
ผมขอเริ่มต้นด้วยคำอุทิศที่อยู่ในหน้าสุดท้ายของหนังสือ
แด่
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สามัญชนผู้ให้กำเนิดสองกษัตรา
และ
ปรีดี พนมยงค์
สามัญชนผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย
เมื่อเปิดไปยังหน้าแรก มีลายเซ็นของพี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา มีภาพประทับตรายางที่ออกแบบมาสำหรับหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับถ้อยคำสั้นๆ 3 บรรทัดที่เขียนด้วยลายมือของพี่ภิญโญว่า
เห็นภาพใหญ่
กำหนดทิศ
ตัดสินใจ
ผมอ่านหนังสือ ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ จบมาได้ 1 สัปดาห์แล้ว แต่ก็เหมือนกับหนังสือซีรี่ส์ปัญญาเล่มอื่นๆ ที่การอ่านรอบแรกนั้นไม่สามารถซึมซับอะไรได้ทั้งหมด ผมจึงใช้เวลาอีกหนึ่งสัปดาห์เพื่ออ่านซ้ำ
เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว พี่ภิญโญมา WeShare ที่ Wongnai และเป็นหนึ่งใน WeShare ที่ผมประทับใจมากที่สุด คนใกล้ตัวผมบอกว่าฟังพี่ภิญโญแล้วเหมือนดื่ม espresso ร้อนๆ เพิ่ม extra shot
การอ่านหนังสือของพี่ภิญโญก็เป็นอย่างนั้นเช่นกัน ไม่สามารถอ่านเร็วได้เพราะเนื้อหามีความเข้มข้นสูงมาก อ่านได้หนึ่งบทต้องหยุดพัก แล้วค่อยๆ ทบทวนสิ่งที่เพิ่งผ่านสายตาและสมองไป ทั้งประโยคที่จับใจ ทั้งคำทายทักที่เป็นปริศนาธรรม เหมือนจะบอกอะไรแต่ก็ปล่อยพื้นที่ว่างเอาไว้ให้ผู้อ่านไปคิดต่อเอาเอง
ในสายตาของผม “ยุคใหม่” ของสำนักพิมพ์ openbooks เริ่มต้นเมื่อปี 2016 เมื่อหนังสือ FUTURE | ปัญญาอนาคต ถูกพิมพ์ออกมาและขายไปได้หลายหมื่นเล่ม หนังสือพูดถึงการ reinvent ตัวเองเพื่อจะปรับตัวให้ทันกับบริบทที่เปลี่ยนไป
จากนั้นก็มีหนังสืออีกหลายเล่มตามมาในชุด Wisdom Series นี้
2017 PAST | ปัญญาอดีต พูดถึงความกล้าหาญของพระเจ้าตากสิน ที่รวบรวมคนเพียงหยิบมือตีฝ่ากองทัพพม่าออกมาตั้งราชธานีแห่งใหม่
2018 ONE MILLION | ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น พาเรากลับไปยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กระสุนเพียงนัดเดียวนำไปสู่ความตายของคนนับล้าน
2019 PRESENT | ปัญญาจักรวาล พาเรากลับไปไกลยิ่งกว่า คือภูมิปัญญาโบราณอย่างภควัทคีตาและมหาภารตะ รวมถึงตำนานของพระเยซูและพระเจ้าอโศกมหาราช
ในสี่เล่มที่กล่าวมา ผมชอบ PAST มากที่สุดเพราะพูดถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างเมืองไทยและชอบ ONE MILLION รองลงมาเพราะเชื่อมโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์อันหลากหลายได้อย่างลงตัว
แล้วก็มาถึงเล่มล่าสุด
2020 CRISIS WISDOM | ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ ซึ่งพูดถึงราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และตัวละครสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนที่หนังสือจะมาถึงมือผม ผมได้ฟังพี่ภิญโญเกริ่นถึงเนื้อหาเอาไว้ในรายการ The Secret Sauce EP.300 แนะนำให้ทุกคนเปิดใจรับฟังแล้วจะอ่านหนังสือได้อย่างมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ เลือกที่จะเบิกโรงด้วยฉากจบของนิยาย สี่แผ่นดิน ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่แม่พลอยรับทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก่อนจะแนะนำเราให้รู้จักกับ ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รวมถึงเป็นผู้ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคคตของรัชกาลที่ 8 จนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
หนังสือยังแนะนำให้เราได้รู้จักกับ “สมเด็จย่า” ที่เดิมเป็นสามัญชนชื่อสังวาลย์ เกิดที่นนทบุรีแต่ย้ายไปอยู่ย่านวัดอนงคาราม ฝั่งธนบุรี พ่อชูและแม่คำเสียชีวิตไปตั้งแต่อายุได้ 9 ขวบ แต่โชคชะตาก็พลิกผันให้ได้ทุนไปเรียนต่อที่อเมริกาและได้พบรักกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์
โชคชะตาและการตัดสินใจในของสามัญชนสองคนนี้ได้นำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า
พี่ภิญโญเล่าเรื่องด้วยสไตล์ที่ตัวเองถนัด ตัดฉากไปมาระหว่างประเทศไทย ยุโรป และอเมริกา ทำให้เราเห็นภาพการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงทิศทางของอนาคตไปตลอดกาล
ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ตัดสินใจที่จะยืด D-Day ไปอีกหนึ่งวันก่อนลงมือปฏิบัติการ Operation Overlord ที่หาด Normandy ซึ่งนำไปสู่การพลิกสถานการณ์ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมามีโอกาสเอาชนะฝ่ายอักษะได้
หรือจะเป็นตอนที่จอมพลป. พิบูลสงคราม เลือกที่จะลงนามกับญี่ปุ่นเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อเดินทัพไปพม่าและมลายู ในขณะที่ปรีดี พนมยงค์ไม่ยอมร่วมลงนาม และร่วมก่อตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้น ซึ่งสุดท้ายทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง
หรือเหตุการณ์ปฏิวัติของคณะราษฎร ที่จับกุมตัวเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไว้เป็นตัวประกันและได้ส่งสาส์นถึงสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งประทับอยู่ที่วังไกลกังวล อัญเชิญให้เสด็จกลับกรุงเทพฯ โดยยื่นคำขาดว่า
“ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกา นับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์”
ทางเลือกของพระองค์ท่านตอนนั้นมีอยู่สามทาง คือ หนี (Flight) โอนอ่อน (Compromise) หรือ รบ (Fight) ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองและมหันตภัยต่อเชื้อพระวงศ์
ในที่สุด ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเลือกทางสายที่สอง คือการประณีประนอมโอนอ่อนผ่อนตาม โดยให้เหตุผลสำคัญว่า
“ฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์
อันเปื้อนไปด้วยโลหิตไม่ได้”
ผมอ่าน ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ แล้วรู้สึกเหมือนกับกำลังอ่านนวนิยายที่สร้างจากเรื่องจริง ทั้งสนุก พิศวง ตื่นเต้น และได้มองเห็นความเชื่อมโยงของตัวละครและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์
ที่สำคัญคือมันเป็นหนังสือที่มาถูกที่ถูกเวลากับสถานการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์โลกในตอนนี้
ผมจึงขอยกให้ ปัญญา {ฝ่า} วิกฤติ เป็นหนังสือที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านในปี 2563 และเป็นเล่มที่ผมโปรดปรานมากที่สุดในชุด Wisdom Series ทั้ง 5 เล่มครับ
ขอทิ้งท้ายด้วยบางถ้อยคำจากหนังสือเล่มนี้
ผู้กล้านั้นตายด้วยความกล้า
ทหารนั้นตายด้วยการรบ
แต่ผู้คนธรรมดามักจบชีวิตลง
ด้วยความโฉดเขลาเบาปัญญาของผู้อื่นในโลกที่ขมขื่นเช่นนี้ เราจะก่นด่าผู้ใดได้
ในวิกฤติใหญ่ หัวใจแห่งกลยุทธ์
คือการรักษาตัวรอดให้นานที่สุด
เพราะมีแต่มนุษย์ผู้มีชีวิตเท่านั้น
จึงจะดำเนินแผนการต่อไปได้มนุษย์ที่ตายแล้ว ต่อให้ยิ่งใหญ่แค่ไหน
ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิ่งใด
รวมทั้งความตายของตนเอง
…
คำถามสำคัญที่สุดยามนี้ก็คือว่า
ท่านเห็นพายุใหญ่
ที่ก่อตัวขึ้นเบื้องหน้าในทุกมิติหรือไม่
ท่านวางแผนจะรับมือกับพายุนี้อย่างไรอะไรคือยุทธศาสตร์ใหญ่
อะไรคือแผนการรายวัน
อะไรเป็นเพียงแค่
ปฏิกิริยาต่อสถานการณ์
อะไรคือแผนการระยะยาวบัดนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องเข้าสู่
ห้วงเวลาที่สำคัญที่สุดทางประวัติศาสตร์
ในช่วงชีวิตของเราเราจะยังคงมีวิธีคิด
ใช้ชีวิต ดำเนินธุรกิจ
บริหารประเทศเหมือนเดิมต่อไปหรือเราจะเตรียมการ วางแผน
รับมือกับความจริงใหม่ ด้วยปัญญาอันผ่องใส
ดุจการมองเหตุการณ์ทั้งหลายในอดีตจากปัจจุบันนี่คือเส้นทางชีวิตที่เราต้องลิขิตสร้างสรรค์
ให้ตนเอง ประเทศชาติ และมนุษยชาติ
ด้วยความรู้ความสามารถรวมหมู่
จึงจะพาสังคมไปสู่ยุคสมัยใหม่ได้