ถ้าเราเครียดเรื่องงานถือเป็นสัญญาณที่ดี

หนึ่ง แปลว่าเรามีงานทำ

สอง เครียดเรื่องงาน ดีกว่าเครียดเรื่องคน ปัญหาเรื่องงานมักมีทางออก ปัญหาเรื่องคนหาทางออกได้ยากกว่า

สาม การที่เราเครียดเรื่องงานเป็นหลัก แสดงว่าเรื่องอื่นๆ ในชีวิตค่อนข้างราบรื่น เช่นเรื่องเงินทอง เรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว เพราะถ้าเรามีปัญหาใดในสามเรื่องนี้ เราจะไม่ค่อยเหลือแรงมานั่งเครียดเรื่องงานแล้ว

เวลารู้สึกว่าชีวิตกำลังแย่กับปัญหาใด ถ้ามองเห็น “ปัญหาที่เราไม่มี” กำกับไว้ด้วย ก็น่าจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยครับ

ทำงานเสร็จหนึ่งชิ้นแล้วอย่าเพิ่งทำงานชิ้นต่อไป

ทำงานเสร็จหนึ่งชิ้นแล้วอย่าเพิ่งทำงานชิ้นต่อไป

ในวันทำงาน เวลาที่เครื่องกำลังติด เรามักจะทำงานหลายชิ้นติดต่อกัน

แต่ผมพบว่าการได้หยุดพัก – แม้จะแค่นาทีเดียว – ก่อนเริ่มงานชิ้นใหม่นั้นอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ได้ลุกออกจากที่นั่ง

บางคนอาจเคยได้ยินคำกล่าว “Sitting is the new smoking.” ที่เคลมว่าการนั่งทั้งวันนั้นกระทบกับสุขภาพพอๆ กับการสูบบุหรี่

อาจจะเป็นคำกล่าวที่โอเวอร์ไปหน่อย แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าเราเคลื่อนไหวร่างกายน้อยกว่ารุ่นบรรพบุรุษมาก ถ้าเราไม่นั่ง เราก็นอน เราแทบไม่ค่อยได้เดินหรือยืน ยิ่งในช่วง Work from home ยิ่งชัด

เคยมีคนทำการศึกษาชนเผ่าที่ยังอาศัยอยู่ในป่า เก็บผลหมากรากไม้ ไม่ได้ทำการเกษตร (ซึ่งเราคาดการณ์ว่าบรรพบุรุษของเราสมัยเป็นแสนปีที่แล้วก็น่าจะมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับชนเผ่านี้) แล้วก็พบว่าคนกลุ่มนี้ก็มีจำนวนชั่วโมงในการนั่งเยอะพอๆ กับคนในเมือง ความแตกต่างก็คือคนเหล่านี้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยกว่า ลุกขึ้นมายืนๆ เดินๆ บ่อยกว่า

ท่านั่งทำงานที่ดีคืออะไร? เราคงเคยได้ยินว่าความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ต้องพอดีกัน ขาถึงพื้น ข้อศอกงอ 90 องศา ตามองตรงไม่ต้องก้มหน้า ฯลฯ

แต่ประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือ “Your best posture is your next posture.” ท่านั่งที่ดีที่สุดคือท่าถัดไป – หมายความว่าเราควรเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ นั่นเอง

2.ได้ดื่มน้ำ

คนทำงานนั่งโต๊ะมักจะมีปัญหาดื่มน้ำน้อยเกินไป ถ้าเราได้เบรคและจิบน้ำบ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายของเรา hydrated อย่างเหมาะสม

3.ได้เข้าห้องน้ำ

ผมรู้จักน้องหลายคนเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะไม่ค่อยเดินไปเข้าห้องน้ำ เป็นโรคที่ควรป้องกันได้โดยง่ายแต่กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

4.ฝึกการติดเบรค

เราไม่ยอมเข้าห้องน้ำ เพราะเราไม่รู้จักการติดเบรคให้ตัวเอง ตอนทำงานใจมันพุ่งทะยานไปข้างหน้า หรือตอนประชุมเรารู้สึกว่าเราไม่มีทางเลือก ต้องนั่งอยู่ตรงนั้น แต่จริงๆ แล้วถ้าเราปิดกล้องหรือขอเดินออกจากห้องเพื่อไปเข้าห้องน้ำก็ไม่มีใครมาว่าเราหรอก ยกเว้นว่าการประชุมนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ และเราต้องอยู่ตรงนั้นจริงๆ (ซึ่งไม่ได้มีบ่อยอย่างที่เราคิด)

5.มีจังหวะคลายเส้น

โรค office syndrome ส่วนใหญ่เกิดมาจากการเกร็งตัวและอยู่ในท่านั้นนานเกินไป หากเรารู้จักเบรคหลังจากการเสร็จงานแต่ละชิ้น เราจะใช้เวลาช่วงนี้คลายเส้นให้ตัวเองได้ จะได้ทำงานอย่างไม่ต้องทรมานสังขารจนเกินไป

6.ช่วยเราเลือกการทำงานชิ้นต่อไป

การได้เบรคแป๊บนึงก่อนจะกลับมานั่งที่โต๊ะ จะทำให้เรามีสติมากขึ้นว่างานที่ดีที่สุดที่จะทำต่อไปคืออะไร แต่ถ้าเราไม่เบรคเลย เรามักจะทำตามความเคยชิน เช่นไล่อ่านไลน์หรือตอบ Slack ซึ่งอาจจะทำให้เราหัวเสียหรือเสียสมาธิจนทำให้แผนการทำงานของเรารวนไปหมด

7.ช่วยให้เรายืนระยะ

ในโดราเอม่อนภาคพิเศษ ตอนต้องเดินทางไกลด้วยคอปเตอร์ไม้ไผ่ โดราเอม่อนมักจะหยุดกลางทางโดยให้เหตุผลกับพวกโนบิตะว่าถ้าเราบินติดต่อกันนานเกินไปแบตคอปเตอร์ไม้ไผ่จะหมดเร็ว

ถ้าเราทำงานติดๆ กันโดยไม่ได้พักเลย ตอนค่ำพลังจะหมด และถ้าเราทำแบบเดียวกันทุกวัน วันเสาร์อาทิตย์เราก็แทบไม่เหลือเรี่ยวแรงที่จะใช้เวลากับคนในครอบครัว

ดังนั้น หากเรารู้จักเบรคระหว่างวัน เราจะจัดการพลังงานได้ดีกว่า เราจะสามารถยืนระยะได้ และยังมีพลังเหลือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ

เริ่มต้นให้ถูกฝั่งแล้วมันจะเครียดน้อยลง

เริ่มต้นให้ถูกฝั่ง แล้วมันจะเครียดน้อยลง

เมื่อวานนี้ผมมีโอกาสได้ไปพูดงาน HR Day ที่จัดโดย PMAT

หนึ่งในประเด็นที่ได้พูดคุยกันก็คือสมัยนี้เวลา HR จัด training หรือ event ก็ต้องลุ้นกันจนเหนื่อยว่าจะมีคนมาร่วมเยอะพอมั้ย เพราะหลายองค์กรคนติดใจทำงานที่บ้านแล้ว

ในฐานะคนที่เคยจัดอบรมให้พนักงานมาก่อนผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดี

กลัวน้องไม่มา กลัวขายหน้าวิทยากร จนบางทีต้องใช้วิธีเกณฑ์คนในทีมมานั่งเป็นหน้าม้าเพื่อให้ห้องไม่โหลงเหลงเกินไป

แต่เมื่อวานซืนนี้ทีมของผมเพิ่งจัดเทรนนิ่งออนไลน์ที่มีพนักงานระดับ manager เข้าฟังเกิน 160 กว่าคน น่าจะเป็นหนึ่งในการจัดอบรมที่คนเข้าฟังเยอะที่สุดของปีนี้

หัวข้อที่ผมพูดคือ Performance Management Guide for Managers

เนื่องจากตอนนี้เข้าฤดูกาลประเมินผล หัวหน้าทีมก็เลยมาเข้าฟังเทรนนิ่งนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะมันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเขา


Seth Godin เคยตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีจำนวนหน้าเท่ากันแทบทุกวัน แต่จริงๆ แล้วบางวันมันก็ไม่ได้มีข่าวอะไรที่น่าสนใจ หนังสือพิมพ์ก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาข่าวอะไรก็ไม่รู้มาใส่เอาไว้เพื่อ fill the space ให้ครบตามจำนวนหน้า

เซธบอกว่า สิ่งที่ควรจะเป็น คือถ้าวันไหนมีข่าวน้อย หนังสือพิมพ์ก็ควรพิมพ์หน้าน้อยๆ ถ้าวันไหนข่าวเยอะ หนังสือพิมพ์ก็ค่อยมีหน้าเยอะๆ

[ผมว่าเซธรู้ดีว่าเรื่องแบบนี้มันทำได้ยากในทางปฎิบัติ แต่ประเด็นของเซธก็น่าสนใจ ว่าปริมาณข่าวสารที่หนังสือพิมพ์ทำออกมาไม่ควรถูกกำหนดด้วยจำนวนหน้าที่เท่ากันทุกวัน]


เคยมีคนถามจี้ Jim Cramer ผู้ประกาศข่าวของช่อง CNBC ว่าทำไม่ช่อง CNBC ถึงมักมีข่าวที่ขัดแย้งกันเองและข่าวที่ไม่ค่อยมีสาระ

จิมตอบว่า “ฟังนะ เราต้องทำรายการสดถึงวันละ 17 ชั่วโมงเชียวนะ” (Look, we’ve got 17 hours of live TV a day to do.)

จิมคงต้องการจะสื่อว่า ในเมื่อมันต้องสร้าง content เพื่อให้ทั้ง 17 ชั่วโมงนั้นไม่มี dead air เลย การจะมีเนื้อหาที่ไม่ค่อยมีประโยชน์บ้างนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้


กลับมาที่การจัดอบรมของบริษัท

เวลาที่เราจัดงานแล้วคนไม่ค่อยมาร่วม นั่นแสดงว่าสิ่งที่เราจัดนั้นอาจไม่ดึงดูด หรือไม่ได้ตอบโจทย์ของพนักงาน แล้วก็ต้องมาแก้ปัญหาภายหลังด้วยการเคี่ยวเข็ญหรือเกณฑ์คน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น

ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ อาจเป็นเพราะเรามีวิธีคิดคล้ายหนังสือพิมพ์หรือช่อง CNBC ที่เรามีตารางเทรนนิ่งและตั้งงบเอาไว้แล้วว่าจะต้องจัดเดือนละกี่ครั้งและต้องใช้งบให้หมด ไม่ต่างอะไรกับจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจำนวนชั่วโมงของแต่ละช่องที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว ยังไงต้องหา content อะไรซักอย่างมาลงแม้ว่ามันจะไม่ได้ตอบโจทย์ใครเลยก็ตาม

วิธีที่อาจจะช่วยได้ น่าจะมีสามอย่าง

  1. ไม่ต้องกำหนดว่าจะสอนอะไร แต่มีงบให้พนักงานเลือกไปลงเรียนข้างนอกแล้วมาเบิก
  2. สอนในเรื่องที่ต้องใช้แน่ๆ เช่นหัวข้อ Performance Management ที่กล่าวไปข้างต้น
  3. คุยกับแต่ละทีมว่ามี pain points อะไร และจัดสอนโดยใช้เนื้อหาและโจทย์ที่ทีมนั้นกำลังประสบอยู่จริงๆ ซึ่งย่อมได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าแผนกให้ลูกทีมมาเรียน

และถ้าช่วงไหนมันไม่ได้มีความต้องให้สอนอะไร เราก็ไม่จำเป็นต้องไปฝืนเปิดสอนคลาสตามตารางหรือตามงบที่วางไว้ เพราะการอบรมก็มี high season / low season ของมันได้เหมือนกัน

ถ้าเราจัดอบรมเท่าที่จำเป็นและตอบโจทย์คนในองค์กรอย่างแท้จริง เราจะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยลุ้นว่าจะมีคนมาเรียนหรือไม่


ผมยกตัวอย่างเรื่องการจัดอบรมก็จริง แต่ประเด็นที่อยากจะชวนคิดคือการตั้งต้นให้ถูกฝั่ง

แทนที่จะตั้งต้นว่าเราจะมีสอนเดือนละ 4 คลาสแล้วค่อยหาอะไรมาลง ให้ตั้งต้นว่าความต้องการของคนมีอะไรและเยอะแค่ไหน แล้วค่อยจัดตารางไปตามนั้น โดยต้องดูให้เหมาะสมตามกำลังของเราด้วย

หนังสือพิมพ์กับทีวีอาจจะไม่มีทางเลือกตรงนี้ แต่กับหลายสิ่งในชีวิต เรามีทางเลือกว่าจะเริ่มต้นจากด้านไหน

แต่ก่อนผมเคยตั้งเป้าว่าจะเขียนบล็อกทุกวัน แม้ในวันที่ไม่รู้จะเขียนอะไรก็จะพยายามดิ้นรนเค้นมันออกมา ซึ่งในด้านหนึ่งมันก็เป็นการฝึกวินัยที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจได้บทความที่ไม่ค่อยมีสาระแก่นสารเท่าที่ควร

วันนี้ผมเลยจุดนั้นมาแล้ว เลยไม่ได้คาดคั้นว่าต้องเขียนบล็อกทุกวัน แต่เขียนเมื่อมีประเด็นที่อยากเขียน ด้วยวิธีการนี้มันก็เลยไม่ต้องเค้น และรู้สึกมีความสุขกับการเขียนบล็อกมากขึ้น

หรือแต่ก่อนผมเคยตั้งเป้าว่าอยากจะได้คนติดตามบล็อก xx คนภายในเวลาเมื่อนั้นเมื่อนี้ พอไม่เป็นไปตามแผนก็เฟล สุดท้ายผมก็เลยไม่สนใจเรื่องยอดฟอล เลิกตั้งเป้าในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม แล้วหันมาให้ความสำคัญในสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้ นั่นคือการเขียนบทความที่มีประโยชน์และเราภูมิใจ

ลองสำรวจตัวเองดูนะครับ หากว่าเรามีอะไรที่ต้องคอยลุ้นจนเหนื่อยอยู่เสมอ ความเป็นไปได้คือเราอาจกำลังเริ่มต้นผิดฝั่งอยู่

เริ่มต้นให้ถูกฝั่ง แล้วมันจะเครียดน้อยลงครับ

ข้อดีของการเขียน To-Do List บนกระดาษตอนหมดวัน

นิสัยอย่างหนึ่งที่ผมเริ่มทำมาไม่นานแต่รู้สึกว่ามีประโยชน์ คือการเขียน To-Do List ตอนหมดวัน แทนที่จะเขียนตอนเช้า

ข้อดีของการเขียน To-Do List บนกระดาษเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนเลิกงานมีดังนี้

  • เป็น “พิธีกรรม” (ritual) อย่างหนึ่งที่บอกสมองให้รู้ว่า ตอนนี้เรากำลังจะเลิกงานแล้วนะ การเขียน To-Do List คืองานชิ้นสุดท้ายที่จะทำในวันนี้ก่อนที่จะปิดคอมแล้วไปทำอย่างอื่น
  • เป็นการบังคับตัวเองให้รีวิวงานที่ทำมาในวันนี้ งานไหนที่เสร็จแล้วก็ขีดฆ่าทิ้ง งานไหนที่ยังไม่เสร็จก็ขึ้นกระดาษ A4 แผ่นใหม่เพื่อเอาไว้ทำวันพรุ่งนี้
  • ผมชอบเขียนลงกระดาษมากกว่าเขียนลงแอป เพราะบนแอปมันมีความรู้สึก “ไม่รู้จบ” จะใส่งานลงไป 20 ชิ้นก็ได้ แต่กระดาษมีพื้นที่จำกัด ซึ่งสอดคล้องกับข้อจำกัดทางกายภาพของมนุษย์และข้อจำกัดของเวลาทำงาน เราเลยจะไม่ใส่งานลงไปมากเกินกว่าที่เราเองจะทำไหวในหนึ่งวัน
  • เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่ามีอะไรบ้างที่เราจะเก็บไว้ทำวันพรุ่งนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลถึงงานเหล่านั้นในวันนี้อีกต่อไป เหมือนคำพูดที่ไซตามะ พระเอกการ์ตูนเรื่อง One Punch Man เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาของวันพรุ่งนี้ ก็ให้ตัวฉันในวันพรุ่งนี้จัดการละกัน”*
  • ช่วงหัวค่ำหรือก่อนเข้านอน ถ้าแว้บอะไรขึ้นมาได้ ก็เขียนต่อท้ายใน To-Do List ของวันพรุ่งนี้ได้เลย เมื่อเราได้เขียนลงกระดาษที่เรามั่นใจว่าพรุ่งนี้เราจะเห็นแน่นอน ความกังวลใจก็จะลดลง ไม่เก็บไปคิดจนนอนไม่หลับ
  • พอเราเขียนงานเหล่านั้นลงกระดาษ แล้วไปนอนสักคืนหนึ่ง (sleep on it) เมื่อตื่นขึ้นมาดูลิสต์นั้นอีกที งานบางงานเหมือนจะดูง่ายขึ้น ผมเดาว่าช่วงที่เรานอน สมองอาจจะเอางานบางชิ้นไป “ขบคิด” ต่อในจิตใต้สำนึก พอตื่นขึ้นมาก็เลยรู้สึกว่างานเหล่านั้นถูกย่อยมาแล้วในระดับหนึ่ง
  • หลายคนชอบการเก็บเตียงให้เรียบร้อยในตอนเช้า เพราะตอนค่ำหลังจากเหนื่อยมาทั้งวัน ได้เห็นเตียงที่ spark joy แล้วสามารถเอนกายลงได้ทันที ในมุมกลับกัน การตื่นเช้ามาแล้วมี To-Do List รออยู่แล้วก็ช่วยให้เราสามารถเริ่มต้นวันได้อย่างไม่อ้อยอิ่ง การเก็บเตียงนอนตอนเช้า กับการเขียน To-Do List ตอนเย็น จึงเป็นเหมือนหัว-ก้อยของเหรียญเดียวกัน

ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ


* ขอบคุณเพจเขียนไว้ให้เธอที่แนะนำให้รู้จักกับประโยคนี้ครับ

บางทีเราก็ควรกินกบตัวใหญ่ บางทีเราก็ควรกินเฟรนช์ฟรายส์

หนึ่งในหัวข้อสำคัญของ time management คือการเลือกว่าจะหยิบงานชิ้นไหนขึ้นมาทำก่อน

ผมคิดว่ายิ่งเรารู้จักทางเลือกมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสคัดสรรและพลิกแพลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้นเท่านั้น

วันนี้จึงอยากมาแชร์ว่า ผมมีวิธีการตัดสินใจอย่างไรบ้างว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง

1.กินกบตัวนั้นซะ! – มาจากหนังสือเล่มดังชื่อ Eat That Frog ของ Brian Tracy ที่เปรียบงานเป็นเหมือนกบ เราควรเลือกกบตัวที่ใหญ่ที่สุดและหน้าตาน่าเกลียดสุดขึ้นมากินก่อน เพราะถ้าเรากินกบตัวนี้ได้ กบตัวที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว ซึ่งวิธีการนี้ก็สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่า willpower หรือพลังใจของเรานั้นจะสูงที่สุดในช่วงเช้า และจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ตามเวลาทำงาน ดังนั้นการเลือกทำงานยากที่สุดตอนที่พลังใจเราสูงที่สุดก็สมเหตุสมผล

  1. กินเฟรนช์ฟรายส์ก่อน – ไอเดียนี้ไม่ได้มาจากหนังสือเล่มไหน ผมแค่ตั้งชื่อให้มันเล่นๆ เพราะเฟรนช์ฟรายส์เป็นอาหารมหาชน อร่อยและกินง่าย ไม่ต้องใช้ความพยายาม ดังนั้นถ้าเราอยากจะทำงานง่ายๆ ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร ข้อดีคือเมื่อเราทำเรื่องง่ายสำเร็จ มันจะเป็น quick wins ที่ทำให้เรามีความมั่นใจและโมเมนตั้มในงานชิ้นถัดไป
  2. ทำงานที่ด่วนที่สุดก่อน – งานไหนด่วนสุดก็เอาขึ้นมาทำก่อน เพราะถ้าไม่เสร็จเดี๋ยวจะโดนตำหนิหรือดูไม่ดีในสายตาเพื่อนร่วมงาน วิธีแบบนี้อาจจะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ก็จริง แต่ก็ต้องระวังที่จะไม่ทำงานด่วนอยู่ตลอด เพราะคนที่มาบอกว่าด่วนนั้นบางทีเขาอาจมาเร่งเราเกินความจำเป็น หรืออาจวางแผนไม่ดีมาตั้งแต่ต้นก็ได้
  3. ทำงานที่มี long-term impact ที่สุดก่อน – ในภาษา time management ก็คืองาน Q2 – สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เป็นงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของเรา ไม่มีเส้นตายชัดเจน ถึงไม่ทำก็ไม่โดนตำหนิ งานประเภทนี้ถ้าไม่จัดเวลาให้มันเราอาจจะโดนงานด่วนงานแทรกแย่งชิงเวลาไปหมด
  4. ทำงานโดยดูจากคนสั่งงาน – ถ้าหัวหน้าเป็นคนสั่งงานนี้ เราก็อาจจะอยากเอางานนี้ขึ้นมาทำก่อนงานที่เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องมาขอให้ช่วยทำ เพราะสุดท้ายแล้วหัวหน้าคือคนที่ตัดสินใจเรื่องผลการประเมินประจำปี (ซึ่งมีผลต่อโบนัสและการปรับเงินเดือน) ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการทำให้หัวหน้าแฮปปี้ก็จะช่วยให้เราจัดลำดับงานได้ง่ายขึ้น
  5. เรียงลำดับตามความอยาก – อยากทำงานชิ้นไหนก็หยิบงานชิ้นนั้นขึ้นมาทำก่อน ซึ่ง “ความอยาก” ที่ว่านั้นก็มาได้จากหลายปัจจัย อยากเพราะว่ามันง่าย อยากเพราะว่ามันด่วน อยากเพราะว่ามันเป็นผลดีกับเราในระยะยาว อยากเพราะรู้ว่าถ้าไม่ทำจะโดนหัวหน้าตามงาน การเลือกงานโดยทำตามความอยากนี้ค่อนข้างเวิร์คในวันที่เราไม่ได้มีประชุมมากนักและไม่ได้มีงานไหนที่เร่งเป็นพิเศษ เพราะมันคือการทำงานสนองความชอบและความพร้อมทางใจล้วนๆ
  6. เรียงลำดับตามความไม่สบายใจ – งานชิ้นไหนที่เรารู้สึกไม่สบายใจมากที่สุดก็เอาขึ้นมาทำก่อน แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้สำคัญหรือไม่ได้มีผลลัพธ์ระยะยาวมากนัก แต่การจัดการงานเหล่านี้ให้เรียบร้อยจะช่วยให้เราลดความรู้สึกหน่วงๆ และมีกำลังใจทำงานชิ้นอื่นได้อย่างมีสมาธิมากขึ้น

หากผู้อ่านท่านไหนมีวิธีจัดลำดับแบบอื่นๆ อีกก็มาแชร์ไว้ตรงนี้ได้เลยนะครับ