Fossilization – เมื่อบางอย่างในตัวเราถูกแช่แข็ง

“ฟอสซิล” (fossil) คือซากของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน

ตอนที่ผมเรียนปริญญาโทด้านภาษาและการสื่อสารที่นิด้า ในหัวข้อการเรียนภาษาที่สอง (Second Language Acquisition – SLA) คำว่าฟอสซิลถูกนำมาใช้ในบริบทที่ผมนึกไม่ถึง

ในเชิง SLA นั้น fossilization คือการที่ภาษาที่สองของเราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้แล้ว

เราอาจเคยเห็นใครหลายคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองนอกตอนโตแล้ว แต่แม้จะอยู่มาแล้วหลายสิบปีก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องอยู่ดี ยังใช้แกรมม่าร์ผิด ยังติดสำเนียงไทย ต่อให้รับ input เป็นภาษาที่สองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พูดได้ดีขึ้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ลิ้นแข็ง” ไปแล้วนั่นเอง

ผิดกับคนที่ไปต่างประเทศตั้งแต่วัยเด็ก ได้เรียนที่นั่นแค่ไม่กี่ปีก็สามารถพูดอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สำหรับคนที่อยากเก่งภาษาที่สอง กระบวนการ fossilization จึงเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหากถูก fossilized หรือแช่แข็งไปแล้ว ความฝันที่จะพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาก็เหมือนจะดับลงไปด้วย*


สำหรับคนวัย 30 ปลายๆ ถึง 40 กลางๆ ที่โตมาในยุคเฟื่องฟูของแกรมมี่และอาร์เอส เชื่อว่าเราน่าจะร้องเพลงของศิลปินคนโปรดได้หลายคน

ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงฝรั่ง ก็อาจตกหลุมรักวงดนตรีเท่ๆ อย่าง Nirvana, Greenday, Metallica, Radiohead, และ Oasis

การเป็นวัยรุ่นในยุค 90 นั้นมันแสนจะคลาสสิคในความทรงจำของเรา และทุกวันนี้เราก็ยังฟังเพลงของพวกเขาเหล่านั้นอยู่แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม

ถ้าเปิดเพลงดังๆ ที่เกิดในช่วง 1990-2000 เราน่าจะร้องได้เกือบทุกเพลง แต่ถ้าเป็นเพลงที่เกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะร้องได้แค่ไม่กี่เพลงทั้งๆ ที่จำนวนศิลปินและจำนวนเพลงมีให้เลือกฟังหลากหลายมากกว่าเดิมตั้งไม่รู้กี่เท่า

เคยมีคนวิเคราะห์ว่า ที่เราหยุดฟังเพลงใหม่ๆ เพราะว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการก่อร่างสร้างตัวตน เราจึงเปิดโอกาสให้มีสิ่งที่จะประทับใจและฝังใจเราได้ง่าย (impressionable) แถมเรายังมีเวลาเหลือเฟือจนสามารถฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำๆ ได้เป็นสิบเป็นร้อยรอบ

แต่พอเราโตขึ้นมา มีภาระหน้าที่ต้องทำ ก็เลยไม่ค่อยเหลือเวลามาเริ่มต้นกับเพลงใหม่ๆ และศิลปินใหม่ๆ เท่าไหร่ เราจึงสบายใจที่จะฟังเพลงที่เราคุ้นเคยมากกว่า

การฟังเพลงของใครหลายคนจึงเหมือนถูก fossilized เอาไว้เช่นกัน


ในหนังสือ Think Again ของ Adam Grant มีย่อหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า

“Rethinking isn’t a struggle in every part of our lives. When it comes to our possessions, we update with fervor. We refresh our wardrobes when they go out of style and renovate our kitchens when they’re no longer in vogue. When it comes to our knowledge and opinions, though, we tend to stick to our guns. Psychologists call this seizing and freezing. We favor the comfort of conviction over the discomfort of doubt, and we let our beliefs get brittle long before our bones. We laugh at people who still use Windows 95, yet we still cling to opinions that we formed in 1995.”

ถ้าเป็นเรื่องข้าวของเรามักจะอัพเดตกันอย่างขยันขันแข็ง แต่พอเป็นเรื่องความรู้หรือความคิดเห็นเรากลับยึดมั่นถือมั่นกันน่าดู

ถ้าเราเห็นใครใช้ Windows 95 เราคงหัวเราะในใจ แต่เราเองกลับยึดติดในความเชื่อที่เราสร้างเอาไว้ตั้งแต่ปี 1995

ลองสำรวจตัวเองว่าใน 1 ปีที่ผ่านมาเรามีเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องใดบ้าง ถ้ายังคิดไม่ออกก็ลองขยายเวลาเป็น 3 ปี 5 ปีดู

หากพบว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว ความเชื่อของเรายังเหมือนเดิม ก็มีความเป็นไปได้สองทาง หนึ่งคือความเชื่อของเรานั้นถูกต้องแน่แท้ หรือไม่อย่างนั้นความเชื่อของเราก็ถูก fossilized ไปเรียบร้อยแล้ว

Fossilization ทางการฟังเพลงนั้นอาจไม่เสียหาย อย่างมากก็แค่พลาดโอกาสที่จะได้ฟังอะไรใหม่ๆ

Fossilization ทางภาษาที่สองนั้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพด้วย แต่ตราบใดที่เรายังสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ผลกระทบทางลบคงมีไม่มากนัก

แต่ Fossilzation ทางความคิดและความเชื่อนั้นอันตราย เพราะในโลกนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิ่งที่เคยใช่มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป

ข่าวดีคือ fossilzation ทางความคิดนี้ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ หากเรากล้าเปิดใจ กล้าจะยอมรับว่าที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้มีมุมมองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป เราก็จะ think again ได้อีกครั้ง

อย่าปล่อยให้ fossilization ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์กันเลยนะครับ


* การพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนที่เรียนภาษาที่สองนะครับ บางคนพูดติดสำเนียงภาษาแม่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ

นิทานไก่คนละตัว

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระเจ้าตัดสินใจยึดทรัพย์สมบัติของมนุษย์ทุกคนบนโลก

ประชาชนต่างไม่มีอาหารกินและต้องอยู่กันอย่างอดอยาก

เมื่อผ่านไปได้สามวันสามคืน พระเจ้าจึงประทานไก่มาให้มนุษย์คนละ 1 ตัว

มนุษย์กลุ่มแรกดีใจอย่างล้นเหลือ พวกเขาลงมือฆ่าไก่และทำอาหารกินกันอย่างเอร็ดอร่อย มีบางคนที่ตอนแรกยังไม่รู้จะเอายังไงดี แต่พอได้เห็นสีหน้าของคนที่ได้กินไก่อย่างมีความสุขจึงอดไม่ได้ที่จะฆ่าไก่ของตัวเองมาทำกินบ้าง

มนุษย์กลุ่มที่สองนั้นก็หิวมากเหมือนกัน แต่บางคนก็รู้ว่าไก่ที่เขาได้นั้นเป็นไก่ตัวเมีย พวกเขาเลยทนหิวและดูแลแม่ไก่จนมันออกไข่วันละฟองมาให้พวกเขาได้กิน แน่นอนว่ามันไม่พอให้ท้องอิ่ม แต่ก็มากพอที่พวกเขาจะไม่อดตาย ส่วนคนที่ได้ไก่ตัวผู้แต่ก็กลั้นใจไม่ฆ่ามันก็เลี้ยงไก่ไว้เพื่อให้มันคอยขันปลุกให้คนในกลุ่มตื่นขึ้นมาเลี้ยงดูไก่ตัวเมีย และพวกเขาก็ได้ไข่เป็นค่าตอบแทน

ส่วนมนุษย์กลุ่มที่สามนั้น เข้าไปเชิญชวนมนุษย์กลุ่มที่สองว่า “เอาไก่ของคุณมาผสมพันธุ์กับไก่ของเราสิ เราจะได้มีลูกไก่ เมื่อลูกไก่โตขึ้น มันจะวางไข่ให้คุณทุกวันเลยนะ มนุษย์กลุ่มที่สองคิดว่าไม่มีอะไรเสียหาย แถมยังได้ไข่เพิ่มวันละฟองด้วย ก็เลยตอบตกลง

แล้วเรื่องราวก็ดำเนินไปเช่นนี้วันแล้ววันเล่า

มนุษย์กลุ่มแรกนั้นหิวโหยและผอมโซ พวกเขาตัดพ้อพระเจ้าว่าทำไมถึงหยุดประทานไก่มาให้พวกเขา

มนุษย์กลุ่มที่สองนั้นได้กินไข่ไก่ของตัวเอง และได้ไข่ไก่อีกฟองมาจากกลุ่มที่สาม จึงใช้ชีวิตอันน้อยนิดของตนอย่างมีความสุข

มนุษย์กลุ่มที่สามนั้นมีลูกไก่เยอะจนตัวเองเลี้ยงไม่ไหว ก็เลยกลับไปถามกลุ่มที่หนึ่งว่าสนใจมาเลี้ยงไก่ให้พวกเขามั้ย จะให้ค่าตอบแทนเป็นไข่วันละฟอง

สังคมแห่งความเท่าเทียมที่เริ่มต้นจากทุกคนมีไก่คนละตัว เมื่อวันเวลาผ่านไปจึงเริ่มมีคนจน คนชั้นกลาง และคนรวย

แล้วไม่นานนักบทสวดมนต์โศลกนี้จึงเกิดขึ้น

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดยึดทรัพย์สินของทุกคนและมอบความยุติธรรมแด่ผองเราด้วย”


ขอบคุณนิทานจาก Quora: Forrest Taylor’s answer to Why do the rich become richer and the poor poorer?

ทำไมนักบินอวกาศจึงมักมีชีวิตคู่ที่ล้มเหลว

ในจำนวนนักบินอวกาศ 12 คนที่เคยได้ไปเดินบนดวงจันทร์ มีถึง 7 คนที่หย่าร้างกับภรรยาคนแรก

และในจำนวนนักบินอวกาศ 30 คนที่เคยทำภารกิจบนยาน Apollo มีถึง 23 คนที่เคยผ่านชีวิตคู่ที่ล้มเหลว

หนึ่งในเหตุผลที่พอจะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ก็คือนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970’s เป็นต้นมา การหย่าร้างในอเมริกาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้มากขึ้น

แต่สำหรับนักบินอวกาศและภรรยาของพวกเขานั้น ชีวิตคู่มีความยากลำบากกว่าครอบครัวทั่วไป เพราะนักบินต้องผ่านการฝึกหนักราวกับทหาร และใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือกระทั่งหลายเดือนอยู่ห่างกับครอบครัว

ยิ่งไปกว่านั้น นักบินอวกาศเหล่านี้ยังมีสถานะเป็น “เซเลบ” ของสังคมด้วย ความกดดันและสิ่งยั่วยวนที่มาพร้อมกับชื่อเสียงนั้นสูงลิบเลี่ยว

ยังไม่นับว่า NASA คาดหวังว่านักบินอวกาศทุกคนจะต้องมีภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์เพียบพร้อม ความกดดันนี้จึงตกไปอยู่กับเหล่าภรรยาของนักบินที่ต้องพยายามรักษาภาพครอบครัวที่สมบูรณ์แบบไว้ด้วย พวกเธอต้องฝืนยิ้มและทำเป็นว่ามีความสุขดี แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าสามีของพวกเธอกำลังสุขสำราญในงานปาร์ตี้ที่เต็มไปด้วยหญิงสาวมากหน้าหลายตาที่พร้อมจะเข้าหา หลายคนกล้ำกลืนฝืนทนรอให้ภารกิจเสร็จเรียบร้อยก่อนถึงจะยื่นฟ้องหย่า

ไม่ใช่ว่านักบินอวกาศทุกคนจะเป็นแบบนั้นเสียหมด ทีมนักบินยานอพอลโล 8 ซึ่งประกอบไปด้วย Frank Borman Jim Lovell และ Bill Anders ไม่มีใครหย่ากับภรรยาเลย แม้ว่ามิสชั่น Apollo 8 นั้นจะเป็นหนึ่งในภารกิจที่หนักหนาสาหัสและอันตรายที่สุดที่นาซ่าเคยทำมา ถึงกระนั้นก็ตามความกดดันของภารกิจนี้ทำให้ผู้หญิงสุดแกร่งอย่าง Susan Borman กลายเป็นคนติดเหล้าในเวลาต่อมา

Barbara Cernan ภรรยาของ Eugene Cernan นักบินอวกาศคนสุดท้ายที่ได้เดินบนดวงจันทร์เคยกล่าวไว้ว่า

“If you think going to the moon is hard, try staying home.”

ถ้าคิดว่าการไปเหยียบดวงจันทร์มันยากนัก ลองมาเป็นคนรอคอยอยู่ที่บ้านดูบ้างมั้ย?

แม้ว่าเมืองไทยจะไม่มีนักบินอวกาศ แต่บางอาชีพและบางสถานะก็อาจนำพามาซึ่งปัญหาที่คล้ายคลึงกันได้ครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Steve Smith’s answer to Why do you think the majority of Apollo astronauts got divorced after their missions?