มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบคิดเข้าข้างตัวเอง

20200528

Daniel Kahneman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์มายอย่างโชกโชนเคยถูกถามว่าในบรรดา bias หรือ “อคติ” ที่คนเรามีนั้น bias ไหนรุนแรงที่สุด

คาห์เนแมนตอบอย่างแทบไม่ต้องคิดว่า overconfidence bias หรือความมั่นใจตัวเองสูงเกินไป

จากการสำรวจพบว่าคนสวีเดน 78% เชื่อว่าตัวเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย

อาจารย์ในอเมริกา 94% เชื่อว่าตัวเองสอนได้ดีกว่ามาตรฐาน

ผู้ชายฝรั่งเศส 82% เชื่อว่าตัวเองเป็นนักรักที่ดีกว่าคนฝรั่งเศสทั่วไป

เหล่านี้เป็นหลักฐานถึงการคิดเข้าข้างตัวเองของมนุษย์ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่
94% ของประชากรจะสูงกว่า “ค่าเฉลี่ย” เพราะโดยนิยามของค่าเฉลี่ยจะมีเพียง 50% เท่านั้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้และอีก 50% จะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

เมื่อเราต่างเชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ เรื่องร้ายๆ อาจเกิดขึ้นกับคนอื่น แต่มันจะไม่เกิดขึ้นกับเรา คนอื่นอาจจะทำอะไรโง่ๆ แต่เราจะไม่พลาดอย่างนั้นแน่ๆ เราจึงมักจะประเมินอะไรได้ผิดพลาดเสมอ (เคยเห็นโปรเจคสร้างอุโมงค์ตรงสี่แยกที่เสร็จตรงเวลามั้ย?)

และต่อให้เราประเมินพลาดมาซักกี่ครั้ง เราก็ยังมีแนวโน้มที่จะประเมินพลาดอีกอยู่ดี overconfidence bias เป็นเหมือนคำสาปที่ติดตัวคนบางคนไปจนตลอดชีวิต

ลองถามตัวเองก็ได้ครับว่า เรารู้สึกว่าตัวเองหน้าตาดีกว่าค่าเฉลี่ยมั้ย ทำงานได้ดีกว่าคนอื่นๆ ในออฟฟิศมั้ย มีความยุติธรรมในจิตใจมากกว่าคนทั่วไปรึเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ เราก็มี overconfidence bias เช่นกัน

หรือถ้าใครคิดว่าตัวเองไม่มี overconfidence bias ก็เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าคุณมี overconfidence bias เช่นกัน

ทางออกสำหรับปัญหานี้อาจไม่มี แต่อย่างน้อยเราก็รู้ทางเข้าแล้ว เวลาทำอะไรจะได้ไม่ประมาทครับ

องค์กรที่ดีต้องมีทั้ง Superstars และ Rockstars

20200527

Kim Scott ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารที่ Google และ Apple ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Radical Candor ว่า องค์กรต้องมีทั้ง Superstars และ Rockstars

Superstars คือคนที่เป็นดาวรุ่ง ทำงานเก่ง มีความทะเยอะทะยาน คนเหล่านี้ต้องการความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ

ส่วน Rockstars นั้นเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญต่อองค์กรมากๆ แต่เราไม่ค่อยนึกถึง โดย “rock” ในที่นี้คุณคิม สก๊อตบอกว่าไม่ใช่ “เพลงร็อค” แต่หมายถึง “ภูผา”

ภูผาแสดงถึงความมั่นคงแข็งแรงฉันใด Rockstars ในองค์กรก็มีความมั่นคงและแข็งแรงฉันนั้น คนที่เป็นร็อคสตาร์นั้นทำงานของตัวเองได้ดี เข้าใจเนื้องานที่ตัวเองทำ สนุกกับงาน แต่ไม่ได้ต้องการจะไต่เต้าขึ้นไปในองค์กรเหมือนซูเปอร์สตาร์ เพราะร็อคสตาร์อาจจะมีบางอย่างที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า เช่นครอบครัว สุขภาพ งานอดิเรก

วิธีการจัดการ Superstars กับ Rockstars จึงต่างกัน

พวก Superstars ต้องการแสดงผลงาน ต้องการความก้าวหน้า ต้องการความรับผิดชอบที่มากขึ้น (และค่าตอบแทนที่สูงขึ้น) ดังนั้นองค์กรจึงต้องพยายามหางานใหม่ๆ ป้อนให้เขา ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะไปแสวงหาความก้าวหน้าและความท้าทายที่อื่นแทน

ส่วน Rockstars นั้นตรงกันข้าม แม้จะทำงานได้ดี แต่พวกเขาให้ค่ากับ “เสถียรภาพ” หรือ stability มากกว่า ถ้าองค์กรรีบไปโปรโมตหรือจับเขาทำอะไรที่ไม่อยากทำ องค์กรก็อาจจะเสียคนทำงานฝีมือดีไป ไม่ใช่เพราะเขาลาออก แต่เพราะเขาอาจทำงานใหม่ได้ไม่ดีและกลายเป็นพนักงานที่มี engagement ต่ำ ดังนั้นการดูแลร็อคสตาร์ที่เหมาะสมคือการ recognize และให้เกียรติคนเหล่านี้โดยไม่จำเป็นต้องไปประเคนความรับผิดชอบอะไรให้เขาเพิ่ม

องค์กรจำเป็นต้องมีคนทั้งสองประเภท ต้องมี Superstars ที่พร้อมจะลองทำสิ่งใหม่เพื่อให้ธุรกิจเติบโตกว่าเดิม แต่องค์กรก็จำเป็นต้องมี “กองกลางตัวรับ” ที่แข็งแกร่งอย่าง Rockstars เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีสะดุด ถ้าให้ความสำคัญแต่กับซูเปอร์สตาร์ ก็จะมีโปรเจ็คใหม่ๆ มากมายที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง เพราะซูเปอร์สตาร์นั้นอยู่กับอะไรนานๆ ไม่ได้เหมือนร็อคสตาร์

จัดการคนเก่งให้ถูกวิธี ดาวดีๆ จะได้ไม่ออกไปนอกวงโคจรครับ

—–

ป.ล. คนไทยอ่านแล้วคงมีคำถามต่อว่า แล้วพวก dead stars หรืออุกกาบาตนี่ต้องทำยังไง อันนี้คุณคิม สก๊อตไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่พวกเราก็รู้คำตอบอยู่แก่ใจ เหลือแค่ว่าจะกล้าทำในสิ่งที่ควรทำรึเปล่าเท่านั้นเอง

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

ตามหาหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday” ได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ

80507942_579966649467475_5144866110411112448_n

เมื่อของหาง่ายกลายเป็นของหายาก

20200526

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปของที่เคยหาง่ายกลายเป็นของหายาก ของที่เคยหายากกลายเป็นของหาง่าย

ลองมาดูตัวอย่าง ว่ามีอะไรที่เคยหายากแล้วตอนนี้หาง่ายบ้าง

พื้นที่สื่อ – สมัยก่อนคนที่มีสื่ออยู่ในมือนั้นมีอำนาจมหาศาล หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ค่ายเพลง นิตยสาร แต่เดี๋ยวนี้แค่มีแล็ปท็อปและโซเชียลเน็ตเวิร์คคนธรรมดาก็กลายเป็นสื่อที่มีอิทธิพลได้เสียยิ่งกว่าสื่อสมัยเก่าเสียอีก

วิธีสร้างรายได้ของเด็ก – สมัยก่อนเด็กหกขวบจะได้อะไรได้นอกจากช่วยแม่ขายของ เดี๋ยวนี้เด็กหกขวบเป็น Youtuber ที่มีคนติดตามเป็นสิบล้านคนได้

การ์ตูนโป๊ – สำหรับผู้ชายวัยรุ่นเมื่อซัก 20-30 ปีที่แล้ว การ์ตูนอย่างมังกรซ่อนเล็บหรือวีดีโอเกิร์ล (ซึ่งถูกเซ็นเซอร์ตลอด) ถือเป็นการ์ตูนที่โป๊สุดๆ แล้ว มาสมัยนี้โป๊แค่ไหนก็มีให้ดูจนเบื่อ

คราวนี้ลองเปลี่ยนคำถาม ว่าอะไรที่เคยหาง่ายแล้วกลายเป็นของหายากบ้าง

ความผูกพันกับศิลปิน – อันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่ผมมีสมมติฐานว่า ด้วยตัวเลือกที่หลากหลาย ด้วยความมาเร็วไปเร็วของทุกสิ่ง เด็กรุ่นใหม่อาจสูญเสียโอกาสที่จะสร้างความผูกพันกับศิลปินไปโดยปริยาย

สมัยก่อนค่ายเพลงใหญ่มีอยู่สองค่ายคือแกรมมี่กับอาร์เอส และจะเข็นศิลปินออกมาเป็นระลอก ให้เวลาศิลปินแต่ละคนได้มีแอร์ไทม์ประมาณหนึ่ง ถ้าพี่เบิร์ดออกอัลบั้มบูมเมอแรง เพลงของอัลบั้มนี้ก็จะถูกเปิดในทีวีและวิทยุเป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือน คนรู้จักเพลงพี่เบิร์ดกันทั่วบ้านทั่วเมืองไม่ว่าจะเป็นบูมเมอแรง คู่กัด หมอกหรือควัน เราจึงมีความผูกพันกับเบิร์ด ธงไชยที่ต่อให้เวลาผ่านไปกี่สิบปีก็ยังผูกพันอยู่อย่างนั้น

และไอ้ความผูกพันนี่มันกินได้นานด้วย นูโว เจ-เจตริน ไมโคร อัสนี-วสันต์ บอย โกสิยพงษ์ ไม่ได้ออกอัลบั้มใหม่มานานเท่าไหร่แล้ว แต่ถ้าจัดคอนเสิร์ตผมว่าก็ยังมีคนตามไปดูเต็มความจุอยู่ดี (ก่อนเกิดโควิดน่ะนะ)

อีกข้อดีอย่างหนึ่งของการโตมากับสื่อที่เป็น mass อย่างทีวีและวิทยุ คือเรามั่นใจได้ว่าคนรุ่นเดียวกันก็จะรู้จักสิ่งเดียวกันกับเรา ถ้าผมดีดกีตาร์ร้องเพลงนูโว ผมมั่นใจว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกับผมไม่ว่าจะมีพื้นเพมาจากไหนก็สามารถฮัมเพลงตามได้

แต่พอการฟังเพลงสมัยนี้มันเป็น long-tail มากขึ้น เป็น niche market มากขึ้น คนรุ่นราวคราวเดียวกันอาจจะตามศิลปินไม่เหมือนกันเลยก็ได้ ผมอาจเป็นเด็กอายุ 16 ที่คลั่งไคล้วง BNK48 มาก แต่ผมไม่อาจมั่นใจได้เลยว่านอกจากเพลงคุ้กกี้เสี่ยงทายแล้วเพื่อนๆ ในห้องจะร้องเพลงอื่นๆ ของ BNK48 ได้รึเปล่า

แถมศิลปินสมัยก่อนยังออกเทป ถ้าซื้อมาก็มักจะได้ฟังเพลงทั้งอัลบั้ม อาจจะกด fast forward ข้ามเพลงที่เราไม่ชอบบ่อยหน่อย หรือกด rewind เพื่อร้องเพลงที่เราชอบเยอะหน่อย แต่ประเด็นก็คือคนฟังกับศิลปินได้มีเวลาร่วมกันมากเพียงพอที่จะสร้างความผูกพันได้

ผิดกับสมัยนี้ที่ศิลปินออกเพลงมาเป็นซิงเกิลส์ และซิงเกิลส์เหล่านี้ก็จะไปถูกยำรวมกับศิลปินอีกนับสิบนับร้อยในเพลย์ลิสต์ของคนที่ฟังผ่าน Joox หรือ Spotify ความสัมพันธ์ของคนฟังกับศิลปินจึงไม่ต่างอะไรกับ one-night stand

ศิลปินยุคเก่าไม่ต้องมีผลงานใหม่เป็นสิบปีก็ยังมีแฟนคลับเหนียวแน่น ในขณะที่ศิลปินที่ดังเป็นพลุแตกในวันนี้ หากไม่มีผลงานออกมาเรื่อยๆ อีกไม่เกินสองปีก็น่าจะถูกลืมแล้ว ศิลปินสมัยใหม่จึงขาด longevity คือมาเร็วไปเร็วนั่นเอง

—–

ขอพูดอีกหนึ่งตัวอย่างของของหาง่ายที่กลายเป็นของหายาก

เพลงแรกๆ ที่ผมได้ฝึกร้องสมัยเด็กคือเพลง “เต่า งู และกา” ที่ร้องว่า ก่อนแต่ครั้ง เก่าพอดู เต่ากับงูหากินในนา (จำได้แม้กระทั่งโน๊ตเพลง คือ โดเรมี โดเรมี โดเรมี ซอลฟามีเร)

ผมเคยร้องเพลงนี้ให้ลูกสาวฟัง แล้ววันหนึ่งลูกสาวก็อยากฟังเพลงนี้ในทีวี (ที่บ้านผมดู Youtube ทางทีวี) ผมก็เลยเปิดหาเพลงนี้ ได้วีดีโอแรกขึ้นมา ปรากฎว่าร้องผิดคีย์ พอเปิดวีดีโอตัวที่สองก็ร้องผิดคีย์อีก! ต้องเปิดตัวที่สามถึงจะพอฟังได้

Youtube เป็นนวัตกรรมที่เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กๆ มีพื้นที่สื่อกับเขา สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน สื่อที่มาจากมือสมัครเล่นมันก็มักจะไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่ ผมดูการแสดงบางอย่างในวีดีโอที่ลูกสาวผมดู (และมีคนติดตามนับแสนคน) ก็รู้สึกว่าแสดงได้แข็งมาก แข็งแบบที่เราจะไม่มีทางเห็นในละครหลังข่าวช่อง 3 หรือช่อง 7 เด็ดขาด (ต่อให้นักแสดงจะมือใหม่แค่ไหนก็ตาม) พอเป็นพื้นที่ที่ใครเข้ามาสร้างคอนเทนท์ก็ได้ คนดูก็เลยลดความคาดหวังและยอมรับมันไปโดยปริยาย

ใครที่เรียนสายวิทย์ น่าจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ Signal กับ Noise

Signal คือสิ่งที่เรามองหา ส่วน Noise คือคลื่นรบกวน

ถ้า Signal คือทอง Noise ก็คือขยะ

ในโลกแห่งความจริง เราไม่สามารถหลบหลีก Noise ได้ สิ่งที่เราทำได้คือพยายามให้ Signal-to-Noise ratio มันสูงเข้าไว้

เมื่ออินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย ได้ทำให้ “สื่อ” ไปอยู่ในมือคนเล็กคนน้อย content creators จึงเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะมีคนช่วยส่ง Signal มากขึ้น

แต่ปัญหาก็คือในมหาสมุทรของ content ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น Noise โตเร็วกว่า Signal มาก Signal-to-Noise Ratio เลยมีค่าต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ในโลกที่เต็มไปด้วย Noise เรามีทักษะพอที่จะสร้างและสรรหา Signal หรือของที่มีคุณค่าและมีคุณภาพรึเปล่า นี่คือความท้าทายของคนทำสื่อและผู้บริโภคยุคนี้

—–

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ อะไรที่หาง่ายจะไม่ค่อยมีราคา อะไรที่หายากจะราคาดี

หลายๆ อย่างที่เคยหายากกลายเป็นของหาง่ายไปแล้ว มันจึงไม่ค่อยมีราคาอีกต่อไป แต่ของที่ขาดหายไปและคนต้องการนั้นยังมีอยู่เสมอ ถ้าเราสามารถจับจองของหายากนั้นได้ เหมือนที่ศิลปินรุ่นเดอะจับจองความผูกพัน หรือสื่อคุณภาพที่มี signal-to-noise ratio สูงกว่าสื่ออื่นๆ ก็น่าจะมีโอกาสที่จะอยู่ในโลกที่ผันผวนนี้ได้อย่างยั่งยืนครับ

—–

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

ตามหาหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday” ได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ