ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีหนังสือดังๆ ที่ใครหลายคนบอกว่า “ต้องอ่าน”
Principles ของ Ray Dalio, Sapiens ของ Yuval Noah Harari, Atomic Habits ของ James Clear, No Rules Rules ของ Reed Hastings, Think Again ของ Adam Grant คือตัวอย่างของหนังสือที่ขายดีไปทั่วบ้านทั่วเมือง
ยิ่งพอมีปัจจัยอย่าง Social Media เข้ามา การอ่านหนังสือดังจึงกลายมาเป็นแฟชั่น เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อเอาเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่อ่านเพื่อให้อยู่ในกระแส อ่านเพื่อให้ได้รับการยอมรับ อ่านเพื่อจะได้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง
ถ้าเปรียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน การอ่านหนังสือดังจึงมีหลายอย่างคล้ายคลึงกับการดูละครช่อง 7 ที่ผู้คนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ใครไม่ดูถือว่าเชย ใครไม่ดูจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง
ข้อเสียอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือดังๆ ก็คือสิ่งที่เราได้อ่าน ได้รู้ คนอื่นเขาก็ได้อ่านได้รู้เหมือนกับเรา ไอเดียและวิธีคิดของเราจึงแทบไม่ต่างจากของคนอื่นเลย อ่านมากเข้าเราก็เลยกลายเป็น “แกะ” อีกตัวหนึ่ง อาจจะขนสวยกว่าหน่อยแต่ก็ยังเป็นแกะอยู่ดี
Shane Parrish ผู้เขียนบล็อก Farnam Street จึงแนะนำว่า ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ
เมื่อวานนี้ผมเขียนบทความ “17 ความลับของฟ้าจาก “พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร”
พี่เล้งบริหารคน-บริหารชีวิตโดยใช้หลักการในคัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” ที่ปรมาจารย์เหลาจื่อประพันธ์ไว้เมื่อ 2500 ปีที่แล้ว
แนวคิดของพี่เล้งสดใหม่มากทั้งที่ต้นธารนั้นมาจากหนังสือที่เก่ามาก – อีกหนึ่งความลับของฟ้าอาจซ่อนอยู่ตรงนี้
Nassim Nicolas Taleb ผู้เขียน The Black Swan และ Antifragile แนะนำว่าหนังสือเล่มไหนออกมาใหม่ๆ อย่าเพิ่งไปอ่าน ควรจะรออย่างน้อย 10 ปี เพราะถ้าหนังสือออกมานานขนาดนั้นแล้วยังมีคนพูดถึงอยู่แสดงว่ามันน่าจะมีอะไรดี
แต่ถ้าอยากให้ชัวร์ว่าหนังสือดีจริงๆ ให้หาหนังสือที่เก่าเกินร้อยปี หรือถ้าเก่าเกินพันปียิ่งดี เพราะเวลาคือตัวกรองที่ยอดเยี่ยมที่สุด – Time is the Greatest Filter.
Naval Ravikant ซึ่งเป็น angel investor ให้บริษัทอย่าง Twitter และ Uber ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า แทนที่เขาจะอ่านหนังสือธรรมดา 100 เล่ม เขาขออ่านหนังสือระดับตำนาน 10 เล่มจบ 10 รอบดีกว่า
หนังสือดังยังมีจุดอ่อนอีกอย่างหนึ่ง คือเนื้อหาในหนังสือเหล่านี้เต็มไปด้วยสิ่งที่พี่เล้งเรียกว่า “ความรู้เทียม” ที่มันจะจริงเฉพาะในบางบริบทและในบางช่วงเวลาเท่านั้น
ตอนที่ Reed Hastings CEO ของ Netflix เขียน No Rules Rules ออกมาใหม่ๆ ผู้คนต่างชื่นชมและอยากทำตาม นั่นเป็นเพราะตอนนั้นธุรกิจของ Netflix กำลังไปได้สวย ชี้นกก็เลยเป็นนกไปเสียหมด
แต่หนึ่งปีที่ผ่านมามูลค่าของเน็ตฟลิกซ์ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง จนอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งที่ Reed Hastings เคยบอกว่าเป็นนกในตอนนั้นมันยังเป็นนกในตอนนี้อยู่รึเปล่า
แต่สำหรับหนังสืออย่างเต้าเต๋อจิงที่ผ่าน The Greatest Filter มา 2500 ปี มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเต็มไปด้วย “ความรู้แท้” ที่เป็นอกาลิโก
เพราะสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม เคยโลภยังไงก็โลภอย่างนั้น เคยอ่อนแอยังไงก็อ่อนแออย่างนั้น เคยมีจุดอ่อนอะไรก็ยังมีจุดอ่อนเดียวกันเหมือนกับเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว
อ่านหนังสือใหม่อาจจะทำให้เรามีความรู้แน่นจนเป็นชาล้นถ้วย
อ่านหนังสือเก่า เราจะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่นั่นแหละคือการเทชาออกจนถ้วยนั้นว่างเปล่า และจากความว่างเปล่าเท่านั้นที่ปัญญาจะผุดขึ้นมาได้
ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ ครับ