จะวิ่งไปพร้อมรถม้าหรือจะให้มันลากเราไป

หนึ่งในสิ่งที่ปรัชญาสโตอิกให้ความสำคัญมากที่สุด คือการโฟกัสแต่ในสิ่งที่เราควบคุมได้

เพราะความทุกข์ร้อนของเราล้วนเกิดจากการไม่ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

เมื่อสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น แล้วเราตีโพยตีพายหรือฟูมฟาย มันก็รังแต่จะทำให้เราเจ็บตัวและเจ็บใจมากกว่าเดิม

ลองนึกภาพสุนัขสองตัวที่ถูกผูกเชือกไว้กับรถม้า

สุนัขตัวแรกวิ่งตามทิศทางที่รถม้าพาไป และเพลิดเพลินไปกับการเดินทางและทิวทัศน์

ส่วนสุนัขตัวที่สองฝืนต้านรถม้าด้วยพละกำลังทั้งหมดที่มี และลงท้ายด้วยการโดนรถม้าลากไปตลอดทาง

สุดท้ายแล้วสุนัขทั้งสองย่อมไปถึงจุดหมายเดียวกัน แต่ตัวที่สองสะบักสะบอมกว่ากันเยอะ

ยอมรับไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย ยอมรับไม่ได้แปลว่าถอดใจ ยอมรับไม่ได้แปลว่าไร้ความทะเยอทะยาน มันแค่หมายความว่าเมื่อสิ่งต่างๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตอนนี้ เราก็ควรยอมรับและทำในสิ่งที่ดีที่สุดที่สถานการณ์เอื้อให้เราทำได้

ไม่มีใครอยากให้ลูกป่วย ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว การไม่ยอมรับย่อมไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น จริงๆ แล้วมันทำให้ทุกอย่างแย่ลงด้วยซ้ำ

เป็นเรื่องปกติที่เราจะมองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นเรื่องปกติที่เราชอบหลอกตัวเองว่าทุกอย่างควรเกิดขึ้นตามใจเรา

แต่เราไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนั้น โลกไม่ได้เป็นไปดั่งใจแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะชวนทะเลาะกับพระเจ้าหรือโชคชะตา

เราจึงต้องมีสติปัญญาที่จะแยกแยะให้ได้ ว่าเมื่อไหร่ที่เราควรฝืน และเมื่อไหร่ที่เราควรวิ่งตามรถม้าไปครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ “สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน The Little Book of Stoicism” Jonas Salzgeber เขียน วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม แปล สำนักพิมพ์ Be(ing)