5 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือ Personal OKRs

วันนี้ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “Personal OKRs: ชีวิตจะสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าวัดผลได้เป็นระบบ” ของอาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ จบครับ

แม้ผมเองจะใช้ OKR มาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เคยเอามาใช้กับชีวิตส่วนตัวเหมือนกัน เพราะโดยจริตแล้วไม่ใช่คนสนุกกับการตั้งเป้าหมายและติดตามผลขนาดนั้น

แต่เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็ได้ข้อคิดอะไรบางอย่าง เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

1.ก่อนเขียน OKR ให้เขียน Mission, Vision, Values
เหตุผลที่ทำ OKR ไม่สำเร็จเพราะบางทีมันไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการและตัวตนของเราอย่างแท้จริง ดังนั้นก่อนจะเขียน OKR เราควรจะให้เวลากับการนั่งคิดว่าอะไรเป็น mission vision และ values ของเราบ้าง จากนั้นจึงค่อยตั้ง OKR ที่ไม่ขัดกับสิ่งเหล่านี้

2. ควรมี OKR ระดับ 3 ปี / 1 ปี / 3 เดือน
OKR ขององค์กรนั้นมักจะเป็นระดับ 3 เดือน แต่ OKR ส่วนตัวควรจะมีระดับ 3 ปีด้วย เพราะมันจะทำให้เราวาดภาพอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น และช่วยกำหนดทิศทางว่า OKR ระดับ 1 ปีกับ 3 เดือนนั้นควรจะหน้าตาแบบไหน

3. ตั้ง OKR แล้วจะเครียดน้อยลง
หลายคนคิดว่าการตั้งเป้าหมายและติดตามผลนั้นจะทำให้ชีวิตยากหรือเครียดเกินไปรึเปล่า ผมจึงขอยกคำพูดจากอาจารย์นภดลมาเลยแล้วกันครับ
“ผมว่าการมีเป้าหมายในชีวิตไม่ใช่ความเครียดเลยครับ กลับกัน เป้าหมายเหล่านี้จะมีส่วนช่วยอยากให้เราลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ความเครียดหลายครั้งเกิดจากการไม่รู้เป้าหมายมากกว่า”

4. การทำ OKR ไม่ได้ตามเป้าไม่ได้แปลว่าล้มเหลว
หนึ่งใน OKR ของอาจารย์นภดลคือการได้มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติแบบ top tier ซึ่งแน่นอนว่าอาจารย์ก็โดนปฏิเสธไปไปหลายครั้ง แต่นั่นไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะ OKR ไม่ได้ถูกตั้งให้เราไปให้ถึง แต่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้เราได้ท้าทายตัวเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมพูดเวลาสอนเรื่อง OKR เช่นกันว่าสำหรับผมมันไม่ใช่ Performance Management tool แต่มันเป็น Engagement tool ถ้ามันถูกใช้กับคนที่เหมาะสม

5. การตั้ง OKR นั้นมีความเสี่ยงต่ำ
การลองเขียนหรือนำ OKR ไปใช้นั้นแทบไม่มีความเสี่ยงเลย อย่างมากก็เสียเวลานิดหน่อยตอนเขียน ถ้าทำไม่ได้ก็แค่เลิกทำ และชีวิตเราคงไม่ได้แย่ไปกว่าตอนก่อนทำหรอก ดังนั้นมันคือการลงทุนที่ Low Risk แต่ High Return ซึ่งหาได้ไม่มากนัก

พออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมก็เลยลองตั้ง Personal OKRs ของตัวเองดูเป็นครั้งแรก แล้วเดี๋ยวผมจะลองเอามาเชื่อมกับการสร้าง routine ซึ่งน่าจะทำให้ผมทำสิ่งที่สอดคล้องกับ OKRs ได้โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญตัวเองเกินไปนัก

ไว้จะมารายงานผลเมื่อสบโอกาสนะครับ 🙂


ป.ล.ใครสนใจเรื่องตั้ง OKR ในองค์กร ลองอ่านบทความที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในบล็อก Life@LMWN: ตั้งเป้าหมายให้พนักงานด้วยเทคนิค OKR ครับ