Asian U Always

20170731_asianualways

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปร่วมงานศิษย์เก่าของ Asian U มาครับ

Asian U ย่อมาจาก Asian University (แต่ก่อนมีห้อยท้ายว่า of Science and Technology ด้วย) คือมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บนทางหลวง 331 อ.บางละมุง จังหวัดชลบุรี

Asian U ถูกก่อตั้งโดยดร.วิพรรธ์ เริงพิทยา (หรืออีกฉายาหนึ่งคือ “ดอกเตอร์วิป”) เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นนักศึกษาปริญญาตรี 20 คน และ MBA 25 คน

ในนักศึกษาปริญญาตรี เป็นเด็กคณะวิศวรรมศาสตร์ 10 คน และเด็กคณะบริหารธุรกิจ 10 คนเท่ากันพอดี

ผมเป็นหนึ่งในเด็กวิดวะ 10 คนนั้นครับ (รหัสนักศึกษา 4110411004)

สภาพการณ์ตอนที่เปิดมหาลัยนั้นไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ เมืองไทยกำลังประสบวิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนแรกที่ดร.วิปตั้งใจจะระดมทุนมาให้ได้ 1500 ล้านบาทเพื่อสร้างมหาลัยนี้จึงระดมได้เพียงครึ่งเดียว ทำให้มหาวิทยาลัยต้องรัดเข็มขัดกับหลายๆ เรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ดร.วิปไม่ยอมประหยัดเลยคือการจ้างครูดีๆ

ชีวิต 4 ปีที่นั่นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของผม ผมอยู่ที่หอจึงมีเวลาได้ทำอะไรมากมาย ได้แต่งเพลงให้มหาวิทยาลัย ได้เป็นประธานนักศึกษา ได้จีบสาว ได้แชมป์มินิมาราธอน ได้ไปแข่งกีฬากับม.บูรพาและม.ธรรมศาตร์ ได้คุ้นเคยกับการเป็นมวยรอง (underdog) ได้ตั้งชมรมดูดาว ได้ทำวงดนตรี ได้เล่นเรือใบ ได้ไปฝึกงานสวิตเซอร์แลนด์ และได้สนิทกับเพื่อนและอาจารย์ทุกคน และได้สิ่งที่เรียกว่า Asian U Spirit ซึ่งนิยามได้ยากมาก แต่คนที่จบจากที่นี่มาจะเข้าใจกันดี

ผมมั่นใจว่า 4 ปีที่ผมเรียนอยู่ที่นั่น มหาวิทยาลัยขาดทุนทุกปี เพราะตอนที่ผมเรียนจบน่าจะมีนักศึกษาอยู่ไม่เกิน 150 (แถม 1 ใน 3 ยังเป็นนักเรียนทุน) ผมก็ได้แต่หวังว่าพอนักเรียนเยอะขึ้นมหาวิทยาลัยจะถึงจุดคุ้มทุนเสียที

แต่หลังจากนั้นนักศึกษากลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่หวัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการแข่งขันที่สูง เพราะหลักสูตรอินเตอร์กลายเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเกือบทุกที่ก็มีกัน และเราเองก็อาจทำการตลาดได้ไม่ดีนัก จำนวนนักศึกษาของเราจึงมีแต่ทรงกับทรุด บางรุ่นมีเด็กเข้าเรียนปี 1 ไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ

งานเลี้ยงที่ดำเนินมาร่วม 20 ปีจึงต้องถึงวันเลิกรา

วันนี้ วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 นักศึกษารุ่น 16 จะเข้าร่วมพิธีประทานปริญญาบัตรเป็นรุ่นสุดท้าย และเมื่อจบงานนี้ไป มหาวิทยาลัยเอเชี่ยนยูก็จะปิดตัวโดยถาวร (แต่ผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่จะปรับปรุงสถานที่ให้เป็นอย่างอื่นแทน)

พวกเราเหล่าศิษย์เก่าที่ธรรมดาจะนัดพบกันที่กรุงเทพ จึงตัดสินใจกลับไปจัดงาน Reunion ที่แคมปัส เพื่อเป็นการกล่าวคำอำลากับมหาวิทยาลัยเป็นครั้งสุดท้าย

ระหว่างที่ผมขับรถกลับไป Asian U นั้น ก็มีภาพความทรงจำไหลมาเทมา ขับผ่านประตูทางเข้าก็จะเห็นสนามหญ้าหน้าอาคารเรียนที่มีต้นไม้สูงใหญ่รายล้อม ผมขับรถวนไปที่บ่อปลาซึ่งเป็นที่ๆ หนุ่มสาวทุกคู่ต้องเดินมาให้อาหารปลาช่วงจีบกันใหม่ๆ ก่อนจะไปจอดรถที่สปอร์ตคลับเพื่อเจอน้องๆ และเล่นกีฬาด้วยกัน ซึ่งกีฬาสองอย่างที่ผมได้เล่นคือแชร์บอลกับฟุตบอล

ผมคงไม่เล่ารายละเอียดของงานไปมากกว่านี้ แต่อยากจะเล่าให้ฟังถึงความเข้าใจ 3 อย่างที่ผมได้จากงานวันนั้น

อย่างแรก ตอนที่ภาพความทรงจำไหลเข้ามาในหัวนั้น แทบจะไม่มีภาพในห้องเรียนเลย มีแต่ภาพตอนขึ้นไปนอนดูฝนดาวตกที่ดาดฟ้า ภาพตอนที่แข่งฟุตซอลตรงลาน activity square ภาพเล่นดนตรีหน้าสปอร์ตคลับ ภาพนั่งแต่งเพลงอยู่คนเดียวใน ห้อง study room ภาพที่ผมกับเพื่อนกระโดดกอดกันในห้อง common room ตอนรุ่งสางในวินาทีที่โซลชาร์ยิงประตูพาแมนยูคว้าสามแชมป์ รวมไปถึงภาพเล็กๆ อย่างการนั่งบรรจงเขียนอีเมลหารุ่นน้องที่ผมชอบผ่านโปรแกรมเก่าแก่อย่าง Pine

ทำให้คิดได้ว่า ภาพที่มักจะกลายมาเป็นความทรงจำ มักเกิดจาก extra moments ที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่หลักของเรา

หน้าที่หลักของผมตอนนั้นคือการเรียน แต่ภาพที่ผมจำได้กลับอยู่นอกห้องเรียน

หน้าที่หลักของผมตอนนี้คือการทำงาน แต่ภาพที่ผมจะจำได้ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าน่าจะเกิดนอกออฟฟิศ

เรื่องที่สอง ตอนที่ผมลงเล่นแชร์บอลนั้น เราแบ่งทีมกันอย่างง่ายๆ ข้างละ 10 คน ชายหญิงคละกันไป ไม่มีการใส่เอี๊ยมด้วย แค่จะจำหน้าว่าใครอยู่ทีมไหนยังยาก

แต่เราสนุกกันมาก ผมรู้สึกเสียดายทุกครั้งที่ลูกชู๊ตของเราโดนประตูฝ่ายตรงข้ามปัดได้ ผมดีใจทุกครั้งที่ฝ่ายเราชู๊ตลง แต่ผมก็ตบมือทุกครั้งเวลาที่ฝ่ายตรงข้ามชู๊ตลงเช่นกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เป้าหมายไม่ใช่การเอาชนะ เป้าหมายคือเรามาสนุกร่วมกัน

หรือจริงๆ แล้วชีวิตก็เป็นแบบนั้น?

เราไม่จำเป็นต้องชนะตลอดก็ได้ บางทีเราก็ยิงได้ บางทีเค้าก็ยิงได้ แต่สิ่งสำคัญคือเรามีส่วนร่วมกับเกมแค่ไหน เราได้ส่งบอลให้เพื่อนมั้ย เราได้ลองชู้ตเองบ้างรึเปล่า และที่สำคัญที่สุด คือเรามีความสุขและสนุกไปกับมันรึเปล่า

Maybe it’s not about winning. Maybe it’s about having a good time together.

เรื่องสุดท้าย ตอนที่ผมเล่าว่าผมขับรถเข้ามามหาวิทยาลัยแล้วเห็นต้นไม้สูงใหญ่ หนึ่งในต้นไม้เหล่านั้นผมเป็นคนปลูกเองกับมือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ในอนาคต Asian U จะถูกเปลี่ยนไปเป็นอะไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่าต้นไม้ที่ผมปลูกเอาไว้จะยังคงเติบโตและให้ร่มเงาไปอีกหลายสิบปี

“ต้นไม้” ที่ Asian U ปลูกเอาไว้จริงๆ ก็คือพวกเราศิษย์เก่านั่นเอง และผมก็เชื่อว่าเด็ก Asian U จะยังคงเติบโตและสร้างร่มเงาให้สังคมไทยไปได้อีกหลายสิบปีเช่นกัน

Dr.Seuss เคยกล่าวไว้ว่า

“Don’t cry because it’s over. Smile because it happened.”

ผมใจหายเพราะ Asian U จะไม่อยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็รู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยอันแสนพิเศษแห่งนี้

ขอบคุณสำหรับทุกๆ อย่าง

Asian U Always.