ทำไม Introverts ถึง Burnout จากการ Work from Home

ผมคิดว่าตัวเองเป็น introvert คนหนึ่ง

Introvert คือคนที่ชอบสภาพแวดล้อมที่มีตัวกระตุ้นน้อย (low stimuli environment)

การได้ทำงานเงียบๆ ได้อยู่กับตัวเอง คือการชาร์จพลังที่ดี ในขณะที่ extrovert นั้นได้พลังจากการได้พบปะพูดคุยกับผู้คนเยอะๆ

การ work from home นั้นทำให้ extrovert “เฉา” ได้ไม่ยาก เพราะไม่ค่อยได้เจอใคร

แต่สิ่งที่ได้พบกับตัวเองก็คือ introvert ที่ต้อง WFH ก็เฉาได้ไม่แพ้กัน ซึ่งน่าสนใจว่าเป็นเพราะอะไร

เรา WFH กันมาสองปีกว่าแล้ว สิ่งที่ประสบกันถ้วนทั่ว ก็คือการอยู่กับหน้าจอมากเกินไป และไม่มีขอบเขตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว

สิ่งที่ทำให้เราสูญเสียพลังงานได้มากที่สุดคือ video call เพราะการอยู่ต่อหน้ากล้องนั้นไม่ต่างอะไรกับการต้องแสดงบนเวทีที่มีสายตามากมายจับจ้อง

การมีประชุมติดๆ กันทั้งวัน ย่อมไม่ต่างอะไรกับการขึ้นแสดงบนเวทีวันละ 8-10 ชั่วโมง ซึ่งสำหรับ introvert นั้นมันกินพลังอย่างมหาศาล

แถมตอน video call เราก็เห็นแค่หน้าหรือครึ่งตัวบน เราแทบไม่เคยเห็นแขน-ขา และภาษากายอื่นๆ เลย จึงทำให้เรา “อ่าน” คนได้ยากขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น ถ้าอยากจะลดอาการ burnout เราต้องจัดการพลังงานของเราให้ดี ซึ่งมีสามเรื่องหลักๆ ดังนี้

.

หนึ่ง เราควรจะมี routine ที่ดี

แม้ว่าเราจะเกลียดการเดินทางไปออฟฟิศ แต่การเดินทางนี้ก็เป็นเส้นแบ่งระหว่างเรื่องงานและเรื่องที่บ้าน

และเวลาเราเข้าออฟฟิศ เราก็มีโอกาสพักเบรคค่อนข้างบ่อย เช่นเดินไปชงกาแฟ หรือเมาธ์มอยกับเพื่อนร่วมงาน

สิ่งเหล่านี้แทบจะอันตรธานไปหมดในช่วง WFH ถ้าเราปล่อยให้ทุกอย่างเลยตามเลย

ดังนั้น เราควจะนำสิ่งเหล่านี้กลับมา อาจจะผ่านการฟังเพลง การคุยเล่นกับเพื่อนก่อนเริ่มการประชุม การไปเดินเล่นแถวบ้านหากแดดไม่ทารุณเกินไปนัก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยืดเส้นยืดสายหรือกลับมาอยู่กับลมหายใจก่อนที่เราจะเริ่มทำงานชิ้นต่อไป

.

สอง เราต้องจัดการจังหวะการทำงาน (pace)

pace คือจังหวะการทำงาน เราควรพยายามจัดสรรกิจกรรมที่ดูดพลังกับกิจกรรมทีเติมพลังให้มีความบาลานซ์กัน

เราอาจจะมี video call ให้น้อยลง เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า video call นั้นเปรียบเหมือนการขึ้นแสดงบนเวที

เราอาจจะจองเวลาไว้ใน calendar เพื่อ “มีนัดกับตัวเอง” สำหรับการชาร์จแบตหลังประชุมเสร็จ และเราควรรู้ตัวเองด้วยว่าจะใช้เวลาช่วงไหนทำงานที่ต้องใช้สมาธิ และเวลาช่วงไหนที่เราพร้อมจะ “ขึ้นเวที”

.

สาม ในฐานะหัวหน้า เราสามารถช่วยป้องกันอาการ burnout ได้ด้วยการมี agenda การประชุมที่ชัดเจน ให้โอกาสทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และพร้อมตัดบทคนที่พูดยาวและพูดมากเกินไป (extroverts!)

หัวหน้าควรปรับวิธีการระดมสมองหรือ brain storming ด้วย เพราะสำหรับ introverts แล้วการระดมสมองกันสดๆ ทำให้เขารู้สึกกังวลและไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรมากนัก วิธีที่อาจจะดีกว่า คือให้แต่ละคนได้เขียนไอเดียของตัวเองส่งมาก่อนที่จะเริ่มการประชุม

อีกสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าทำได้ คือแนะนำให้คนในทีมใช้ audio call แทน video call ในบางงานวิจัยการคุยกันโดยใช้เสียงอย่างเดียวสามารถสื่อสารอารมณ์และข้อความระหว่างบรรทัดได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป

อีกท่าหนึ่งที่น่าสนใจ คือ asynchronous communication หรือการสื่อสารแบบ “ว่างแล้วค่อยมาตอบ” นักเขียนชื่อ Robert Glazer ชอบอัดเสียงหรืออัดวีดีโอเพื่อเล่าความคิดของตัวเองส่งให้เพื่อนร่วมงาน พอเพื่อนสะดวกเมื่อไหร่ก็จะได้มีเวลาขบคิดให้ดีแล้วค่อยส่งคำตอบกลับมา

.

การทำงานแบบ WFH หรือ WFA (Work from Anywhere) จะอยู่กับเราไปอีกนาน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเอานิสัยเก่าๆ หรือวัฒนธรรมองค์กรเดิมๆ มาใช้กับ remote work

หากไม่รู้จะเริ่มยังไง ลองถาม introverts ที่ทำงานของเราดูก็ได้ว่าวันทำงานในอุดมคติของเขาหน้าตาเป็นยังไง แล้วค่อยเริ่มจากตรงนั้นครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก The Way We Work TED Series: 3 steps to stop remote work burnout by Morra Aarons-Mele

Burnout เป็นเรื่องหลอกเด็ก

20170221_burnout

นานๆ ผมถึงจะจั่วหัวแบบกระทู้ล่อเป้าอย่างนี้ซะที

เพราะอยากให้พวกเราได้อ่านเรื่องนี้กันเยอะๆ ครับ

ผมเคยตั้งคำถามไว้ในบทความ เหนื่อยจนแทบขาดใจ ดีกว่าเฉื่อยจนเฉาตาย ว่า burnout นี่มันมีอยู่จริงรึเปล่า

นิยามของ Burnout ที่เราเคยได้ยินกันมาคือการทำงานหนักและไม่ได้สัดส่วนกับการพักผ่อนจนเกิดอาการสมองไม่แล่น นอนไม่หลับและหมดไฟที่จะทำงาน

แต่ผมเพิ่งอ่านหนังสือ How Google Works จบ และพบทฤษฎีที่น่าสนใจจากอดีตผู้บริหารหญิงของกูเกิ้ลนาม Marissa Meyer* ว่า burnout ไม่มีอยู่จริง หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน

ผมเลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมและเจอบทความที่เธอเคยเขียนลง Bloomberg และบทความที่มีคนเขียนถึงเธอลง Inc.com

เมเยอร์บอกว่าเธอไม่เชื่อเรื่อง burnout เพราะเธอเห็นคนมากมายที่ทำงานหนักติดต่อกันหลายสิบปีอย่างไอน์สไตน์หรือเชอร์ชิล (อดีตนายกฯอังกฤษ) ก็ไม่เห็นจะ burnout กันซักหน่อย

เมเยอร์บอกว่า burnout นั้นแท้จริงแล้วคือ resentment หรือความไม่พอใจ/ความขุ่นเคือง ที่เราไม่ได้ทำในสิ่งที่สำคัญกับเราต่างหาก

เราต้องรู้ว่า Rhythm หรือจังหวะชีวิตของเราเป็นยังไง กิจกรรมใดบ้างที่มีความหมายและหากเราไม่ได้ทำเราจะรู้สึกโกรธเคืองงานประจำที่มาขโมยเวลาสำหรับกิจกรรมเหล่านั้นไป

เมเยอร์ยกตัวอย่างสองเรื่อง เรื่องแรกคือเด็กจบใหม่ชื่อนาธาน (แต่ไม่ได้นามสกุลโอมาน) เมเยอร์เห็นแล้วว่าเด็กคนนี้เริ่มแสดงอาการ burnout เธอเลยถามนาธานว่าริธึ่มของเขาคืออะไร แล้วเขาก็คิดได้ว่าเขาชอบการกินข้าวเย็นคืนวันอังคารกับเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาด้วยกัน ถ้าอังคารไหนเขาไม่ได้ไปกินข้าวกับเพื่อนกลุ่มนี้ เวลาที่เหลือในสัปดาห์เขาก็จะรู้สึกว่า “ขนาดกินข้าวกับเพื่อนวันอังคารยังยุ่งจนไม่ได้ไปเลย งั้นคืนนี้ก็ทำงานดึกต่อไปแล้วกัน ” เมเยอร์ก็รู้แล้วว่าจากนี้ไปนาธานควรจะจัดเวลาใหม่เพื่อให้ตัวเองไม่พลาดนัดคืนวันอังคารอีก

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเคธี่ คุณแม่ชาวอินเดียซึ่งดูแลทีม Google Finance

เคธี่มีประชุมกับเพื่อนร่วมทีมในต่างประเทศตอนตี 1 เป็นประจำ เมเยอร์เป็นห่วงเคธี่ว่าจะไหวมั้ย แต่เคธี่บอกว่าสบายมากเพราะเธอชอบงานนี้และอยากจะช่วยทีมเท่าที่ทำได้อยู่แล้ว สิ่งที่เธอไม่ค่อยโอเคคือการประชุมตอนเย็นที่มักจะลากยาวจนทำให้เธอไปดูลูกซ้อมฟุตบอลไม่ทันต่างหาก

เมื่อรู้อย่างนี้ เมเยอร์จึงขีดเส้นชัดเจนว่า ถ้าวันไหนลูกของเคธี่มีซ้อมฟุตบอล เธอจะไม่ยอมให้ใครมารั้งเคธี่ไว้ในที่ประชุม ถ้าถึงเวลาต้องไปแล้ว แม้ว่าเซอร์เก้ บริน (หนึ่งในผู้ก่อตั้งกูเกิ้ล) จะยังคุยไม่เสร็จและคาดหวังให้เคธี่ตอบคำถาม เมเยอร์จะตัดบทและบอกว่าเคธี่ต้องออกแล้วเพื่อให้เคธี่ไปทันดูลูกซ้อมฟุตบอล แล้วคืนนั้นค่อยกลับมาตอบคำถามของเซอร์เก้ทางอีเมลแทน

กล่าวโดยสรุปก็คือ burnout ไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่เกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำจนขุ่นเคืองงานที่ตัวเองทำอยู่

หรืออีกนัยหนึ่ง burnout ไม่ใช่อาการทางกายที่ขาดการพักผ่อน แต่เป็นอาการทางใจที่ขาดสิ่งหล่อเลี้ยงต่างหาก

เมเยอร์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

So find your rhythm, understand what makes you resentful, and protect it. You can’t have everything you want, but you can have the things that really matter to you. And thinking that way empowers you to work really hard for a really long period of time.

หาจังหวะชีวิตของคุณให้เจอ ทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้คุณขุ่นเคืองใจและอย่าให้มันมาทำร้ายจังหวะชีวิตนั้น แม้คุณไม่อาจทำทุกสิ่งที่คุณอยากทำได้ แต่คุณสามารถเลือกทำสิ่งที่สำคัญจริงๆ กับคุณได้ และเมื่อคุณคิดได้อย่างนี้ คุณจะมีแรงที่จะทำงานหนักได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ขออวยพรให้ทุกคนรอดพ้นจาก burnout นะครับ!


*  ปัจจุบัน Marissa Meyer เป็น CEO ของ Yahoo!

ขอบคุณข้อมูลจาก
How Google Works by Eric Schmidt & Jonathan Rosenberg
Bloomberg.com: How to avoid burnout
Inc.com: Burnout is a myth

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

(Updated: June 2018) [ขายของ] หนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 วางแผงแล้วนะครับ หาซื้อได้ที่ B2S ซีเอ็ด นายอินทร์ Asia Books และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือสั่งตรงกับสำนักพิมพ์ได้ที่ bit.ly/tgimorder2 ครับ

BookAdvertise