Gwen Moran เป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ด้าน Leadership ให้กับนิตยสารชั้นนำอย่าง Fast Company
เธอทำงานที่บ้านมานานแล้ว แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจทำให้คุณ Moran รู้สึกไม่มั่นคง เธอจึงรับงานเยอะกว่าเดิมเพื่อจะได้มีเงินเก็บมากขึ้น
แต่ผลของการทำงานอยู่กับโต๊ะนานเกินไป ทำให้วันหนึ่งเธอมีอาการหายใจลำบากและต้องเข้าไอซียูเพราะโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (pulmonary embolism – มักเกิดกับผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานเช่นผู้ป่วยติดเตียง)
แม้ว่าจะรอดมาได้อย่างหวุดหวิด แต่หมอก็เตือนว่าถ้าเธอไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ครราวหน้าเธออาจจะไม่ได้โชคดีอย่างนี้
Moran จึงขอแนะนำ 6 เรื่องที่เราควรทำเพื่อให้ยังมีสุขภาพที่ดีช่วงที่เรา WFH ครับ
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยให้เราลดการบริโภคน้ำตาลและโซเดียม ช่วยให้สมองของเราทำงานได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย
แต่เราไม่จำเป็นต้อง “ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว” อย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันมา เพราะปริมาณน้ำที่จำเป็นนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราทำกิจกรรมอะไรและกินอาหารประเภทไหนบ้าง (ผลไม้อย่างแตงโมหรือสตรอเบอรี่นั้นมีส่วนประกอบเป็นน้ำถึง 90%)
สิ่งที่ควรทำคือหาน้ำไว้ใกล้ๆ มือ และจิบน้ำเมื่อรู้สึกว่าปากเริ่มแห้ง
2. พักเบรค
บริษัทด้านสุขอนามัยในที่ทำงานอย่าง Tork เคยทำการสำรวจและพบว่า 91% ของคนทำงานในสหรัฐทำงานหนักขึ้นในช่วง WFH และ 40% ไม่ได้พักเบรคตอนเที่ยง แถมมีถึง 1 ใน 5 ที่รู้สึกว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดีถ้าตัวเองไม่ได้อยู่ที่โต๊ะตลอดเวลา
แต่การพักเบรคนั้นช่วยเพิ่ม productivity ให้เราได้ ถ้ารู้สึกว่าเราใช้เวลาติดอยู่กับโต๊ะมากเกินไป เราควรบล็อคเวลาพักไว้ทุกๆ 60 หรือ 90 นาที
3. เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น
การออกกำลังกายคือยาวิเศษทั้งในเชิงป้องกันและการรักษา เราจึงควรให้เวลากับการออกกำลังกายวันละ 30 ถึง 60 นาที
สิ่งที่ควรระวังคืออย่าออกกำลังกายโดยใช้ร่างกายเพียงส่วนเดียวทุกวัน เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ เราควรออกกำลังกายหลากหลายประเภทสลับกันไป เช่นวันนี้ทำ bodyweight training ส่วนพรุ่งนี้ก็ไปจ็อกกิ้ง และวันถัดมาก็เล่นโยคะเป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราควรจะเปลี่ยนท่านั่งทุก 30 นาที เพราะการนั่งนานเกินไปจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกและเพิ่มโอกาสการเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) และระหว่างที่เปลี่ยนอิริยาบถก็ควรใช้โอกาสนี้ยืดเส้นด้วย
สำหรับคนที่พอมีสตางค์และมีพื้นที่ในบ้าน อาจจะหา standing desk หรือโต๊ะที่ใช้ยืนทำงานมาติดตั้งเอาไว้ แต่ถ้าใครปัจจัยไม่เอื้ออำนวย ก็หาโอกาสที่จะยื่นคุยโทรศัพท์หรือยืนคุยตอนประชุมก็ยังดี
4. หาความสงบให้จิตใจ (finding calm)
จากการสำรวจของ Gallup ในปี 2021 พบว่าคนทำงานในสหรัฐถึง 45% บอกว่าสถานการณ์ช่วงนี้มีผลกระทบต่อชีวิต “เป็นอย่างมาก” และ 57% บอกว่าประสบภาวะเครียดทุกวัน
ดังนั้นเราจึงควรมี “ท่าลดความเครียด” ติดตัวเอาไว้ เช่นสูดลมหายใจลึกๆ โทรหาเพื่อน หางานอดิเรกทำ หรือหาสิ่งที่ทำแล้วได้เป็นตัวของตัวเอง
การตกอยู่ใต้ภาวะเครียดนานๆ คือทางด่วนสำหรับการ burnout ดังนั้นเราจึงต้องสังเกตร่างกายของเราให้ดี เช่นถ้ารู้สึกตึงๆ ที่หัวไหล่ หรือหัวใจเต้นแรงขึ้น เราควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อผ่อนคลาย
5. ขีดเส้นเวลางานและเวลาส่วนตัว
ช่วง WFH จำนวนชั่วโมงการทำงานของหลายคนสูงขึ้นมาก บางทีค่ำแล้วเราก็ยังกลับมานั่งที่โต๊ะเพื่อเตรียมงานสำหรับโปรเจ็คถัดไป
เราจึงควรเซ็ตเวลาว่าจะเริ่มงานและเลิกงานเมื่อไหร่ แล้วหาทางที่จะใช้เวลาให้สอดคล้องกับตารางนั้น
วิธีหนึ่งที่อาจจะช่วยได้ คือการ “กลับบ้านเทียม” (fake commute) ตอนหมดวัน ด้วยการเปลี่ยนชุดและออกไปเดินเล่นหรือทำอะไรก็ได้ที่เราชอบ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณกับตัวเองว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาทำงานแล้วนะ
6. ใส่ใจเรื่องการตรวจสุขภาพ
สมาคมการแพทย์อเมริกันพบว่า ช่วง WFH ที่ผ่านมา มีคนถึง 40% ที่ “โดด” การตรวจสุขภาพ
หากเราไม่ได้ตรวจสุขภาพมานานเกินหนึ่งปี ก็ควรหันมาสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น เผื่อเจออะไรที่ผิดปกติจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
เราไม่จำเป็นต้องพยายามปรับเปลี่ยนทั้ง 6 ข้อโดยทันที เพราะถ้าเราพยายามเปลี่ยนอะไรมากเกินไปเราก็อาจจะล้มเหลวอยู่ดี แค่เลือกขึ้นมาทำสัก 1 หรือ 2 ข้อจนกลายเป็นนิสัยแล้วค่อยทำข้ออื่นๆ ต่อน่าจะได้ผลมากกว่า
เราน่าจะยังต้อง WFH หรือ Hybrid Work ไปอีกนาน – เผลอๆ จะตลอดไปด้วย
เราจึงควรจะมีอุปนิสัยที่เหมาะสม เพื่อจะได้ WFH ได้อย่างยั่งยืนครับ
ขอบคุณเนื้อหาจาก Fast Company: After a health scare, here’s how I’m changing up my remote work habits by Gwen Moran