38 ข้อคิดดีๆ จากท้อฟฟี่ แบรดชอว์
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทาง LINE MAN Wongnai ได้รับเกียรติจากคุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ มาบรรยายในหัวข้อ เรื่องเล็ก น้อยนิด มหาศาล
จัด WeShare มาหลายสิบครั้ง ครั้งนี่น่าจะเป็น WeShare ที่มีความ personal มากที่สุด
นี่คือข้อคิดบางส่วนที่ได้จากคุณท้อฟครับ
ตอนจบปริญญาตรีใหม่ๆ เคยไปสัมภาษณ์งานกับกิจการโรงแรมแห่งหนึ่ง ต้องนั่งรอ 6 ชั่วโมง พอสัมภาษณ์เสร็จแล้วก็บอกตัวเองว่าไม่อยากทำงานที่นี่ เพราะตลอด 6 ชั่วโมงที่นั่งรอ ไม่มีแม้กระทั่งน้ำซักแก้วหนึ่งมาให้ดื่มทั้งๆ ที่บริษัทอยู่ในธุรกิจบริการ เราอยากอยู่ในองค์กรที่ใส่ใจเรื่องเล็กๆ เพราะเราเองก็อยากเป็นคนแบบนั้น
หลังจากเรียนจบโท ผมสมัครงานกับ Ogilvy ได้สัมภาษณ์กับ “พี่อิ๋ว” ที่เป็น MD ประทับใจมาก เพราะพี่อิ๋วเล่าให้ฟังด้วยว่าที่นี่เขาทำงานกันยังไง ตอนนั้นคิดในใจว่าต่อให้ไม่ได้งานที่นี่ ก็จะขอกลับมาสมัครใหม่ เพราะรู้เลยว่าที่นี่คือ “โอลิมปิก”
ผมแนะนำตัวเองกับพี่อิ๋วว่า “ผมเป็นนักทำให้คนตกหลุมรักภายใน 7 วินาที” เพราะมีงานวิจัยที่บอกว่า 7 วินาทีแรกที่เราเจอกันนั้นจะสร้างภาพประทับอยู่ในใจว่าเราเป็นคนแบบไหน พี่อิ๋วจึงถามต่อว่า “งั้นท้อฟทำให้พี่ตกหลุมรักภายใน 7 วินาทีหน่อยสิ”
(สำหรับพี่อิ๋ว ผมขอสองนาทีนะครับ) ในปี 1995 มีหนังชื่อ Evita ซึ่งกำลัง cast ตัวนักแสดงนำ มีทั้ง Meryl Streep, Michelle Pfifer และนักแสดงหญิงขั้นเทพอีกหลายคน แต่คนที่ได้บท Evita ไปกลับเป็น Madonna ซึ่งเป็น bad girl ในวงการ และเคยได้รางวัลนักแสดงยอดแย่มาแล้ว (Golden Raspberry Awards)
สิ่งที่มาดอนน่าทำ คือเขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองหา Alan Parker ที่เป็นผู้กำกับ แล้วขอร้องว่าเลือกฉันเถอะ แล้วฉันจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง ปาร์คเกอร์สัมผัสอะไรบางอย่างได้ จึงเลือกมาดอนน่า และสุดท้ายเธอก็คว้ารางวัล Golden Globe นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม
ผมรู้ว่าพี่อิ๋วมีช้อยส์ที่ดีกว่าผม ประสบการณ์มากกว่า เก่งกว่า ผมเพิ่งจบโทมา ไม่เคยทำ agency มาก่อน แต่ผมมี passion และความตั้งใจ ผมจะพิสูจน์ตัวเองว่าพี่เลือกคนไม่ผิด
สุดท้ายผมก็ได้งานที่ Ogilvy จริงๆ เมื่อได้เข้ามาทำงาน จึงถามพี่อิ๋วว่าทำไมถึงเลือกท้อฟ พี่อิ๋วตอบว่า พี่เลือกท้อฟตั้งแต่ 7 วิแรก
7 seconds = lifetime เราต้องทำให้ 7 วินาทีนั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา มันคือการต่อโปรที่เคยเป็นแค่ 7 วินาที ให้ยาวขึ้นเรื่อยๆ ลองคิดว่าถ้าเราใช้ทั้งชีวิตสร้าง 7 วินาทีแห่งความประทับใจอยู่ตลอด ทิศทางชีวิตเราจะเป็นอย่างไร
สมัยทำงานอยู่บริษัทเก่า การทำ content ยังเป็นเรื่องใหม่ ผมเลยเดินไปขอหัวหน้าว่าอยากทำ content หัวหน้าก็อนุญาตว่าพอขึ้นปีใหม่จะให้ทำ ผมก็เฝ้ารอวันที่จะได้ทำงานใหม่ แถมมกราคมยังเป็นเดือนเกิดของผมด้วย เมื่อเดือนมกราคมมาถึง หัวหน้าก็ประกาศในที่ประชุมว่าจากนี้ไปท้อฟฟี่จะไม่ทำ AE แล้วนะ เพราะท้อฟฟี่ทำงานไม่ได้ แล้วเขาก็หัวเราะ แล้วทั้งห้องก็หัวเราะตามอย่างเสียไม่ได้ ตอนนั้นผมรู้สึกโดดเดี่ยวมาก
Moment ที่แย่ที่สุดคือตอนโดนเชิญออกไปเป่าเค้กแล้วร้อง Happy Birthday to You เดินออกมาจากห้องประชุมแล้วรู้สึกไม่อยากมาทำงานอีกเลย ยังดีที่เพื่อนๆ พี่มาให้กำลังใจ
ผมมีสองทางเลือก เชื่อว่าทำไม่ได้จริงๆ หรือออกมาลุยเอง ผมเลือกอย่างหลัง เลยเป็นจุดกำเนิดของเพจ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
มนุษย์ทำงานทุกคนน่าจะมีช่วงเวลาของการเกลียดวันจันทร์ และเราเองก็รู้ดีว่าเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าในองค์กรนั้นมันเป็นยังไง อยากจะช่วยเปลี่ยนความรู้สึก I hate my job ให้กลายเป็น I love my job เพราะถ้าที่ทำงานแย่ เราจะส่งต่อพลังลบให้กับคนที่บ้านด้วย แต่ถ้างานมีความสุข เราจะส่งต่อพลังงานดีๆ ให้กับเพื่อนและคนรอบตัว จึงเป็นที่มาของคอลัมน์ Game On, Bitch ใน The Standard
มีคนทัก ส่งคำถามและฟีดแบ็คมามากมาย ครั้งหนึ่งที่ประทับใจคือมีคนเขียนมาบอกว่า “ผมอยากเป็นหัวหน้าที่ดี ที่ผ่านมาผมทำให้ลูกน้องไม่มีความสุขในที่ทำงาน ผมใช้ความโกรธในที่ทำงาน” ไม่นึกว่าข้อเขียนของเราจะมีผลงอกงามออกมาขนาดนี้ และที่ไม่คาดฝันยิ่งกว่าคือมันกลับมาเยียวยาตัวเราด้วย เพราะคนที่เราให้คำปรึกษาเขาตอบกลับมาว่า “ผมจะไปขอโทษลูกน้อง”
เคยได้คุยกับคนทำงาน Call Center ที่ SCB อยากรู้ว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องเป็นหนังหน้าไฟทุกวัน เขาตอบว่า “พี่ครับ วันนึงผมรับสายประมาณ 70-90 สาย เดือนหนึ่งถ้าผมคิดว่ามีคนด่าผม 2,000 ครั้ง ผมจะไม่อยากมาทำงานเลย แต่พอคิดว่าจะมีอาชีพไหนที่จะมีโอกาสได้ช่วยคนเดือนละ 2,000 คน ความรู้สึกผมก็เปลี่ยนไปเลย”
ฮารุโกะ มิทสึ เป็นคนญี่ปุ่นที่ไปเติบโตเมืองจีนเลยพูดญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ เมื่อกลับมาอยู่ญี่ปุ่น เลยเลือกทำงานที่ไม่ต้องพูดญี่ปุ่นมากนัก นั่นก็คือการเป็นพนักงานทำความสะอาดที่สนามบิน Haneda วันหนึ่งหัวหน้าส่งฮารุโกะไปประกวดทำความสะอาดระดับประเทศ ปรากฎว่าเธอได้ที่ 2 ฮารุโกะเสียใจมาก หัวหน้าเลยบอกว่า “ที่เธอแพ้เพราะเธอตั้งใจเกินไป พอตั้งใจมากเกิน เธอจะหลงลืมสิ่งหนึ่ง นั่นคือการสนใจลูกค้า ลืมที่จะมีรอยยิ้มให้คนที่ผ่านไปผ่านมา” พอปีต่อมาเธอเข้าประกวดอีกครั้ง และคราวนี้เธอได้ที่หนึ่ง
ก่อนทำความสะอาดคุณฮารุโกะจะจินตนาการว่ามีเด็กเล็กๆ เล่นอยู่ที่พื้นห้องน้ำ ถ้าเด็กคนนั้นเอามือโดนพื้นแล้วมาโดนปากจะทำยังไง ซึ่งเพิ่มความตั้งใจของเธอที่จะทำงานให้ดี เธอประดิษฐ์แปรงเล็กๆ ขึ้นมาเอง เพื่อจะได้ถูเข้าไปในซอกที่เล็กที่สุดแม้กระทั่งรูเครื่องเป่ามือ เพื่อจะให้มันแห้งจริงๆ แล้วจะได้ไม่มีกลิ่นอับ จะได้ไม่ต้องใช้น้ำยาที่กลิ่นแรง
เธอเชื่อว่าถ้าห้องน้ำสะอาด ลูกค้าจะเกรงใจเอง และเธอมักจะให้รางวัลตัวเองด้วยการไปแอบในมุมห้องน้ำแล้วสังเกตสีหน้าเวลาลูกค้าเปิดประตูเข้ามา
ตอนนี้ฮารูโกะมีลูกน้อง 500 กว่าคน และสนามบิน Haneda ก็ได้รางวัลสนามบินที่สะอาดที่สุดในโลก 7 ปีซ้อน
เราทำงานแบบไหนจะสะท้อนว่าเรามีเป้าหมายแบบไหน ถ้ามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เราจะใส่ใจเบอร์นี้
ใน Sunderland มีสะพานที่คนเดินไปฆ่าตัวตายเยอะมาก ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ Page Hunter ซึ่งเป็นโรคซึมเศร้าตัดสินใจทำเรื่องเล็กๆ ด้วยการเขียนข้อความให้กำลังใจด้วยลายมือไปแขวนอยู่ตามสะพาน แขวนทุกวันจนทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ต้องเป็นหัวใจ เป็นหัวไหล่ก็พอ – เวลาเพื่อนมาปรึกษา เราจะรู้สึกว่า ทำไมเขาโง่อย่างนี้ แล้วเราก็แนะนำไป แล้วเขาก็ไม่ทำ การที่เราพยายามจะให้เขาเป็นแบบที่เราอยากให้เป็น มันก็เป็นการตัดสินเขาเหมือนกัน
ผมเชื่อว่าถ้าเขามีสติ เขาจะมองเห็นทางออกเองได้ แต่ตอนนี้เขาเหมือนคนเอาหน้าชนกำแพง หน้าที่ของเราคือเป็นไหล่ให้เขา ไม่ต้องไปตัดสินอะไรทั้งสิ้น เพราะถ้าเขามาหาเรา แสดงว่าเขาอยากแก้ปัญหา หน้าที่ของเราคือทำให้เขามองเห็นมุมอื่นๆ เมื่อรู้ตัวว่ามีความหมายเขาจะลุกขึ้นเดินได้เอง
ชายเชื้อสายอินเดียคนหนึ่งเคยไปสัมภาษณ์งานที่ Microsoft ก่อนจบการสัมภาษณ์เขาโดนถามว่า “ถ้าเห็นเด็กน้อยคนหนึ่งเดินร้องไห้อยู่กลางถนน คุณจะทำอะไร?” เขาจึงตอบไปว่า “ผมจะโทรบอก 911 ครับ” สุดท้ายเขาได้งานที่นี่ แต่คนที่สัมภาษณ์เขามาบอกภายหลังว่า “สิ่งหนึ่งที่คุณต้องพัฒนาคือความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เวลาเห็นเด็กร้องไห้ สิ่งแรกที่คุณต้องทำคือเข้าไปกอดเขาให้หายร้องไห้ก่อน แล้วค่อยโทร 911” นี่คือบทเรียนที่ Satya Nadella, CEO Microsoft คนปัจจุบันจำไม่เคยลืม
เวลาเจอคนร้องไห้ เราจะรีบหาทางออกบางอย่าง ด้วยการเอาประสบการณ์ของเราไปทาบเขา แม้จะเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่ดี ถ้าเราบอกเขาว่าต้องทำอะไร มันอาจจะเป็นการดันเขาออกไปเช่นกัน เพราะเขาอาจจะคิดว่าไม่มีใครเข้าใจฉันเลย หรือเรื่องแค่นี้ทำไมฉันคิดเองไม่ได้
ปีที่แล้วผมได้รับมอบหมายให้เขียนหนังสือประวัติของอากงด้วยการไปสัมภาษณ์คนในครอบครัว แล้วก็ได้พบว่าความทรงจำแต่ละอย่างเกี่ยวกับอากงเป็นเรื่องเล็กๆ ทั้งนั้น น้องสาวของอากงบอกว่า “เฮียมักจะประดิษฐ์ของเล่นให้น้อง ซ่อมเสื้อผ้าให้” พ่อผมบอกว่า “เวลาไม่มีแอร์ เตี่ยจะขึ้นไปฉีดน้ำบนหลังคา” ลูกพี่ลูกน้องบอกว่า “น้องลิดาชอบไปเล่นกับอากง เล่นทำอาหาร ไปเสิร์ฟให้อากง แล้วอากงก็จะทำท่ากินแล้วอร่อยมาก”
ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์พี่เบิร์ด ธงไชย หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ พี่เบิร์ดบอกว่า ถ้าท้อฟฟี่มีความสุขอย่าลืมไปบอกพ่อแม่นะ ท่านจะได้รู้ว่าเรานึกถึงท่านเวลาเรามีความสุข แล้วพี่เบิร์ดก็ให้ผม video call หาคุณพ่อคุณแม่กัน ชมผมให้แม่ฟัง และร้องเพลงให้คุณพ่อฟัง
พี่เบิร์ดเชื่อว่าเราสามารถสร้าง “moment ดอกไม้บาน” ได้ แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในเวลาสั้นๆ แต่ว่ามันจะยิ่งใหญ่อยู่ในใจได้ยาวนาน
เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ผมเป็นคนบ้าทำงานมาก ทำงานข้ามวันข้ามคืน กลัวว่าถ้าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จพ่อแม่จะไม่ภูมิใจในตัวเรา – ศุกร์ 12 สิงหา 2554 ถ้าเป็นปีอื่นๆ จะกลับไปอยู่กับแม่ แต่ผมเลือกใช้วันนั้นทำงาน พอตื่นมาตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับหน้าอก เลยขับรถไปหาหมอ หมอตรวจแล้วแจ้งว่าหัวใจห้องหนึ่งของผมกำลังจะหยุดเต้น ต้องทำบอลลูนเดี๋ยวนี้
ผมโทรไปหาคุณพ่อซึ่งอยู่ต่างจังหวัดกับคุณแม่ที่เพชรบูรณ์ พ่อกับแม่เป็นหมออยู่แล้ว เลยยกโทรศัพท์ให้หมอได้คุยกันเองก่อน พอคุยเสร็จ พ่อก็ขอคุยกับผม แล้วบอกว่า “ลูกรัก ไม่ต้องกลัว เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกมีชีวิตอยู่” ผมคิดในใจว่าที่ผ่านมาเราบ้างานมากเลย และนี่คือคำพูดของคนที่เราละเลย
หลังจากทำบอลลูนเสร็จ พี่ชายซึ่งเรียนหมอก็เดินร้องไห้มาหา บอกผมว่าการผ่าตัดเมื่อกี้ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องผ่าตัดบายพาสทันที มีความเป็นไปได้สี่ทางคือ 1.รอดปลอดภัย 2.อัมพาต 3.อัมพฤกษ์ และ 4.เสียชีวิต
ก่อนผ่าตัด ได้โทรคุยกับแม่อีกครั้ง แม่บอกว่า “หนูไม่ต้องกลัว เมื่อลูกตื่นขึ้นมา ลูกจะเห็นป๊ากับแม่อยู่ข้างๆ” และภาพแรกที่ได้เห็นตอนตื่นมา คือแม่มาอยู่ข้างเตียงจริงๆ คอยป้อนน้ำป้อนข้าวให้
พี่ชายบอกว่า เส้นเลือดที่ทำได้บายพาสอยู่ได้ 30 ปี เสร็จแล้วอาจจะต้องมาผ่าตัดใหม่ เหตุการณ์นี้เกิดมาเกือบ 10 ปีแล้ว แสดงว่าผมยังเหลือเวลาอีกแค่ 20 ปีเท่านั้น พอเรารู้สึกว่าเรามีเวลาเหลือไม่มาก วิธีการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป
“เดี๋ยว” กับ “เดี๋ยวนี้” แค่ใส่ “นี้” เข้าไปมันจะเปลี่ยนวิธีคิดหมด เพราะเราจะมีเหลืออีกกี่เดี๋ยว ทุกเรื่องเล็กๆ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ทุกเรื่องที่เราทำเป็นเรื่องสำคัญหมด ถ้ามีเวลาเหลือแค่ 20 ปี ก็อยากจะทำให้ 20 ปีนั้นโคตรดีที่สุดในชีวิต
Martin Luther King เคยกล่าวไว้ว่า “If you cannot do great things, do small things in a great way” คุณอยากทำอะไรเล็กๆ ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก น้อยนิด มหาศาลบ้าง
ถาม:เหตุการณ์หัวหน้าที่เคยบอกในที่ประชุมว่าเราจะเปลี่ยนงานเพราะเราทำไม่ได้ ถ้าเป็นคุณท้อฟฟี่ตอนนี้จะกลับไปบอกตัวเองในตอนนั้นยังไง?
ตอบ: ทุกอย่างเป็นครูของเราได้หมด เขาลงทุนมาเป็นตัวอย่างแย่ๆ ให้เราแล้ว เราจึงควรขอบคุณเขา เพราะถ้าวันหนึ่งเราโตไปเป็นคนที่เราเคยเกลียด อันนั้นจะน่าเสียใจมาก เราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ เราทำได้แค่ปัจจุบัน ทุกครั้งที่เราได้ช่วยใคร เรากำลังไปหยุดคนที่กำลังจะกลายเป็น bad boss ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีต่อหัวใจมากกว่าการคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
ถาม: อะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้าง
ตอบ: อยากเปิดคอร์ส storytelling โดยจะลองทำ pilot เพื่อเก็บฟีดแบ็คก่อน
ส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจออกจาก Ogilvy เพราะรู้สึกว่าชีวิต secure มากขึ้น ผมคิดว่าเราต้องมีนามสกุลเป็นของตัวเอง อย่าไปพึ่งนามสกุลที่เป็นชื่อบริษัท เพราะคนเขาอาจจะคิดว่าเราเก่งเพียงเพราะเราอยู่บริษัทนี้รึเปล่า
ในหนึ่งปีเราควรมีหนึ่งโปรเจคที่เราไม่เคยทำมาก่อนเลย ผมเคยไปเรียนมวยไทย ซึ่งไม่เข้ากันเลยกับตัวเอง ทั้งเจ็บ ทั้งร้อน แล้วก็ได้พบว่าแค่เปลี่ยนสนามเราก็ไม่ใช่ที่หนึ่งแล้ว มันทำให้เรารู้ว่ายังมีคนเก่งกว่าเราอีกเยอะ มันทำให้เราไม่กร่าง มันทำให้เรารู้จักชื่นชมคนอื่น
Like this: Like Loading...