ถ้ามันใช่มันจะไม่ต้องฝืน

หนึ่งในคนที่ผมตามอ่านบล็อกทุกตอน คือ Morgan Housel ผู้เขียน The Psychology of Money

มอร์แกนเขียนบทความลงในบล็อกของ Collaborative Fund แต่เขียนไม่บ่อย อาจจะแค่เดือนละ 3-4 ตอน แถมยังไม่มีตารางการปล่อยงานที่แน่นอนอีกด้วย ซึ่งเจ้าของ Collaborative Fund ก็ไม่ได้ว่าอะไรและให้อิสระเต็มที่

เนื่องจากไม่ได้โดนบังคับด้วยเดดไลน์ มอร์แกนจึงเขียนต่อเมื่อเขามีเรื่องอะไรจะเขียนเท่านั้น เขาจึงแทบไม่เจอ writer’s block หรืออาการเขียนไม่ออกเลย

“Good ideas are easy to write, bad ideas are hard. Sounds obvious, but it’s the best quality signal of what you’re writing. Writers’ block usually reflects more about your ideas than your writing.”


James Clear เคยให้คำแนะนำไว้ว่า

“Look for situations where the energy is already flowing downhill. Invest in relationships where there is already mutual respect. Create products that tap into a desire people already have. Work on projects that play to your strengths.

And then, once the potential of the situation is already working for you, add fuel to the fire. Pour yourself into the craft. Act as if you have to outwork everyone else—even though the wind is at your back.

The idea is to sprint downhill, not grind uphill.”

เราจึงควรลงแรงและเวลากับสิ่งที่สอดคล้องและเป็นใจให้เราอยู่แล้ว มันคือการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่เหนือลมแทนที่จะอยู่ใต้ลม และแม้จะอยู่เหนือลมเราก็ยังออกแรงเต็มที่ และด้วยวิธีนี้จะทำให้เราไปได้เร็วและไกลกว่าคนอื่น


แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีเหมือน Morgan Housel ที่จะเขียนบทความเดือนละกี่ตอนก็ได้ บางคนไม่ได้มีทางเลือกมากขนาดนั้น ต้องทนทำสิ่งที่เราไม่ชอบเพราะมีภาระหน้าที่ต้องดูแล

แต่ผมก็อยากให้เราตั้งข้อสังเกตสองอย่าง

หนึ่ง เราถูกฝึกให้ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบและฝืนธรรมชาติมาตั้งแต่เด็ก เช่นห้ามคุยกันในห้องเรียน ถูกบังคับให้เรียนวิชาที่เราไม่ได้สนใจและไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์อะไรกับชีวิต วิธีการเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสำหรับการป้อนคนเข้าทำงานในโรงงานเพื่อจะได้มีความพร้อมเพรียงและมีวินัยเพื่อจะได้สร้าง productivity ให้กับเจ้าของโรงงานได้มากที่สุด

สอง นิทานช้างกับกิ่งไม้:

“นานมาแล้วชาวอินเดียใช้วิธีการนำลูกช้างมาฝึกให้เชื่อง โดยล่ามโซ่ ขนาดใหญ่ที่ขาของลูกช้างติดกับต้นไม้หรือซุงขนาดใหญ่ พละกำลังของลูกช้างเองไม่สามารถที่ทำให้ลูกช้างมีอิสระได้

ความพยายามหลายๆ ครั้งแล้วไม่สำเร็จนั้น ทำให้ลูกช้างจดจำว่ามันไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

และหลังจากความพยายามอย่างเต็มที่ในระยะเวลาที่นานพอ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ลูกช้างจะยอมแพ้ไปเอง และเชื่อว่าไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่อาจหนีไปไหนได้

ท้ายที่สุดเมื่อลูกช้างโตเต็มที่ มีน้ำหนักหลายตัน คนเลี้ยงก็อาจเพียงแต่ผูกช้างนั้นไว้กับกิ่งไม้ก็พอ มันจะไม่หนีไปไหน

อันที่จริงมันไม่คิดที่จะหนีไปไหนเลยด้วยซ้ำ”


การได้งานที่ใช่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ต้องพยายามเลย

กว่าที่ Morgan Housel จะได้อิสระเขียนบล็อกเดือนละกี่ตอนก็ได้ เขาเคยเขียนบทความลง The Motley Fool มาแล้วหลายพันบทความ

เวลาที่น้องในทีมต้องทำงานในหน้าที่ใหม่ ผมจะบอกเขาเสมอว่าอย่าคาดคั้นกับตัวเองเกินไป จงให้เวลาตัวเองอย่างน้อย 6 เดือนแล้วเราจะรู้ได้เองว่ามันเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา

หรือถ้าใครเพิ่งลองวิ่งครั้งแรก แค่กิโลแรกก็จะเป็นจะตาย ต้องทำซ้ำหลายครั้งถึงจะเริ่มอยู่ตัวและตอบตัวเองได้ว่าชอบการวิ่งหรือไม่

และถึงได้ทำสิ่งที่ใช่แล้วมันก็ยังเหนื่อยอยู่ดี แต่เหนื่อยแล้วรู้สึกว่ามันคุ้ม เหนื่อยแล้วมันเติมเต็มเราได้

ส่วนถ้าใครรู้สึกว่าทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบมานานเกินพอ หรือเพิ่งรู้ตัวว่าขาของเราผูกเชือกกับกิ่งไม้ตลอดมา ก็อย่ากลัวที่จะคิดใหม่ทำใหม่

เพราะถ้ามันใช่มันจะไม่ต้องฝืนครับ