The Black Swan ตอนที่ 5 – หลักฐานอันเงียบงัน

20200524

ในเรื่องเล่าเก่าแก่ของชาวโรมัน ไดแอกโกรัส (Diagoras) ผู้ไม่นับถือพระเจ้าองค์ใด ได้ไปพบศิลาจารึกที่เต็มไปด้วยรูปวาดของเหล่าผู้ศรัทธาที่สวดมนต์อ้อนวอนต่อพระเจ้าจนรอดชีวิตจากเรืออัปปาง

ไดแอกโกรัสจึงถามว่า “แล้วรูปของคนที่สวดมนต์แต่จมน้ำตายล่ะ อยู่ที่ไหน?”

ไดแอดโกรัสกำลังพูดถึง silent evidence หรือ “หลักฐานอันเงียบงัน” ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ตรงไปตรงมาแต่ดูเหมือนผู้คนมักจะมองข้ามสิ่งนี้

เหล่าผู้ศรัทธาที่จมน้ำตายไม่อาจอยู่รอดเพื่อมาวาดรูปตัวเองลงบนศิลาได้ฉันใด “ผู้พ่ายแพ้ในประวัติศาสตร์” ก็ไม่ได้มาเล่าเรื่องราวของตัวเองฉันนั้น

Silent evidence ที่ไม่เคยถูกพูดถึงนี่เองที่มักจะเป็นตัวการซุกซ่อนความไร้แบบแผนของเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เป็น Black Swans

 

ไม่มีหมอที่เป็นบ๋อย

ในบทที่สองเราพูดถึงความแตกต่างระหว่างอาชีพที่ scalable และอาชีพที่ไม่ scalable

อาชีพที่ scalable คืออาชีพที่อยู่ใน Extremistan ถ้าคุณประสบความสำเร็จ คุณก็จะสำเร็จอย่างสุดโต่ง เช่นนักเขียนหรือนักดนตรี แต่อาชีพนี้มีคนสำเร็จน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย “นักเขียน” ส่วนใหญ่เลยต้องรับ “จ๊อบเสริม” อย่างการทำงานตามร้านอาหารเพื่อหาเลี้ยงชีพตอนกลางวันและเขียนหนังสือตอนกลางคืน

ส่วนอาชีพที่ไม่ scalable นั้นอยู่ใน Mediocristan แม้จะไม่หวือหวาแต่ก็จะไม่อดตาย ผู้คนส่วนใหญ่ในอาชีพเหล่านี้ประสบความสำเร็จพอประมาณ เราจึงไม่เคยเห็นหมอคนไหนต้องมารับจ๊อบเสริมเป็นบ๋อยในร้านอาหาร

เรื่องราวของนักเขียนหรือนักร้องที่ประสบความสำเร็จนั้น จึงเป็นเรื่องราวของคนเพียง 0.01% ในวงการนี้ ในขณะที่เรื่องราวของผู้ล้มเหลวอีก 99.99% นั้นไม่เคยถูกกล่าวถึงแม้แต่น้อย

นักเขียนนิยายชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 19 อย่าง Honoré de Balzac นั้น มักจะได้รับการยกย่องในความ “เสมือนจริง” “ความเข้าใจอันลึกซึ้ง” “รายละเอียดของตัวละคร” และ “ความสามารถในการตรึงอารมณ์คนอ่าน” และคุณสมบัติเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้ Balzac ประสบความสำเร็จกว่านักเขียนทั่วไป

แต่ข้อความด้านบนจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อนักเขียนคนอื่นๆ ที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้นขาดคุณสมบัติเหล่านี้

ในความเป็นจริง อาจจะมีนักเขียนอีกหลายสิบคนที่มีคุณสมบัติที่กล่าวไปไม่แพ้ Balzac แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี

ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ Balzac ประสบความสำเร็จ อาจไม่ใช่ทักษะที่กล่าวถึงเลย Balzac แค่ “โชคดี” กว่านักเขียนคนอื่นๆ เท่านั้นเอง

ประเด็นไม่ใช่จะบอกว่า Balzac นั้นไม่เก่ง ประเด็นคือความเก่งของเขานั้นไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นมากเท่าที่เราคิด (he is less uniquely talented than we think) เพราะมี silent evidence มากมายที่ไม่เคยถูกวิเคราะห์ มีต้นฉบับนับพันนับหมื่นที่ไม่เคยถูกตีพิมพ์

 

บันได 10 ขั้นสู่การเป็นเศรษฐีเงินล้าน

หลายต่อหลายคนพยายามจะศึกษาชีวิตของนักธุรกิจหรือผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จและวิเคราะห์ “คุณสมบัติร่วม” (common traits) ที่ทำให้พวกเขามาถึงจุดนี้ได้ เช่นกล้าเสี่ยง มองโลกในแง่ดี ฯลฯ แล้วเราก็มักจะคิดว่านิสัยเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ

คราวนี้ลองหันไปดู “สุสาน” บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะคนที่ล้มเหลวนั้นไม่ค่อยออกมาเขียนหนังสือกันหรอก และถึงจะเขียนก็ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนอยากพิมพ์ให้ เพราะคนส่วนใหญ่อยากจ่ายเงิน 300 บาทเพื่ออ่านเรื่องราวของคนสำเร็จมากกว่าเรื่องของคนล้มเหลวอยู่ดี (หนังสือเกี่ยวกับความล้มเหลวที่ Taleb เคยได้อ่านแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ที่สุดคือ What I Learned Losing a Million Dollars ของ D.Paul และ B.Moyinahan ซึ่งนักเขียนต้องจัดพิมพ์เอง)

นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักจะคิดว่าตัวเองเป็นอัจริยะเพราะ “เอาชนะตลาด” ได้ติดต่อกันหลายต่อหลายปี แต่จริงๆ แล้วถ้าคุณมี sample size ที่ใหญ่พอ และลองทำ computer simulation มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะมีบาง sample ที่ชนะติดๆ กันเพราะความบังเอิญล้วนๆ

แต่เรากลับพยายามหา “สาเหตุ” และ “คำอธิบาย” ว่าคนๆ นี้สำเร็จเพราะอะไร “เพราะเขากินเต้าหู้เป็นประจำ” “เพราะเธอทำงานจนค่ำ วันก่อนสองทุ่มแล้วยังอยู่ออฟฟิศอยู่เลย” และแน่นอน “เพราะเธอเป็นคนขี้เกียจโดยธรรมชาติ และคนขี้เกียจมักจะมองเห็นอะไรได้ชัดกว่าคนทั่วไป”

ในอาชีพที่ scalable อย่างนักเขียน นักดนตรี นักค้าหุ้นนั้น สุสานของความล้มเหลวมีขนาดใหญ่มหึมา และเราไม่เคยได้ยินเรื่องราวจากพวกเขาเลย

นี่จึงทำให้อาชีพเหล่านี้ดูมีโอกาสสำเร็จมากกว่าความเป็นจริง

 

คนตายพูดไม่ได้

เหตุการณ์เฮอริเคน Katrina ถล่ม New Orleans ในปี 2005 นั้นเป็นข่าวไปทั่วโลก ผู้นำรัฐบาลต่างออกมาบอกว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาอย่างดีที่สุด

แต่เงินที่ใช้เยียวยาไม่ได้มาจากกระเป๋าของท่านผู้นำเหล่านั้น มันมาจากเงินภาษีของประชาชน และเมื่อเหยื่อของ Katrina ได้เงินมากกว่าปกติ ก็ย่อมจะหมายความว่ามีเงินภาษีเหลือน้อยลงสำหรับการช่วยบางกลุ่มบางองค์กร แต่องค์กรเหล่านี้ไม่เคยได้ออกสื่อ พวกเขาอาจจะเป็นมูลนิธิที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งก็ได้ มีคนตายจากมะเร็งมากกว่าจากเฮอริเคน Katrina มากมายนัก และการที่พวกเขาขาดเงินช่วยเหลือไปอาจจะทำให้พวกเขาต้องตายเร็วกว่าเดิม นี่คืออาชญากรรมที่ทุกคนไม่เคยมองเห็น

เหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2500 คนจากการก่อการร้ายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ญาติผู้เสียชีวิตรวมถึงผู้บาดเจ็บต่างก็ได้รับการเยียวยาและชดเชยอย่างเต็มที่

แต่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งพบว่า ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีนั้นมีประชาชนอีกประมาณ 1,000 คนที่อาจเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายเช่นกัน เพราะสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงขึ้นผิดปกติ สมมติฐานก็คือประชาชนจำนวนไม่น้อยกลัวการขึ้นเครื่องบิน และเลือกที่จะเดินทางด้วยรถยนต์แทน และส่วนหนึ่งของคนที่เปลี่ยนมาเดินทางบนถนนนั้นประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ญาติของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ไม่เคยได้รับการเยียวยา พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่เราเขารักนั้นก็ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายเช่นกัน

 

เราคือคาสโนว่าผู้รอดชีวิต

เรารู้จักคาสโนว่ากันดีในมุมของผู้ชายที่เป็นสุดยอดแห่งความเจ้าชู้ แต่จริงๆ แล้วเขามองตัวเองเป็นนักวิชาการ (scholar) และต้องการจะสร้างเครดิตให้ตัวเองด้วยการเขียนหนังสือ 12 เล่มภายใต้ชื่อ History of My Life

นอกจากจะเล่าเรื่องการจีบสาวแล้ว หนังสือชุดนี้ยังกล่าวถึงเหตุการณ์หลายต่อหลายเหตุการณ์ที่คาสโนว่าต้องตกที่นั่งลำบาก แต่ถึงที่สุดแล้ว “ดวงดาวแห่งโชค” จะนำพาให้เขาเอาตัวรอดได้เสมอ

เป็นไปได้มั้ยว่าคาสโนว่าคือคนที่ฟ้าเลือกให้เป็นผู้ที่อยู่เหนือโชคชะตา?

ก็อาจจะไม่ เพราะมีนักผจญภัยมากมายในประวัติศาสตร์ที่ทำตัวเหมือนคาสโนว่า หลายคนไม่รอด ส่วนบางคนก็รอดมาได้ และคนที่รอดก็มักจะนึกว่าตัวเองนั้นพิเศษกว่าคนอื่นเลยมาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ให้เราฟัง

ถ้ามองในภาพใหญ่ มนุษย์ Homo Sapiens ก็คือ “คาสโนว่าผู้รอดชีวิต” เราเป็นเผ่าพันธุ์ที่โชคดีอย่างมากที่ผ่านความเสี่ยงมามากมายแต่ก็ยังอยู่รอดและขยายเผ่าพันธุ์มาได้ถึงขนาดนี้

แต่แม้ว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้เพราะโชคช่วย ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะเสี่ยงอย่างนี้เรื่อยไป เหมือนเราเล่นรูเล็ตชนะมาแล้วหลายตา ก็ถึงเวลาที่ควรจะเลิกเล่นการพนันแล้วหางานดีๆ ทำเสียที

ในมุมของคาสโนว่าหรือนักการพนันที่ร่ำรวย เขาจะคิดว่าโอกาสที่จะ “ชนะติดต่อกันหลายหน” ได้อย่างเขานั้นมีโอกาสน้อยเสียยิ่งกว่าหนึ่งในล้าน ถ้าไม่ใช่เพราะฟ้ากำหนดไว้ก็ต้องเป็นเพราะอัจฉริยภาพของเขาอย่างแน่นอน

แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นเพราะเขาเอาตัวเองเป็นจุดตั้งต้นในการประเมินต่างหาก วิธีคำนวณที่ถูกต้องต้องเริ่มจากจำนวนคนที่เข้าเล่นการพนันทั้งหมด ซึ่งมีหลายล้านคน และแน่นอนว่าจะต้องมีหนึ่งในนั้นที่จะชนะติดต่อกันหลายครั้งได้เพราะความบังเอิญล้วนๆ

ในบทที่แล้ว เราพูดถึงหนังสือพิมพ์ที่ชอบหาเหตุผลมาอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้ story นั้นฟังดูเป็นเหตุเป็นผลและเข้าใจได้ง่าย

แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าเราต้องระวังการให้เหตุผลให้มากๆ ไม่ใช่เพราะว่ามันไม่มีอยู่จริง แต่เพราะว่าเรื่องราวต่างๆ มันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น

สิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็น “ปัจจัย” นั้นอาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้ หากเราคำนึงถึง silent evidence ที่เต็มไปด้วยปัจจัยเดียวกันแต่กลับไม่ได้ส่งผลอย่างที่เราคิด

โปรดติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ The Black Swan – The Impact of the Highly Improbable โดย Nassim Nicolas Taleb

The Black Swan ตอนที่ 1 – โควิดเป็นหงส์ดำรึเปล่า
The Black Swan ตอนที่ 2 – ความเปราะบางของความรู้
The Black Swan ตอนที่ 3 – ไก่งวงหน้าโง่
The Black Swan ตอนที่ 4 – อันตรายของ “story”

สรุปหนังสือ Sapiens – A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari (20 ตอน)

สรุปหนังสือ Brave New Work by Aaron Dignan (15 ตอน)

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่ whatisitpress.com ครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room/