วันนี้มาขายของครับ
หนังสือเล่มที่สองของผมจะตีพิมพ์เสร็จวันนี้และน่าจะกระจายสู่แผงหนังสือทั่วประเทศภายในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า
ผมเองยังไม่ได้เห็นตัวหนังสือเล่มจริง ก็เลยตื่นเต้นมาก ลุ้นว่ามันจะออกมาเหมือนที่เราจินตนาการไว้รึเปล่า อารมณ์ไม่ต่างอะไรกับว่าที่คุณพ่อที่กระวนกระวายอยู่หน้าห้องผ่าตัดเพื่อรอเจอเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน
เห็นคำว่า “ช้างกูอยู่ไหน” อาจจะพลันทำให้เรานึกถึงคุณจา พนม ที่ออกตามหาช้างในภาพยนตร์ “ต้มยำกุ้ง” ของพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว
หนังสือเล่มนี้ไม่มีจา พนมและไม่มีฉากบู๊ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผมเลือกชื่อนี้เพราะคนไทยคุ้นหู และมันบ่งบอกถึงแก่นแกนของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี
เพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นภาพว่า “ช้างกูอยู่ไหน” เกี่ยวกับอะไร ผมขอยกคำนำของหนังสือมาไว้ตรงนี้นะครับ
—–
ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง
ว่ากันว่ามีช่างไม้ที่แกะสลักไม้เป็นรูปช้างได้เหมือนจริงมาก
ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงดั้นด้นไปหาช่างไม้คนนั้นที่รังสรรค์งานอยู่ในกระท่อมกลางป่า
เมื่อได้เจอช่างไม้ ชายหนุ่มจึงถามถึงเคล็ดลับในการแกะสลักช้าง
ช่างไม้ตอบว่า
“ก่อนอื่นเราต้องมีไม้ที่ดีก่อน เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป”
ก็เท่านั้นเอง
ไม้ที่ดีจะมาพร้อมกับความเป็นไปได้และข้อจำกัดของมัน เช่น ถ้าไม้ขนาดเท่าท่อนแขน เราก็ไม่สามารถแกะช้างให้ใหญ่กว่าท่อนแขนได้อยู่แล้ว
เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็ต้องหาช้างของเราให้เจอด้วยการกะเทาะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป
—–
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อคนวัยสามสิบต้นๆ ถึงสี่สิบกลางๆ
วัยที่กำลังสร้างครอบครัว มีการงานที่มั่นคง หลายคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร มีลูกน้องต้องดูแล หลายคนมีเงินเก็บหลายแสนหรือแม้กระทั่งหลายล้านบาท อะไรๆ กำลังไปได้สวย
แต่ถึงกระนั้นกลับรู้สึกไม่ค่อยมีความสุข
อาจเพราะมีเงิน แต่ไม่มีเวลาใช้เงิน มีงานที่ดี แต่งานก็ดึงพลังชีวิตไปมากมายเสียจนกระทบความสัมพันธ์และสุขภาพ
ถ้าวัยยี่สิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเพิ่มพูนและเติมเต็ม ผมคิดว่าวัยสามสิบกว่าๆ คือวัยแห่งการเรียนรู้ที่จะลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปจากชีวิต
เพราะถ้าเราพยายามจะทำทุกอย่าง จะเอาทุกอย่าง สุดท้ายเราอาจไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง
เราวกวนว้าวุ่นโดยไม่มีเวลาหยุดพัก รู้ตัวอีกทีก็พบว่า “ช้าง” ของเราหายไปไหนก็ไม่รู้
แต่ถ้าเราหยุดวิ่งและหันมาสำรวจตัวเองว่าอะไรบ้างที่มีความสำคัญกับเราอย่างแท้จริง
เราอาจจะพบว่า “ช้าง” นั้นอยู่ใกล้ตัวเรานิดเดียว
ขอให้คุณผู้อ่านสนุกกับการแกะสลัก “ช้าง” ของตัวเองนะครับ
—–
หนังสือเล่มนี้จะอ่านยากกว่า “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” แต่ก็จะพาคุณผู้อ่านสำรวจตัวเองไปได้ลึกกว่าเดิมเช่นกัน
โดยหนังสือจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ภาค
Work – งาน
Relationships – ความสัมพันธ์
Society – สังคม
Self – ตนเอง
โดยความมุ่งหวังของผมคือเมื่อคุณผู้อ่านได้อ่านจบแล้ว จะเห็น “ช้าง” ของตัวเองได้ชัดขึ้น ดิ้นรนน้อยลง และมีความสุขความพึงพอใจกับวิถีทางของต้นมากขึ้นครับ
ขอบคุณพี่ปิ๊กแห่งเพจ Trick of the Trade และเจ้าของสำนักพิมพ์อะไรเอ่ยที่ให้ความไว้วางใจตีพิมพ์หนังสือของผมอีกครั้ง
ขอบคุณน้องพีทและน้องพลอยเซ่แห่ง C’est Design ที่ออกแบบหนังสือเล่มนี้ด้วยความทุ่มเทและใส่ใจในทุกรายละเอียด
ขอบคุณอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สำหรับบทกวีเปิดเล่ม
ขอบคุณโค้ชจิมมี่ พจนารถ ซีบังเกิด และพี่แท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ สำหรับคำนิยม
ขอบคุณป๋าเต็ดที่จุดประกายไอเดียอันเป็นแก่นของหนังสือเล่มนี้
ขอบคุณคุณจา พนม และพี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่สร้างหนังต้มยำกุ้ง
ขอบคุณภรรยา ลูกๆ แม่ พ่อ น้องชาย น้องสะใภ้ และคนใกล้ชิดที่สนับสนุนให้หนังสือเสร็จสมบูรณ์
และแน่นอน ขอบคุณคุณผู้อ่านที่ติดตามกันมาโดยตลอด
ขอฝาก Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจของทุกท่านด้วยนะครับ
—–
เป็นเจ้าของหนังสือ ช้างกูอยู่ไหน พร้อมลายเซ็นผู้เขียนได้ก่อนใครด้วยการสั่ง pre-order 100 เล่มแรก ผ่าน link นี้ครับ
http://www.whatisitpress.com/…/product/575145/product-575145