ถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ให้เริ่มตรงกลาง

ผมเคยเปิดสอน Writing Workshop ให้กับคนทั่วไปและพนักงานที่ออฟฟิศ

หนึ่งในปัญหาที่หนักอกที่สุดสำหรับนักเขียนมือใหม่ คือไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง จะจั่วหัวเรื่องอย่างไร จะเขียน intro อย่างไรให้น่าอ่าน

คำแนะนำที่ผมใช้กับตัวเองและบอกกับคนอื่นเสมอก็คือ ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ให้เริ่มตรงกลาง – Start in the middle.

จะเป็นบุคคลที่เราอยากเขียนถึง บทเรียนที่ได้รับมา หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นก็ได้

พอเราได้เริ่มเสียแล้ว เดี๋ยวเครื่องก็จะติดเอง แล้วเราค่อยมากคิดบทนำ ชื่อเรื่อง หรือแม้กระทั่งประเด็นทีหลังก็ไม่ผิด

นักแต่งเพลงหลายท่านที่ผมรู้จัก ก็เริ่มจากแต่งท่อนฮุคก่อน แล้วค่อยมาใส่ท่อน verse ทีหลัง

การทำงานก็เช่นกัน ถ้าเป็นโปรเจ็คที่ใหญ่และยากจนเราไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี ก็ให้เริ่มจากตรงกลางได้เช่นกัน เช่นคุยกับคนนั้นคนนี้ หรือเริ่มเปิดไฟล์ขึ้นมาพิมพ์สิ่งที่เราคิดได้ว่าต้องทำ

ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า ที่เราช้าเรามักไม่ได้ช้าตอนทำ แต่เราช้าตอนกลัว

การ start in the middle หรือเริ่มจากตรงไหนก็ได้ที่มีแรงเสียดทานน้อยที่สุดจะช่วยให้เรากลัวน้อยลง แล้วหลังจากนั้นสิ่งต่างๆ ก็จะค่อยๆ แสดงผลขึ้นมาเอง

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ

สะสมความล้มเหลว

มีใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า อัตราส่วนระหว่างความล้มเหลวกับความสำเร็จนั้นมักจะคงที่ไปตลอด ดังนั้นวิธีเพิ่มความสำเร็จคือเราต้องเพิ่มความล้มเหลว

แม้จะไม่ใช่หลักการที่เพอร์เฟ็กต์ แต่ผมก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะกับคนที่กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าพาเรือออกจากฝั่ง

ผมอยู่ที่ทำงานแรกของผมเกือบ 14 ปี ที่อยู่ได้นานขนาดนี้เพราะมีอะไรให้เรียนรู้ และมีโอกาสได้เปลี่ยนสายงาน โดยผมเปลี่ยนสายงานสองครั้ง จาก software development ไปสู่ technical support ก่อนกระโดดไปสู่งานสื่อสารองค์กร

ที่บริษัทแรกของผมนี้จะมีประกาศ internal job opportunities อยู่ตลอด ผมเห็นตำแหน่งไหนน่าสนใจก็มักจะลองสมัครดู และหลังจากได้สัมภาษณ์ตำแหน่งภายในมาไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ผมก็ได้สูตรของตัวเองว่า “สัมภาษณ์ 3 ครั้ง ได้งาน 1 ครั้ง”

ดังนั้นหากมีตำแหน่งที่ผมอยากทำ แม้ว่าจะยังไม่พร้อมหรือไม่มี background ผมก็จะลองสมัครดูก่อน ถึงสัมภาษณ์ไม่ผ่านอย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าเขาถามอะไรบ้าง อนาคตหากมีตำแหน่งนี้เปิดอีกครั้งเราก็จะพร้อมกว่าคนอื่นๆ

หรือถ้าแย่กว่านั้นคือเขาไม่เรียกเราสัมภาษณ์เราเลยก็ไม่เป็นไร – เป็นเรื่องปกติที่จะโดนคนอื่นปฏิเสธ แต่เราไม่ควรชิงปฏิเสธตัวเองตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้และการทดลอง ถ้าสำเร็จก็ดีใจ ถ้าไม่สำเร็จก็ถือเป็นการสะสมความล้มเหลว

เมื่อสะสมความล้มเหลวได้ครบตามจำนวนที่(ฟ้า)กำหนด ความสำเร็จย่อมตามมาครับ

เมื่อนักการเมืองร้องเพลงร็อคและแม่บ้านส่องกระจก

เมื่อตอนต้นสัปดาห์ ผมเห็นคลิปไวรัลที่น.ต.ศิธา ทิวารี ขึ้นเวทีร้องเพลงในผับ

แถมเพลงที่ร้องก็คือเพลง “คุกเข่า” ของวง Cocktail ที่แม้จะไม่ได้ใหม่มากนัก แต่ก็เป็นเพลงที่ถือว่ายัง “วัยรุ่น”

ณ วันที่เขียนบทความ คลิปร้องเพลงคุกเข่าถูกแชร์ใน TikTok 10,000 ครั้ง และในเฟซบุ๊คของคุณศิธาอีก 11,000 ครั้ง

ผมเดาว่าที่คลิปนี้เป็นที่ถูกใจเพราะเป็นภาพที่ไม่คุ้นตา ไม่คิดว่านักการเมืองรุ่นใหญ่จะมากินเหล้าร้องเพลงอยู่ในผับเดียวกับ “คนธรรมดา” อย่างพวกเราได้


เมื่อได้ดูคลิปนี้ มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างที่ผมไปเดินเล่นรอบหมู่บ้านตอนเช้าตรู่

ผมเดินผ่านคลับหน้าเฮาส์ของหมู่บ้าน ที่ข้างในมีสระว่ายน้ำและห้องฟิตเนส

ตรงห้องฟิตเนส จะมีเครื่องเล่นเวท และมีกระจกทรงสูงอันหนึ่งติดอยู่ตรงกำแพงเพื่อให้คนที่มาเล่นเวทได้เห็นตัวเองว่าทำท่าถูกต้อง

จากระยะไกล ผมมองเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่หน้ากระจก

ไม่ใช่คนที่มาออกกำลังกาย แต่เป็นแม่บ้านประจำคลับเฮาส์ อายุประมาณห้าสิบต้นๆ ผิวสีเข้ม ยืนส่องกระจกและหวีผมตัวเองอยู่อย่างพิถีพิถัน

เป็นภาพที่ผมไม่คุ้นตา เพราะทุกครั้งที่ผมเจอพี่แม่บ้านคนนี้ที่คลับเฮาส์ จะเป็นตอนที่เขากำลังถูพื้นอยู่เสมอ

การได้เห็นเขายืนส่องกระจก ทำให้ผมตระหนักได้ว่า ผู้หญิงย่อมรักสวยรักงาม ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไรก็ตาม


Wikipedia ได้อธิบายคำว่า “การเหมารวม” ไว้ดังนี้

“การเหมารวม[1] (อังกฤษ: Stereotype) คือ คตินิยมหรือทัศนคติของสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่น ชาติอื่น หรือลักษณะของบุคคลบางประเภทจนกลายเป็นมาตรฐาน”

กับบางอาชีพ เรามีภาพจำค่อนข้างชัด เมื่อภาพมันชัดและเกิดขึ้นซ้ำๆ จึงเกิดการเหมารวมไปโดยปริยาย

แขกในร้านขึ้นเวทีร้องเพลงในผับเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราแปลกใจเพราะเขาเป็นนักการเมือง

ผู้หญิงยืนหวีผมหน้ากระจกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมแปลกใจเพราะว่าเขาเป็นแม่บ้าน

เมื่อเราเห็นภาพที่ขัดกับ stereotype จึงเกิดความรู้สึกประหลาดขึ้นในใจ ก่อนจะคิดได้ว่าเขาเองก็เป็นคนธรรมดา

การมองให้เห็นว่าคนอื่นเป็นคนธรรมดานั้นสำคัญมาก

เพราะด้วยกระแสการเมืองที่ร้อนแรง เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง และ social media ที่คอยขยายเสียงให้กับเรื่องที่เป็นดราม่า เรามีแนวโน้มที่จะมอง “อีกฝ่าย” แบบเหมารวม ว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ เป็นคนประสงค์ร้าย เป็นคนไม่ฉลาด

การเหมารวมช่วยให้สมองเราไม่ต้องทำงานหนัก เพราะมันช่วย simplify คนกลุ่มหนึ่งให้อยู่ใน “กล่อง” ที่เรากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน และช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองว่าฉลาดกว่าหรือคุณธรรมสูงกว่า

แต่การเหมารวมนั้นมีจุดอ่อนสำคัญ เพราะว่ามันจะทำให้เราหลงลืม “ความเป็นมนุษย์” ของคนคนนั้น

เมื่อเราหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวคนอื่น เราก็จะหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวเราเช่นกัน

วิจารณญาณย่อมถดถอย อคติย่อมยึดครอง มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน

หากเราสามารถมองคนให้เต็มคน เราจะเห็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต่างจากเรา มนุษย์ที่มีหลายมิติเกินกว่าจะนิยามได้ด้วย “กล่อง” ใดๆ

เมื่อเรามองเห็นคนธรรมดา ภาพต่างๆ เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ควรประหลาดใจ

พลเอกไปรับหลานที่โรงเรียนอนุบาล คนเก็บขยะอ่านหนังสือ non-fiction

ดารานั่งจิบชาคุยกันเรื่องศาสนา อดีตศาลฏีกานั่งกินก๋วยเตี๋ยวริมทาง

คุณพ่อเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คุณแม่ขึ้นกล่าวปาฐกถางานประชุมที่เมืองนอก

นักการเมืองร้องเพลงร็อค และแม่บ้านส่องกระจกครับ