9 เรื่องที่สุดแห่งปี 59 ของ Anontawong’s Musings

20161230_59review

1. เศร้าใจที่สุด
การเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือเหตุการณ์สำคัญที่สุดในปีที่ผ่านมา คนไทยเศร้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และลุกขึ้นมาทำความดีกันคนละไม้คนละมือกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผมจำได้ว่าช่วงนั้นคนขับรถอย่างมีน้ำใจกันเป็นพิเศษ แต่ตอนนี้เหมือนคนไทยกำลังจะกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกแล้ว ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากการสูญเสียครั้งนี้ไม่ได้นำพาเราไปสู่การปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเลย ผมเองมีความตั้งใจที่จะเขียนถึงท่านเรื่อยๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่ลืมความตั้งใจที่เราเคยมีในช่วงที่เกิดการสูญเสียใหม่ๆ ครับ (บทความเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9)

2. ภูมิใจที่สุด
คือการเขียนบล็อกวันละตอนตลอดปี 2559 รวมบทความนี้ก็จะได้ 366 ตอนพอดี (ปีนี้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน)

แต่ต้องขอสารภาพว่า พอย้อนกลับไปดู จริงๆ แล้วผมขาดไปหนึ่งวันคือวันที่ 2 มีนาคม (ช่วงนั้นตารางชีวิตยังไม่เข้าที่) วันพฤหัสฯที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมาผมเลยเขียนสองตอนเพื่อชดเชยครับ

3. ดีใจที่สุด
คือ anontawong.com มียอดวิวครบ 1 ล้านวิว ในวันที่ 27 มิถุนายน ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งสำหรับบล็อกเกอร์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง และคาดว่าภายในกุมภาพันธ์ 2560 น่าจะถึง 2 ล้านวิวครับ

4. อ่านเยอะที่สุด
บทความ 9 บทเรียนจาก 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งเขียนขึ้นหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือบทความที่มีคนอ่านเยอะที่สุดคือ 478,000 ครั้งและแชร์ 129,000 ครั้ง (ส่วนแชมป์ปีที่แล้วคือเรื่องการจัดบ้านแบบคอนมาริ)

จริงๆ ผมเกือบจะไม่ได้เขียนบทความ 9 บทเรียนฯ นี้แล้วด้วยซ้ำ เพราะวันนั้นจำได้ชัดเจนว่าไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนอะไรเลย ทำใจไว้แล้วว่าอาจจะต้องผิดคำพูดที่ว่าจะเขียนบล็อกทุกวัน แต่สุดท้ายก็คิดได้ ใจโล่งขึ้นและมานั่งลงที่โต๊ะตอนสามทุ่มกว่าๆ และเขียนเสร็จก่อนเที่ยงคืนเพียงนิดเดียว

5. มุ้งมิ้งที่สุด
บทความเรื่อง โชคดี ที่เขียนขึ้นตอนตีสองของเช้าตรู่วันวาเลนไทน์ โดยมีภรรยามานั่งให้กำลังใจ (และให้เรานวดเท้าให้) น่าจะเป็นบทความที่ “หวานออกอากาศ” ที่สุดประจำปีนี้

6. แรงที่สุด
คือประโยคที่ว่า

“คนโง่จะพูดอยู่สองอย่าง ไม่มีเวลา กับทำไม่ได้”

ของดร.วรภัทร ภู่เจริญในบทความชื่อ สองอย่าง ซึ่งมีคนแชร์ไปสี่หมื่นกว่าครั้ง และทำให้ผู้อ่านบางคนถึงกับเข้ามาคอมเม้นท์ในเพจ Anontawong’s Musings อย่างถึงพริกถึงขิง

7. ใช้พลังที่สุด
คือซีรี่ส์เรื่อง Sapiens ว่าด้วยประวัติศาสตร์และอนาคตของมนุษยชาติ ตอนนี้เขียนถึงตอนที่ 3 แล้ว (และน่าจะมีอีกประมาณ 30 ตอน) แต่ละตอนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงในการอ่าน ย่อยข้อมูล และเรียบเรียง ใครอยากเห็นภาพชัดขึ้นว่าเรามาถึงจุดๆ นี้ได้ยังไง และเราจะไปไหนกันต่อ อยากให้ลองอ่านดูครับ (อ่านบทความทั้งหมดได้ใน Category: Homo Sapiens )

8. น่ารักที่สุด
คือผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้คำผิด รวมถึงแจ้ง(ฟ้อง)ผมเวลามีคนเอาบทความจากบล็อกนี้ไปใช้ที่อื่นโดยไม่ให้เครดิตครับ โดยเฉพาะผู้อ่านต่อไปนี้: Chan L., Piya P., Theerawoot B., Thanyaporn P.S., Julnarong W. รวมไปถึงครูณัชรเจ้าของเพจ ดร ณัชร สยามวาลา และ ปูเป้เจ้าของเพจ Stellar Balcony ครับผม

9.ขอบคุณที่สุด
ผึ้ง – ภรรยาที่ช่วยแชร์บทความของผมทุกตอน ต้องขอโทษด้วยที่บางครั้งเราใช้เวลากับบล็อกมากไปนิด จนมีเวลาช่วยผึ้งเลี้ยงปรายฝนน้อยไปหน่อย ขอบคุณที่เข้าใจและสนับสนุนเสมอมานะ

รอง – น้องชายที่ช่วยแชร์บทความทุกตอนเช่นกัน ใครสนใจเรียนรู้ทริคการใช้งาน Excel ลองเข้าไปตามอ่านได้ที่ kacharuk.com นะครับ

แม่กับพ่อ – ที่ช่วยผมแชร์บทความทั้งทางไลน์และเฟซบุ๊คและคอยส่งคำชมจากผู้ใหญ่มาให้ชื่นใจ

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งที่ติดตามและให้กำลังใจมาตลอดปี 2559

แล้วพบกันใหม่ปีหน้าครับ!



facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

นิทานพ่อหมีสอนบิน

20161229_koala

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

หมีโคอาล่าเจอลูกนกถูกทิ้ง หมีจึงเอาลูกนกมาดูแล แล้วเป็นพ่อให้ลูกนก

เมื่อถึงเวลาลูกนกต้องฝึกบิน ลูกนกจึงถามหมี

“พ่อจ๋าหนูจะบินได้อย่างไร”

“เดี๋ยวพ่อบินให้ดู”

หมีกระโดดจากยอดไม้แล้วกระพือแขนเร็ว ๆ เพื่อให้ลอยขึ้น แต่ทุกครั้ง หมีก็จะหล่นลงพื้นด้วยความหนักของตัว

หมีทำแบบนี้ทุกวันให้ลูกนกดู แล้วบอกลูกนกให้กระพือปีกแรง ๆ ตาม

“พ่อไม่เห็นบินได้เลย” ลูกนกถาม

“เพราะพ่ออ้วนไง แต่ลูกบินได้นะ ลองทำดูสิ” หมีบอกลูกนก

“พ่อเธอไม่มีทางบินได้หรอก เพราะพ่อเธอไม่ใช่นก” ต้นไม้กระซิบบอกลูกนก

ถ้าพ่อบินไม่ได้ พ่อจะทำอย่างนั้นทุกวันทำไม ลูกนกถามต้นไม้

“วันไหนเธอมีคนที่เธอรักสุดหัวใจ เธอจะเข้าใจเอง” ต้นไม้ตอบ

ลูกนกมองหมีที่ตัวเต็มไปด้วยแผล แล้วถามว่า พ่อบินไม่ได้ พ่อจะพยายามบินทำไม

หมียิ้มแล้วลูบหัวลูกนกเบา ๆ พร้อมบอกว่า

“การพยายามทำอะไรเพื่อคนที่เรารัก มันไม่มีขีดจำกัดหรอก มันทำได้ทุกอย่าง
พ่ออยากให้หนูบินได้ เพื่อที่สักวันหนูโตขึ้น จะได้บินออกไปดูโลกกว้าง
บินออกไปเห็นอะไรใหม่ๆ บินออกไปหากิน และเจอคนดีๆ ที่พร้อมจะเคียงข้างหนู พ่อรักหนูนะ”

ลูกนกไม่ตอบอะไร ปล่อยตัวลงไป กระพือปีกให้แรง แล้วก็บินออกไปสู้ท้องฟ้าอันกว้างใหญ่

มีเพียงหมีที่มองจากต้นไม้ต้นนั้นด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขและน้ำตาแห่งความใจหาย

เขาไม่รู้ว่าลูกนกจะบินไปไหน เขาไม่รู้ว่าลูกนกจะบินไปหาใคร แต่เขารู้ว่าลูกนกบินได้แล้วเขาก็สุขใจ

ตะวันกำลังลับลา หมีนั่งเช็ดแผลตัวเอง พร้อมกับมองเงาฝูงนกที่บินตรงขอบฟ้า แล้วหวังว่าจะมีลูกที่เขารักบินอยู่ในนั้น ก่อนหลับตาไปด้วยความเหนื่อยล้าแต่สุขใจ

ไม่ทันได้หลับสนิท ก็มีอะไรแผ่นใหญ่ๆมาห่มไว้

หมีลืมตา เห็นลูกนกกำลังบินคาบใบไม้มาห่มให้ พร้อมกับอาหารและหญ้าสมุนไพรไว้ให้ใส่แผล

ลูกนกบินลงบนไหล่หมีอย่างเบา ๆ แล้วกระซิบที่หูไปว่า

“หนูก็รักพ่อนะ”


ขอบคุณนิทานจากไลน์ (หากรู้ว่าใครเป็นคนเขียน/คนแปล ช่วยบอกด้วยนะครับ จะลงเครดิตให้ครับ)

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

 

สิ่งที่สอนกันไม่ได้

20161229_unteachable

“Nothing that is worth knowing can be taught”

“สิ่งที่ควรค่าแก่การรู้จริงๆ นั้นสอนกันไม่ได้หรอกนะ”

– Oscar Wilde

หากได้ลองทบทวนตัวเองดีๆ เราอาจสังเกตว่า บทเรียนสำคัญนั้นมักไม่ได้ออกมาจากปากหรือปากกาของใคร

แต่ออกมาจากใจเราเอง

เพราะต่อให้เราได้ยินหรือได้อ่านคำสอนดีๆ มากแค่ไหน เราก็ได้รับแค่ “ชุดข้อมูล” ที่สมองของเราจดจำได้ แต่เรายังไม่ได้เข้าใจ เพราะมันยัง “เข้า” ไปไม่ถึง “ใจ” เราจริงๆ

ความรู้ส่วนใหญ่จึงเป็นแค่เพียงความจำ แต่ไม่ได้นำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อให้ชีวิตของเราดีงามขึ้น

ต่อเมื่อเราได้เจอเหตุการณ์บางอย่าง ที่บังคับให้เรากลับมาตั้งคำถามกับนิสัยหรือวิถีชีวิตที่ผ่านมาอย่างจริงจังแล้วนั่นแหละ เราถึงจะเข้าถึงข้อสรุปได้ด้วยตัวเอง และนำความ “เข้าใจ” นั้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ จนไม่อาจกลับไปทำผิดแบบเดิมๆ อีก

“Nothing that is worth knowing can be taught”

ในฐานะพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือผู้อาวุโสกว่า เราจึงต้องเผื่อใจไว้ว่า คำสอนของเราอาจไปไม่ถึง “นักเรียน” ของเราหรอก

อย่างมากที่สุดที่เราพอจะทำได้ คือการเป็นแบบอย่างที่ดีและส่งเสริมให้นักเรียนคนนั้นได้คิดและหาคำตอบของตัวเองครับ


facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ทางเลือกความเจ็บปวด

20161228_painchoice

“We must all suffer from one of two pains: the pain of discipline or the pain of regret. The difference is discipline weighs ounces while regret weighs tons.”

“เราต่างก็ต้องเจอความเจ็บปวดแบบใดแบบหนึ่ง ระหว่างเจ็บปวดจากวินัยหรือเจ็บปวดจากความเสียดาย ความเจ็บปวดจากวินัยนั้นบางเบาเหมือนขนนก ความเจ็บปวดจากความเสียดายนั้นหนักอึ้งดังขุนเขา”

– Jim Rohn


เห็นประโยคนี้แล้วผมนึกถึงศัพท์ๆ หนึ่งที่ฝรั่งชอบใช้กัน

มันคือคำว่า instant gratification ซึ่งน่าจะแปลได้ประมาณว่า “ความสุขเฉพาะหน้า” หรือ “ความสุขด่วนได้”

นั่นคือเราเลือกที่จะมีความสุข ณ ตอนนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าถ้าอดใจซักหน่อย จะเกิดประโยชน์ในอนาคตมากกว่านี้

สุภาษิตไทยที่มีความหมายตรงข้ามกับ instant gratification ก็คือ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” นั่นเอง

เราทุกคนล้วนตกเป็นเหยื่อเจ้าความสุขด่วนได้

เราถึงส่องเฟซจนดึกดื่น จนตอนเช้าตื่นมาอย่างสะโหลสะเหล

เราถึงไม่ตั้งใจเรียน ทั้งๆ ที่จะเอาจริงๆ ก็ทำได้

เราถึงเลือกที่จะกินขนมมีผงชูรส ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ดีต่อร่างกาย (และหนังศีรษะ)

เราถึงเลือกนอนอืดอยู่ในห้อง ทั้งๆ ที่ตอนแรกตั้งใจว่าเช้านี้จะไปออกกำลังกาย

แล้วเราก็ค่อยมาบ่นกับตัวเองทีหลังว่า “ไม่น่าเลย”

We must all suffer from one of two pains: the pain of discipline or the pain of regret.

การยอมอ่อนข้อให้ความสุขด่วนได้ คือการทำร้ายตัวเองในอนาคต

มีวินัยเพิ่มขึ้นอีกสักนิดในวันนี้ แล้วตัวเราในวันหน้าจะนึกขอบคุณเราครับ


facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Unsplash.com

ทรัพย์สินที่หรูหราที่สุด

20161228_luxurious

คือเวลาและความเงียบ

“Time and silence are the most luxurious things today.”

– Tom Ford


ทำไมเราถึงไม่มีเวลา?

จริงๆ ทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน

สำคัญคือเราเอาเวลาไปทำอะไรบ้าง

ถ้าได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่อยากทำจริงๆ คนๆ นั้นน่าจะรู้สึกว่าตัวเองมีเวลา

เพราะที่เราบ่นๆ ว่า “ไม่มีเวลา” นั้น ก็เพราะเรากำลังรู้สึกผิดที่เอาเวลาไปทำอย่างอื่นจนแทบไม่เหลือเวลาให้กับสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญและคิดจะทำมานานแล้ว

หนึ่งในวิธีแก้ ก็คือมานั่งคิดให้ดีๆ ว่าอะไรที่สำคัญกับเราจริงๆ แล้วจัดเวลาให้มัน เมื่อเอาเวลาไปใส่กับสิ่งนี้แล้ว เรื่องอื่นๆ ที่สำคัญรองลงมาก็จะหาช่องเวลาของมันได้เอง

ทำไมเราถึงไม่มีความเงียบ?

จริงๆ ความเงียบก็มีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง

เพียงแต่เราไม่เคยหยุดเพื่อจะฟังและอยู่กับความเงียบต่างหาก

ถ้าความเงียบเป็นช่องว่าง ก็เป็นเราเองนี่แหละที่ชอบหาอะไรมาถมช่องว่างจนเต็มทุกที

อยู่กับเพื่อนก็ต้องคุยกัน ความเงียบทางกายภาพจึงไม่มี

พออยู่กับคนไม่รู้จักหรืออยู่คนเดียวก็หยิบมือถือขึ้นมาเล่น ความเงียบภายในหัวจึงไม่มีเช่นกัน

Time and silence are the most luxurious things today.

ในยุคที่เรามีความกินดีอยู่ดีกว่ายุคใด จึงเหมือนเป็นตลกร้ายที่เรากลับรู้สึกขาดแคลนสิ่งที่โลกมอบให้เรามาโดยตลอด

ทรัพย์สินอันหรูหราที่ชื่อว่าเวลาและความเงียบนี้ ยิ่งทำเท่าไหร่ยิ่งไม่มี

ต้องหยุดทำเท่านั้นจึงจะพอมีได้


facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com