เมื่อวันอังคารผมโพสต์บทความ “วิธีเอาผิดของคนโบราณ” โดยเขียนว่าหลังอ่านข่าวเรือดำน้ำแล้วผมคิดถึงกฎกติกาที่บังคับให้คนทำงานมี skin in the game มากกว่านี้
ปรากฎว่าเป็นโพสต์ที่มีคนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างดุเดือด แต่ก็เห็นเจตนาดีของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านการซื้อเรือดำน้ำ
โพสต์เฟซบุ๊คเรื่องเรือดำน้ำที่มีคนอ้างอิงถึงค่อนข้างเยอะคือโพสต์ของคุณ Kantapon Sukraranga ที่เขียนไว้เมื่อวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม จั่วหัวว่า “ตอบประเด็นร้อนเรื่อง เรือดำน้ำ ฉบับเข้าใจง่าย” เข้าไปอ่านเนื้อหาและอ่านคอมเม้นท์กันได้ครับ
กรณีเรื่องเรือดำน้ำทำให้ผมคิดได้ว่านี่มันไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำ
แต่มันเกี่ยวพันกับเรื่องเพื่อนยืมนาฬิกา เรื่องบอสขับรถชน เรื่องจำนำข้าว เรื่องโควิด เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องชูสามนิ้ว และเรื่องอะไรต่อมิอะไรที่ทำให้ประชาชนบางส่วนขาดศรัทธาต่อรัฐบาล
พอไว้ใจอะไรๆ ก็ง่าย พอไม่ไว้ใจอะไรๆ มันก็ดูยากไปหมด
ถามว่าคนที่ต่อต้านนั้นไม่รู้จักแยกแยะรึเปล่า จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนเราไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล ข้อมูล และตรรกะเพียงอย่างเดียว อย่างไรเสียอารมณ์ก็เข้ามาเกี่ยวข้อง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องมีศาสตร์อย่าง behavioral economics เพราะทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมที่บอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลนั้นไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ได้ดีเพียงพอ
ภรรยาโกรธบ้านแตกไม่ใช่เพราะแค่สามีกลับบ้านดึก
พนักงานลาออกไม่ใช่แค่เพราะโดนเจ้านายดุ
แบรนด์โดนถล่มไม่ใช่เพราะทำพลาดแค่หนเดียว
มันมีเหตุการณ์นับร้อยนับพันอย่างก่อนหน้านี้ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน แม้ว่ามันจะดูไม่เกี่ยวกันแค่ไหนก็ตาม
เรื่องเรือดำน้ำไม่ใช่แค่เรื่องเรือดำน้ำ
แนวคิดนี้เอาไปอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตของเราได้หลายอย่างเลยนะครับ