ต้นเหตุแห่งความทุกข์

20150928_RootOfSuffering

จั่วหัวมาเหมือนจะเข้าแนวธรรมะ และมีภาษาบาลีอย่าง “อวิชชา” หรือ “ตัณหา”

แต่เปล่าครับ วันนี้ผมจะไม่พูดเรื่องทุกข์ในรูปแบบนั้น

วันนี้ผมมีวิธีอธิบายความทุกข์ที่ “วัยรุ่น” กว่านั้นมาแชร์ให้ฟังครับ

ขอแอบโฆษณานิดๆ ว่า “ปิ๊ง” คอนเซ็ปต์นี้ขึ้นได้เองเมื่อหลายปีที่แล้ว และแอบภูมิใจอยู่ลึกๆ

แต่แล้วก็มารู้ทีหลังว่าสิ่งที่ปิ๊งขึ้นมานั้นไม่ใช่ความคิดที่ลึกซึ้งอะไร เพราะคนอื่นๆ ก็คิดได้คล้ายๆ กันเพียงแต่อาจจะใช้ศัพท์ที่ต่างกันนิดหน่อย

ต้นเหตุของความทุข์คืออะไร?

ผมว่าความทุกข์เกิดจากการที่ความจริงไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของเรา – suffering happens when reality doesn’t match your expectation.

ตัวอย่างที่ 1:

เย็นวันนี้รถติดมากๆ ผมขับรถออกจากออฟฟิศแฟนตอนห้าโมงครึ่ง แต่รถไปติดบนทางด่วนนานเกือบสองชั่วโมง

ความหงุดหงิดเกิดขึ้นทันที่ เพราะผมคาดหวังเอาไว้ว่าจะถึงบ้านก่อนหนึ่งทุ่ม แต่ตอนที่อยู่บนทางด่วน รถเขยิบนาทีละไม่กี่เมตร ก็รู้ซึ้งถึงความจริงว่า กว่าจะถึงบ้านก็คงล่วงเลยถึงสองทุ่มเป็นแน่แท้

สิ่งที่คาดหวังกับความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน ความทุกข์จึงเกิด

ตัวอย่างที่ 2:

ผู้ชายอย่างเราบางทีก็พูดอะไรไม่ค่อยคิด จนทำให้แฟนเสียใจและน้อยใจ พอแฟนน้อยใจผมก็พยายามขอโทษ แต่แฟนก็ยังโกรธอยู่ดี พอง้อไปสักพักยังไม่เห็นอาการดีขึ้น ผมก็ชักจะเริ่มไม่โอเคแล้ว เพราะผม “คาดหวัง” ว่าแฟนควรหยุดโกรธได้แล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือแฟนยังโกรธอยู่

เมื่อความคาดหวังกับความจริงไม่สอดคล้องกัน ผมก็เลยพลอยทุกข์ใจตามไปด้วย

ลองถามตัวคุณเองก็ได้ครับว่า สถานการณ์ที่ทำให้คุณทุกข์ใจนั้น เข้าล็อค “ความจริง กับ ความคาดหวัง ไม่สอดคล้องกัน” อย่างที่ผมว่ารึเปล่า

  • เราอกหัก เพราะว่าเราคาดหวังให้เขารักเราเหมือนอย่างที่เรารักเขา
  • เราเจ็บปวดเมื่อคนที่เรารักจากเราไป เพราะเราคาดหวังให้เขาอยู่กับเราไม่ไปไหน
  • เราร้อนรนเวลาใครมานินทาเราเสียๆ หายๆ เพราะเราคาดหวังให้เขาพูดแต่ความจริง

เมื่อความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากการ mismatch ดังนั้นถ้าจะหายทุกข์ได้ก็มีสองทาง

คือเปลี่ยนความจริง หรือไม่ก็เปลี่ยนความคาดหวัง

การเปลี่ยนความจริงทำได้ครับ แต่เหนื่อยหน่อย เหมือนอย่างที่สตีฟ จ๊อบส์และแอปเปิ้ลเปลี่ยนโลกแห่งการฟังเพลงและโทรศัพท์มือถือมาแล้ว

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกอย่างพวกเรา การเปลี่ยนความคาดหวังน่าจะเป็นวิธีที่เรียบง่ายกว่าและเหนื่อยน้อยกว่ากันเยอะ

แม้จะเป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่ก็ใช่ว่ามันจะง่ายดายนะครับ (Simple but not easy)

เพราะเราคุ้นชินกับการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด และจิตใต้สำนึกเราก็เรียกร้องให้โลกหมุนไปตามใจเรา แม้จิตสำนึก (สมอง) จะรู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

แล้วจะบรรเทาอาการอย่างนี้ได้อย่างไร?

วิธีที่ผมพบว่าเวิร์คกับตัวเองที่สุดก็คือการฝึกรู้สึกตัวอยู่บ่อยๆ เพื่อให้เห็นว่าตอนนี้เรากำลังติดกับดัก “ความคาดหวัง” ที่ไม่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริง” อยู่รึเปล่า

เมื่อเรารู้ตัว ว่ากำลังทุกข์ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะครับว่า จะเลือกทุกข์ต่อไป หรือเลือกที่จะเปลี่ยนความจริง หรือเลือกที่จะเปลี่ยนความคาดหวังของตัวเอง

—–

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

One thought on “ต้นเหตุแห่งความทุกข์

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s