ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา กระแสการ “ลาออกเพื่อไปทำสิ่งที่เรารัก” นั้นมาแรงมาก
เห็นได้จากชื่อปกหนังสือขายดีเช่นการลาออกครั้งสุดท้าย ลาออกซะถ้าอยากรวย งานไม่ประจำทำเงินกว่า ฯลฯ ก็พอจะบอกได้ว่าการ follow your passion นั้นได้กลายเป็น fashion ไปแล้ว
วันนี้เลยขอมาสวนกระแสซักหน่อยนะครับ
ด้วยเหตุผลเดิม คืออยากจะเพิ่มมุมมองใหม่ๆ ให้กับคนหนุ่มสาวที่กำลังคิดจะลาออกจากงานประจำเพื่อไปตามล่าความฝัน โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ของบทความนี้จะมาจากหนังสือ So Good They Can’t Ignore You: Why Skills Trump Passion in the Quest for Work You Love ของ Cal Newport ครับ
The Passion Hypothesis – สมมติฐานความหลงใหล
สมมติฐานนี้กล่าวไว้ว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีความสุขกับงานที่ทำ คือหาให้เจอว่าอะไรคือสิ่งที่คุณหลงใหล แล้วจงทำงานที่สอดคล้องกับความหลงใหลนั้น
แต่คาล ผู้เขียนหนังสือ บอกว่าสมมติฐานนี้อาจจะไม่เวิร์คก็ได้
เพราะตอนเราเริ่มทำงาน เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เรารักและหลงใหลจริงๆ คืออะไรกันแน่ และการได้ทำสิ่งที่หลงใหลนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่จะทำให้เรามีความสุขกับงาน
คนที่เอาแต่ตามหางานที่ตัวเองหลงใหล จึงมีความเสี่ยงที่จะไม่มีความสุขกับงานที่อยู่ตรงหน้า และเปลี่ยนงานบ่อยเพราะมัวแต่ “ตามหางานที่ใช่”
แต่นั่นไม่ใช่ทางเดียวที่จะมีความสุขกับการทำงานนะครับ
แล้วความสุขจากการทำงานเกิดจากอะไรได้อีกบ้าง?
เคยมีการสำรวจความเห็นของเลขาจำนวนหนึ่ง ว่าพวกเขามีความรู้สึกต่องานเป็นอย่างไรระหว่าง job, career และ calling
สามอย่างนี้คือ “งาน” เหมือนกัน แต่มีความลึกซึ้งไม่เท่ากัน
job คืองานอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้เงินมาเลี้ยงชีพ
career คืองานที่เราเห็นภาพว่าอยากจะเติบโตและก้าวหน้าในทางนี้
calling คืองานที่เรารู้สึกว่า เราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้
ในจำนวนเลขาที่ถูกสำรวจนั้น หนึ่งในสามบอกว่างานตัวเองเป็นเพียง job หนึ่งในสามบอกว่ารู้สึกเหมือนเป็น career และไม่น่าเชื่อว่าหนึ่งในสามของคนที่ทำงานเลขาอันดูแสนน่าเบื่อ จะมองว่างานนี้คือ calling ของตัวเอง
ทราบหรือไม่ครับว่า อะไรคือปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนกลุ่มสุดท้ายมองว่างานเลขาคือ calling ของตัวเอง?
ปัจจัยหลักคือระยะเวลาที่อยู่กับงานนั้นครับ
โดยนักวิจัยมองว่ายิ่งได้อยู่กับงานนั้นนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำพามาซึ่งอีกสองอย่างคือ ความสามารถในการทำอะไรโดยไม่ต้องให้ใครมากะเกณฑ์ และยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งรู้จัก สนิทสนม และผูกพันกับคนที่ทำงานด้วยมากยิ่งขึ้น
สามสิ่งนี้ – mastery (ความเชี่ยวชาญ), autonomy (การได้ทำงานโดยไม่มีใครมาจ้ำจี้จำไช) และ relatedness (ความรู้สึกผูกพันกับคนรอบข้าง) คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีความสุขกับงานไม่แพ้การได้ทำสิ่งที่เรารัก
ลอร่า เป็นนักบัญชีที่หลงใหลโยคะมาก ขนาดลงทุนไปลงเรียนคอร์สโยคะถึงอินเดีย เมื่อเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งจึงตัดสินใจลาออกจากงานบัญชีมาเปิดโยคะสตูดิโอของตัวเอง ซึ่งในช่วงแรกก็ทำได้ดี แต่พอปี 2008 ที่อเมริกามีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ลอร่าไม่สามารถจะนำพาสตูดิโอให้อยู่รอดได้ เพราะเธอมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการสตูดิโอโยคะน้อยมาก สุดท้ายเธอจึงจำต้องปิดสตูดิโอลง และใช้ชีวิตอยู่อย่างกระเบียดกระเสียร
สิ่งที่เธอทำให้ไม่ถึงฝั่งฝัน ทั้งๆ ที่เธอทำสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะว่าเธอมี “ต้นทุนทางวิชาชีพ” ไม่พอ
ต้นทุนทางวิชาชีพ หรือ career capital คือสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ลอร่าซึ่งมีต้นทุนทางวิชาชีพเรื่องงานบัญชี กลับทิ้งมันไปและเลือกสร้างธุรกิจที่เธอมีไม่มีต้นทุนทางวิชาชีพเลย (การบริหารจัดการโยคะสตูดิโอ)
สำหรับเด็กไทยรุ่นใหม่ ที่ฝันอยากจะออกไปทำธุรกิจของตัวเอง ต้องถามด้วยว่า เรามี career capital หรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว ตลาดจะจ่ายเงินให้เราก็ต่อเมื่อเรามีทักษะหรือมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าต่อตลาด ถ้าเราออกไปทำอะไรเองโดยที่ไม่มีต้นทุนทางความสามารถเลย สินค้าหรือบริการของเราก็จะไม่มีความแตกต่างกับสินค้าที่มีอยู่แล้ว และไม่สามารถดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจได้
ดังนั้น ก่อนจะลาออกไป follow your passion เราควรจะใช้เวลาในการสะสม career capital บ้าง
แล้วเราจะสะสมต้นทุนทางวิชาชีพได้อย่างไร?
ด้วยการใช้ craftsman mindset ครับ
เวลาเราทำงาน เราสามารถมีทัศนคติกับงานได้สองแบบ คือแบบ passion mindset และแบบ craftsman mindset
passion mindset คือทำเฉพาะงานที่ตัวเองชอบเท่านั้น เราจะคอยถามตัวเองตลอดเวลาว่างานนี้ให้ความสุขกับเรารึเปล่า – what value does the job bring to me? ถ้างานที่เราทำไม่สร้างความสุขให้เรา เราก็หางานใหม่
ส่วน craftsman mindset คือใช้ทัศนคติแบบช่างฝีมือ ที่ต้องการจะเก่งงานนี้ขึ้นไปเรื่อยๆ คำถามที่เราถามจึงไม่ใช่ว่างานนี้ทำให้เรามีความสุขรึเปล่า แต่เป็นคำถามว่าเราสามารถสร้างคุณค่าอะไรให้กับงานนี้ได้บ้าง – what value can I bring to this job?
passion mindset คือเน้นที่ความสุขที่ได้จากงานในตอนนี้
craftsman mindset คือเน้นที่การพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้สร้างคุณค่ากับงานของเราได้มากยิ่งกว่าเก่า
คนที่ใช้ passion mindset พอเจองานที่ไม่ถูกใจ ก็จะลาออกไปอยู่ที่อื่น หรือไปทำงานสายอื่น จนไม่มีโอกาสได้สะสมต้นทุนทางวิชาชีพอย่างจริงจังเสียที
ขณะที่คนที่ใช้ craftsman mindset จะมีความอดทนและมีวิริยะพอที่จะอยู่กับงานชิ้นนั้นๆ จนกว่าเขาจะเก่งขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เขาสนุกกับงานมากขึ้นด้วย
คนที่มี craftsman mindset คือคนที่พัฒนาตัวเองไม่หยุดหย่อนจนมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาด คนกลุ่มนี้จะมีพลังในการต่อรองสูง ทั้งในแง่ค่าตอบแทนและอิสรภาพในการทำงาน
ยังมีอีกหลายประเด็นที่หนังสือ So good they can’t ignore you กล่าวถึง แต่เกรงว่าจะทำให้บล็อกตอนนี้เยิ่นเย้อเกินไป เลยจะขอเก็บไว้เล่าในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ
ประเด็นหลักของบทความนี้ก็คือ การออกตามหาสิ่งที่รักหรือ follow your passion เป็นเรื่องดี แต่บางทีก็อาจจะเป็นวิธีมองโลกที่จำกัดตัวเองเกินไป และอาจทำให้เราด่วนตัดสินใจเกินไปหน่อย
เพราะการได้ทำสิ่งที่รัก ไม่ใช่วิธีเดียวที่จะมีความสุขกับงานได้ แต่การรักในสิ่งที่ทำและมุ่งสู่ความเป็นเลิศในทางนั้นก็ทำให้เรามีความสุขได้เช่นกัน
ดังนั้น ก่อนจะลาออกไปทำสิ่งที่รัก ลองมา “เอาจริง” กับงานที่อยู่ตรงหน้ากันซักตั้งก่อนมั้ย
มาทำตัวเองให้เก่งจนใครๆ ก็ต้องมองมาที่เรา – be so good they can’t ignore you
แล้วโอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่รัก (แถมยังได้เงินดี) จะวิ่งเข้าหาเราแน่นอนครับ
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ So good they can’t ignore you by Cal Newport
(ผมเองซื้อหนังสือมาอ่านหนึ่งรอบ และก่อนจะเขียนบทความนี้ผมก็เปิด Blinkist เพื่อสรุปหนังสือให้ฟังอีกรอบ โดย Blinkist คือแอพ/เว็บที่สรุปหนังสือให้อ่าน/ฟังภายในเวลา 15 นาที ถ้าคุณผู้อ่านใจดีสมัครฟรีผ่านลิงค์นี้ ผมจะได้ค่าขนม 50 เซ็นต์ครับ)
อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/
อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)
ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่”
ขอบคุณภาพจาก Pexels.com
Pingback: ก่อนจะลาออกไป Follow Your Passion — Anontawong’s Musings – ธรรมะธรรมชาติ
Pingback: คำถามที่สตีฟจ็อบส์ถามตัวเองทุกเช้า | Anontawong's Musings
Reblogged this on wasaket.
LikeLike
บทความนี้เป็นบทความนึงของพี่ที่ผมชอบเป็นลำดับต้นๆเลยครับพี่รุฒม์ 🙂
LikeLike
ขอบคุณมากครับ ได้ประโยชน์มากครับ
LikeLike
ชอบมากค่ะ ตั้งใจอ่านทุกตัวอักษรเลย เราจะเป็น Craftsman mindset ต่อไปเพื่อเพิ่มต้นทุนของเราไปเรื่อยๆแบบไม่มีเบื่อ เพราะเราเจองานที่เป็น passion mindset ของเราตอนเป็นCraftsman ในปัจจุบันเนี่ยแหละเราว่าเจ๋งดีออก ได้ทำสองอย่างควบคู่กันไป เวลาสามารถพิสูจน์อะไรได้หลายๆอย่างและสร้างคนให้เป็นคนมีคุณค่าได้ดีเยี่ยมจริงๆนะคะ
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆเราแชร์ให้เพื่อนได้อ่านละนะ^^
LikeLiked by 1 person
บทความนี้ชอบมากเลยครับ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เดินตามหาฝันของตัวเอง และค้นหาสิ่งที่ใช่ จากสิ่งที่ได้ทำ
การได้มีความสุขกับงานที่ทำมันทำให้เราทุ่มเทได้ดี และพัฒนาตัวเองได้ดีจริงๆนะครับ เป็นกำลังให้กับทุกคนที่กำลังเริ่มต้นชีวิตทำงานนะครับ
LikeLiked by 1 person
ผมเห็นด้วยครับ จริงๆการเดินตามความฝันเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่โลกของความเป็นจริง เราจำเป็นต้องมีต้นทุนที่ทำให้มันเป็นไปได้จริงด้วย เช่น นิสัยที่อบรมมาดี นิสัยที่อดทน ความรู้จริง ความเข้าใจจริง และ ประสบการณ์ที่ช่วยสนับสนุนเราได้จริงๆ
LikeLiked by 1 person
มีปัญหากับคน ยิ่งอยู่นาน ยิ่งเป็นปัญหาทางจิตมากขึ้น คนคาดหวังมากขึ้น งานที่ให้ ไม่ได้ง่ายขึ้นกลับยากขึ้น ไม่สามารถSet Craftman Mindsetได้เพราะยิ่งอยู่นาน งานไม่ได้ทำให้เชี่ยวชาญขึ้น คนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเริ่มไม่เชื่อใจ การอยู่ต่อกรณีนี้ไม่มีความหมาย
LikeLiked by 1 person
ขอบคุณบทความนี้มากๆเลยค่ะ เพราะอ่านแล้วตึงสติตัวเองกลับมาคิดพิจารณาไตร่ตรองในการตัดสินใจของตนเองใหม่อีกครั้ง
LikeLiked by 1 person