
วันนี้ขอแหวกแนวนิดนึงนะครับ อยากจะมาเล่าให้ฟังเรื่องประวัติศาสตร์มนุษย์ซะหน่อย
เป็นเนื้อหาที่มาจากหนังสือ Sapiens: A Brief History of Mankind โดย Yuval Noah Harari ซึ่งมีแต่คนกล่าวขวัญว่าดีงาม น่าอ่านสุดๆ
แต่ผมเองยังไม่ได้ซื้อหนังสือเล่มนี้มา ก็เลยฟังเอาจากสรุปหนังสือจากเว็บ Blinkist ครับ
ที่ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้น่าสนใจจนต้องมาเล่าในบล็อกนี้ เพราะเชื่อว่าการรู้ประวัติศาสตร์ จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบัน และอาจทำให้เราพอจะมองออกว่าอนาคตจะดำเนินไปในทิศทางไหนครับ
—–
เราน่าจะรู้กันดีว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้น เริ่มต้นที่ทวีปแอฟริกา โดยเชื่อกันว่าเราวิวัฒนาการมาจากลิง Australopithecus
คำว่า Erect แปลว่าตั้งตรง เพราะว่าจากที่เคยเดินสี่ขาหรือเดินหลังค่อมๆ เราก็หันมาเดินหลังตรงนั่นเอง
โฮโมอีเร็คตัสนั้นได้เริ่มอพยพสู่ทวีปอื่นๆ และมีบางส่วนที่ได้พัฒนาไปเป็น Homo Neanderthalensis หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Neanderthal (นีแอนเดอธาล) ในยุโรปและเอเชียเมื่อ 300,000 ปีก่อนคริสตกาล
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือประมาณ 250,000 ปีก่อนคริสตกาล ก็เกิดมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกา
มนุษย์กลุ่มนั้นได้รับชื่อในภายหลังว่า Homo sapiens
ซึ่งก็คือมนุษย์พันธุ์เดียวกับที่กำลังนั่งอ่านบล็อกอยู่นี่เอง
Homo Sapiens นั้นตามรอย Homo erectus ด้วยการออกเดินทางจากแอฟริกา และแผ่ขยายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งทวีปที่อยู่ห่างไกลหลายพันกิโลกอย่างออสเตรเลีย
ความมหัศจรรย์ของโฮโมเซเปี้ยนส์ก็คือ ไม่ว่าไปที่ไหน “มนุษย์” ที่อยู่มาก่อนหน้านั้นอย่าง Homo erectus และ Neanderthal ก็สูญพันธุ์หมด รวมถึงสัตว์โบราณหลายๆ ชนิด
ทั้งๆ ที่ขนาดร่างกายและสมองของ Homo sapiens ก็มีพอๆ กับ Neanderthal แต่เพราะเหตุใด จึงสามารถ “ทำลายล้าง” เผ่าพันธุ์อื่นๆ อย่างราบคาบได้ถึงเพียงนี้?
หนังสือเล่มนี้บอกว่า เมื่อ 70,000 ปีที่แล้ว สมองของโฮโมเซเปี้ยนส์มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด (Cognitive Revolution) ทำให้โฮโมเซเปี้ยนส์สร้างเครื่องไม้เครื่องมือและรวมกันเป็นกลุ่มได้ใหญ่กว่ามนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามนุษย์กลุ่มนี้สามารถที่จะดำรงชีพอยู่ได้แม้ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย และหาอาหารได้เก่งกว่ามนุษย์เผ่าพันธ์ุอื่นๆ
แต่หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้เผ่าพันธุ์โฮโมเซเปี้ยนส์อยู่เหนือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ก็คือ…
ความสามารถในการใช้ภาษาครับ
ภาษา ทำให้โฮโมเซเปี้ยนส์สามารถส่งต่อข้อมูลสำคัญๆ ให้กับเพื่อนๆ ภายในกลุ่มได้ เช่นบอกกล่าวว่าแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์อยู่ตรงไหน หรือตำแหน่งของรังสัตว์ดุร้ายที่ไม่ควรเข้าใกล้
นอกจากภาษาจะทำให้โฮโมเซเปี้ยนส์คุยกันเรื่องการหาอยู่หากินและการเอาชีวิตรอดแล้ว ภาษายังเปิดทางให้เผ่าพันธุ์นี้ได้พูดคุยในเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่างเรื่อง เทพเจ้าหรือเรื่องสิทธิเสรีภาพได้อีกด้วย (นีแอนเดอธาลที่ไม่มีภาษาย่อมไม่สามารถสื่อสารกันในเรื่องเหล่านี้ได้เลย)
อีกปรากฎการณ์หนึ่งที่มีผลต่อประวัติศาสตร์มนุษยชาติอย่างมหาศาล คือแทนที่จะออกล่าสัตว์และเก็บผลหมากรากไม้ เผ่าพันธุ์โฮโมเซเปี้ยนส์เริ่มทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เมื่อประมาณ 12000 ปีที่แล้ว และในเวลาเพียง 10,000 ปี สังคมที่เคยเอาแต่เข้าป่าล่าสัตว์ก็ได้เปลี่ยนเป็นสังคมกสิกรรมแบบเต็มตัว
การทำกสิกรรมและปศุสัตว์นั้นทำให้มนุษย์โฮโมเซเปี้ยนส์มีอาหารกินตลอดปี ทำให้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ จึงลงหลักปักฐานและเริ่มสร้างเมือง ขนาดสังคมของโฮโมเซเปี้ยนส์จึงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
การมาของสังคมกสิกรรม ยังเป็นต้นกำเนิดของเงินตราและภาษาเขียนอีกด้วย เพราะเมื่อมนุษย์เริ่มปลูกพืชผลหรือเลี้ยงสัตว์อะไรเองได้ ก็เริ่มมีการนำของที่ตัวเองมีมาแลกเปลี่ยนกัน (หรือที่ฝรั่งเรียกว่าระบบ bartering นั่นเอง) เช่นเอาผักมาแลกกับปลา เอาวัวไปแลกกับมีดเป็นต้น
แต่การเอาสิ่งของมาแลกกันก็มีข้อจำกัด เพราะถ้าผมเป็นช่างตีมีดที่อยากจะเอามีดของผมไปแลกกับวัวของชาวนา ชาวนาเขาอจมีมีดอยู่เต็มบ้านแล้วก็ได้ หรือเขาอาจจะต้องการมีดของเรา แต่วัวของเขายังโตไม่พอ ถ้าเราให้มีดเขาไปก่อน ชาวนาก็อาจจะเบี้ยวเราก็ได้
ดังนั้น เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว ชาวสุเมเรียนแห่งดินแดนเมโสโปเตเมีย จึงเริ่มมีการ “จดข้อมูล” โดยใชัสัญลักษณ์ง่ายๆ ลงบนกระดานที่ทำมาจากดินเหนียว (นี่น่าจะเป็นจุดกำเนิดของภาษาเขียน)
นอกจากนี้แล้ว ชาวสุเมเรียนก็ได้เริ่มใช้เมล็ดข้าวบาร์ลีย์แทนเงินสด (barley money) โดยใช้วิธีตวงเอา เช่นมีดหนึ่งเล่มเท่ามีมูลค่าเท่ากับข้าวบาร์ลีย์สามถ้วย เป็นต้น
แต่แน่นอน เมื่อมากคนก็มากความ และมนุษย์สมัยนั้นก็ยังป่าเถื่อน จึงจำเป็นต้องมีระบอบการปกครองขึ้นมา ซึ่งระบอบแรกที่เกิดขึ้นก็คือระบอบกษัตริย์
แต่การรวบรวมคนต่างเผ่าให้มาเชื่อฟังและอยู่ภายใต้การปกครองของคนๆ เดียวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จึงจำเป็นต้องอ้างอิงสิ่งที่สูงส่งไปกว่านั้นคือเทพเจ้า โดยกษัตริย์ในสมัยแรกๆ นั้นมักจะอ้างว่าตัวเองได้รับมอบหมายจากเทพเจ้าให้มาปกครองคนในเมืองนี้ อย่างเช่นกษัตริย์นามฮัมมูราบีที่อ้างว่าตัวเองได้รับบัญชาการจากพระเจ้าให้มาปกครองประชาชนในเมโสโปเตเมีย และได้ร่างกฎหมายฉบับแรกของโลก – Hammurabi Code เพื่อเป็นกฎเกณฑ์สำหรับราษฎรของพระองค์อีกด้วย การมีชนชั้นปกครองและกฎหมาย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนต่างถิ่น ต่างเผ่า ต่างความเชื่อ มารวมศูนย์และเริ่มมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน จนกลายมาเป็นรัฐและประเทศนั่นเอง
พอมาถึงคริสศตวรรษที่ 16 และ 17* ก็เกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (scientific revolution) นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่างดาวินชี กาลิเลโอ หรือนิวตันก็เกิดในยุคนี้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์และฟิสิกส์ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นมาก รวมทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจให้โชติช่วงชัชวาลด้วย
แฟชั่นของคนมีอำนาจสมัยนั้น ก็คือการ “สปอนเซอร์” นักสำรวจให้ออกไปหา “ดินแดนใหม่” เพื่อจะนำทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบแปลกใหม่มาสร้างความมั่งคั่งให้แก่ตนเอง ยกตัวอย่างเช่นกษัตริย์คาสติลล์แห่งสเปนที่ส่งโคลัมบัสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจนไปเจอทวีปอเมริกา ส่วนรัฐบาลอังกฤษก็ส่งกัปตันเจมส์ คุก ไปทางมหาสมุทรแปซิฟิกและได้ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ไปครอง ยุคล่าอาณานิคมได้เกิดขึ้นแล้ว!
ในคริสตศตวรรษที่ 19 ยุโรปจึงเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริง อังกฤษมีอาณาเขตครอบคลุมถึงครึ่งหนึ่งของโลก และ “ชุดความคิด-ชุดความเชื่อ” จากยุโรปก็ได้ส่งต่อไปยังทุกๆ ที่ที่ชาวยุโรปเข้าไปยึดครอง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ ประชาธิปไตย และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์
แต่ “ชุดความเชื่อ” จากยุโรปที่มีอิทธิพลมากที่สุดกับคนทั้งโลกก็คือเรื่องของ ระบอบทุนนิยม และยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากเท่าไหร่ คนก็หยุดเชื่อเรื่องพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น คนที่รู้สึกว่าการเชื่อในพระเจ้าและโลกหน้าไม่มีเหตุผลและพิสูจน์ไม่ได้ จึงเน้นกับการทำอย่างไรก็ได้ให้มีความสุขที่สุดในชีวิตนี้ ซึ่งก็เป็นตัวเสริมให้ทุนนิยมยิ่งเข้มแข็ง เพราะมนุษย์ก็จะขยันทำงานเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายและเสพสุขนั่นเอง
แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของทุนนิยมและการทำมาค้าขายกันข้ามโลกก็คือมันนำมาซึ่งความสงบ
หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันสงบตรงไหน ก็เห็นรบกันอยู่ปาวๆ แต่ทุนนิยมนั้นนำมาซึ่งการเชื่อมโยงและพึ่งพากันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าประเทศไหนมีปัญหา ก็ย่อมจะเกิดผลกระทบตามมาเป็นโดมิโน (เหมือนที่วิกฤติต้มยำกุ้งของไทยทำให้เศรษฐกิจอาเซียนสั่นสะเทือน) ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะรักษาความสงบสุขของโลกใบนี้ (world peace) เพราะรู้ดีแก่ใจว่า ถ้าประเทศอื่นเดือนร้อน ประเทศเราก็จะพาเดือดร้อนไปด้วย
แล้วอนาคตของโฮโมเซเปียนส์จะเป็นอย่างไร? หนังสือเล่มนี้บอกว่ามนุษย์จะเริ่มเสริมสร้างร่างกายด้วยสิ่งที่เรียกว่า bionics หรือชีวประดิษฐศาสตร์ (ลองดูตัวอย่างของคนที่มีขา bionics ได้ในบล็อกตอนนี้ครับ) และเมื่อถึงจุดหนึ่ง มนุษย์อาจจะมีเครื่องกลอยู่ในร่างกายมากกว่าเลือดเนื้อจริงๆ ก็ได้
เมื่อวันนั้นมาถึง (ซึ่งอาจจะเป็นรุ่นหลานหรือรุ่นเหลนเราก็ได้) เราอาจไม่สามารถเรียกตัวเองว่า Homo sapiens ได้อีกต่อไปครับ
ป.ล. สรุปหนังสือที่ผมอ่านมา เหมือนจะมีการ “ขาดตอน” คือไม่ได้สรุปให้ฟังว่า แล้วช่วงระหว่างเริ่มต้นคริสตกาล มาจนถึงคริสศตวรรษที่ 16 นั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมจึงต้องขอเว้นไว้ก่อน ไว้ถ้าได้อ่านหนังสือฉบับเต็มๆ จะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก Blinkist: Sapiens: A Brief History of Mankind *
ขอบคุณภาพจาก Flickr: Vector Open Stock
อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/
อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)
ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่”
ขอบคุณภาพจาก Pexels.com
* ลิงค์ของ Blinkist ด้านบนนั้นเป็น affiliate link ซึ่งหมายความว่าถ้าคุณผู้อ่านสมัครสมาชิก (ฟรี) ผ่านลิงค์นี้ ผมจะได้ค่าขนมจาก Blinkist 50 เซ็นต์ครับ

Like this:
Like Loading...