ความคิดที่ผ่านเข้ามาหลังระเบิดที่ราชประสงค์

20150817_Bomb

เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง?

คือคำถามแรกที่ผุดขึ้น หลังจากไล่ดูข้อมูลตามไลน์และเว็บไซต์ทั้งไทยและเทศ

รายงานล่าสุด มีผู้เสียชีวิต 27 ราย (เป็นชาวต่างชาติ 4 ราย) บาดเจ็บ 81 ราย

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด นี่คือการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดที่กรุงเทพเคยมีมา

ในช่วง 10 ปีที่บ้านเมืองเราอยู่ในความขัดแย้ง กรุงเทพอาจจะมีระเบิดตรงนั้นตรงนี้ แต่มีคนเสียชีวิตน้อยมาก

ผมก็คิดเข้าข้างตัวเองว่า ยังไงๆ ซะ คนที่แย่งชิงอำนาจกันส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวพุทธ คงยังมีความละอายและเกรงกลัวแต่บาปอันเกิดจากการเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์

แต่เหตุการณ์ระเบิดที่พระพรหมเอราวัณค่ำวันนี้ ทำให้ผมต้องคิดใหม่เสียแล้ว

เราคงมาถึงจุดนี้แล้วจริงๆ

จุดที่คนไทยบางคน พร้อมจะก่อเหตุเพื่อตอบสนองอะไรบางอย่าง แม้รู้อยู่แก่ใจว่าจะสร้างความสูญเสียให้แก่ผู้บริสุทธิ์มากแค่ไหน

—–

การเลือกเวลาและสถานที่ ดูจะมองเป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากต้องการให้ระเบิดคราวนี้ก่อความเสียหายให้มากที่สุดและให้เป็นข่าวไปทั่วโลก เพราะสี่แยกราชประสงค์ รวมถึงจุดเกิดเหตุอย่างพระพรหมเอราวัณ เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวหลายคนต้องมาเยือน

และคงสมใจคนสั่งการ เมื่อ Reuters,  AP,  CNNBBC และ Al Jazeera พร้อมใจกันนำเสนอข่าวบ้านเราขึ้นเป็นข่าวอันดับหนึ่งในเว็บไซต์ของเขา

2015-08-18_000124

2015-08-17_231700

2015-08-17_215432

2015-08-18_083812

2015-08-18_000226

—–

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?  คือคำถามที่ตามมา

น่าจะแบ่งเป็นสองส่วน คือเราไม่ควรทำอะไร และควรทำอะไร

สิ่งที่ไม่ควรทำ

1. ส่งข่าวลือต่อทางไลน์ โดยไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน เพราะจะยิ่งก่อให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิด แหล่งที่มาที่ชัดเจนในความหมายของผมคือลิงค์กลับไปยังหน้าเว็บไซต์ของต้นทางที่อ้างอิงถึง (ไม่ว่าจะเป็นสื่อ รัฐบาล กาชาด โรงพยาบาล หรือโรงเรียน)

2. ส่งรูปของผู้เสียชีวิต มีคนในกรุ๊ปไลน์ตำหนิว่าอย่าส่งเพราะว่ามันเป็นภาพที่ไม่น่าดู แต่ผมว่าเหตุผลที่สำคัญกว่าคือเราควรให้เกียรติผู้เสียชีวิต ถ้าผมเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ตาย ผมย่อมไม่ปรารถนาให้ภาพของคนที่เรารักที่สุดปลิวว่อนอยู่ใน social media แน่ๆ

สิ่งที่ควรทำ

1. จัดให้มีระบบเช็คความปลอดภัยของพนักงาน ที่บริษัทของผมจะมีสิ่งที่เรียกว่า Call Tree หรือต้นไม้แห่งเบอร์โทรศัพท์ นั่นคือหัวหน้าจะต้องมีเบอร์ของลูกน้องทุกคน เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน นายใหญ่สุดของที่เมืองไทยจะเริ่มโทร.หา Director ของแต่ละแผนก Director ก็จะโทร.หา Manager, Manager โทร.หา Team Leader และ Team Leader จะโทร.หาลูกน้องในทีม ด้วยวิธีการโทร.ต่อกันเป็นทอดๆ เช่นนี้ จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าพนักงานทั้งหมดของเราปลอดภัยกันดีมั้ย

ผมหันไปถามแฟน (ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เหมือนกันแต่ไม่ใช่สัญชาติฝรั่ง) ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Call Tree หรืออะไรที่คล้ายๆ กันมั้ย แฟนบอกว่าไม่มี ผมก็เลยอนุมานเอาว่าบริษัทจำนวนมากอาจจะยังไม่มีกระบวนการที่ว่านี้ แต่ผมขอแนะนำว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง

2. ช่วยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ ภาษาไทยเรามีสำนวน “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” ซึ่งสะท้อนลักษณะนิสัยของคนไทยได้เป็นอย่างดี

ผมว่าถึงเวลาต้องปรับตัวกันแล้วนะครับ

เห็นอะไรไม่ชอบมาพากล อย่านิ่งดูดายหรือคิดว่าธุระไม่ใช่ ก่อนอื่นเราต้องเดินออกให้ห่างจากจุดต้องสงสัย เมื่อแน่ใจแล้วว่าเราปลอดภัย ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้รับทราบ

เพียงแค่เรา “เอาธุระ” ซักหน่อย เราอาจจะได้ช่วยชีวิตคน

3. สวดมนต์ภาวนา ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และคุณงามความดีคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ต้องเสี่ยงภัยและเหนื่อยไม่น้อยต่อจากนี้ไป (ในขณะที่ผมนั่งพิมพ์บล็อกในห้องนอนที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ)

และแน่นอน เราควรสวดมนต์และภาวนาให้กับผู้เสียชีวิตด้วย

เราเป็นคนศาสนาใด ก็ทำตามความเชื่อของศาสนานั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณที่ล่วงลับได้ “กลับบ้าน”

ขอให้ดวงวิญญาณผู้บริสุทธิ์ทุกดวงไปสู่สุคติครับ

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่