ใจกว้างกับความผิดของตัวเอง

คำศัพท์หนึ่งในวงการรถมือสองคือ information asymmetry หรือความไม่สมมาตรของข้อมูลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ผู้ขายจะรู้ว่ารถเคยผ่านอะไรมาบ้าง เคยชนมาแล้วกี่หน มีการกรอไมล์หรือไม่ มีปัญหาคาราคาซังอะไรรึเปล่า

ขณะที่คนซื้อนั้นแทบไม่มีสิทธิ์รู้เรื่องเหล่านี้เลยเพราะผู้ขายย่อมไม่ยอมบอก

เมื่อข้อมูลที่มีไม่เท่ากัน คนที่มีข้อมูลมากกว่าจึงมักได้เปรียบกว่า

และเมื่อเป็นเสียอย่างนี้ คนจึงมองตลาดรถมือสองด้วยความคลอนแคลนและสงสัยอยู่เสมอมา


เวลาเราเห็นคนอื่นทำผิด เราจะตัดสินเขาไปก่อนแล้วว่าเขาเป็นคนไม่ดี

แต่พอเวลาเราทำผิดนั้น เรามีข้อมูลครบถ้วน ว่ามีเหตุผลอะไร สถานการณ์บีบคั้นแค่ไหน ทำไมการทำสิ่งนี้จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

เรื่องเดียวกัน คนอื่นทำเราจะบอกว่าผิด พอเราทำเราจะบอกว่ามันเหมาะสมแล้ว

ความสองมาตรฐานนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก information asymmetry แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากอคติที่เรารักตัวเองมากกว่าคนอื่น

เราจึงมักใจแคบกับความผิดของคนอื่น และใจกว้างกับความผิดของตัวเอง

แต่การใจกว้างกับความผิดของตัวเอง สุดท้ายอาจกลับมาทำร้ายเราในอนาคต

เหมือนนิทานที่ลูกทำผิดเล็กน้อยแล้วพ่อแม่ไม่อบรม พอลูกโตมาเป็นโจรก็แก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว

เราจึงควรใจกว้างกับความผิดของคนอื่น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาต้องเจอกับอะไรบ้าง

ส่วนความผิดของตัวเองนั้นเราควรตรวจสอบอย่างหนัก เพื่อจะได้คานกับความรักตัวเองและข้อมูลมากมายที่เราใช้แก้ต่างและแก้ตัวอยู่เรื่อยมาครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ “สโตอิก ปรัชญาเสริมแกร่งเพื่อชีวิตไม่สั่นคลอน The Little Book of Stoicism” Jonas Salzgeber เขียน วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม แปล สำนักพิมพ์ Be(ing)