เมื่อใส่สิ่งที่ถูกลงไป มันจะเหลือที่ให้สิ่งที่ผิดน้อยลง

หลายคนคงได้ยินหรือดูวีดีโอเรื่องอาจารย์กับโถหนึ่งใบ หินก้อนใหญ่ ก้อนกรวด และเม็ดทราย

อาจารย์ใส่หินก้อนใหญ่ลงไปในโถและถามเด็กนักเรียนว่าโถเต็มรึยัง เด็กตอบว่าเต็มแล้ว

แต่อาจารย์ก็ใส่ก้อนกรวดลงไปในโถได้อีก และถามว่าโถเต็มรึยัง เด็กตอบว่าเต็มแล้ว

แต่อาจารย์ก็ยังใส่ทรายลงไปได้อีก (แถมยังเติมเบียร์ลงไปได้อีกด้วย)

อาจารย์บอกว่า ถ้าเราใส่หินก้อนใหญ่ลงไปก่อน เราจะมีพื้นที่ให้กรวดและทรายเสมอ

แต่ถ้าเราใส่ทรายลงไปก่อน เราจะไม่พื้นที่เหลือให้หินก้อนใหญ่เลย

หินก้อนใหญ่คือเรื่องสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ความสัมพันธ์ สิ่งที่เรารัก

ก้อนกรวดคือเรื่องสำคัญรองลงมา เช่น งาน บ้าน รถ

ทรายคือเรื่องอื่นๆ ที่ไม่สำคัญกับชีวิตเท่าไหร่นัก

—–

Eisenhower Matrix ระบุไว้ว่ากิจกรรมในชีวิตคนเรามีสี่แบบ

Q1 เรื่องสำคัญและเร่งด่วน

Q2 เรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน

Q3 เรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน

Q4 เรื่องไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน

สำหรับอาจารย์ หินก้อนใหญ่ก็คงเป็น Q1 & Q2 ก้อนกรวดคือ Q3 และทรายคือ Q4

ถ้าเราจัดตารางให้ Q2 หรือเรื่องสำคัญและไม่เร่งด่วนลงไปก่อน ตามด้วย Q1 คือสิ่งที่ถูกบังคับให้ต้องทำอยู่แล้ว เราก็จะมีเวลาน้อยลงสำหรับการทำ Q3 และ Q4 ไปโดยปริยาย ซึ่งไม่เป็นไร เพราะเอาจริงๆ แล้วมันไม่ได้สำคัญกับเราขนาดนั้น

ผมสังเกตตัวเองว่าวันไหนที่สนุกกับงาน สนุกกับการออกกำลังกาย หรือสนุกกับการอยู่กับผู้คน ผมจะเล่นมือถือ (Q4) น้อยลงไปโดยไม่ต้องพยายาม

—–

ผมเพิ่งได้ฟังรายการ Impact Theory สัมภาษณ์ Sal DiStefano ที่เป็นกูรูด้านฟิตเนส

ดีสเตฟาโน่บอกว่า แต่ก่อนเวลามีนักเรียนมาขอความช่วยเหลือในการลดน้ำหนัก เขาจะให้การบ้านนักเรียนไปจดทุกอย่างที่กินเป็นเวลาสองสัปดาห์

จากนั้นดีสเตฟาโน่ก็จะรีวิวรายการอาหารเหล่านั้น และสั่งนักเรียนว่าต้องตัดอะไรทิ้งบ้าง

ซึ่งก็ทำให้นักเรียนน้ำหนักลดลงได้จริง แต่หลังจากจบโปรแกรมไป นักเรียนส่วนใหญ่จะกลับมาน้ำหนักเท่าเดิมภายในเวลาหนึ่งปี

ดีสเตฟาโน่เชื่อว่า เวลาเราไปบังคับหรือจำกัดสิทธิ์ใครสักคน – เช่นห้ามกินคุกกี้ – คนที่โดนห้ามนั้นจะมี “ตัวตน” ที่ซ่อนอยู่ข้างในที่คอยต่อต้านว่า “ทำไมฉันจะกินไม่ได้?” ช่วงที่โดนบังคับอาจจะห้ามใจไม่แตะคุกกี้ได้ก็จริง แต่เมื่อจบโปรแกรมและไม่โดนบังคับอีกต่อไป ตัวตนที่ต่อต้านนั้นจะโผล่ออกมาและทำการ “ล้างแค้น” ด้วยการกินคุกกี้หมดห่อได้ในคราวเดียว

เมื่อดีสเตฟาโน่เข้าใจแล้วว่าการบังคับหรือการจำกัดอาหารนั้นไม่ยั่งยืน เขาเลยเปลี่ยนแนวทาง

เวลามีนักเรียนใหม่มา เขาจะบอกนักเรียนเลยว่า

“อยากกินอะไร กินเท่าไหร่ก็กินไปเลย ขออย่างเดียวว่าให้กินแต่ whole foods เท่านั้น (อาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป)”

ซึ่งปรากฎว่าแค่หันมากินแต่ whole foods อย่างเดียว ก็ลดน้ำหนักได้อย่างชัดเจนแม้จะกินอาหารปริมาณเท่าเดิม

หรือไม่เขาก็อาจจะบอกว่า ให้นักเรียนกินเหมือนที่เคยกินมาเลย ขอแค่สองอย่าง คือกินโปรตีนให้ถึง 150 กรัม และดื่มน้ำเปล่าวันละสองขวดใหญ่

ดีสเตฟาโน่รู้ดีว่า ถ้ากินโปรตีน 150 กรัม มันก็จะอิ่มมากอยู่แล้ว ทำให้ท้องไม่อยากกินอาหารอื่นๆ (ที่เสียสุขภาพ) ไปโดยปริยาย และถ้าคนคนหนึ่งดื่มน้ำเปล่าวันละสองขวดใหญ่ ก็คงไม่มีพื้นที่เหลือให้ดื่มน้ำหวานมากเท่าไหร่แล้ว

แทนที่จะบังคับไม่ให้กินคุกกี้หรือไม่ให้ดื่มน้ำหวาน ดีสเตฟาโน่เปลี่ยนเป็นขอให้กินโปรตีนและดื่มน้ำเปล่า

ผมว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ และอาจสอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่สามารถหักห้ามใจหรือมีวินัยได้ขนาดนั้น แถมคนเหล่านี้ยังมีทางเลือกอย่างเต็มที่ว่าจะกินอะไรและกินเยอะแค่ไหน จึงไม่เกิดการต่อต้านจากตัวตนข้างใน

เมื่อใส่หินก้อนใหญ่ มันจะเหลือที่ให้ใส่ทรายน้อยลง

เมื่อใส่สิ่งที่ถูกลงไป มันจะเหลือที่ให้สิ่งที่ผิดน้อยลงครับ

ทำงานเสร็จหนึ่งชิ้นแล้วอย่าเพิ่งทำงานชิ้นต่อไป

ทำงานเสร็จหนึ่งชิ้นแล้วอย่าเพิ่งทำงานชิ้นต่อไป

ในวันทำงาน เวลาที่เครื่องกำลังติด เรามักจะทำงานหลายชิ้นติดต่อกัน

แต่ผมพบว่าการได้หยุดพัก – แม้จะแค่นาทีเดียว – ก่อนเริ่มงานชิ้นใหม่นั้นอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ได้ลุกออกจากที่นั่ง

บางคนอาจเคยได้ยินคำกล่าว “Sitting is the new smoking.” ที่เคลมว่าการนั่งทั้งวันนั้นกระทบกับสุขภาพพอๆ กับการสูบบุหรี่

อาจจะเป็นคำกล่าวที่โอเวอร์ไปหน่อย แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าเราเคลื่อนไหวร่างกายน้อยกว่ารุ่นบรรพบุรุษมาก ถ้าเราไม่นั่ง เราก็นอน เราแทบไม่ค่อยได้เดินหรือยืน ยิ่งในช่วง Work from home ยิ่งชัด

เคยมีคนทำการศึกษาชนเผ่าที่ยังอาศัยอยู่ในป่า เก็บผลหมากรากไม้ ไม่ได้ทำการเกษตร (ซึ่งเราคาดการณ์ว่าบรรพบุรุษของเราสมัยเป็นแสนปีที่แล้วก็น่าจะมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับชนเผ่านี้) แล้วก็พบว่าคนกลุ่มนี้ก็มีจำนวนชั่วโมงในการนั่งเยอะพอๆ กับคนในเมือง ความแตกต่างก็คือคนเหล่านี้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยกว่า ลุกขึ้นมายืนๆ เดินๆ บ่อยกว่า

ท่านั่งทำงานที่ดีคืออะไร? เราคงเคยได้ยินว่าความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ต้องพอดีกัน ขาถึงพื้น ข้อศอกงอ 90 องศา ตามองตรงไม่ต้องก้มหน้า ฯลฯ

แต่ประโยคหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือ “Your best posture is your next posture.” ท่านั่งที่ดีที่สุดคือท่าถัดไป – หมายความว่าเราควรเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ นั่นเอง

2.ได้ดื่มน้ำ

คนทำงานนั่งโต๊ะมักจะมีปัญหาดื่มน้ำน้อยเกินไป ถ้าเราได้เบรคและจิบน้ำบ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายของเรา hydrated อย่างเหมาะสม

3.ได้เข้าห้องน้ำ

ผมรู้จักน้องหลายคนเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะไม่ค่อยเดินไปเข้าห้องน้ำ เป็นโรคที่ควรป้องกันได้โดยง่ายแต่กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

4.ฝึกการติดเบรค

เราไม่ยอมเข้าห้องน้ำ เพราะเราไม่รู้จักการติดเบรคให้ตัวเอง ตอนทำงานใจมันพุ่งทะยานไปข้างหน้า หรือตอนประชุมเรารู้สึกว่าเราไม่มีทางเลือก ต้องนั่งอยู่ตรงนั้น แต่จริงๆ แล้วถ้าเราปิดกล้องหรือขอเดินออกจากห้องเพื่อไปเข้าห้องน้ำก็ไม่มีใครมาว่าเราหรอก ยกเว้นว่าการประชุมนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ และเราต้องอยู่ตรงนั้นจริงๆ (ซึ่งไม่ได้มีบ่อยอย่างที่เราคิด)

5.มีจังหวะคลายเส้น

โรค office syndrome ส่วนใหญ่เกิดมาจากการเกร็งตัวและอยู่ในท่านั้นนานเกินไป หากเรารู้จักเบรคหลังจากการเสร็จงานแต่ละชิ้น เราจะใช้เวลาช่วงนี้คลายเส้นให้ตัวเองได้ จะได้ทำงานอย่างไม่ต้องทรมานสังขารจนเกินไป

6.ช่วยเราเลือกการทำงานชิ้นต่อไป

การได้เบรคแป๊บนึงก่อนจะกลับมานั่งที่โต๊ะ จะทำให้เรามีสติมากขึ้นว่างานที่ดีที่สุดที่จะทำต่อไปคืออะไร แต่ถ้าเราไม่เบรคเลย เรามักจะทำตามความเคยชิน เช่นไล่อ่านไลน์หรือตอบ Slack ซึ่งอาจจะทำให้เราหัวเสียหรือเสียสมาธิจนทำให้แผนการทำงานของเรารวนไปหมด

7.ช่วยให้เรายืนระยะ

ในโดราเอม่อนภาคพิเศษ ตอนต้องเดินทางไกลด้วยคอปเตอร์ไม้ไผ่ โดราเอม่อนมักจะหยุดกลางทางโดยให้เหตุผลกับพวกโนบิตะว่าถ้าเราบินติดต่อกันนานเกินไปแบตคอปเตอร์ไม้ไผ่จะหมดเร็ว

ถ้าเราทำงานติดๆ กันโดยไม่ได้พักเลย ตอนค่ำพลังจะหมด และถ้าเราทำแบบเดียวกันทุกวัน วันเสาร์อาทิตย์เราก็แทบไม่เหลือเรี่ยวแรงที่จะใช้เวลากับคนในครอบครัว

ดังนั้น หากเรารู้จักเบรคระหว่างวัน เราจะจัดการพลังงานได้ดีกว่า เราจะสามารถยืนระยะได้ และยังมีพลังเหลือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ

สองสิ่งที่ดูเหมือนขัดกัน แต่เราต้องการมันทั้งคู่

ความคุ้นเคย – ความแปลกใหม่

เรามีร้านประจำ ที่ไปที่ไรก็รู้สึกสบายใจ

เรามีกับข้าวรสมือแม่ ที่คิดถึงทีไรก็มีความสุขทุกครั้ง

เรามีเพื่อนสนิทหรือคนคุ้นเคย ที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้

แต่ถ้าเราไปร้านประจำทุกวันก็คงเบื่อ ต้องหาร้านใหม่ๆ มาอยู่ในลิสต์บ้าง

กินข้าวรสมือแม่ทุกวันมันก็ดี แต่มันอาจทำให้เราไม่เห็นคุณค่าของมันเท่าไหร่

ถ้าต้องเจอเพื่อนสนิททุกวัน มันอาจจะกลายเป็นความคุ้นชิน ไม่ตื่นเต้นที่ได้เจอกัน

ดังนั้นเราจึงควรหาร้านใหม่ๆ เมนูใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ เพื่อเติมสีสันให้ชีวิต แล้วบางส่วนของสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ก็อาจกลายเป็นความคุ้นเคยในภายหลัง


งานท้าทาย – งานสบาย

เราชอบงานที่มันท้าทายเพื่อจะได้ผลักดันให้เราเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น

แต่ถ้าต้องเจอแต่งานที่ท้าทาย 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ 4 สัปดาห์ต่อเดือน มันก็อาจจะ burnout ได้เหมือนกัน

ร่างกายจึงต้องงานสบายด้วย

งานสบายไม่ได้แปลว่างานที่ไม่มีคุณค่า แต่แปลว่างานที่เราเอาอยู่แล้วหรือทำได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว งานสบายหลายชิ้นในวันนี้อาจเคยเป็นงานที่เคยท้าทายมากๆ มาก่อน

ในทางกลับกัน ถ้าทุกวันเราเจอแต่งานสบาย เราจะรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไป อาจจะขาดการเรียนรู้ ขาดความรู้สึกว่าก้าวหน้า ขาดการสร้างคุณค่าใหม่ๆ

ดังนั้นเราจึงต้องแสวงหางานที่ท้าทายมาช่วยให้การทำงานนั้นสนุกขึ้นเช่นกัน


ความเป็นคนสำคัญ – ความเป็นส่วนตัว

เราทุกคนอยากเป็นคนสำคัญ อย่างน้อยก็สำหรับใครบางคน

ยิ่งมีโซเชียลมีเดียมาเป็นยากระตุ้น อินฟลูบางคนไม่เคยออกทีวีหรือเล่นละครแต่ก็ยังโด่งดังกว่าดารา

เวลาเราโพสต์อะไรแล้วมีคนกดไลค์กดฟอลโลว์ มันก็ทำให้เราใจฟู รู้สึกว่าเรายังมีตัวตนและมีคนเห็นเราอยู่

เวลามีเพื่อนคิดถึง โทรหา ชวนไปปาร์ตี้กัน เราก็รู้สึกว่าดีจังที่มีคนที่คิดถึงเราอยู่

แต่ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ชื่อเสียง หรือความมีเพื่อนมาก ก็คือความเป็นส่วนตัว

สมัยก่อนดาราหลายคนเลยต้องหลบซ่อนเพื่อคบกัน บางคนต้องใส่แว่นตาดำเวลาไปเดินห้างเพื่อไม่ให้คนเข้ามาขอลายเซ็น

หรือคนที่มีเพื่อนห้อมล้อมเยอะแยะ ต่อให้เป็นคน outgoing แค่ไหน มันก็จะมีวันที่อยากอยู่บ้านเฉยๆ บ้างเหมือนกัน


สร้างอนาคต – มีความสุขกับปัจจุบัน

คนที่ใช้ชีวิตแบบไม่วางแผนเผื่ออนาคตเลยเรามองว่าเป็นคนประมาท

หากได้เงินมาก็ใช้หมด ไม่มีเหลือเก็บ ถึงวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุทางการงาน รายได้หดหาย คุณภาพชีวิตก็อาจดำดิ่งลงโดยง่ายดาย

ในอีกฝั่งหนึ่ง ก็มีคนที่ทำทุกอย่างเพื่อสร้างอนาคต อยากเก็บเงินให้ได้ตามเป้าก่อนเกษียณ ใช้เงินอย่างกระเบียดกระเสียร กินน้อย เที่ยวน้อย แบ่งปันน้อย เพราะหวังจะสร้างความมั่นคงให้ชีวิต

มีคำกล่าวว่า “Man Plans, God Laughs” ชีวิตมันไม่ได้มั่นคงอย่างที่เราคิดหรืออยากจะเชื่อ บางทีทำทุกอย่างถูกต้องที่สุดแล้วก็ยังไม่เป็นไปตามแผน ไม่มีใครได้รับการการันตีจากสวรรค์ว่าชีวิตจะยืนยาวหรือจะมีสุขภาพที่ดีจนแก่เฒ่า

ถ้ามัวแต่ใช้วันนี้เพื่อสร้างอนาคต จนไม่มีความสุขกับปัจจุบันเลย แล้ววันหนึ่งเราได้พบว่าอนาคตไม่ได้ยาวไกลอย่างที่คาดการณ์ไว้ เราอาจเสียดายคืนวันที่ผ่านมา

ดังนั้นเราจึงต้องเป็นคนทั้งสองแบบ – คนที่พร้อมใช้จ่ายเพื่อมีความสุขกับวันนี้ และคนที่พร้อมอดเปรี้ยวไว้กินหวานในเวลาเดียวกัน


การที่เราต้องการสองสิ่งที่ดูเหมือนย้อนแย้งไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามันจะมีอะไรผิดก็น่าจะเป็นวิธีคิดหรือความเชื่อของเรามากกว่า ที่มองว่าถ้าอันนึง True ด้านตรงข้ามต้องเป็น False

ในเชิงศาสนาพุทธ การที่เราต้องสลับไป-มา นั้นสะท้อนอยู่ในไตรลักษณ์ นั่นคือ “ทุกขัง” หรือ “สภาพที่ทนได้ยาก”

หลวงพ่อปราโมทย์สอนว่า ร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ แต่เราไม่เคยเห็น เราไม่รู้ว่ามันทุกข์เพราะเราเปลี่ยนอิริยาบทตลอดเวลา

อยากเห็นความทุกข์นั้นง่ายมาก แค่ลองหายใจเข้าอย่างเดียว แล้วคอยดูว่ามันทุกข์มั้ย หรือลองหายใจออกอย่างเดียวแล้วคอยดูว่ามันทุกข์มั้ย

เราจึงไม่สามารถทนอยู่ได้กับอย่างใดอย่างหนึ่งไปตลอด จะให้เจอแต่สิ่งคุ้นเคยอย่างเดียวก็ทุกข์ ให้เจอแต่สิ่งแปลกใหม่ก็ทุกข์ จะให้เจอแต่งานท้าทายก็ทุกข์ เจอแต่งานสบายก็ทุกข์ ต้องเจอทั้งคู่ถึงจะยืนระยะและมีความทุกข์แบบพอรับไหว

“The test of a first-rate intelligence is the ability to hold two opposing ideas in mind at the same time and still retain the ability to function.”

F.Scott Fitzgerald

ยังมีอีกหลายมิติในชีวิตที่เราต้องการสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดกัน

บทเรียนสำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องเลือกแค่อันใดอันหนึ่ง

เราเลือกได้ทั้งสองอย่าง โดยดูจากบริบทและความต้องการของชีวิตในตอนนั้นครับ

เริ่มต้นให้ถูกฝั่งแล้วมันจะเครียดน้อยลง

เริ่มต้นให้ถูกฝั่ง แล้วมันจะเครียดน้อยลง

เมื่อวานนี้ผมมีโอกาสได้ไปพูดงาน HR Day ที่จัดโดย PMAT

หนึ่งในประเด็นที่ได้พูดคุยกันก็คือสมัยนี้เวลา HR จัด training หรือ event ก็ต้องลุ้นกันจนเหนื่อยว่าจะมีคนมาร่วมเยอะพอมั้ย เพราะหลายองค์กรคนติดใจทำงานที่บ้านแล้ว

ในฐานะคนที่เคยจัดอบรมให้พนักงานมาก่อนผมเข้าใจความรู้สึกนี้ดี

กลัวน้องไม่มา กลัวขายหน้าวิทยากร จนบางทีต้องใช้วิธีเกณฑ์คนในทีมมานั่งเป็นหน้าม้าเพื่อให้ห้องไม่โหลงเหลงเกินไป

แต่เมื่อวานซืนนี้ทีมของผมเพิ่งจัดเทรนนิ่งออนไลน์ที่มีพนักงานระดับ manager เข้าฟังเกิน 160 กว่าคน น่าจะเป็นหนึ่งในการจัดอบรมที่คนเข้าฟังเยอะที่สุดของปีนี้

หัวข้อที่ผมพูดคือ Performance Management Guide for Managers

เนื่องจากตอนนี้เข้าฤดูกาลประเมินผล หัวหน้าทีมก็เลยมาเข้าฟังเทรนนิ่งนี้กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะมันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเขา


Seth Godin เคยตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะมีจำนวนหน้าเท่ากันแทบทุกวัน แต่จริงๆ แล้วบางวันมันก็ไม่ได้มีข่าวอะไรที่น่าสนใจ หนังสือพิมพ์ก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาข่าวอะไรก็ไม่รู้มาใส่เอาไว้เพื่อ fill the space ให้ครบตามจำนวนหน้า

เซธบอกว่า สิ่งที่ควรจะเป็น คือถ้าวันไหนมีข่าวน้อย หนังสือพิมพ์ก็ควรพิมพ์หน้าน้อยๆ ถ้าวันไหนข่าวเยอะ หนังสือพิมพ์ก็ค่อยมีหน้าเยอะๆ

[ผมว่าเซธรู้ดีว่าเรื่องแบบนี้มันทำได้ยากในทางปฎิบัติ แต่ประเด็นของเซธก็น่าสนใจ ว่าปริมาณข่าวสารที่หนังสือพิมพ์ทำออกมาไม่ควรถูกกำหนดด้วยจำนวนหน้าที่เท่ากันทุกวัน]


เคยมีคนถามจี้ Jim Cramer ผู้ประกาศข่าวของช่อง CNBC ว่าทำไม่ช่อง CNBC ถึงมักมีข่าวที่ขัดแย้งกันเองและข่าวที่ไม่ค่อยมีสาระ

จิมตอบว่า “ฟังนะ เราต้องทำรายการสดถึงวันละ 17 ชั่วโมงเชียวนะ” (Look, we’ve got 17 hours of live TV a day to do.)

จิมคงต้องการจะสื่อว่า ในเมื่อมันต้องสร้าง content เพื่อให้ทั้ง 17 ชั่วโมงนั้นไม่มี dead air เลย การจะมีเนื้อหาที่ไม่ค่อยมีประโยชน์บ้างนั้นย่อมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้


กลับมาที่การจัดอบรมของบริษัท

เวลาที่เราจัดงานแล้วคนไม่ค่อยมาร่วม นั่นแสดงว่าสิ่งที่เราจัดนั้นอาจไม่ดึงดูด หรือไม่ได้ตอบโจทย์ของพนักงาน แล้วก็ต้องมาแก้ปัญหาภายหลังด้วยการเคี่ยวเข็ญหรือเกณฑ์คน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น

ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ อาจเป็นเพราะเรามีวิธีคิดคล้ายหนังสือพิมพ์หรือช่อง CNBC ที่เรามีตารางเทรนนิ่งและตั้งงบเอาไว้แล้วว่าจะต้องจัดเดือนละกี่ครั้งและต้องใช้งบให้หมด ไม่ต่างอะไรกับจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือจำนวนชั่วโมงของแต่ละช่องที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว ยังไงต้องหา content อะไรซักอย่างมาลงแม้ว่ามันจะไม่ได้ตอบโจทย์ใครเลยก็ตาม

วิธีที่อาจจะช่วยได้ น่าจะมีสามอย่าง

  1. ไม่ต้องกำหนดว่าจะสอนอะไร แต่มีงบให้พนักงานเลือกไปลงเรียนข้างนอกแล้วมาเบิก
  2. สอนในเรื่องที่ต้องใช้แน่ๆ เช่นหัวข้อ Performance Management ที่กล่าวไปข้างต้น
  3. คุยกับแต่ละทีมว่ามี pain points อะไร และจัดสอนโดยใช้เนื้อหาและโจทย์ที่ทีมนั้นกำลังประสบอยู่จริงๆ ซึ่งย่อมได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าแผนกให้ลูกทีมมาเรียน

และถ้าช่วงไหนมันไม่ได้มีความต้องให้สอนอะไร เราก็ไม่จำเป็นต้องไปฝืนเปิดสอนคลาสตามตารางหรือตามงบที่วางไว้ เพราะการอบรมก็มี high season / low season ของมันได้เหมือนกัน

ถ้าเราจัดอบรมเท่าที่จำเป็นและตอบโจทย์คนในองค์กรอย่างแท้จริง เราจะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยลุ้นว่าจะมีคนมาเรียนหรือไม่


ผมยกตัวอย่างเรื่องการจัดอบรมก็จริง แต่ประเด็นที่อยากจะชวนคิดคือการตั้งต้นให้ถูกฝั่ง

แทนที่จะตั้งต้นว่าเราจะมีสอนเดือนละ 4 คลาสแล้วค่อยหาอะไรมาลง ให้ตั้งต้นว่าความต้องการของคนมีอะไรและเยอะแค่ไหน แล้วค่อยจัดตารางไปตามนั้น โดยต้องดูให้เหมาะสมตามกำลังของเราด้วย

หนังสือพิมพ์กับทีวีอาจจะไม่มีทางเลือกตรงนี้ แต่กับหลายสิ่งในชีวิต เรามีทางเลือกว่าจะเริ่มต้นจากด้านไหน

แต่ก่อนผมเคยตั้งเป้าว่าจะเขียนบล็อกทุกวัน แม้ในวันที่ไม่รู้จะเขียนอะไรก็จะพยายามดิ้นรนเค้นมันออกมา ซึ่งในด้านหนึ่งมันก็เป็นการฝึกวินัยที่ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจได้บทความที่ไม่ค่อยมีสาระแก่นสารเท่าที่ควร

วันนี้ผมเลยจุดนั้นมาแล้ว เลยไม่ได้คาดคั้นว่าต้องเขียนบล็อกทุกวัน แต่เขียนเมื่อมีประเด็นที่อยากเขียน ด้วยวิธีการนี้มันก็เลยไม่ต้องเค้น และรู้สึกมีความสุขกับการเขียนบล็อกมากขึ้น

หรือแต่ก่อนผมเคยตั้งเป้าว่าอยากจะได้คนติดตามบล็อก xx คนภายในเวลาเมื่อนั้นเมื่อนี้ พอไม่เป็นไปตามแผนก็เฟล สุดท้ายผมก็เลยไม่สนใจเรื่องยอดฟอล เลิกตั้งเป้าในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม แล้วหันมาให้ความสำคัญในสิ่งที่ตัวเองควบคุมได้ นั่นคือการเขียนบทความที่มีประโยชน์และเราภูมิใจ

ลองสำรวจตัวเองดูนะครับ หากว่าเรามีอะไรที่ต้องคอยลุ้นจนเหนื่อยอยู่เสมอ ความเป็นไปได้คือเราอาจกำลังเริ่มต้นผิดฝั่งอยู่

เริ่มต้นให้ถูกฝั่ง แล้วมันจะเครียดน้อยลงครับ

ถ้าเราเตรียมตัวเราจะกลัวน้อยลง

เมื่อคืนวันก่อน ใกล้จะถึงเวลาเข้านอน “ปรายฝน” ลูกสาววัย 8 ขวบ บอกกับผมว่า “แด๊ดดี้ ปรายฝนกลัว พรุ่งนี้ปรายฝนมีเทสต์ภาษาจีน”

ลูกสาวผมเป็นสายชิล ไม่ค่อยเตรียมตัวเท่าไหร่ แล้วค่อยมากังวลตอนจวนตัว

ผมเองก็เป็นสายชิล ไม่ได้คาดคั้นให้ลูกต้องสอบได้คะแนนดี แต่ก็ถือโอกาสนี้สอนปรายฝนว่า “ที่กลัวเพราะว่าเราไม่ได้เตรียมตัวไง ถ้าปรายฝนเตรียมตัวปรายฝนก็จะกลัวน้อยลง”

พอเอ่ยประโยคนี้จบ ผมก็คิดขึ้นได้ว่านี่คือคำสอนใจสำหรับตัวเองเช่นกัน

ถ้าเราเตรียมพรีเซนต์มาดี เราจะพูดได้อย่างมั่นใจ

ถ้าเราซ้อมวิ่งมาดี ถึงจะใกล้วันแข่งเราก็ไม่เครียด

ถ้าเราจัดการเรื่องการเงินไว้ดี เราจะไม่ค่อยกังวลเรื่องอนาคต

แต่ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัว ถ้าเรามัวแต่คิดว่าเอาไว้ก่อน เมื่อสิ่งนั้นใกล้เข้ามาเราก็จะกลัวและกังวลอย่างช่วยไม่ได้ เพราะจะทำอะไรก็ไม่ทันแล้ว

บางสิ่งยิ่งอยู่ไกล เรายิ่งไม่ค่อยเตรียมตัว เช่นการดูแลสุขภาพในวันนี้ เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยชรา แต่การมีสุขภาพที่ดีต้องใช้เวลาเป็นสิบปี ถ้าไม่เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ก็ดูประมาทเกินไปหน่อย

หรือความกลัวตัวแม่อย่างความกลัวตาย น้อยคนนักที่จะสบตากับมันตรงๆ และคิดเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ

ความชรานั้นยังพอกะเวลาได้ แต่ความตายนั้นเรากะเวลาไม่ได้เลย

ลองสำรวจตัวเองว่ามีความกลัวอะไรอยู่ และมีอะไรที่เราพอจะทำได้ตั้งแต่วันนี้

กลัวไม่สบาย กลัวตกงาน กลัวสูญเสียคนที่เรารัก

กับหลายสิ่งในชีวิต ถ้าเราเตรียมตัว เราจะกลัวน้อยลงครับ