2025: ปีที่เราไม่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัว

20160731_nopersonalcars

จั่วหัวข้อซะยิ่งใหญ่ แต่ชื่อหัวข้อจริงๆ ของบทความที่ผมอยากจะเขียนในวันนี้คือ “รัฐบาลฟินแลนด์กำลังวางแผนสร้างระบบขนส่งมวลชนที่จะทำให้ประชาชนในเฮลซิงกิไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวภายในปี 2025” ซึ่งยาวไปหน่อยเลยขอถือวิสาสะตัดทอนนะครับ

ช่วงนี้โลกตะวันตกกำลังตื่นเต้นกับกระแสรถยนต์ไร้คนขับ – driverless cars – และก็มีคนลงมาเล่นเกมนี้กันเยอะแยะไม่ว่าจะเป็น Tesla Motors, Google หรือแม้กระทั่ง Apple ก็อาจจะร่วมวงด้วย 

และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองนั้นจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (ไม่ใช่รถ Hybrid เหมือนที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน) ดังนั้นหลายประเทศจึงเริ่มตระเตรียมความพร้อมทางกฎหมายเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเยอรมันนีได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะออกกฎหมายกำหนดให้รถยนต์ทุกคันในเยอรมันนีต้องเป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2030 (หรือแม้กระทั่งอินเดียก็ได้ออกมาประกาศทำนองเดียวกัน )

แต่ประเทศฟินแลนด์ไปไกลกว่านั้น เพราะรัฐบาลกำลังวางแผนที่จะบูรณาการระบบขนส่งที่จะใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้าไร้คนขับ ร่วมกับระบบการจัดการที่ดีเพื่อทำให้การเดินทางในเฮลซิงกิซึ่งเป็นเมืองหลวงของฟินแลนด์นั้นง่ายดายเสียจนการมีรถส่วนตัวไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป

รัฐบาลฟินแลนด์เคยทดลองใช้ระบบ minibus on demand ที่เรียกว่า Kutsuplus

มินิบัสยี่ห้อนี้มีทั้งหมด 15 คัน แต่ละคันจุได้ 12 คน และไม่มีคันไหนที่มีเส้นทางวิ่งตายตัว

เราแค่เข้าเว็บไซต์ของ Kutsuplus ผ่านมือถือ บอกว่าเราอยู่ตรงไหน และอยากจะไปที่ไหน ระบบก็จะทำการคำนวณให้ว่าในบรรดารถ Kutsuplus ทั้งหมด คันไหนเหมาะจะแวะมารับเราที่สุด

ค่าโดยสายของ Kutsuplus นั้นจะแพงกว่าค่าโดยสารรถบัสปกติ แต่ก็ยังถูกกว่าแท๊กซี่ไม่น้อย

ระบบ Kutsuplus นั้นทำการทดลองวิ่งอยู่เกือบสามปี ก่อนที่จะตัดสินใจปิดตัวลงในวันที่ 31 ธ.ค.2558 โดยรัฐบาลอ้างว่าค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เพราะว่าจำนวนรถน้อย ทำให้ตอบสนองเส้นทางได้น้อย จึงทำให้ผู้โดยสารแต่ละเที่ยวน้อย (เช่นมีคนนั่งแค่ 3 คนเป็นต้น)

แม้จะไม่สามารถยืนระยะได้ แต่ผลตอบรับจากคนที่เคยใช้งานร่วม 21,000 คนนั้นดีมาก จึงเชื่อว่าถ้ารัฐบาลดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจนมียานพาหนะสไตล์ Kutsuplus ออกมาเป็นหลักร้อยหรือหลักพัน ก็จะทำให้วิ่งได้หลายเส้นทาง มีผู้โดยสารได้เต็มคันรถมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพียงพอที่จะเป็นธุรกิจที่มีกำไรได้

วิสัยทัศน์ของรัฐบาลฟินแลนด์ก็คือจะเชื่อมโยงการเดินทางทุกรูปแบบให้อยู่ในระบบเดียวกัน คุณแค่มีแอพมือถือตัวเดียว ก็จะสามารถวางแผนการเดินทางและจ่ายค่าเดินทางทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรถบัส รถไฟ รถแท๊กซี่ จักรยาน ฯลฯ โดยแอพนี้จะวางแผนโดยใช้ข้อมูลการจราจรในปัจจุบัน (realtime traffic data) รวมถึงพยากรณ์อากาศ เพื่อคำนวณว่าเส้นทางไหนจะไปถึงเร็วที่สุด ถูกที่สุด หรือเปียกฝนน้อยที่สุด!

ทุกวันนี้เวลาเราใช้มือถือเราก็จะมีเลือกแพ็คเกจว่าจะเอาแบบไหน เช่นโทร.เยอะเล่นเน็ตน้อย หรือโทร.น้อยเล่นเน็ตเยอะ

ฟินแลนด์ก็จะใช้หลักการนี้กับการขนส่งมวลชนเช่นกัน โดยอาจจะให้ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าเสนอ ‘mobility packages’ (mobility = การเคลื่อนที่หรือการเดินทางนั่นเอง) และเราก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกซื้อ mobility packages จากเจ้าไหน และจะซื้อแบบเหมาจ่ายรายเดือนหรือจ่ายตามจริง

รัฐบาลฟินแลนด์เชื่อว่า ค่านิยมของคนในประเทศตัวเองกำลังเปลี่ยนไป เมื่อคนยุคนี้โตมาใน sharing economy ด้วยธุรกิจอย่าง Uber หรือ AirBnb ประชาชนอาจจะเริ่มมองไม่เห็นประโยชน์ของการมีรถยนต์ส่วนตัวที่ใช้เวลาส่วนใหญ่จอดอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน (อย่าลืมนะครับว่าถึงตอนนั้นรถยนต์ส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง) ดังนั้นถ้าทางรัฐสามารถจัดระบบขนส่งที่จะพาคนจากจุดหนึ่งไปถึงจุดหนึ่งอย่างง่ายดาย ประชาชนในเมืองเฮลซิงกิก็ไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัวอีกต่อไป

มีคนบางคนออกมาท้วงติงว่า คนฟินแลนด์นั้นมีวัฒนธรรมอยู่อย่างหนึ่งคือการไปเที่ยวบ้านพักตากอากาศช่วงฤดูร้อน และการเดินทางไปต่างจังหวัดของฟินแลนด์นั้นก็ยังจำเป็นต้องมีรถยนต์ขับไปอยู่ดี แต่นั่นในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่ามีผู้ประกอบการมากมายที่พร้อมให้บริการเช่ารถในช่วง high season นี้

เป็นเรื่องน่าสนใจมากครับว่า ถ้ารัฐบาลฟินแลนด์ทำได้จริง มันจะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไปอย่างไรบ้าง

และที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือมันจะเปลี่ยนค่านิยมของการ “ใช้รถเป็นเครื่องประดับ” ไปอย่างไรบ้าง

อีกไม่นานเกินรอครับ


ป.ล. ผมอ่านเจอเรื่องนี้ครั้งแรกจากเว็บไทยชื่อ autospinn.com หัวข้อ ฟินแลนด์วางแผนยกเลิกรถส่วนบุคคลทุกชนิดภายในปี 2025 น่าเสียดายที่เว็บไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข่าว แต่ผมเดาว่าต้นทางน่าจะมาจากเว็บ carscoops.com หัวข้อ Finland Wants People To Stop Driving In Helsinki By 2025 ครับ


ขอบคุณภาพจาก Wikipedia: Skytran (ภาพอาจจะไม่สอดคล้องกับเนื้อหาแต่ที่หยิบมาใช้ได้เพราะไม่ต้องกลัวผิดลิขสิทธิ์ครับ)

ขอบคุณข้อมูลจาก
Tech Insider: Here are all the companies racing to put driverless cars on the road by 2020

Co.Exist: Helsinki Wants To Eliminate The Need For Car Ownership By 2025 

ZDNet: Death of the car: The tech behind Helsinki’s ambitious plan to kill off private vehicles 

Electrek:
India is aiming for all cars to be electric as soon as 2030
All new cars mandated to be electric in Germany by 2030

Citiscope: Why Helsinki’s innovative on-demand bus service failed


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

สุขเพราะเข้าใจ

20160730_happy

Q: ก่อนหน้านี้เราได้ดู TED Talk ในตอนที่เกี่ยวกับพระโดยเฉพาะ ซึ่งมีคนรวบรวมไว้ทั้งหมด 10 กว่าตอนที่ว่าด้วยเรื่องของ Buddhism Lifestyle เราพบว่ามีถึง 6 ใน 10 รูปที่มักจะพูดเรื่องความสุข เลยอยากถามว่าความสุขสำคัญอย่างไร ทำไมต้องหยิบเรื่องนี้มาพูด

A: เพราะมนุษย์ทุกข์ไงครับ แล้วความสุขเชิงพุทธนี่ ถ้าดูดีๆ พระพุทธเจ้าพูดถึงคำว่าพ้นทุกข์ ไม่ได้พูดถึงคำว่าสุข แต่ทีนี้พอพ้นจากทุกข์แล้ว บางทีเราก็เรียกง่ายๆ ว่าเป็นความสุข แต่ที่จริงคือ ทำยังไงให้ไม่ทุกข์มากกว่า ความสุขของคนพุทธก็คือความไม่ทุกข์ มีก็ไม่ทุกข์ ไม่มีก็ไม่ทุกข์ ความไม่ทุกข์คือความเข้าใจว่าชีวิตมันเป็นอย่างนั้นเองเท่านั้นแหละ แต่สังเกตดูดีๆ คนเป็นพระจะไม่ได้สุขแบบตื่นเต้นเร้าใจ ชาวพุทธไม่สุขแบบนั้น ส่วนเรื่องคำว่าความสุข หลวงพี่คิดว่าเพราะคนมักจะใช้คำตรงกันข้าม พอไม่ทุกข์ก็เลยกลายเป็นสุข แต่สุขของโลกคือสุขแบบดี๊ด๊า ซึ่งเป็นคนละความหมายกับสุขแบบพุทธที่ไม่ได้หมายถึงสุขแบบได้ดั่งใจ แต่เป็นสุขจากความเข้าใจ เพราะการได้ดั่งใจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เราเคารพเหตุผลมากกว่า ดังนั้นถ้าหลวงพี่ไม่อ่านหนังสือก็จะสอบไม่ได้ หลวงพี่ก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ เพราะหลวงพี่ไม่ได้อ่านไง

– พระจิตร์ ตัณฑเสถียร
a day BULLETIN issue 418, 25-31 Jul 2016
สัมภาษณ์ วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม
ถ่ายภาพ ภาสกร ธวัชธาตรี


คนเราน่าจะแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือคนที่วิ่งเข้าหาความสุข

สุขในแบบ “ดี๊ด๊า” ตามที่พระจิตร์ท่านว่าไว้

แต่กว่าจะมีความสุขสไตล์นี้ได้ก็อาจต้องผ่านหลายขั้นตอนเหมือนกัน

ต้องทำงาน เพื่อจะได้มีเงินไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ทำให้เราสุขแบบดี๊ด๊า

นอกจากมีเงินซื้อของแล้ว ก็อยากมีเงินเหลือด้วย เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือเจ็บป่วย เพราะไม่อย่างนั้นก็จะทุกข์แบบตรอมตรม

เมื่ออยากมีเงินทั้งสำหรับซื้อความสุขดีด๊าในปัจจุบันและป้องกันความทุกข์ตรอมตรมในอนาคต พวกเราส่วนใหญ่ก็เลยต้องเหนื่อยหน่อย

ในขณะที่คนกลุ่มที่สอง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า กำลังแสวงหาความสุขอีกแบบนึง

สุขแบบจืดๆ ไม่หวือหวา

สุขเพียงเพราะว่าไม่ทุกข์

“ข้อเสีย” ของความสุขแบบนี้ก็คือมันอาจจะทำให้ชีวิตไม่มีรสชาติ

แต่ข้อดีก็คือมันเป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นทางผ่าน

แถมเป็นสุขได้ทั้งขาขึ้นและขาลง

รุ่งเรืองก็ไม่ดี๊ด๊า ตกยากก็ไม่ตรอมตรม

เพราะคนที่สุขแบบนี้ได้ เขาไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจ ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกที่ควบคุมได้ยาก

แต่สุขได้เพราะว่าเข้าใจ ซึ่งเป็นโลกภายในที่ควบคุมได้ง่ายกว่า

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เข้าใจ

เข้าใจทั้งโลก เข้าใจทั้งตัวเอง

พอเข้าใจก็ไม่ทุกข์

พอไม่ทุกข์ก็เป็นสุข

ผมว่าผู้อ่าน Anontawong’s Musings เกือบทั้งหมดก็เป็นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มนั่นแหละ

คือยังอยากสุขแบบดี๊ด๊าอยู่ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะเรียนรู้วิธีการมีความสุขแบบจืดๆ แต่ยั่งยืนกว่า

คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วครับว่า จะบาลานซ์ความสุขสองอย่างนี้ยังไงให้ตรงจริตเรามากที่สุด


ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก a day BULLETIN issue 418, 25-31 Jul 2016

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

นิทานพุดเดิ้ลขาโหด

20160728_poodle

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

เศรษฐีนีวัยชราคิดอยากไปเที่ยวสวนสัตว์เปิด จึงจองตั๋วและออกเดินทางไปพร้อมกับ “ปีโป้” หมาพุดเดิ้ลคู่ใจ

ระหว่างที่เดินเที่ยวอยู่ในทุ่ง ปีโป้เผลอวิ่งไล่ตามผีเสื้อไปซะไกล กว่าจะรู้ตัวก็มองหาเจ้าของไม่เจอซะแล้ว

ขณะที่กำลังหลงทางอยู่นั้น ปีโป้ก็เห็นเสือดาวตัวหนึ่งกำลังค่อยๆ ย่างเข้ามาหามัน

“ซวยแล้วสิ” ปีโป้คิดในใจ พลันเหลือบไปเห็นกระดูกของสัตว์ชนิดหนึ่งที่กองอยู่กับพื้น

ปีโป้จึงตัดสินใจนั่งลงและคาบกระดูกชิ้นหนึ่งขึ้นมาเคี้ยวกร้วมๆ แถมยังหันหลังให้เสือดาวอีกด้วย

พอเสือดาวเข้ามาใกล้พอที่จะกระโจนใส่ปีโป้ได้ ปีโป้ก็ตะโกนขึ้นมาลอยๆ ว่า

“อ้าาาาา เนื้อเสือดาวนี่มันอร่อยจริงๆ จะมีให้กินอีกซักตัวมั้ยนะ?”

เสือดาวได้ยินก็หยุดกึก นึกกลัวขึ้นมาว่ามันอาจจะกลายเป็นเหยื่อซะเอง จึงค่อยๆ ถอยร่นไปอย่างเงียบๆ

“เกือบไปแล้ว!” เสือดาวคิดในใจ “เกือบโดนพุดเดิ้ลขาโหดเล่นซะแล้วเรา”

ใกล้ๆ กันนั้นเอง มีเจ้าจ๋อตัวหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดจากบนต้นไม้

“ถ้าเราเอาความจริงไปบอกให้พี่เสือดาวฟัง พี่เค้าน่าจะรับเราเป็นลูกน้องและช่วยปกป้องเรานะ”

คิดได้อย่างนั้นเจ้าจ๋อก็กระโดดลงจากต้นไม้และวิ่งไปหาเสือดาว

เมื่อปีโป้เห็นพฤติกรรมของเจ้าจ๋อ ก็พอจะเดาออกว่าเจ้าจ๋อคิดจะทำอะไร

หลังจากฟังเรื่องราวจากเจ้าจ๋อ เสือดาวที่หน้าร้อนผ่าวจึงเอ่ยว่า

“กระโดดขึ้นมาบนหลังข้า! เจ้าจะได้เห็นว่าคนที่บังอาจมาหลอกข้าจะต้องพบกับจุดจบยังไง!”

พอปีโป้เห็นว่าเสือดาวกำลังวิ่งกลับมาพร้อมกับลิงขี้ฟ้อง ปีโป้ก็นั่งหันหลังทำเป็นมองไม่เห็น

เมื่อเสือดาวเข้ามาใกล้พอ ปีโป้ก็คำรามขึ้นมาลอยๆ ว่า

“เจ้าจ๋อบ้านั่นไปถึงไหนแล้วเนี่ย แค่ใช้ให้ไปล่อเสือดาวมาให้กินอีกตัวทำไมถึงได้ชักช้านัก!”


ขอบคุณนิทานจาก Quora: Aman Bathla’s answer to What is the best short story you have ever heard or read in childhood.

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

 

จำได้หรือเปล่าว่าเราเป็นใคร

20160727_whoweare

Can you remember who you were, before the world told you who you should be?

– Danielle Laporte

บางครั้งผมก็อดสงสัยไม่ได้นะครับว่า “ตัวเรา” ในตอนนี้ถูกอะไรฉาบเคลือบเอาไว้บ้าง?

ความคาดหวังของครอบครัว / ตำแหน่งหน้าที่การงาน / ค่านิยมในสังคม

เสียงของคนอื่นนั้นมักจะดังกว่าเสียงลึกๆ ในใจเราเสมอ

ยิ่งมีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คและสมาร์ทโฟน เสียงพวกนี้ก็ยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ

ดังจนบางทีเราก็อาจเผลอคิดไปว่ามันคือเสียงที่มาจากใจเราเอง

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย

คงไม่เลว ถ้าทุกวันเราจะมีเวลาได้อยู่เงียบๆ เพื่อสำรวจว่าเรากำลังใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับจริตและตัวตนของเราจริงๆ หรือเปล่า

อยู่คนเดียวเงียบๆ เพื่อวางหัวโขนและความคาดหวังลง

เพื่อจะระลึกให้ได้ว่าเราเป็นใคร

เพื่อจะได้รู้ว่า จริงๆ แล้วต้องการอะไร

เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Unsplash.com

3 ปัจจัยสู่ความเทพ

20160726_lnw

Anders Ericsson เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นเลิศ (world’s leading expert on performance)

อีริคสันเคยทำการศึกษานักเรียนไวโอลิน 30 คนจากโรงเรียน Academy of West Berlin ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรงเรียนดนตรีที่ดีที่สุดในโลก

อีริคสันเฝ้าสังเกตพฤติกรรมนักไวโอลินเหล่านี้ว่าซ้อมกันอย่างไร และได้ผลลัพธ์แบบไหน

เขาสรุปว่า นักเรียนไวโอลิน 30 คนนี้ จัดกลุ่มได้เป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 เก่งปานกลาง ใช้เวลากับการฝึกวันละ 90 นาที

ระดับที่ 2 (เก่งมาก) กับระดับที่ 3 (ขั้นเทพ) ใช้เวลาซ้อมวันละประมาณ 4 ชั่วโมง ครั้งละไม่เกิน 90 นาที และเริ่มซ้อมเซสชั่นแรกตั้งแต่เช้าตรู่

ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวระหว่างระดับที่ 2 กับระดับที่ 3 ก็คือ นักไวโอลินระดับ 3 หรือนักไวโอลินขั้นเทพนั้น เริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่เด็ก ทำให้มี “ชั่วโมงบิน” สูงกว่านักไวโอลินระดับ 2

จากการศึกษาครั้งนี้ อีริคสันได้ ข้อสรุป 3 ปัจจัยสู่ความเป็นเลิศ ได้แก่

1. มีแบบแผน (Ritual)
2. ซ้อมให้หนักในกรอบเวลาที่ชัดเจน (Practice in time-limited sprints)
3. มีเวลาพักให้ชาร์จแบต (Restoration)

มาดูกันทีละข้อนะครับ

1. มีแบบแผน

แบบแผนหรือ Ritual คือพฤติกรรมที่คุณทำซ้ำๆ ทุกวันจนมันกลายมาเป็นสิ่งที่คุณทำโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องคิดหรือใช้แรงอะไรมากมาย พูดง่ายๆ ก็คืออุปนิสัยในการฝึกซ้อมของคุณนั่นเอง

ในกรณีของนักไวโอลินระดับ 2 & 3 พวกเขาจะมี Ritual ที่ชัดเจน คือเริ่มฝึกซ้อมตั้งแต่เช้าทุกๆ วัน

ข้อดีของการมี Ritual ก็คือ เมื่อการกระทำเป็นไปโดยอัตโนมัติ นักไวโอลินจึงไม่จำเป็นต้องใช้ willpower หรือความมุ่งมั่นมากนัก

เพราะความมุ่งมั่นนั้นมีขีดจำกัด เปรียบเหมือนกล้ามเนื้อที่ยิ่งใช้ยิ่งล้า จึงควรเก็บเอาไว้ทำเรื่องอื่นๆ มากกว่าจะมานั่งตัดสินใจว่า วันนี้จะซ้อมหรือไม่ซ้อมดี ถ้าซ้อมจะซ้อมกี่โมงดี ฯลฯ

2. ซ้อมให้หนักในกรอบเวลาที่ชัดเจน

การมีกรอบเวลาที่ชัดเจนทำให้การโฟกัสแค่เรื่องซ้อมดนตรีอย่างเดียวโดยไม่ปล่อยให้สิ่งใดๆ มารบกวนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ถ้าเราซ้อมไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนดเวลา ก็มีความเสี่ยงที่เราจะหยุดเช็คเฟซบุ๊คหรือหาเรื่องอู้ตลอดทั้งวัน

3. มีเวลาพักให้ชาร์จแบต

นักไวโอลินกลุ่มที่เก่งที่สุดสองกลุ่มนั้นจะหยุดพักอย่างน้อยทุกๆ 90 นาที ก่อนจะกลับมาซ้อมหนักในคาบต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นักไวโอลินระดับ 2 และ 3 นั้นจะนอนเฉลี่ยคืนละ 8.5 ชั่วโมง (นักไวโอลินระดับ 1 นอนคืนละ 7.8 ชั่วโมง) โดยอีริคสันเชื่อว่า การนอนพักผ่อนให้เพียงพอนั้นช่วยให้สมองได้มีเวลาจัดระเบียบสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะเทพเรื่องใด จงแบ่งเวลาให้กับมันทุกวัน (ยิ่งเป็นเวลาเดิมทุกวันยิ่งดี) เวลาฝึกซ้อมก็อย่าว่อกแว่ก เอาความสนใจและความใส่ใจทั้งหมดมอบให้กับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า และต้องไม่ตะบี้ตะบันซ้อมจนลืมหยุดพักเพื่อชาร์จแบต

สำหรับคนทำงานบริษัท อาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะกันเวลาวันละหลายชั่วโมงเหมือนนักเรียนไวโอลิน แต่เราก็สามารถนำหลักการบางอย่างไปปรับใช้ได้ เช่นอาจจะตื่นให้เช้าหน่อย และซ้อม 25 นาที พัก 5 นาทีตามเทคนิค Pomodoro ครับ


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ Maximize Your Potential: Grow Your Expertise, Take Bold Risks & Build an Incredible Career (The 99U Book Series) ตอน Developing Mastery Through Deliberate Practice by Tony Schwartz 

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com