ตอบคอมเมนท์ในบทความ “เหตุผลที่บริษัทไม่ควรบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน”

เมื่อกลางสัปดาห์ ผมตีพิมพ์บทความ “เหตุผลที่บริษัทไม่ควรบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศทุกวัน” และได้รับคอมเมนท์มาค่อนข้างเยอะ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่มีคอมเมนท์หนึ่งที่ผมอ่านแล้วอยากตอบเป็นพิเศษ จึงขอนำมาโพสต์ไว้ตรงนี้นะครับ


Permsak Supataravanich: “แนวคิดที่หล่อหลอมมาจากกรอบของชาว start-up มันอาจจะใช้ได้ (และอาจจะมีประสิทธิภาพ) สำหรับงานอย่าง start-up ครับ

แต่ start-up ไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของตลาดแรงงานหรือบริษัททั่วไป

การยัดเยียดแนวคิดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับงานบางอย่างหรือคนบางกลุ่ม ไม่แน่ใจว่าสรุปจะเป็นผลดีหรือผลลบกับน้องๆที่เพิ่งก้าวเข้ามาในตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก?

ความสัมพันธ์ระหว่างคนในบริษัทมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานแน่นอน แล้วอย่างนั้นจู่ๆเราตั้งสมมุติฐานว่าคนเราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ได้ผ่านโลกโซเซียล?

หนุ่มสาวจีบกันผ่าน google meet โดยไม่จำเป็นต้องเจอกันในโลกของความจริงบ่อยๆ?

ผู้เขียน เขียนจากมุมมองที่เฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะในมุมของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว มีครอบครัว อยากใช้เวลาดูแลครอบครัว แล้วบริบทนี้ apply กับคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือยังไม่มีครอบครัวได้หรือไม่?

อยากฝากให้คิด และไม่อยากให้เน้นโพสโชว์ความเท่ครับ เพราะมันตื้นเขินมาก”

Patsakorn Chanyakul: “เห็นด้วยที่บอกว่า ผู้เขียนอาจมองจากมุมที่ประสบความสำเร็จ มีครอบครัว

สังเกตได้จากทำงาน9-11 ที่บ้าน เที่ยงไปกินข้าวกับทีม ออกจากกออฟฟิศก่อน 5 โมงไปรับลูก

คำถามคือ มันจะมีมนุษย์ออฟฟิศกี่คนที่สามารถทำได้แบบนี้? ตำแหน่งต้องสูงพอสมควรเลย ถ้าจะเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ คงเป็นไปไม่ได้”


ขอบคุณความคิดเห็นนะครับคุณ Permsak และคุณ Patsakorn

ต้องขออภัยย่อหน้าเรื่องวิธีการเข้าออฟฟิศที่ทำให้รู้สึกว่าผมกำลังอวดตัวและเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางครับ

ธรรมดาผมจะไม่ค่อยตอบคอมเมนท์ ไม่ว่าจะในเชิงบวกและลบ เพราะผมไม่สามารถตอบได้ครบทุกคน แต่คอมเมนท์ของคุณ Permsak และ Patsakorn ได้แสดงให้ผมเห็นว่าการสื่อสารของผมบกพร่อง และหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่มีความหมายสำหรับผมมาก จึงขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้ครับ

1. ที่ผมโพสต์เรื่องเวลาเข้างานตอนเที่ยง ออกจากออฟฟิศตอนห้าโมงเย็น เพราะผมต้องการการยกตัวอย่างก่อนจะเขียนย่อหน้าถัดไปว่าคนทำงานยุคนี้ควรได้รับโอกาสในการจัดการเวลาตัวเองได้อย่างลื่นไหล เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในที่นี้ก็คือการเดินทางในช่วงรถติด (ผมขับรถมาทำงาน) สมัยก่อนเวลาเริ่มงานคือเวลาที่เข้าออฟฟิศ แต่สมัยนี้ผมคิดว่าเวลาเข้าออฟฟิศไม่จำเป็นต้องเป็นเวลาเริ่มงาน และเวลาออกจากออฟฟิศก็ไม่ใช่เวลาเลิกงานครับ

2. อย่างที่แจ้งไปตอนต้นของช่วงบทความว่า บริษัทให้สิทธิ์แต่ละทีมจัดการกันเอง ผมจึงบอกน้องในทีมเสมอว่า ในวันที่จะเข้าออฟฟิศ ถ้าตอนเช้าไม่ต้องรีบมาเจอใคร ก็ควรนั่งทำงานที่บ้านก่อนสัก 1-2 ชั่วโมง จะได้มีงานเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน และจะได้หลีกเลี่ยงช่วงรถติด เพื่อลดเวลาการเดินทางและลดความเสี่ยงเรื่องโควิด ดังนั้นสิ่งที่ผมทำในฐานะผู้บริหาร ก็คือสิ่งที่ผมสนับสนุนในทุกคนในทีมทำได้เช่นกัน (แน่นอนว่าทีมอื่นๆ ก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป)

3. คุณ Permsak บอกว่า เพราะเราเป็นสตาร์ตอัปที่ประสบความสำเร็จแล้วถึงทำอย่างนี้ได้ ก็เป็นความจริงส่วนหนึ่งครับ เพราะพอเรามีชื่อเสียง ก็มีโอกาสเลือกคนทำงานที่มีความรับผิดชอบและไว้ใจได้ แต่เรื่องนี้คือไก่กับไข่ เรา flexible ได้เพราะเราประสบความสำเร็จ แต่เราประสบความสำเร็จได้ก็เพราะว่าเรา flexible และกล้าให้อิสระกับคนทำงานเช่นกัน ผมเชื่อว่าถ้าโควิดเกิดเร็วกว่านี้ 5 ปี ตอนที่บริษัทยังไม่ได้ใหญ่เท่าทุกวันนี้ ไม่ได้มีโอกาสเลือกคนเก่งเท่าทุกวันนี้ เราก็ยังจะมีแนวคิดพื้นฐานเหมือนเดิม คือให้เกียรติและไว้ใจคนทำงาน ส่วนพนักงานคนไหนที่ ทำลายความไว้ใจนั้น เราก็จะจัดการเป็นรายคนไปเหมือนที่เคยทำตลอดมา สิ่งที่เราจะไม่ทำคือเขียนกฎขึ้นมาเพื่อควบคุมคนส่วนน้อยจนทำให้คนส่วนใหญ่ที่ดีๆ เขาเดือดร้อนตามไปด้วย

4. คุณ Permsak เขียนว่า “จู่ๆเราตั้งสมมุติฐานว่าคนเราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ได้ผ่านโลกโซเซียล? หนุ่มสาวจีบกันผ่าน google meet โดยไม่จำเป็นต้องเจอกันในโลกของความจริงบ่อยๆ?”

น้องในทีมไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ผ่านโลกโซเชียลครับ ที่ผมเห็นว่าน้องเค้าสนิทกันเพราะว่าเห็นน้องเค้าไปเที่ยวกันในโลก physical นี่แหละ (เพียงแต่ผมเห็นผ่านโลกโซเชียลว่าเขาไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน) ผมคิดว่าการเจอหน้ากันเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ แต่ไม่จำเป็นต้อง 5 วันต่อสัปดาห์ครับ แค่เข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 2 วันและมีเวลาได้ปฏิสัมพันธ์กันนอกเวลางานก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้เช่นกัน

5. คุณ Patsakorn เห็นว่าสิ่งที่ผมเขียนเป็นมุมมองของผู้บริหารที่อยากใช้เวลากับลูก แต่อย่างที่บอกว่าผมให้สิทธิ์นี้กับน้องทุกคนในทีม หลายคนยังไม่แต่งงาน ยังไม่มีลูก แต่เขาก็มีพ่อมีแม่ มีญาติผู้ใหญ่ มีคนสำคัญที่เขาควรจะได้ใช้เวลาด้วยในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ดังนั้นผมจึงเชื่อมั่นว่าในฐานะคนทำงาน เขาน่าจะยินดีหากหัวหน้าและองค์กรจะให้อิสระเขาตรงจุดนี้

6. ผมเขียนบทความนี้ในฐานะพนักงาน ในฐานะ HR และในฐานะเจ้าของบริษัทคนหนึ่งครับ เพราะผมใส่หมวกทั้งสามใบในงานปัจจุบัน ในฐานะคนทำงานเราอยากได้ flexibility อยู่แล้ว แต่พนักงานทั่วไปคงไม่สามารถออกมาพูดเรื่องนี้ได้เต็มปากเต็มคำนักเพราะกลัวจะโดนเพ่งเล็ง ผมเป็น HR และเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการออกกฎและนโยบายบริษัท เลยคิดว่าถ้าเราแสดงความเห็นตรงนี้และมันสามารถส่งแรงกระเพื่อมบางอย่างไปให้บริษัทอื่นๆ ได้ “คิดใหม่” (ตามชื่อหนังสือ Think Again ของ Adam Grant) องค์กรบางแห่งอาจจะมีนโยบายที่สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับยุคสมัยได้มากกว่านี้ และสิ่งที่เขาจะได้ก็คือการดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพไปทำงานกับเขา

7. ทั้งหมดที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ “ถาดมันเปลี่ยนไปแล้ว ทำไมเรายังหั่นหมูแฮมแบบเดิมกันอยู่” บริษัทของผมอาจจะถาดใหญ่กว่าคนอื่น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทอื่นจะมีถาดเท่าเดิมเสียหน่อย บทความนี้จึงเป็นการชวนให้กลับมาถามตัวเองว่ามีอะไรที่มันไม่เมคเซนส์อยู่หรือไม่ เราอยากมีชีวิตการทำงานกันแบบไหน ถ้าพิจารณาแล้วยังต้องทำเหมือนเดิมจริงๆ ก็คงต้องตามนั้น แต่ถ้าพิจารณาแล้วคิดว่ามันดีกว่านี้ได้ ทำไมเราไม่พยายามทำอะไรสักอย่างดู

8. ขอบคุณที่เข้ามาแสดงความเห็นนะครับ จะขอนำไปเป็นบทความของวันนี้เลยแล้วกัน (อาทิตย์ที่ 29 มกราคม) พอได้อ่านหลายคอมเมนท์แล้ว ผมก็เริ่มมีความรู้สึกว่าอยากจะจัดเสวนา เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองโดยไม่ต้องมานั่งพิมพ์ เพราะผมเองก็อยากเข้าใจมากขึ้นเหมือนกันว่าองค์กรอื่นๆ มีข้อจำกัดอะไรอยู่บ้าง เพื่อที่อนาคตหากจะขีดเขียนอะไรออกมาจะได้มีความรอบคอบและครบถ้วนมากกว่านี้ครับ