ให้ความกลัวนั่งเบาะหลัง

20170926_backseat

เมื่อวานนี้ผมได้ฟังสัมภาษณ์ของ Elizabeth Gilbert ผู้เขียน Eat Pray Love และ Big Magic

เธอบอกว่ามีีผู้คนมากมายที่เข้ามาปรึกษาเธอเกี่ยวกับการทำงานสร้างสรรค์อย่างการเขียนนิยาย วาดรูป หรือแต่งกลอน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้ทำ

และต่อให้แต่ละคนมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าอย่างไร พอขุดลงไปลึกๆ จริงๆ ก็จะเหลืออยู่เหตุผลเดียวเสมอ คือพวกเขากำลังกลัวอยู่

กลัวว่าไม่มีพรสวรรค์ กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ กลัวว่าจะมีคนทำไปแล้ว กลัวว่าผลงานจะถูกเกลียด และที่แย่ไปกว่านั้นคือกลัวว่าจะไม่มีคนสนใจ

แล้วคนที่มาหากิลเบิร์ตก็ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่กลัว

กิลเบิร์ตบอกว่าในโลกนี้คนที่ไม่กลัวอะไรเลยมีแค่เด็กทารกกับคนป่วยทางจิตเท่านั้น

จริงๆ แล้วความกลัวเป็นสิิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถ้าไม่มีมันเราคงไม่มีชีวิตอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้

“ขับรถเร็วไปแล้วนะ”

“ซอยนี้มันเปลี่ยวไปหน่อย”

“ตอนนี้คลื่นเริ่มแรงแล้ว เดินเข้าฝั่งหน่อยดีกว่า”

ความกลัวจะคอยเตือนเราเสมอเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เราจึงควรมองความกลัวในใจเราเป็นเพื่อน

ข้อเสียของความกลัวคือมันแยกแยะไม่ค่อยออกระหว่างสถานการณ์ที่อันตรายจริงๆ กับสถานการณ์ที่ทำให้เรากังวล

ทุกครั้งที่เราทำงานสร้างสรรค์ เราจะมีความกังวล เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะออกมาดีหรือไม่ เมื่อกังวลก็เลยกลัว เมื่อกลัวก็เลยไม่กล้าลงมือทำ

กิลเบิร์ตมีวิธีคุยกับความกลัวอย่างเป็นมิตร:

“Thank you so much for how much you care about me and how much you don’t want anything bad to happen to me, and I really appreciate that. Your services are probably not needed here because I’m just writing a poem. No one’s gonna die, it’s ok.”

“ขอบคุณนะที่ใส่ใจฉันและไม่อยากให้ฉันเจออะไรไม่ดี แต่ตอนนี้เธอยังไม่จำเป็นต้องออกโรงก็ได้เพราะฉันแค่จะแต่งกลอนเท่านั้นเอง ไม่มีใครตายหรอก”

เราจึงไม่ต้องเอาชนะหรือต่อสู้กับความกลัว แต่มองมันเป็นเพื่อนที่คอยห่วงใยเรา

เปรียบเสมือนตอนเราขับรถ เราอาจให้เพื่อนที่ชื่อว่าความกลัวขึ้นรถมากับเราได้ แต่เราต้องเป็นคนขับ และให้ความกลัวนั่งเบาะหลัง

จะได้ออกเดินทางกันซักที

—–

หนังสือ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” เริ่มขาดตลาดแล้ว หากหาซื้อไม่ได้ สามารถสั่งออนไลน์กับผม (พร้อมลายเซ็น) ได้ที่ bit.ly/tgimorder ครับ