เหตุผลที่คนเราควรได้ผิดพลาดซ้ำสอง

เรารู้กันดีว่า Henry Ford คือผู้ปฏิวัติวงการผลิตรถยนต์ด้วยการประกอบรถผ่านสายพานการผลิตจนสามารถสร้างรถยนต์ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้

ฟอร์ดชอบให้คนงานได้ทดลองอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เพื่อจะดูว่ามันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพได้รึเปล่า

หนึ่งในกฎเหล็กของฟอร์ดที่อาจะฟังดูแปลกประหลาดก็คือ เขาไม่ยอมให้มีการจดบันทึกไว้ว่ามีการทดลองใดที่ล้มเหลวบ้าง

ฟอร์ดกล่าวในหนังสือที่ชื่อ My Life and Work ไว้ว่า

“ผมไม่ค่อยสนใจว่าคนงานจะจำได้หรือไม่ว่าคนอื่นๆ เคยลองอะไรมาแล้วบ้าง เพราะถ้าเราจดเก็บเอาไว้ รายการของ “สิ่งที่ทำไม่ได้” จะยาวเป็นหางว่าว

นี่คือปัญหาของการบันทึกอย่างละเอียดลออ ถ้าเราจดทุกความล้มเหลวเอาไว้ เราก็จะมีเอกสารที่บอกเป็นนัยว่าไม่เหลืออะไรให้เราลองได้อีกแล้ว

แต่การที่คนคนหนึ่งทำวิธีนี้แล้วล้มเหลว ก็ไม่ได้แปลว่าอีกคนจะทำแล้วล้มเหลวเสมอไป”


เราได้ยินกันมาตลอดว่า คนเราผิดพลาดกันได้ แต่ไม่ควรผิดพลาดซ้ำสอง

อะไรที่เคยเจ็บก็ควรจำ ไม่ใช่ผิดซ้ำให้เจ็บใหม่

แต่แนวคิดเช่นนี้ก็มีจุดอ่อนในตัวมันเองเหมือนกัน

เพราะไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร สถานการณ์และบริบทในวันนี้ย่อมต่างจากสถานการณ์และบริบทของ 10 ปีที่แล้ว

เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป บางไอเดียที่เคยดูไม่เข้าท่าอาจจะกลายเป็นไอเดียที่ดี

เรียนรู้จากอดีตได้ แต่อย่าให้มันตีตราเราไว้

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผลลัพธ์ก็เปลี่ยนได้เช่นกันครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก Collaborative Fund: Experts From A World That No Longer Exists