อย่าลืมว่าเรามาทำอะไรที่นี่

20200629

เวลามาออฟฟิศ เรามาเพื่อทำงานให้มันเสร็จ ไม่ใช่เพื่อมานั่งเล่นเน็ต เล่นการเมือง หรือนั่งนินทา

เวลามาเข้าประชุม เรามาเพื่อที่จะแชร์ข้อมูล ตัดสินใจ และทำให้งานเดินหน้า ไม่ใช่เพื่อที่จะเกี่ยงงาน และโทษกันไปมา

เวลามาออกกำลังกาย เรามาเพื่อจะได้ออกเหงื่อ ไม่ใช่เพื่อจะวางแผนว่าจะเซลฟี่ยังไงให้ดูดีที่สุด

เวลามาอยู่บนโลกใบนี้ เรามาเพื่อที่จะทำให้ชีวิตของตัวเองและผู้อื่นดีขึ้น ไม่ใช่มาเพื่อจะทำให้ตัวเองและคนอื่นแย่ลง

อย่าลืมว่าเรามาทำอะไรที่นี่

ความขัดแย้งในใจมันจะเกิด หากเราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำในที่ที่ควรทำครับ

หาโดมิโนตัวแรกให้เจอ

20200629b

ธรรมดาผมจะวิ่งจ๊อกกิ้งเช้าวันอังคาร พฤหัสฯ และวันเสาร์

วันอังคารวิ่งระยะกลาง วันพฤหัสฯ วิ่งระยะสั้น วันเสาร์วิ่งระยะยาว

อังคารที่แล้วผมวิ่งได้ค่อนข้างน้อย เหตุเนื่องมาจากตื่นสายไปหน่อย วิ่งได้แค่ครึ่งชั่วโมงก็ต้องเลิก หนึ่งเพราะแดดเริ่มร้อน สองเพราะต้องไปทำงาน

เหตุผลที่ตื่นสาย เพราะคืนก่อนหน้านั้นนอนดึก

ที่นอนดึกก็เพราะกว่าจะเอาลูกเข้านอนได้ก็เกือบสี่ทุ่มแล้ว

ที่ลูกนอนดึกเพราะผมกลับบ้านค่อนข้างค่ำ

ที่กลับบ้านค่ำเพราะต้องนั่งเคลียร์งาน

ที่ต้องมานั่งเคลียร์งานช่วงค่ำ เพราะระหว่างวันทำงานสะเปะสะปะไปหน่อย ทำให้บางอย่างที่ควรเสร็จตั้งแต่หัววันดันไม่เสร็จ และจะรอวันถัดไปก็สายเกิน

ที่ทำงานสะเปะสะปะเพราะตอนเช้าไม่ยอมเขียน to do list ลงในกระดาษให้ชัดเจนว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง และงานอะไรที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้เท่านั้น

เหตุการณ์ทุกอย่างมีที่มาที่ไปของมัน

สิ่งที่เราเจอในตอนนี้ เป็นผลจากสิ่งที่เราทำก่อนหน้านี้

เปรียบเสมือนโดมิโนที่วางเรียงกันอยู่ เมื่อตัวหนึ่งล้ม โดมิโนตัวอื่นๆ ในแถวก็ล้มตามไปด้วย

การไม่ยอมเขียน to do list ในเช้าวันจันทร์ คือโดมิโน่ตัวแรกที่ทำให้ผมวิ่งได้นิดเดียวในเช้าวันอังคาร

เวลาเราเจอปัญหาอะไร ลองพยายามสืบสาวราวเรื่องที่มา เพราะสิ่งนั้นเกิด สิ่งนี้จึงเกิด

กลับไปหาโดมิโนตัวแรกให้เจอ แก้ที่ต้นทาง แล้วปลายทางจะตรงได้เองครับ

—-

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room/

คนเราตายสามครั้ง

20200628

ครั้งที่หนึ่ง ตอนหัวใจหยุดเต้น

ครั้งที่สอง ตอนเผา

และครั้งที่สาม ตอนที่ใครสักคนเอ่ยถึงเราเป็นครั้งสุดท้าย

ครั้งที่หนึ่งและสองเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ครั้งที่สามเราอาจจะไม่เคยคิด

วันใดวันหนึ่งในอนาคต ชื่อของเราจะโดนใครสักคนพูด เขียน หรือนึกถึง โดยเขาคนนั้นจะเป็นคนสุดท้ายที่รับรู้ถึงตัวตนของเรา และหลังจากคนคนนั้นจากไป จะไม่มีใครรู้เลยว่าเราเคยมีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้มาก่อน

การตายครั้งที่หนึ่งและสองนั้นเหลื่อมล้ำกันไม่มากระหว่างมนุษย์แต่ละคน แต่การตายครั้งที่สามจะช้าจะเร็วขึ้นอยู่กับ “งาน” ที่เขาทำตอนที่ยังมีชีวิต

ถ้าเราสร้างงาน หรือสร้างประโยชน์เอาไว้มาก* คนรุ่นหลังก็จะพูดถึงเราได้ยาวนาน แต่ถ้าเราสร้างประโยชน์เอาไว้น้อย ชื่อของเราก็จะถูกลืมได้ง่ายหน่อย

อายุทางกายภาพนั้นอย่างมากก็แค่ร้อยกว่าปี แต่อายุในใจคนนั้นยาวนานได้หลายร้อยหลายพันปี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหนครับ

—–

* คนบางคนสร้างโทษเอาไว้มากก็โดนพูดถึงยาวนานเช่นกัน

ขอบคุณประกายความคิดจาก Derek Sivers’ book notes on Sum: Forty Tales from the Afterlives – by David Eagleman

The Black Swan ตอนที่ 9 – Bell Curve เจ้าปัญหา

20200627

Nassim Nicolas Taleb ผู้เขียนหนังสือ The Black Swan บอกว่าเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์หรือโบรกเกอร์มักจะประเมินความเสี่ยงของเหตุการณ์รุนแรงได้ต่ำเกินไป เพราะพวกเขาคำนวณความน่าจะเป็นโดยใช้ bell curve หรือ normal distribution

วิธีสร้าง Bell Curve ด้วยตัวคุณเอง

เรามาโยนเหรียญเสี่ยงทายกันอีกครั้ง

ถ้าโยนเหรียญครั้งเดียว ผลลัพธ์มีได้ 2 แบบคือ หัว หรือ ก้อย

ถ้าโยนเหรียญ 2 ครั้ง ผลลัพธ์มีได้ 4 แบบ คือ ก้อย-ก้อย ก้อย-หัว หัว-ก้อย และ หัว-หัว

ถ้าโยน 3 ครั้ง ผลลัพธ์มีได้ 8 แบบ คือ
ก้อย-ก้อย-ก้อย
ก้อย-ก้อย-หัว
ก้อย-หัว-ก้อย
ก้อย-หัว-หัว
หัว-ก้อย-ก้อย
หัว-ก้อย-หัว
หัว-หัว-ก้อย
หัว-หัว-หัว

โอกาสเกิดก้อย 3 ครั้ง = 1/8
โอกาสเกิดก้อย 2 ครั้ง = 3/8
โอกาสเกิดหัว 2 ครั้ง = 3/8
โอกาสเกิดหัว 3 ครั้ง = 1/8

เราจะได้ bell curve แบบคร่าวๆ ที่มีความสูง 1/8 อยู่ริมซ้ายและขวา และความสูง 3/8 อยู่ตรงกลาง

ถ้าโยนเหรียญ 4 ครั้ง ก็มีผลลัพธ์ได้ 2 ยกกำลัง 4 หรือ 16 แบบ ถ้าเปรียบหัวเป็น 1 และก้อยเป็น 0 ก็จะได้ซีรี่ส์เป็นเลขฐานสองดังนี้

0 0 0 0
0 0 0 1
0 0 1 0
0 0 1 1
0 1 0 0
0 1 0 1
0 1 1 0
0 1 1 1
1 0 0 0
1 0 0 1
1 0 1 0
1 0 1 1
1 1 0 0
1 1 0 1
1 1 1 0
1 1 1 1

โอกาสเกิดหัว 4 ครั้ง = 1/16
โอกาสเกิดหัว 3 ครั้ง = 4/16
โอกาสเกิดหัว 2 ครั้ง = 6/16
โอกาสเกิดก้อย 3 ครั้ง = 4/16
โอกาสเกิดก้อย 4 ครั้ง = 1/16

ลองเอาไปพล็อต bell curve ก็จะได้กราฟที่ละเอียดมากขึ้น

ถ้าโยนเหรียญ 40 ครั้ง ก็มีผลลัพธ์ได้ 2 ยกกำลัง 40 หรือ 1 ล้านล้านแบบ และกราฟ bell curve ก็จะละเอียดมากขึ้นไปอีก โอกาสที่จะได้หัวทั้ง 40 ครั้งนั้นมีเพียง 1 ใน 1 ล้านล้าน

เมื่อเราโยนเหรียญเป็นจำนวนอนันต์ แล้วนำมาพล็อตเป็นกราฟ ก็จะได้ bell curve แบบที่เราคุ้นตากัน

แต่การจะได้ normal distribution อย่างนี้ได้ นั่นหมายความว่าการโยนได้หัวในรอบนี้ไม่ได้เพิ่มหรือลดโอกาสออกหัวในรอบถัดไป ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พบเจอในโลกคาสิโนหรือการเล่นเกมอย่างการโยนเหรียญ

แต่ในเกมแห่งชีวิตจริง หากเราชนะคราวนี้ เราก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะชนะอีกในคราวหน้า การจะ “ชนะ” ติดต่อกัน 40 ครั้ง แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่โอกาสเป็นไปได้ก็มากกว่า 1 ใน 1 ล้านล้านครั้ง

ที่ทางของ Bell Curve

กราฟระฆังคว่ำหรือ Bell Curve นั้นเหมาะสำหรับ Mediocristan ที่ค่าเฉลี่ยเป็นใหญ่

สมมติว่าส่วนสูงของคนเรามีค่าเฉลี่ย 1.67 เมตรและมี standard deviation 10 เซนติเมตร

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 เซ็น (1.77) = 1 ใน 6.3

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 20 เซ็น (1.87) = 1 ใน 44

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 เซ็น (1.97) = 1 ใน 740

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 40 เซ็น (2.07) = 1 ใน 32,000

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 50 เซ็น (2.17) = 1 ใน 3,500,000

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 60 เซ็น (2.27) = 1 ใน 1 พันล้าน

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 70 เซ็น (2.37) = 1 ใน 7 แสนแปดหมื่นล้าน

โอกาสที่คนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 80 เซ็น (2.47) = 1 ใน 1600 ล้านล้าน

จะเห็นว่ายิ่งเราออกห่างจากค่าเฉลี่ย โอกาสก็ยิ่งดำดิ่งในอัตราเร่ง จาก 10 เซ็นไป 20 เซ็นโอกาสน้อยลงประมาณ 7 เท่า แต่จาก 50 เซ็นไป 60 เซ็น โอกาสน้อยลงถึง 300 เท่า และจาก 70 ไป 80 เซ็น โอกาสน้อยลงถึง 2000 เท่า

ในโลก Mediocristan สิ่งต่างๆ ไม่ได้ scalable มันไม่สามารถจะห่างจากค่าเฉลี่ยได้มากนัก

Distribution ในดินแดน Extremistan

คราวนี้ลองมาดูการกระจายตัวของความมั่งคั่งดูบ้าง ตัวเลขไม่ได้เป็นไปตามนี้เป๊ะๆ เป็นเพียง simplified version เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านยูโร = 1 ใน 62.5

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 2 ล้านยูโร = 1 ใน 250

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 4 ล้านยูโร = 1 ใน 1,000

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 8 ล้านยูโร = 1 ใน 4,000

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 16 ล้านยูโร = 1 ใน 16,000

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 32 ล้านยูโร = 1 ใน 64,000

ในกรณีนี้ เมื่อสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสองเท่า โอกาสจะน้อยลง 4 เท่า ไม่ว่าเราจะมองไปที่เงินกี่ล้านยูโรก็ตาม (ไม่มีอัตราเร่งของโอกาสที่น้อยลง)

การกระจายตัวแบบนี้ต้องใช้ Mandelbrotian distribution หรือ Power Law มาจับ ถ้าเราพยายามใช้ Bell Curve มาอธิบายการกระจายตัวของความมั่งคั่ง จะได้แบบนี้

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 ล้านยูโร = 1 ใน 62.5

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 2 ล้านยูโร = 1 ใน 127,000

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 4 ล้านยูโร = 1 ใน 886,000 ล้านล้าน

คนที่มีสินทรัพย์มากกว่า 8 ล้านยูโร = 1 ใน 16,000 ล้านล้านล้านล้านล้าน

ซึ่งเห็นได้ชัดว่า bell curve ไม่ใช่เครื่องที่เหมาะสมในการอธิบายสิ่งที่ scalable อย่างความมั่งคั่งซึ่งอยู่ในโลกของ Extremistan

กล่าวโดยสรุปคือ ดินแดน Mediocristan เราใช้ bell curve ได้ แต่ถ้าเราเข้าสู่ Extremistan เมื่อไหร่ bell curve จะเป็นเครื่องมือที่ไม่ได้เรื่อง

ถ้าผมบอกว่า คนสองคนความสูงรวมกัน 4 เมตร ความน่าจะเป็นที่เป็นไปได้มากที่สุดคือสูงคนละ 2 เมตร (normal distribution, ค่าเฉลี่ยคือพระเอก) คงไม่มีใครทายว่าคนหนึ่งสูง 3.5 เมตรและอีกคนสูง 50 เซ็น

แต่ถ้าผมบอกว่า นักเขียนสองคนมียอดขายหนังสือรวม 1,000,000 เล่ม โอกาสที่แต่ละคนจะขายได้ 500,000 เล่มนั้นน้อยกว่าโอกาสที่คนหนึ่งขายได้ 990,000 เล่มและอีกคนขายได้เพียง 10,000 เล่ม (mandelbrotian distribution, ค่าสุดโต่งคือพระเอก)

ใน Extremistan เราต้องมองไปที่ Power Law หรือที่บางคนอาจรู้จักในชื่อของ กฎ 80/20 หรือ Pareto Principle นั่นเอง

ใน Extremistan เราใช้ Power Law และเราสามารถใช้ค่า exponent ในการคาดคะเนความน่าจะเป็นได้

ในปี 2006 มีหนังสือที่ขายได้มากกว่า 250,000 เล่มอยู่ 96 ปก

ถ้าสมมติว่าค่า exponent คือ 1.5 การจะคำนวณว่าหนังสือที่ขายได้เกิน 500,000 เล่มมีอยู่กี่ปกทำได้ดังนี้

(500,000/250,000)^(-1.5) x 96 = 34 ปก

ถ้าอยากจะหาว่าหนังสือที่ขายได้เกิน 1,000,000 เล่มมีอยู่กี่ปก ให้เอา

(1,000,000/250,000)^(-1.5) x 96 = 12 ปก

ค่า Exponenent 1.5 นั้นได้มาโดยการลองผิดลองถูก โดยเราต้องลองเดาค่าใดค่าหนึ่งขึ้นมาก่อน แล้วเอาค่าเหล่านี้ไปใส่ในการคำนวณเพื่อดูว่ามันผลิตผลลัพธ์ออกมาได้สอดคล้องกับความเป็นจริงรึเปล่า

ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เป๊ะๆ แต่อย่างน้อยมันก็จะทำให้เรามีไอเดียว่าโอกาสที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ Extreme นั้นมีมาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งมันสามารถทำนายได้ดีกว่า bell curve มากมายนัก

ตามหาหงส์เทา

ความประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ คือการลดความเสี่ยงที่เราจะเจอ Black Swans หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ถ้าเราใช้แต่ normal distribution ซึ่งเหมาะกับ Mediocristan เท่านั้น เราก็จะประเมินความเสี่ยงใน Extremistan ผิดไป เราจำเป็นต้องใช้อีกเครื่องมือหนึ่ง นั่นคือ Mandelbrotian distribution ที่อ้างอิงกับ Power Law ซึ่งจะช่วยให้เราไม่ประมาทเกินไป

หากเรารู้ก่อนว่าตลาดหุ้นอาจจะมีสิทธิ์ crash ในปี 1987 ก็แสดงว่าเหตุการณ์ crash นั้นไม่ใช่ Black Swan และถ้าเรารู้ว่า biotech อาจผลิตยาที่จะขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และขายดีกว่ายาทุกตัวในประวัติศาสตร์ เราก็จะไม่แปลกใจหากเจอเหตุการณ์เช่นนั้น และอาจซื้อหุ้นของบริษัทนี้เอาไว้ล่วงหน้า

การประเมินความเสี่ยงแบบ Mandelbrotian จะทำให้ Black Swans บางตัวกลายเป็น Grey Swans หรือเหตุการณ์รุนแรงที่พอคาดเดาได้

แม้จะจับหงส์ดำไม่ได้ จับหงส์เทาได้ก็ยังดี


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ The Black Swan – The Impact of the Highly Improbable โดย Nassim Nicolas Taleb

The Black Swan ตอนที่ 1 – โควิดเป็นหงส์ดำรึเปล่า
The Black Swan ตอนที่ 2 – ความเปราะบางของความรู้
The Black Swan ตอนที่ 3 – ไก่งวงหน้าโง่
The Black Swan ตอนที่ 4 – อันตรายของ “story”
The Black Swan ตอนที่ 5 – หลักฐานอันเงียบงัน
The Black Swan ตอนที่ 6 – โยนเหรียญเสี่ยงทาย
The Black Swan ตอนที่ 7 – บิลเลียดสุดขอบจักรวาล
The Black Swan ตอนที่ 8 – ยุทธการ Barbell

สรุปหนังสือ Sapiens – A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari (20 ตอน)

สรุปหนังสือ Brave New Work by Aaron Dignan (15 ตอน)

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room/

นิทานคันธนูปริศนา

20200626

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

นายพรานผู้หนึ่งถือคันธนูคู่ใจออกไปล่าสัตว์ในป่า เขาล่าแพะได้ตัวหนึ่งจึงยกมันขึ้นพาดบ่าและเดินทางกลับบ้าน

ระหว่างทางเขาได้พบหมูป่าตัวหนึ่ง จึงวางแพะลงและยิงธนูใส่หมูป่า แต่หมูป่ากลับต่อสู้และตรงเข้าขวิดนายพรานจนเขาถึงแก่ความตาย ไม่นานนักเจ้าหมูป่าก็ทนพิษบาดผลไม่ไหวจึงตายลงเช่นกัน

หมาป่าตัวหนึ่งเดินผ่านมาพบคันธนูและศพของแพะ หมูป่า และนายพราน หมาป่าจึงดีใจมาก

“คันธนูนี้ช่างวิเศษจริงๆ ดูสิว่ามันบันดาลอาหารให้ข้ามากมายแค่ไหน”

หมาป่าหยิบลูกศรขึ้นมาลองง้างใส่คันธนูเล่นๆ แต่หมาป่าก็พลาดทำลูกศรวิ่งปักหัวใจจนนอนตายอยู่ตรงนั้น

—–
ขอบคุณนิทาน “หมาป่ากับคันธนู” จากหนังสือ “อีสปเด็กดี 50 เรื่อง” สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ผมชอบมาก เพราะทำหนังสือเด็กคุณภาพดีราคาย่อมเยาว์ครับ

ป.ล. คุณคิดว่า “คันธนู” ในที่นี้หมายถึงอะไร? แชร์ความเห็นกันดูครับ