เส้นแบ่งของงานที่ชอบและไม่ชอบ

จากช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ มิ้นท์ – I Roam Alone โดย ใบพัด นบน้อม เมื่อปี 2560:

“การเดินทางมันเป็นชีวิตไปแล้ว วันที่เราไม่ได้เที่ยวหรือทำงาน เราก็พักผ่อนเหมือนคนทั่วไปแหละ นอนอยู่บ้าน ดู Netflix แต่จริงๆ เราเดินทางกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เราเดินทางผ่านสิ่งอื่น ผ่านเพลง หนัง หนังสือ ถึงใบพัดไม่ได้เขียนหนังสือ ใบพัดก็เขียนผ่านสิ่งอื่น เขียนในหัว เขียนบทสนทนาเวลาไปจิบกาแฟ ใบพัดเขียนตลอดเวลาใช่ไหม”

เธอหยุดคิดก่อนจะพูดต่อ “มันจะมีเส้นแบ่งระหว่างงานที่เราชอบกับไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบ ตื่นมาจะเซ็ง แค่คิดว่าต้องไปทำสิ่งนั้นก็มีความทุกข์แล้ว เราจะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับชีวิต เป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย แต่ถ้าเป็นงานที่ชอบ เราจะอยากลุกขึ้นจากเตียงแต่เช้าเพื่อไปเจอสิ่งนั้น เพราะรู้ว่าเราทำมันไปทำไม มันเป็นงานที่ให้พลังเรา ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง ยิ่งถ้ามันทำให้สังคมดีขึ้นมันยิ่งมีความหมาย แรกๆ เราก็เที่ยวเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง แต่หลังๆ เที่ยวจากประเด็น อยากให้คนได้อะไรจากการไปเที่ยวของเราด้วย”


คุณมิ้นท์พูดถึงสองประเด็นที่น่าสนใจ

หนึ่ง เมื่อเราสนใจสิ่งใด เราจะทำมันตลอดเวลา

สอง เมื่อได้ทำงานที่ใช่ สัญญาณมันจะชัดมาก

วันก่อนเพื่อนที่เป็น Youtuber แวะมาทักทาย ผมถามเขาเรื่องการทำ video content ส่วนเขาก็ถามผมเรื่องการเขียนบล็อก สิ่งหนึ่งที่คุยแล้วเหมือนกันคือพอเจออะไรที่ดูท่าจะเป็นเนื้อหาในวีดีโอหรือบทความถัดไปได้ เราจะมองออกและหาทางจดมันไว้ทันที

ในมุมหนึ่งมันก็อาจทำให้เราไม่ได้ซึมซับกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่แท้จริงของกฎแรงดึงดูด – ที่พอเราสนใจสิ่งใด เราจะเห็นสิ่งนั้นมากขึ้นในชีวิต เหมือนคนที่คิดจะซื้อรถฮอนด้าซีวิคก็จะเริ่มมองเห็นซีวิคบนท้องถนนมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ส่วนเรื่องงานที่ใช่ ก็ต้องนับว่าตัวผมเองโชคดีที่ขยับเข้างานที่ใช่มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากซ่อมเครื่องฉีดรองเท้าในโรงงาน มาเป็น software engineer ก่อนไปทำ technical support แล้วผันตัวเองมาดูสื่อสารองค์กร จนได้มาทำงานสาย HR อย่างทุกวันนี้

แต่จะบอกว่าโชคดีอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ก็ต้องตบไหล่ตัวเองด้วยที่หลายครั้งก็กล้า take a leap of faith – กลั้นใจแล้วลองกระโดดเข้าหาสิ่งที่เรายังไม่รู้จัก

งานที่ใช่ประกอบด้วยหลายอย่าง ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นวงกลมสามอันที่ซ้อนกัน คือสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ปัจจัยรองแต่ก็สำคัญมากเช่นกันคือหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และพลังงานที่ไหลเวียนอยู่ในองค์กรว่ามันสอดคล้องกับพลังงานที่ไหลเวียนในตัวเรารึเปล่า

ถ้าเจองานที่ใช่ มันก็จะมีสัญญาณอย่างที่คุณมิ้นท์บอก คือเราตื่นเต้นที่จะเจองานนั้น เราอยากเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเรารู้ว่างานของเรามีคุณค่าอย่างไร

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกอยากตื่นขึ้นมาทำงานทุกวัน เพราะในช่วงที่งานมันยากๆ หรือสถานการณ์ไม่ปกติ เราก็อยากซุกตัวบนเตียง ไม่อยากออกมาเผชิญปัญหาเหมือนกัน แต่ถ้าวันเหล่านี้เป็นส่วนน้อยในชีวิตการทำงาน ก็ต้องถือว่าเราโชคดีกว่าใครหลายคน และควรระลึกไว้เสมอว่า 30% ของเงินเดือนคือค่าอดทน

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว วันไหนแดดร่มลมตก ก็น่าจะเป็นการดีที่เราจะได้นั่งทบทวนว่างานที่เรากำลังทำอยู่มันทำให้เรามีชีวิตชีวาและคิดถึงมันตลอดเวลามากพอหรือไม่นะครับ


ขอบคุณบทสัมภาษณ์จากหนังสือ In Conversation ใบพัด นบน้อม สัมภาษณ์และเรียบเรียง