7 ความประทับใจจากหนังสือ Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล” ของ “นิ้วกลม” หรือพี่เอ๋ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์จบไปเมื่อวานนี้

ผมอ่านข้อเขียนของนิ้วกลมมาตั้งแต่สมัยเขียนลง a day และได้อ่านหนังสือเล่มแรกของนิ้วกลมที่ชื่อ “โตเกียวไม่มีขา” แบบรวดเดียวจบบนเที่ยวบินกรุงเทพ-โตเกียว ในการเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งแรกของผม

นิ้วกลมมีผลงานออกมาแล้วทั้งหมด 54 เล่ม โดยเล่มล่าสุดก็คือ Ultraman เล่มนี้

หนังสือบอกเล่าประสบการณ์เตรียมตัวและวิ่งงานอัลตร้ามาราธอนชื่อ HK100 ซึ่งเป็นการวิ่งเทรลหรือเส้นทางธรรมชาติระยะ 103 กิโลเมตรให้จบภายใน 30 ชั่วโมง โดยงานนี้จัดขึ้นที่ฮ่องกงและต้องวิ่งขึ้น-ลงภูเขาหลายลูก

จากคนนอกมองเข้าไป มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะเอาร่างกายไปทรมานทรกรรมวิ่งแบบไม่หลับไม่นอนข้ามวันข้ามคืน ผมเลยเดาว่านี่เป็นเหตุผลที่พี่เอ๋ตั้งชื่อหนังสือออกตัวไว้ก่อนเลยว่ามันคือ “เส้นชัยไร้เหตุผล”

ถ้าคุณเป็นคนที่วิ่งอยู่แล้วเหมือนผม จะพอเข้าใจและอินไปกับรายละเอียดมากมายทั้งตอนซ้อมและตอนแข่งขัน

แต่ถ้าคุณไม่เคยวิ่งและไม่คิดที่จะวิ่ง หนังสือ Ultraman ก็ยังเป็นเรื่องจริงที่สนุกเหมือนนิยายและนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง

และนี่คือ 7 ความประทับใจที่ผมมีต่อ “Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล” ครับ

1. ความไม่คิดหน้าคิดหลัง

การเข้าร่วม HK100 ของพี่เอ๋นั้นมีอารมณ์คล้ายๆ Squid Game คือมีเบอร์แปลกโทรเข้ามาแล้วถามว่า “สนใจไปวิ่งในงาน HK100 ไหม”

พอพี่เอ๋ถามว่า “มีระยะไหนบ้างครับ” รอยยิ้มปลายสายก็ตอบมาว่า “100 กิโลเมตรสิคะ”

มีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 10 สัปดาห์ แต่พี่เอ๋ก็ตกปากรับคำอยู่ดี

ไม่มี 45,600 ล้านวอนรออยู่ จริงๆ แล้วต้องเสียเงินด้วยซ้ำ และถ้าวิ่งไม่จบภายใน 30 ชั่วโมงก็ยังต้องกลับบ้านมือเปล่าอีกด้วย

“รับปากไปโดยไม่รู้เลยว่า คนวิ่งระยะนี้เขาซ้อมกันยังไง แต่ก็รับปากไปแล้ว

ภาระที่ตามมาคือ ทำให้ได้

อย่างที่บอกว่าคงต้องพึ่งปาฏิหาริย์ และปาฏิหาริย์ไม่ใช่ดวง หากคือการมีวินัยระดับที่สร้างปาฏิหาริย์ได้”

2. Commit and Make Time

สำหรับคนเป็นพนักงานบริษัทอย่างผม เทคนิค Time Blocking ถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะถ้าเราไม่กันเวลาเอาไว้ เราอาจจะเสียมันไปกับการประชุมยิบย่อยและเรื่องสำคัญของคนอื่น

พี่เอ๋ใช้ Time Blocking เหมือนกัน นั่นคือกันเวลาช่วงหัวค่ำสองวันต่อสัปดาห์ทุกอาทิตย์ล่วงหน้า 10 สัปดาห์เพื่อจะได้มีเวลาซ้อมวิ่งคราวละ 3-4 ชั่วโมง

แม้จะมีตารางงานวางไว้อยู่ก่อนแล้วมากมาย แต่พี่เอ๋ก็หาเวลาซ้อมจนได้

เมื่อเราจะ commit กับสิ่งใด เราก็ต้องจัดเวลาให้กับมัน

“เงื่อนไขต่างๆ เป็นข้ออ้างที่เรานำมาเป็นเกราะกำบังให้ตัวเองทั้งนั้น”

3. กัลยาณมิตร

“พี่ป๊อก” ผู้เป็นคนมอบตารางซ้อมและรายการสิ่งของที่ต้องเตรียมไป

“บุ๊ย” ผู้ส่งจดหมายมาแนะนำเคล็ดลับว่าวิ่งอย่างไรให้จบ HK100

“วิน” ผู้ที่พี่เอ๋ชวนไปร่วมวิ่ง HK100 ด้วย

“ตุล” เพื่อนนักวิ่งที่ได้พบกันระหว่างทาง

เหล่านี้คือตัวละครที่วนเวียนเข้ามาในช่วงที่พี่เอ๋กำลังอยู่ในช่วงแปลงร่างเป็น Ultraman

ราวกับมีมือผู้กำกับส่งตัวละครเหล่านี้มาให้ แต่ละคนมีบทบาทสำคัญชนิดที่ว่าถ้าขาดใครคนใดคนหนึ่งไป เรื่องราวใน Ultraman อาจจะมีบทสรุปอีกแบบ

เราไม่อาจไปไหนได้ไกลด้วยตัวคนเดียวจริงๆ

4. การซ้อมวิ่งรอบกรุงเทพมหานคร

ก่อนไปงาน HK100 พี่เอ๋กับคุณวินลองไปซ้อมวิ่งระยะ 2 มาราธอนในวันเดียว นี่คือการวิ่งที่ยาวไกลที่สุดในชีวิตของพี่เอ๋

เริ่มวิ่ง 7 โมงเช้าที่บึงหนองบอน ต่อด้วยสวนหลวงร.9 วิ่งไปขึ้นรถไฟฟ้าตรงอุดมสุข มุ่งสู่ท่าเรือบางนา ข้ามฟากไปวิ่งในบางกระเจ้า ข้ามฟากกลับมาพระราม 3 เข้าสาธุประดิษฐ์ ผ่านเส้นนราธิวาส เข้าพระราม 4 ทะลุสุขุมวิท 24 วิ่งสวนเบญจสิริข้างเอ็มโพเรียม ต่อด้วยสวนเบญจกิตติ ไปทะลุสวนลุม ตัดผ่านเซ็นทรัลเวิลด์ วิ่งเลียบสวนจิตรลดา ลานพระบรมรูปทรงม้า เลี้ยวเข้าราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง วัดพระแก้ว หัวลำโพง สวนอุทยาน 100 ปีจุฬา ผ่านหอศิลป์ และไปจบที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ตอน 4 ทุ่ม

ด้วยสองเท้า พี่เอ๋กับคุณวินพาตัวเองผ่านระยะทาง 84.40 กิโลเมตร 18 สวนสาธารณะและแลนด์มาร์คสำคัญทั่วกรุงเทพ

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าตอนวิ่งได้ติดกล้อง GoPro ถ่ายเส้นทางไปด้วย น่าจะเอามาทำเป็นหนังสั้นงามๆ ได้เลย

5. ความสำคัญของคนข้างกาย

ภรรยาพี่เอ๋ชื่อคุณ ‘ชิงชิง’

การเป็นคู่ชีวิตกับคนที่ต้องซ้อมวิ่งสัปดาห์ละเป็นสิบชั่วโมงนั้นไม่ง่าย เพราะนอกจากพร้อมเข้าใจแล้ว ยังต้องพร้อมสนับสนุนอีกด้วย

ในการวิ่ง HK100 จะมีจุดเช็คพ้อยท์หรือ CP ทั้งหมด 9 จุดด้วยกัน โดยญาติมีโอกาสจะมาพบกับนักวิ่งได้ที่ CP2 CP5 และ CP8 เพราะเป็นเพียงสามจุดที่รถยนต์เข้าถึง

โดยเฉพาะ CP5 นั้นสำคัญมากเพราะนักวิ่งได้วิ่งมาแล้ว 57 กิโลเมตร ตั้งแต่เช้ายันสามทุ่ม นี่คือจุดที่นักวิ่งส่วนใหญ่จะพักกินข้าว อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า และอุปกรณ์ ดังนั้นญาติจะเป็นคนจัดเตรียมทุกอย่างเอาไว้ให้

คุณชิงชิงช่วยปูเสื่อ วิ่งเติมน้ำ หยิบขนม ส่งข้าวหมูแดง ชาร์จโทรศัพท์ เอาผ้าชุบน้ำมาเช็ดตัวให้พี่เอ๋ ไม่ต่างอะไรกับพี่เลี้ยงที่ดูแลนักมวยระหว่างพักยก

นอกจากน้ำและข้าวหมูแดง สิ่งที่เติมพลังให้พี่เอ๋ได้มากที่สุดก็คือคำพูดและเสียงหัวเราะของคุณชิงชิงนี่แหละ

นี่คือคำบรรยายของนิ้วกลมเมื่อวิ่งมาถึง CP5 หมาดๆ

“ผมคาดหวังกับการจอดพักเติมพลังครั้งนี้มาก เพราะลำพังแรงกายแรงใจที่มีอยู่นั้นไม่มีทางผลักดันตัวเองไปจนจบการแข่งขันได้แน่นอน

หวังให้ ‘ปั๊มน้ำมันใหญ่’ แห่งนี้ช่วยยืนยันกับตัวอีกทีว่ายังไหว หวังว่ามันคือครึ่งทางที่จะเปลี่ยนมืดเป็นสว่าง เปลี่ยนทางตันเป็นทางไปต่อ

นาทีนั้น ผมนึกถึงชิงชิง หันซ้ายแลขวามองหาใบหน้าคุ้นเคย ด้วยสภาพเหมือนคนหลงทางมานานกำลังหาทางกลับบ้าน

บ้านไม่ใช่สถานที่ ทว่าคือคนที่เรารักและรักเรา”

6. สองทางที่เจ็บปวดทั้งคู่

ตอนจะออกจาก CP5 เวลาคัตออฟเข้ามาใกล้มาก พี่เอ๋ คุณวิน และคุณตุลต้องรีบเดินขึ้นเขาเพื่อเร่งทำเวลา

ขณะที่เดินไปได้ไม่ไกลก็พบนักวิ่งค่อยๆ เดินสวนทางลงมาทีละคน นับรวมได้ยี่สิบกว่าคน นักวิ่งกลุ่มนี้คือคนที่ยอมยกธงขาว เพราะรู้ตัวว่าถึงฝืนไปต่อก็ไม่ทันกับเวลาคัตออฟ ถ้าวิ่งไปถึง CP6 หรือ CP7 แล้วโดนตัดสิทธิ์ ก็ต้องทนเดินถึง CP8 เพื่อจะได้นั่งรถกลับลงมา

เมื่ออยู่บนทางแยกที่ต้องเจ็บปวดทั้งคู่ เราจะเลือกทางไหน?

แม้จะรู้ตัวว่าโอกาสริบหรี่มาก แต่ทั้งสามคนก็ตัดสินใจจะวิ่งต่อไปให้ถึงที่สุด

“ผมคิดถึงการซ้อมสาหัสสากรรจ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ภาพตัวเองวิ่งคนเดียวเบื่อๆ ในหมู่บ้านช่วงสามทุ่มวันแล้ววันเล่า

แน่นอน ใครจะยอมแพ้ง่ายๆ อย่างน้อยผมก็จะก้าวขาไปจนกระทั่งสนามบอกเราเองว่าไม่อนุญาตให้ไปต่อแล้ว

เราไม่ควรเป็นฝ่ายยอมแพ้ก่อน ทำตามที่บอกชิงชิงไว้ – สู้จนหยดสุดท้าย”

นี่คือ mentality เดียวกับ Manchester United ชุดสามแชมป์ที่จะไม่ยอมแพ้จนกว่ากรรมการจะเป่านกหวีด

7. มนุษย์มีเหตุผลเสมอ

George Mallory เป็นนักปีนเขาเลื่องชื่อที่พยายามพิชิตเอเวอเรสต์หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยสำเร็จ

มีคนเคยถามเขาว่า

“Why did you want to climb Mount Everest?”

Mallory ตอบว่า

“Because it’s there.”

เพราะมันอยู่ตรงนั้น ฉันก็เลยต้องปีน

ใน Ultraman พี่เอ๋เขียนไว้ชวนคิดว่า

“บางคนมีแรงขับภายในที่ต้องการสัมผัสแผ่นดินใหม่ อยากรู้ว่าที่นั่นเป็นอย่างไร จะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยืนอยู่ตรงนั้น คล้ายกับเดินขึ้นหิมาลัยเพื่อไปให้ถึง Everest Basecamp (EBC)

ถึงที่สุดแล้วเราไม่ได้ต้องการไปให้ถึงค่ายฐานทางกายภาพหรอก แต่เราอยากค้นพบตัวเองตอนไปถึงที่นั่นว่าต่างไปจากปกติหรือตอนเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าอย่างไรบ้าง

กล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ มันคือการเปลี่ยนสภาวะภายใน

ต่างแน่ๆ, เมื่อไปยังสถานการณ์ใหม่ เราจะได้พบตัวตนที่ไม่เคยรู้ว่ามีในตัวเอง บางคราวอ่อนแออย่างคาดไม่ถึง บางครั้งแข็งแกร่งกว่าที่คิด เราจะได้รู้จักหัวใจตัวเองมากขึ้น ว่ามันเปราะบาง ทนทาน ยอมแพ้ หรือสู้ไม่ถอย

จะรู้ เมื่ออยู่ตรงนั้น

บ่อยครั้ง เมื่อพบมันแล้ว คุณสมบัตินั้นจะติดตัวมา และเปลี่ยนแปลงเราไปจากเดิม”

ผมนึกถึงสิ่งที่ Morgan Housel เขียนไว้ในบทแรกของหนังสือ The Psychology of Money ว่า “Noone’s Crazy” – ไม่มีใครบ้าหรอกนะ

แม้การกระทำของบางคนจะดูไร้เหตุผลแค่ไหน แต่เชื่อเถอะว่ามันมีเหตุผลบางอย่างที่ดีพอสำหรับคนคนนั้นเสมอ


เมื่อได้อ่าน Ultraman เส้นชัยไร้เหตุผล จนจบ ผมรู้สึกขอบคุณความไม่คิดหน้าคิดหลังของพี่เอ๋จนก่อให้เกิดหนังสือเล่มนี้

ยิ่งพอรู้ว่าหลังจากนั้นทั่วโลกจะไม่ได้จัดงานวิ่งอีกเกือบสองปี ส่วนพี่เอ๋เองก็บาดเจ็บจนต้องผ่าเข่าและหมอไม่แนะนำให้กลับไปวิ่งอัลตร้าอีกแล้ว การตัดสินใจร่วมงาน HK100 จึงอาจนับเป็น Once in a lifetime decision เลยก็ว่าได้

ตอนนี้พี่เอ๋กำลังกลับมาซ้อมวิ่งและตั้งเป้าจะวิ่งให้จบฮาล์ฟมาราธอนที่บางแสน ส่วนการวิ่งอัลตร้ามาราธอนนั้นพี่เอ๋จะได้เข้าร่วมอีกรึเปล่าผมยังไม่แน่ใจ

สิ่งที่รู้ก็คือ 18 ปีที่ผ่านมาพี่เอ๋เขียนหนังสือมาแล้ว 54 เล่ม ถ้านับแบบ HK100 ก็ใกล้ถึง CP5 แล้ว

ดูจากเพซการเขียนหนังสือปีละ 3 เล่ม ผมว่าพี่เอ๋น่าจะมีผลงานครบ 100 เล่มภายในปี 2038

นี่คืออัลตร้ามาราธอนที่ผมจะคอยตามเชียร์และเอาใจช่วยต่อไป

ขอให้พี่เอ๋ไปถึงเส้นชัยในเวลาที่เหมาะสมครับ