เมื่อสองวันก่อนนี้ผมเขียนถึงดวงจันทร์ของแต่ละคน
วันนี้ก็มีเรื่องเกี่ยวกับดวงจันทร์มาเล่าให้ฟังอีกเช่นกัน
ถ้าใครเข้าร้านหนังสือสัญชาติฝรั่งอย่าง Kinokuniya หรือ Asia Books อาจจะเห็นหนังสือเล่มนี้ผ่านหูผ่านตาบ้าง
หนังสือชื่อเชยๆ เรื่อง The ONE Thing เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านเมื่อปีที่แล้วครับ
ในช่วงแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ แกรี่ เคลเล่อร์ (Gary Keller) ได้เปรียบเปรยคววามหมายของการทำ The One Thing กว่าคล้ายๆ กับโดมิโน
เชื่อว่าหลายท่านอาจจะเคยเอาโดมิโน่มาวางเรียงกัน แล้วพอสะกิดให้ตัวแรกล้ม โดมิโนตัวถัดไปก็จะล้มตามกันไปเรื่อยๆ
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ
ในทศวรรษ 1980 (ยุคเอทตี้ส์) นักฟิสิกส์เคยทำการทดลองเอาโดมิโนมาวางเรียงกัน แต่โดมิโนแต่ละตัวจะมีขนาดไม่เท่ากัน โดยโดมิโนตัวถัดไปจะใหญ่กว่าโดมิโนชิ้นก่อนหน้า 1.5 เท่า
สมมติว่าโดมิโนชิ้นแรกสูง 2 นิ้ว
ชิ้นที่สองก็จะสูง 3 นิ้ว (2×1.5)
ชิ้นที่สามสูง 4.5 นิ้ว (3×1.5)
ชิ้นที่สี่สูง 6.75 นิ้ว (4.5×1.5)
ฯลฯ
และในการทดลอง นักฟิสิกส์กลุ่มนี้สามารถจัดเรียงโดมิโนจากเล็กไปใหญ่ และเมื่อล้มโดมิโนตัวแรกแล้ว มันก็พาโดมิโนตัวอื่นๆ ล้มตามไปด้วย ซึ่งรวมถึงตัวสุดท้ายที่โดมิโนขนาด 3 ฟุต หรือ 36 นิ้ว
สิ่งนี้คือกระบวนการที่เรียกว่า geometric progression หรือการก้าวหน้า/เติบโตแบบทวีคูณ
ถ้าโลกมีพื้นที่พอ และเราสามารถสร้างโดมิโนที่ใหญ่ขึ้น 1.5 เท่าไปได้เรื่อยๆ ลองเดามั้ยครับว่า ต้องใช้โดมิโนกี่ตัวถึงจะล้มโดมิโนที่สูงเท่าหอไอเฟลได้?
คำตอบคือ 23 ตัวครับ
น้อยกว่าที่คิดใช่มั้ย?
แล้วคุณลองเดาซิว่า โดมิโนตัวที่เท่าไหร่ที่จะล้มไปแตะดวงจันทร์ได้?
57 ตัวครับ* (น้อยกว่าที่คิดอีกแล้วใช่มั้ย)
The One Thing คือการทำสิ่งที่สำคัญที่สุดเดี๋ยวนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายปัจจุบัน อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป
และนี่คือความเจ๋งของ geometric progression ครับ เพราะแม้ในช่วงแรกเราอาจจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่าง แต่ถ้าเราเพียรทำในสิ่งที่เราให้ความสำคัญอย่างไม่ลดละ เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว อาจจะติดลมบนจนฉุดไม่อยู่เลยก็ได้
คล้ายกับบล็อกที่ผมเคยเขียนเอาไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า เพียงแค่เราทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานแค่ 1% พอครบปีเราจะเก่งขึ้นถึง 36 เท่า
หากเราจัดเรียงโดมิโนให้ดีๆ แล้วมุ่งความสนใจไปที่การล้มโดมิโนแต่ละตัวอย่างตั้งใจ
ไม่ช้าไม่นาน เราก็จะไปถึงดวงจันทร์ได้เช่นกันครับ
—–
* หมายเหตุ 57 ตัวจริงรึเปล่า? ในฐานะเด็กเก่งเลขอย่างเราต้องขอพิสูจน์หน่อย วิธี เพียงเอา 1.875 (ความสูงมาตรฐานของโดมิโน หน่วยเป็นนิ้ว) คูณ 1.5 ไป 56 ครั้ง แล้วคูณด้วย * 0.0000254 เพื่อแปลงเป็นกิโลเมตร
1.875*1.5^56*0.0000254 = 345,896 กิโลเมตร
ส่วนระยะทางจากโลกถึงพระจันทร์คือประมาณ 384,400 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย (ระยะทางระหว่างพระจันทร์กับโลกจะอยู่ในช่วง 363,104 ถึง 405,696 กิโลเมตร)
Source: The ONE Thing
Pingback: ข้อดีของการรู้ว่าอะไรสำคัญ | Anontawong's Musings