จำได้ว่าเมื่อตอนต้นปี ผมได้เล่าให้ฟังว่ากำลังจะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ด้วยการซื้อบ้านใหม่
ตอนนี้เป็นหนี้เรียบร้อยแล้วครับ อยู่ในช่วงรอเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาที่จะมาเติมครัวไทยและส่วนอื่นๆ ภายในบ้าน และหวังว่าพวกเราจะได้ย้ายเข้าบ้านใหม่ภายในเดือนกันยายนนี้
โจทย์ใหญ่ที่ผมกับแฟนคุยกันมาตลอด ก็คือจะทำอย่างไรให้บ้านหลังใหม่ไม่รก
ต้องขอสารภาพตามตรงว่าบ้านที่อยู่ปัจจุบันรกได้ที่ทีเดียว
สาเหตุหนึ่งเพราะทุกคนในบ้านมีภารกิจทุกวัน และเราก็ไม่มีแม่บ้านมาดูแลทำความสะอาดด้วย ภาระหนักจึงมักตกอยู่กับแม่ของผมในวันที่ไม่ได้ออกไปไหน
เอาเข้าจริง ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ว่าจะย้ายบ้านมากี่ครั้ง หรือจะมีคนช่วยทำความสะอาดหรือไม่ บ้านผมก็ยังไม่เคยเรียบร้อยเหมือนบ้านคนอื่นเขา
เผอิญใน Quora มีคนพูดถึงหนังสือเรื่อง The Life-Changing Magic of Tidying ที่เขียนโดย Marie Kondo (มาริเอะ คนโด) หญิงสาวชาวญี่ปุ่น
หนังสือเล่มนี้ขายไปแล้วถึง 1.5 ล้านเล่ม ผมเลยลองไปซื้อมาอ่าน ตอนนี้อ่านได้เกือบครึ่งเล่มแล้ว
ตอนแรกกะว่า ไว้ผมอ่านจบทั้งเล่ม และได้ลองกับที่บ้านเมื่อไหร่ ก็ว่าจะเอามาเล่าให้ฟัง
แต่เผอิญวันนี้ผมอ่านเจอตอนหนึ่งที่มันโดนใจผมมาก เพราะคุณมาริเอะชี้ให้ผมเห็นถึงมุมมองที่ไม่เคยคิดมาก่อน เลยอยากเอามาเล่าให้ฟังก่อนเป็นน้ำจิ้ม
เป็นเรื่องการเก็บถุงเท้าครับ
คุณเก็บถุงเท้าด้วยวิธีไหน?
ผมเคยเห็นมาสี่วิธี
1. เอาถุงเท้าสองข้างมาซ้อนกัน ม้วนขึ้นไป แล้วปลิ้นเอาปลายเปิดมาหุ้มถุงเท้าไว้ทั้งหมดจนกลายเป็นลูกบอล
2. เหมือนวิธีข้างบน แต่แทนที่จะใช้ถุงเท้าหุ้ม ก็ใช้หนังยางรัดแทน
3. เอาถุงเท้ามาซ้อนกัน แต่ไม่ม้วน แค่ปลิ้นปลายมาหุ้มปลายอีกข้าง (อันนี้แม่บ้านของผมที่นิวซีแลนด์ชอบใช้)
4. เอาถุงเท้ามาซ้อนกัน แล้วผูกเงื่อนเหมือนผูกเชือก
พอทำตามข้อใดในสี่ข้อนี้แล้ว เราก็จะเก็บเข้าลิ้นชัก
สิ่งที่แมริเอะบอกก็คือ ห้ามม้วนถุงเท้าเป็นลูกบอลหรือเอาถุงเท้ามาผูกกันเด็ดขาด
เรารู้กันดีว่าวิธีที่หนึ่งนั้นจะมีผลเสียทำให้ยางยืดในถุงเท้าเสื่อมเร็ว
แต่มาริเอะไปไกลยิ่งกว่านั้น
เธอบอกว่าวิธีการเก็บแบบนั้นจะทำให้ถุงเท้าไม่ได้พัก
ถุงเท้าไม่ได้พัก??!!
ใช่ครับ เธอบอกว่า ลองคิดดูสิ เวลาถุงเท้ามันรับใช้เรา มันต้องรับภาระหนักแค่ไหน ต้องทนให้เราเหยียบทั้งวัน ทั้งร้อน ทั้งชื้น ทั้งเหม็น เพื่อปกป้องเท้าที่เรารักไม่ให้โดนรองเท้ากัด
ช่วงเวลาหลังจากถูกซักและมาอยู่ในลิ้นชักของเรานี่แหละ คือช่วงเวลาเดียวที่มันจะได้พักผ่อน หลังจากต้องตรากตรำงานหนัก
แต่แทนที่มันจะได้พักผ่อน เรากลับจับมันมาทำเป็นลูกบอล แล้วก็โยนกองๆ กันไว้ เวลาเราเปิดลิ้นชักที มันก็ต้องกระเด็นกระดอนทุกครั้ง
แล้วถ้ามีถุงเท้าคู่ไหนโชคร้ายดันไปตกอยู่ด้านในสุดของลิ้นชัก กว่าเราจะเจอแล้วหยิบมันมาใส่ ก็สายไปเสียแล้ว เพราะว่ายางยืดหมดแล้ว รอเพียงเวลาโดนทิ้งลงถังขยะเท่านั้น
ถ้าถุงเท้ามันพูดได้ มันก็คงตัดพ้อว่า “ทำไมนายทำกับเราแบบนี้?”
ผมงี้อึ้งไปเลย…
ฝรั่งคิดแบบนี้ไม่ได้แน่
แล้วมาริเอะก็สอนวิธีการพับถุงเท้าที่ถูกต้องครับ อธิบายเป็นคำพูดจะงงเสียเปล่าๆ ดูวีดีโอเอาง่ายกว่า
(คนในวีดีโอนี้ไม่ใช่มาริเอะนะครับ ถ้าอยากเห็นหน้าให้ดูวีดีโอนี้แทน)
บ่ายนี้พอดีมีเวลาว่างเลยขอลองซักหน่อย
ผมกับแฟนแชร์ลิ้นชักที่ใส่ถุงเท้าด้วยกัน โดยแฟนเค้าจะซื้อกล่องสีดำจาก Ikea มาเอาไว้ใส่ของอีกที
พอเอากล่องออกมาดูก็อดละอายใจไม่ได้ที่ถุงเท้าของผมไปกินพื้นที่กล่องถุงเท้าของแฟนเกือบหมดเลย
กล่องถุงเท้าผม
กล่องถุงเท้าแฟนที่โดนถุงเท้าผมรุกราน
ว่าแล้วก็ลองพับถุงเท้าด้วยวิธี KonMari (มาจากชื่อผู้เขียนหนังสือ ลองหาคำนี้ใน Youtube ดูครับ ฝรั่งกำลังเห่อวิธีนี้มาก)
ระหว่างที่ทำก็จะเห็นเลยว่า วิธีเก็บถุงเท้าแบบเดิมนั้นทำให้ถุงเท้ามัน “เครียด” และ “ทรมาน” แค่ไหน
ถุงเท้าบางคู่ ก็ยางยืดและมอมเหลือเกินแล้ว และผมก็ใช้เทคนิค KonMari อีกครั้ง ด้วยการหยิบถุงเท้าขึ้นมาแล้วถามตัวเองว่า “Does it spark joy?” – เวลาเราสัมผัสและมองถุงเท้าคู่นี้แล้ว มันทำให้เรามีความสุขรึเปล่า?
มาริเอะบอกว่า ถ้าไม่มีความสุขหลงเหลืออยู่ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บมันไว้ ให้ขอบคุณถุงเท้าคู่นั้นที่ได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสมบูรณ์แล้ว และเก็บลงถุงซะ (ส่วนจะเอาไปบริจาคหรือไปทิ้งนั้นก็เป็นเรื่องของเรา)
ถุงเท้าที่ลาจากกันด้วยดี
หลังจากใช้เวลาเกือบชั่วโมง ก็ได้ผลลัพธ์แบบนี้ครับ
กล่องถุงเท้าผม
กล่องถุงเท้าแฟน (แถวบนมีถุงเท้าผมแทรกอยู่ด้วย)
สองกล่องวางคู่กัน
ก็น่าสนใจว่า จะเรียบร้อยอย่างนี้ไปได้ซักกี่น้ำ (ไว้จะมารายงานผล) เพราะใช่ว่าเราจะมีเวลามานั่งทำอย่างนี้ได้บ่อยๆ
แต่ระหว่างนั่งพับถุงเท้า ผมกลับรู้สึกว่ากิจกรรมนี้สร้างสรรค์กว่าเล่นมือถือเยอะเลย เหมือนเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง แถมเป็นการได้คุยกับตัวเองด้วย
เลยคิดว่าวันธรรมดาเวลากลับถึงบ้าน ก่อนจะเล่นมือถือ ถ้านั่งพับถุงเท้าซักสองสามคู่ก็น่าจะทำได้นี่นะ
อีกสิ่งหนึ่งที่ “ผุด” ขึ้นมาก็คือ รอยยับในถุงเท้า (หรือความรกในบ้านเรา) สุดท้ายแล้วมันก็จะสะท้อนมาเป็นรอยยับในใจเรานี่แหละ เลยยิ่งมีแรงจูงใจที่จะเก็บบ้านให้สะอาดมากขึ้นไปอีก
ผมเอากล่องที่ใส่ถุงเท้า เก็บเข้าลิ้นชัก ส่วนถุงเท้าฟุตบอลคู่ใหญ่ๆ ก็พับครึ่งและม้วนเป็นซูชิโรลวางไว้ด้านนอกกล่อง
ไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมรึเปล่า…
ผมว่าถุงเท้ากำลังยิ้มให้ผมอยู่
Pingback: วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari | Anontawong's Musings
Pingback: จะรีบไปไหน | Anontawong's Musings
ผมเพิ่งอ่านจบเมื่อวานนี้เลยครับ หนังสือดีมากครับ แนะนำเป็นอย่างยิ่ง
LikeLike
กำลังจะหามาอ่านบ้างพอดี แบบนี้ต้องรีบซื้อแล้วสิ
LikeLiked by 1 person