พระเจ้าสองพระองค์ของผู้เขียน Sapiens

บริษัท Google จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการมาร่วมพูดคุยให้พนักงานฟังภายใต้ชื่อ Talks at Google

หนึ่งในแขกรับเชิญคือ Yuval Noah Harari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens, Homodeus, และ 21 Lessons for the 21st Century

นี่คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาครับ

พิธีกร: คุณเขียนเอาไว้ในหนังสือ “21 Lessons” ว่าพระเจ้าตายแล้วหรือพระเจ้ากลับมาแล้ว และบทบาทของศาสนาที่มีต่อการพัฒนาของมนุษย์ คุณคิดว่ายังมีพื้นที่ให้พระเจ้าสำหรับความหมายและจุดมุ่งหมายของชีวิตอยู่รึเปล่า?

ฮารารี: มันก็แล้วแต่คำจำกัดความนะ เพราะพระเจ้ามีหลายรูปแบบมาก และแต่ละคนก็เข้าใจคำว่าศาสนาไม่เหมือนกัน

ในหัวของเรามักจะมีพระเจ้าสองพระองค์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

พระองค์หนึ่งคือพระเจ้าที่เป็นความลี้ลับของจักรวาล (cosmic mystery) เราไม่รู้ว่าทำไมถึงมีการก่อเกิดของสรรพสิ่ง (we don’t understand why there is something rather than nothing) เราไม่รู้ว่าทำไมถึงมีบิ๊กแบง เราไม่รู้ว่าสติสัมปชัญญะของมนุษย์คืออะไร (what is human consciousness) มีหลายอย่างในโลกที่เราไม่เข้าใจและบางคนก็เรียกความลี้ลับนี้ว่า “พระเจ้า”

พระเจ้าคือผู้ให้การก่อเกิดของสรรพสิ่ง พระเจ้าคือผู้มอบสติสัมปชัญญะและความตระหนักรู้ให้มนุษย์ แต่สิ่งที่เด่นชัดที่สุดสำหรับพระเจ้าองค์นี้คือเราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับท่านเลย (จะเรียกท่านว่า him, her, it หรือ they ก็ตาม) ไม่มีอะไรเกี่ยวกับพระองค์ที่เป็นรูปธรรม ทุกอย่างเกี่ยวกับพระองค์ล้วนเป็นความลี้ลับ และนี่คือพระเจ้าที่เรานึกถึงตอนนั่งล้อมวงรอบกองไฟกลางทะเลทรายและใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต

ผมไม่มีปัญหาอะไรกับพระเจ้าพระองค์นี้ ผมชอบท่านมาก (I have no problem with this God. I like him very much.)

[เสียงผู้ชมในห้องส่งหัวเราะ]

ส่วนพระเจ้าอีกองค์หนึ่งคือพระเจ้าผู้ออกกฎหยุมหยิม (petty lawgiver)

สิ่งที่เด่นชัดที่สุดสำหรับพระเจ้าองค์นี้คือเรารู้เกี่ยวกับท่านเยอะมาก เรารู้ว่าท่านคิดอย่างไรกับการแต่งตัวของผู้หญิง เรารู้ว่าพระองค์คิดอย่างไรในเรื่องรสนิยมทางเพศ (sexuality) เรารู้ว่าท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับอาหารและการเมือง เรารู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับพระองค์มากมาย และนี่คือพระเจ้าที่เราพูดถึงเวลาเราจับคนนอกรีตมาเผาทั้งเป็น – เพราะคุณได้ทำสิ่งที่พระเจ้าไม่ทรงโปรด (และเราก็รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับพระเจ้าองค์นี้) เราจึงจำเป็นต้องเผาคุณทิ้งเสีย

การพูดถึงพระเจ้าบางทีมันก็เลยเหมือนกับการเล่นมายากล พอเราถามว่าคุณรู้ได้ยังไงว่าพระเจ้ามีอยู่จริง คุณก็จะตอบว่าก็เพราะมีบิ๊กแบงไง เพราะมนุษย์มีความตระหนักรู้ไง วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งก็จริง

แล้วก็เหมือนดังนักมายากลที่แอบสลับไพ่ ดึงไพ่พระเจ้าอันลี้ลับออกไปแล้วใส่ไพ่พระเจ้าผู้ออกกฎหยุมหยิมเข้ามา แล้วคุณก็ได้ข้อสรุปแปลกๆ อย่าง “เพราะเราไม่เข้าใจบิ๊กแบง ผู้หญิงจึงต้องใส่เสื้อแขนยาว และผู้ชายไม่ควรมีเซ็กส์กับผู้ชายด้วยกันเอง”


ขอบคุณข้อมูลจาก Youtube: 21 Lessons for the 21st Century | Yuval Noah Harari | Talks at Google นาทีที่ 18:20