To-Do List 3 มิติ

วันก่อน James Clear ผู้เขียน Atomic Habits แชร์เรื่องการทำ to-do list ของนักเขียนที่ชื่อ Jenée Desmond-Harris

เจเน่ (@jdesmondharris) เคยทวีตไว้ว่า

“ฉันลองแบ่ง to-do list ออกเป็น

1) สิ่งที่ฉันต้องทำ

2) สิ่งที่ฉันอยากทำ

3) สิ่งที่คนอื่นอยากให้ฉันทำ

มันเปลี่ยนชีวิตฉันเลยนะ! หลายครั้งฉันก็ทำไปไม่ถึงส่วนที่ 3 หรอก แล้วฉันก็เลยเข้าใจว่า อ๋อ การไม่ให้คนอื่นล้ำเส้นมันเป็นอย่างนี้เองสินะ”

ผมเคยเห็นแต่การแบ่ง to-do list ตามความสำคัญ/เร่งด่วน/โปรเจ็ค/ธรรมชาติของเนื้องาน แต่ยังไม่เคยเห็นการแบ่ง to-do list ในสามมิติแบบนี้

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะติดใจกับประโยคสุดท้าย ว่าการทำไม่ถึงส่วนที่ 3 – สิ่งที่คนอื่นอยากให้เราทำ มันถูกต้องและทำได้จริงหรือ ผมเลยลองไปตามอ่านใน replies ของ Twitter ที่เขาคุยกันต่อ

@jdesmondharris:

“คุณคงเคยได้ยินกันมาว่าเราจำเป็นต้องขีดเส้นให้ตัวเอง ฉันเคยคิดว่ามันหมายถึงการที่เรา say no และบอกคนอื่นว่าอย่ามายุ่ง แต่บางทีมันอาจจะหมายความว่าเราก็แค่ทำเรื่องของเราอย่างเมามันเท่านั้นเอง”

@ok_post_guy มาคอมเมนต์ว่า:

“ความยากอยู่ที่การสื่อสารกับคนที่ขอให้เราทำและมันไปตกอยู่ในข้อ 3 โดยเฉพาะถ้าเราเป็นคนที่ชอบพลีสคนอื่นและชอบรับปากอะไรเกินตัว มันแย่เหมือนกันนะที่ความตั้งใจดีของเรามักสร้างปัญหา”

@jdesmondharris:

“ใช่เลย แต่สุดท้ายฉันก็ตัดสินใจว่าฉันจะเลิกพลีสคนอื่น แล้วก็แบกรับกับความรู้สึกไม่สบายใจนั้นเอาไว้ ดีกว่าที่ฉันจะไม่มีเวลาทำสิ่งที่ฉันรักเลย เพราะการไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำนั้นมันรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเสียอีก”

@ok_post_guy

“และส่วนใหญ่แล้ว การปฏิเสธคนก็ไม่ได้รู้สึกแย่อย่างที่เรากลัวด้วย คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าเวลาเขาขอให้เราทำอะไร ก็ย่อมต้องได้รับการปฏิเสธบ้างอยู่แล้ว และถ้าเราปฏิเสธทันทีตอนที่เขาขอ อย่างน้อยพวกเขาก็ยังมีเวลาไปขอคนอื่นที่พร้อมจะช่วยเหลือได้”


ส่วนตัวผมเห็นว่า ข้อ 2) สิ่งที่ฉันอยากทำ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องส่วนตัวเสมอไป มันเป็นเรื่องงานได้เช่นกัน อาจจะเป็นงานที่สอดคล้องกับ KPI หรือ OKR ของเราหรือเป็นงานที่เราทำแล้วได้ใช้ทักษะและความสามารถของเราอย่างเต็มที่

อีกข้อควรระวังก็คือ Jenée เป็นนักเขียน ดังนั้น ข้อ 3) สิ่งที่คนอื่นอยากให้ฉันทำ อาจไม่ได้มีความเข้มข้นสำหรับเขาเท่าพนักงานประจำ ที่ต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือแผนกอื่น แม้ว่าเราจะไม่ค่อยอยากทำก็ตามที

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก James Clear และจาก Twitter ของ Jenée Desmond-Harris