังใช้ชีวิตตามเป้าหมายบางอย่างอยู่ใช่หรือไม่? เช่นอยากจะมีแฟนสวยๆ อยากจะได้เลื่อนตำแหน่ง อยากจะมีเงินเก็บเท่านั้นเท่านี้?

คุณพศิน อินทรวงค์ เคยเขียนไว้ในบทความชื่อ 10 ความจริงสูงสุดที่ทุกคนควรตระหนักว่า

ตลอดกาลเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ขอให้เชื่อเถอะว่า เราเคยตั้งเป้าหมายชีวิตมาแล้วนับไม่ถ้วน และขอให้เชื่อเถอะว่า ทุกเป้าหมาย ทุกความปราถนา ทุกความสำเร็จ ทุกความอยากมี อยากได้ อยากเป็น เราล้วนเคยบรรลุมาแล้วก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น คงเหลือเพียงเป้าหมายเดียวเท่านั้นที่เรายังไม่เคยบรรลุ นั่นคือเป้าหมายแห่งการไม่เกิด ไม่ตาย

วันนี้วันพระ ขอให้ธรรมะคุ้มครองใจเรานะครับ


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ประโยคสุดท้าย

20160519_Lastwords

วันนี้วันศุกร์ และเป็นวันพระ จึงขอพูดคุยเรื่องธรรมะเปลี่ยนบรรยากาศบ้างนะครับ

ลองนึกภาพไปในวันที่คุณมีอายุ 80 ปี ตอนนั้นเป็นเวลาสามทุ่มกว่าๆ และคุณกำลังนอนอยู่บนเตียงที่บ้าน

คุณรู้สึกว่าอาจจะอยู่ไม่พ้นคืนนี้แล้ว จึงเรียกลูกหลานให้มาคุยกันพร้อมหน้าพร้อมตา

สิ่งที่คุณจะฝากฝังไว้กับลูกหลานคืออะไร?  และประโยคสุดท้ายที่คุณจะพูดคืออะไร?


ย้อนกลับไปในวันเดียวกันนี้เมื่อ 2559 ปีที่แล้ว เป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือนหก

พระพุทธเจ้าได้เสด็จประทับที่ใต้ต้นสาละ ในพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ นครกุสินารา ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอินเดียไม่ไกลจากชายแดนประเทศเนปาลในปัจจุบัน (ผมเปิด Google Earth มาให้ดูด้วยครับ)

จากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า

…อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว…

จากนั้น ท่านก็ได้ตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดจึงได้ตรัสพระปัจฉิมโอวาทว่า

“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ”

“ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ผมขอแตกปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้าออกมาเป็นสี่ประเด็นหลัก

1. ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเสื่อมสลาย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งภูเขาหรือดวงดาว ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพัน ทุกอย่างมีวันที่ต้องดับสูญ ดังนั้นจงยอมรับความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นธรรมดาของชีวิต เพราะถ้าดวงดาวยังดับสลายได้ นับประสาอะไรกับสิ่งที่เรียกว่า ความรัก ความสัมพันธ์ การงาน หน้าตา ทรัพย์สิน หรือร่างกายของเรา เราจึงต้องอยู่กับมันอย่างมีปัญญา ไม่ยึดติดว่ามันจะคงอยู่กับเราตลอดไป

2.ยังประโยชน์แก่ตนเองให้ถึงพร้อม เราควรจะดูแลตัวเอง ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ หาความรู้ เจริญสติและปัญญาด้วยการภาวนาเพื่อยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

3. ยังประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยการตั้งใจทำหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายมา ให้ความเมตตากับคนที่ด้อยกว่า ให้อภัยกับคนที่ทำผิดกับเรา สร้างรอยยิ้มให้ผู้อื่น ให้เขารู้สึกว่าดีจังที่ได้มารู้จักคนๆ นี้

4. ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ด้วยการทำบุญทำทานไว้บ้าง นั่งรถก็อย่าลืมรัดเข็มขัด เหล้ากับบุหรี่เลี่ยงได้ก็เลี่ยง สถานที่อโคจรถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไป ให้เวลาและทำดีกับคนที่เรารักเพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าเขาจะอยู่กับเราถึงเมื่อไหร่ และใช้ชีวิตในแบบที่เราจะไม่ต้องมานั่งเสียใจหรือเสียดายในภายหลัง

เนื่องในวันวิสาขบูชานี้ เรามาปฏิบัติบูชาพระพุทธองค์ด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีสติและทำหน้าที่ของเราให้เต็มที่กันนะครับ


ขอบคุณปัจฉิมโอวาทและคำแปลจาก Phutta: ทรงประทานปัจฉิมโอวาท และ Wikipedia วันวิสาขบูชา

ขอบคุณภาพถ่ายสถานที่ปรินิพพานจาก Google Earth: Pariniravana Stupa

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

โมฆะบูชา

20160222_MokaBucha

วันนี้วันพระ ขอคุยเรื่องธรรมะกันซักหน่อยนะครับ

ธรรมะคืออะไร?

ธรรมะไม่ใช่บทบัญญัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ต่อ

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคืออะไร?

สิ่งทีท่านทรงค้นพบคือทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับ และหนทางแห่งการดับทุกข์ ที่เราเรียกกันว่าอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ

ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์คือสภาวะที่ทนอยู่ได้ยากเพราะร่างกายและจิตใจของเราถูกบีบคั้น

พูดอีกนัยหนึ่ง ตัวทุกข์ ก็คือกาย คือใจเรานี่เอง

ทุกข์ทางกายเกิดขึ้นตลอดเวลา นั่งอยู่เฉยๆ ก็เมื่อย กินอิ่มๆ ซักพักก็หิวใหม่ ขนาดแค่หายใจยังทุกข์เลย (ไม่เชื่อลองหายใจเข้าอย่างเดียวดู)

ทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้นตลอดเวลา เจอสิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นทุกข์ พรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์

บ่อเกิดแห่งทุกข์คืออะไร?

คือความไม่รู้ หรืออวิชชา

เมื่อไม่รู้จึงเกิดการปรุงแต่งเป็นสังขาร (สังขารในที่นี้ไม่ได้แปลว่าร่างกายนะครับ แต่หมายถึงการปรุงแต่งทางจิตใจ คือพอมีอารมณ์อะไรมากระทบ เราก็คิดปรุงแต่งไปเรื่อย)

สังขารเป็นอาหารของวิญญาณ เมื่อมีสังขารเกิดขึ้น วิญญาณใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น

เมื่อมีวิญญาณก็ต้องหารูป-นาม คือร่างกายและจิตใจเพื่อให้วิญญาณเป็นที่อาศัย

เมื่อมีร่างกายและจิตใจ จึงมีอายตนะหรือประสาทสัมผัสทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อมีประสาทสัมผัส จึงเกิดการสัมผัสหรือ “ผัสสะ” คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และรับรู้อารมณ์

เมื่อเกิดผัสสะ จึงเกิดเวทนา (อ่านว่า เว ทะ นา) อันหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ก็ถือเป็นเวทนาทั้งนั้น

เช่นเมื่อลิ้นสัมผัสกับซูชิโอโทโร่ที่ละลายในปาก ก็รู้สึกฟิน

หรือถ้าเห็นหน้านักการเมืองที่เราไม่ชอบ ก็รู้สึกโกรธแค้น

หรือถ้าเราอ่านบทความจากบล็อกเกอร์บางคน แล้วก็รู้สึก “งั้นๆ” เป็นต้น

เมื่อมีเวทนา สิ่งที่ตามมาก็คือตัณหา (craving) คือความรู้สึกอยากกินซูชิอีกหลายๆ คำ

เมื่อมีตัณหา จึงเกิดอุปาทาน (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “คิดไปเอง” นะครับ) อุปาทานคือความยึดติด (clinging) ในสภาวะที่ประสบอยู่นี้

เมื่อมีอุปาทาน จึงเกิดการสร้างภพขึ้น

ภพ ก็คือ ภาวะ หรือ สภาวะ

ตอนที่เราตาย หากกระบวนการสร้างภพยังดำเนินอยู่ นั่นจะเรียกว่า อุปัตติภพหรือภพแห่งการเกิด โดยสภาวะจิตใจของเราในขณะนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าเราคู่ควรจะไปเกิดในภพภูมิไหน

แสดงว่าตอนที่เราตายเมื่อชาติที่แล้ว เราสร้างภพที่ดี จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์

แต่แม้ว่าชาตินี้เราจะเป็นมนุษย์ แต่วันๆ หนึ่งเราจะสร้างภพเล็กๆ ขึ้นมากมาย ถ้าเราอารมณ์ดีเราก็สร้างภพแแห่งเทวดา พอตอนโมโหเราก็สร้างภพแห่งสัตว์นรก พอเรากำลังโลภเราก็สร้างภพแห่งเปรต หรือพอเรากำลังเล่นเฟซบุ๊คเพลินๆ ก็กำลังสร้างภพเดรัจฉานขึ้น

เมื่อมีภพ จึงมีชาติหรือการเกิดใหม่

เมื่อมีการเกิด จึงมีการ แก่ การเจ็บ การตาย

เมื่อเจ็บ เมื่อตาย ก็ย่อมมีแต่ความเศร้าโศกทุกข์ใจ

พอแถมด้วยอวิชชาเข้าไปอีก วงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบจึงเกิดขึ้น

ที่ผมกล่าวมาคือปฏิจจสมุปบาทครับ

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > สฬายตนะ* > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา > อุปาทาน > ภพ > ชาติ > ชรามรณะ > โศกปริเทวะ > อวิชชา

(* สฬ + อายตนะ, “สฬ” แปลว่าหก)

แล้วการเวียนว่ายตายเกิดมันไม่ดียังไง?

เราอาจจะมองว่า ตอนนี้ชีวิตเราก็ดี๊ดี อาจจะมีทุกข์บ้าง แต่ก็มีความสุขมากกว่า ได้เรียนรู้ ได้ผจญภัย ได้เติบโต

แต่นั่นเพราะว่าเราได้เกิดเป็นมนุษย์ไงครับ

ภพมนุษย์นั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งภพในอีก 31 ภพภูมิ ซึ่งถ้าโชคดีไป “ไปสู่สุคติ” ก็แล้วไป เพราะนั่นแปลว่าเราได้ไปเกิดในภพมนุษย์หรือเทวดาขึ้นไป

แต่ถ้าโชคร้ายไปเกิดในทุคติภูมินี่งานเข้าเลยนะครับ เพราะโอกาสจะกลับขึ้นมาสู่สุคติภูมิใหม่นี่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินสุดๆ

ได้เกิดในภพมนุษย์ แถมเกิดในเมืองพุทธ เรายังไม่สนใจปฏิบัติธรรมกันเลย

ถ้าได้ไปเกิดเป็นน้องหมาหรือเป็นเปรต คิดหรือว่าจะมีโอกาสได้เลื่อนชั้น?

ทำยังไงถึงจะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือได้เกิดในสุคติภูมิ?

อย่างที่อธิบายไปในสองข้อที่แล้วว่า คนเรามีการสร้างภพตลอดเวลา

ภพเล็กๆ เรียกว่า กรรมภพ (หรือกัมมภพก็ได้) วันหนึ่งเราจึงมีหลายโหมด เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวใจกว้าง เดี๋ยวใจแคบ

ส่วนภพใหญ่ที่เรียกว่าอุปัตติภพนั้นจะเกิดขึ้นหนึ่งครั้งคือตอนที่เราจะเกิด โดยสภาวะจิตใจของเราขณะที่เราตายไปจากภพมนุษย์นี้จะเป็นตัวบอกว่าเราสมควรไปเกิดภพภูมิไหน

ถ้าจิตเราหนักๆ เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ หรือเซลฟ์จัด ใจของเราก็ย่อมดิ่งลงส่งภพภูมิที่ต่ำๆ อย่างภพของเปรต สัตว์นรก หรืออสูรกายเป็นต้น

แต่ถ้าจิตใจเราเบาสบาย มองย้อนกลับไปแล้วรู้ตัวว่าเราทำดีมาทั้งชีวิต จิตของเราก็ย่อมลอยขึ้นไปสู่ภพภูมิที่อยู่สูงขึ้นไป

วิธีการทำให้จิตใจเราสบายก็คือการมีสตินั่นเอง

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีสติ ก็ได้ไปดี

ถ้าไม่มีสติ (โลภ โกรธ หลง) ก็ไปไม่ดี

ดังนั้นการปฏิบัติธรรม คือการออกกำลังใจให้มีสติรู้ตัวอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสุดๆ ในวินาทีชี้เป็นชี้ตายว่าเราจะได้ “ไปต่อ” หรือจะ “ตกชั้น”

ถึงได้เกิดในภพที่ดีในชาติหน้า ก็ไม่ได้การันตีว่าชาติต่อๆ ไปจะไม่ตกชั้น แล้วจะทำยังไงดี?

ทางเดียวที่จะช่วยให้แน่ใจได้ว่าจะไม่ลงไปภพภูมิที่ต่ำกว่าภพภูมิมนุษย์อีก คือการเป็นพระโสดาบันให้ได้

การเป็นพระโสดาบัน หมายถึงการได้เห็นพระนิพพานแล้วครั้งหนึ่ง จิตใจจะหมดความสงสัยในความมีอยู่จริงของนิพพาน จะถือศีลห้าได้โดยอัตโนมัติ ความทุกข์จะหายไป 99% และเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติก่อนจะได้ไปอยู่ใน “ชั้นพิเศษ” ที่ไม่ต้องกลับมาเวียนวนในสังสารวัฎ 31 ภพภูมิอีก

การจะไปให้ถึงโสดาบันฟังดูเป็นเรื่องยากและไกลเกินฝัน

แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ยากไปกว่าเป้าหมายอื่นๆ ที่อินเทรนด์กันอยู่หรอกนะครับ

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากมีอิสรภาพทางการเงินกันทั้งนั้น

จะเพิ่มเป้าหมายที่จะมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณไปด้วยก็ฟังดูดีออก

ทำยังไงถึงจะได้เป็นพระโสดาบัน?

พระพุทธเจ้าท่านว่า ทางเดียวที่จะไปถึงพระนิพพานได้คือการทำสติปัฏฐานสี่ หรือการทำวิปัสสนานั่นเอง

การทำวิปัสสนาคือการตามรู้กาย ตามรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยใจที่เป็นกลาง เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

กลับมาดูที่วงจรนี้กันอีกครั้ง

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา > อุปาทาน > ภพ > ชาติ > ชรามรณะ > โศกปริเทวะ > อวิชชา

เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอายตนะ มีผัสสะ และมีเวทนา

แต่ห่วงโซ่ข้อที่เราตัดได้คือคือข้อ เวทนา > ตัณหา ครับ

ถ้าเราสามารถตามรู้สภาวะทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ใจก็จะไม่ยึดติด ตัณหาก็ไม่เกิด

เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานก็ขาด ภพก็ขาด ชาติก็ขาด

ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป ไม่ว่าจะในภพภูมิไหนๆ

ที่เรายังมีตัณหาอยู่ตอนนี้ เพราะใจของเรายังยึดติด ยังเห็นว่าร่างกายและจิตใจเป็นของดีของวิเศษ

แต่เมื่อใดก็ตามที่เราใช้วิปัสสนาสำรวจร่างกายและจิตใจจนชำนาญแล้ว เราจะพบความจริงที่ว่า กายนี้ใจนี้มีแต่ความเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) กายนี้ใจนี้ถูกบีบคั้นตลอดเวลา (ทุกขัง) และกายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของเรา (อนัตตา)

เมื่อ “เข้าใจ” ในประเด็นนี้อย่างถ่องแท้ เราก็จะเลิกยึดถือในกายในใจ และเป็นอิสระโดยแท้จริง

ชักเริ่มสนใจปฏิบัติธรรมนิดๆ แล้ว เริ่มยังไงดี?

ผมเองก็ยังประสบการณ์ไม่มากนัก และช่วงนี้ก็ย่อหย่อนไปไม่น้อย แต่ขอแนะนำสองสามข้อนี้ครับ

ดาวน์โหลดธรรมเทศนาจากเว็บไซต์ dhamma.com ของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช ไว้ฟังบนรถ

จัดเวลาวันละห้านาที ให้ได้นั่งเฉยๆ เพื่อคอยรู้กายรู้ใจตัวเอง

ลองไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ที่ผมเคยไปมาคือการฝึกวิปัสสนาตามแนวทางของท่านโกเอนก้า เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต

วันนี้วันมาฆบูชา เป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาพระธรรม

พระธรรมคือความจริง

ทุกคนก็อยากรู้ความจริงกันทั้งนั้น เราถึงชอบอ่านข่าวก๊อซซิปดาราและด่านักการเมืองศรีธนญชัย

เรารักที่จะรู้ความจริงภายนอก แต่เรากลับหลีกเลี่ยงที่จะค้นหาความจริงภายใน

เราพร้อมเอาเวลาไปลงกับเรื่องอื่นเพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างฐานะ สร้างทรัพย์สมบัติ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าสุดท้ายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ซักอย่าง

วันนี้วันมาฆบูชา

ลองสำรวจตัวเองนะครับว่าเรากำลัง “โมฆะบูชา” มากไปหรือเปล่า

ไม่เคยสาย และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะเริ่มออกเดินทาง

ที่จะทำให้ชีวิตนี้ไม่เป็นโมฆะครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก

ธรรมะเพื่อการพ้นทุกข์ : พระธรรมเทศนา mp3 และบันทึกวิดีโอ

ThaiDhamma: การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

นิ้วที่ 11

20150730_11Inch

“..แต่ละคนสะสมมานานไม่ใช่น้อยๆ นะ
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ที่จะมาฟังธรรม
ขนาดนี้ เหลืออยู่นิดเดียวเอง ปฏิบัติธรรม
ให้สมควรแก่ธรรมเท่านั้นเอง เหลือแต่..
ทำเอาเอง มีสติรู้กายรู้ใจไป

อย่าคิดมากนะ แล้วก็อย่าไปเพ่งเอา
คิดมากฟุ้งซ่าน กับเพ่งมากแล้วก็นิ่ง
เกินไป มันจะช้า รู้ซื่อๆ ไป
พวกเราถ้าเทียบเป็นไม้บรรทัดนะ
เราเดินมาถึงนิ้วที่ ๑๑ แล้ว
เมื่อไรมันจะได้ครบ ๑๒ นิ้ว ก็ไม่รู้…”

– หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช

—–
วันนี้วันพระ

เป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ วันที่ตื่นมาตอนเช้าแล้วได้นั่งสมาธิ

พอนั่งสมาธิเสร็จ แฟนที่เพิ่งแชร์บล็อกเรื่องมาริโอของผมเมื่อคืนเสร็จก็บอกว่า สิงห์ Sqweez Animal เสียแล้วนะ 

ผมใจหายแว้บเลย

เพราะเพิ่งเดินสวนกับเขาที่งานหมั้นของเพื่อนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี่เอง

คุณสิงห์ เป็นลูกชายของคุณวีระกานต์ มุสิกพงศ์ เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว ซึ่งผมรู้จักมาตั้งแต่เด็กๆ

ผมไม่ได้รู้จักกับคุณสิงห์เป็นการส่วนตัว รู้แต่เพียงว่าน้องๆ ในวงดนตรีที่บริษัท (กิ่ง ส้ม ปิ๊ก) ก็กรี๊ดกันอยู่พอดู และผมเองก็เคยรับหน้าที่ร้องเพลงคำบางคำ ตอนที่วงของเราเล่นเพลงนี้ด้วย

—–

เคยเล่าให้ฟังว่าตอนเช้าระหว่างขับรถไปทำงาน ผมมักจะฟัง CD หลวงพ่อปราโมทย์

หลวงพ่อปราโมทย์เคยเป็นฆราวาสอยู่ถึง 48 ปีก่อนจะได้บวช ท่านจึงรู้เรื่องทางโลกเป็นอย่างดี ทำให้การฟังธรรมของหลวงพ่อเพลิดเพลินและเข้าใจง่าย เข้าถึงคนกรุงและคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก

อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ท่านดังขึ้นมา ก็คือความสามารถในการอ่านวาระจิตของคนที่ท่านสนทนาอยู่ได้

ไม่ใช่อ่านว่าคิดอะไรอยู่นะครับ แต่อ่านว่าตอนนี้จิตเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ ตอนนี้จิตกำลังตั้งมั่นอยู่ ฯลฯ

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดน่าจะทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดัง ก็คือการทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจเรื่องการภาวนาในชีวิตประจำวัน

เพราะมันง่ายกว่าที่คิดจริงๆ

เมื่อคืนอ่านเจอคำสอนของท่านก็เกิดมีกำลังใจขึ้นมา

“”แต่ละคนสะสมมานานไม่ใช่น้อยๆ นะ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ที่จะมาฟังธรรม ขนาดนี้ เหลืออยู่นิดเดียวเอง”

ถ้าภพภูมิมีจริง และการที่เราเวียนวนเกิดมานับชาติไม่ถ้วนเป็นเรื่องจริง การได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเรา “มาได้ไกลมาก” อย่างที่หลวงพ่อว่าจริงๆ นั่นแหละ

“พวกเราถ้าเทียบเป็นไม้บรรทัดนะ เราเดินมาถึงนิ้วที่ ๑๑ แล้ว เมื่อไรมันจะได้ครบ ๑๒ นิ้ว ก็ไม่รู้”

ประโยคนี้ทำให้คิดได้ว่า เราอาจจะมาถึงใกล้เป้าหมายมากกว่าที่เราคิดไว้

คำถามคือ เราจะใช้โอกาสอันมีค่านี้เพื่อที่จะเดินไปถึงนิ้วที่ 12 หรือจะเดินถอยหลัง?

—–

เค้าบอกว่ายุคนี้คือยุคที่กรรมติดจรวด

ใครทำอะไรไม่ดีไว้ กรรมจะตามทันโดยที่ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า

แต่บางที กรรมดีก็อาจติดจรวดได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นสมัยก่อน หลวงพ่อเทศน์ คนที่ได้ฟังก็คงมีไม่กี่สิบกี่ร้อยคน

แต่การมาของอินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถดาวน์โหลดธรรมะบรรยายของหลวงพ่อจากที่ไหนก็ได้ในโลก และทำให้มีคนได้ฟังธรรมเป็นพัน เป็นหมื่น หรืออาจเป็นแสนคน

เทคโนโลยีทำให้ผลของกรรมดีและกรรมชั่วของเราทบเท่าทวีคูณได้

ถ้าเราอยู่นิ้วที่ 11 กันจริงๆ ก็ไม่มียุคไหนที่จะง่ายสู่การเดินไปสู่นิ้วที่ 12 เท่ายุคนี้อีกแล้ว เพราะเพียงแค่กระดิกนิ้วไม่กี่ที เราก็ได้ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว

ในทางกลับกัน ก็ไม่มียุคไหนที่จะเดินถอยหลังกลับไปสู่นิ้วที่ 1 ได้เท่ายุคนี้อีกแล้วเช่นกัน เพราะวัฒนธรรมการเสพติดมือถือและแทบเบล็ต ทำให้เราตกอยู่ใน “ความหลง” ได้มากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา

เมื่อหลงก็ไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติ ก็ยากที่จะไปสู่สุคติ

ถ้าใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดมันก็จะพาเราไปสู่นิ้วที่ 12 ได้ในอนาคตอันไม่ไกลเกินไปนัก

แต่ถ้าใช้มันเพียงเพื่อเสพเรื่องราวนอกตัว เรียกร้องความสนใจ ลุ้นยอดไลค์ เราก็คงเป็นแค่ไก่ที่ได้พลอย

การจากไปของสิงห์ Sqweez Animal ช่วยย้ำเตือนสติอีกครั้งว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอนจริงๆ

วันนี้ วันพระ เรามาใช้เวลาและชีวิตให้เป็นประโยชน์กันนะครับ

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ขอบคุณข้อมูลจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช | Facebook Group ,  วิมุตติ, Spring News

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ Archives

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)