ในปีค.ศ.1911 สองนักสำรวจชาวนอร์เวย์และอังกฤษแข่งกันว่า ใครจะสามารถพิชิตขั้วโลกใต้ได้เป็นคนแรก
นักสำรวจชาวนอร์เวย์ชื่อโรอัลด์ อมุนด์เซน (Roald Amundsen)
ส่วนนักสำรวจชาวอังกฤษนั้นชื่อโรเบิร์ต ฟอลคอน สก๊อต (Robert Falcon Scott)
ทั้งสองคนอายุพอๆ กัน มีประสบการณ์พอๆ กัน ออกเดินทางในเวลาไล่เลี่ยกัน แถมในช่วงสองเดือนแรกหลังจากออกเดินทาง ทั้งสองคณะยังเจอวันที่อากาศแย่พอๆ กันด้วย (อ้างอิงจากสมุดบันทึกที่ทั้งสองคนเขียนเอาไว้)
ในวันที่ 14 ธันวาคม 1911 คณะของอมุนด์เซนได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่พิชิตขั้วโลกใต้
ผ่านไปอีก 35 วัน กว่าคณะของสก๊อตจะเดินทางมาถึง และได้เห็นภาพอันน่าเจ็บปวด คือธงชาตินอร์เวย์ที่ปักอยู่ก่อนแล้ว
(อย่าลืมว่าในยุคนั้นยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารใดๆ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีทางรู้ว่าแต่ละคณะเดินทางถึงไหนกันแล้วจนกว่าจะมาถึงขั้วโลกใต้และเห็นว่ามีธงปักอยู่หรือไม่)
คณะของอมุนเซนด์นั้นเดินทางกลับไปยัง Framheim ซึ่งเป็น Basecamp และประกาศให้โลกรับรู้ถึงความสำเร็จในวันที่ 25 มกราคม 1912
แต่คณะของสก๊อตไม่มีใครเหลือรอดกลับมาแม้แต่คนเดียว ทุกคนเสียชีวิตระหว่างทางอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้าย
อะไรคือความแตกต่างของคณะของอมุนเซนด์ชาวนอร์เวย์และคณะของสก๊อตชาวอังกฤษ?
ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ คณะของอมุนเซนด์นั้นจะเดินทางวันละประมาณ 15-20 ไมล์เสมอ
แม้เวลาเจออากาศดีๆ สามารถเดินทางได้วันละ 30 ไมล์ แต่อมุนเซนด์ก็ยังเลือกที่จะเดินทางไม่เกิน 20 ไมล์อยู่ดี
แต่ในวันที่อากาศเลวร้ายมากๆ อมุนเซนด์ก็ยังออกเดินทาง แม้จะไปได้แค่ 10-15 ไมล์ก็ยังดี
ส่วนสก๊อตนั้นแตกต่าง ในวันที่อากาศแย่ๆ เขาและคณะจะหลบอยู่ในเต๊นท์และเขียนบันทึกแบบเซ็งๆ ว่าวันนี้อากาศไม่เป็นใจเอาเสียเลย
แต่ถ้าวันไหนอากาศดีมาก สก๊อตก็จะบุกตะลุยให้ได้ระยะไกลที่สุดเพื่อชดเชยวันที่ไม่ได้เดินทาง แต่การทำเช่นนั้นส่งผลให้คณะของสก๊อตเหนื่อยล้าเกินไป พอวันไหนที่อากาศแย่ๆ จึงไม่มีแรงใจและแรงกายพอที่จะทำอะไร
และนี่คือที่มาของกฎ 20 ไมล์ที่ผมอยากพูดถึงในวันนี้
ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องใด เราควรจะสร้างความก้าวหน้าในเรื่องนั้นทุกวัน
ไม่ว่าวันนั้นจะเจอเรื่องร้ายดีอย่างไร ‘สภาพอากาศ’ จะไม่เป็นใจแค่ไหน เราก็ไม่ควรหยุดเคลื่อนที่
และแม้ว่าวันไหนจะเส้นทางสดใสหรือเราจะมีกำลังเต็มพิกัด ก็ต้องระวังไม่หักโหมจนเหนื่อยล้าเกินไปในวันพรุ่งนี้
ผมเองก็เหมือนจะใช้กฎ 20 ไมล์นี้โดยไม่รู้ตัว คือเขียนบล็อกวันละหนึ่งตอนมาปีครึ่งแล้ว และตั้งใจจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ลองดูนะครับ หาเป้าหมายหนึ่งที่มีคุณค่ากับเรา และเดินตามกฎ 20 ไมล์นี้ทุกวัน
วันหนึ่ง เราอาจพิชิตขั้วโลกใต้ของตัวเองก็ได้
UPDATE: 20 Aug 2017: ต้องขอบคุณกฎ 20 ไมล์ที่ทำให้ผมเดินทางถึง “ขั้วโลกใต้” ได้จริงๆ เพราะ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” หนังสือเล่มแรกของผมวางแผงแล้ว (ตอนนี้อยู่อันดับ 10 หนังสือขายดีของ SE-ED หมวดจิตวิทยาครับ)
ขอบคุณข้อมูลจาก Wikipedia: Roald Amundsen
ขอบคุณข้อมูลจาก Jim Collins: Great by Choice
ขอบคุณภาพจาก Wikipedia: Roald Amundsen and his crew looking at the Norwegian flag at the South Pole, 1911 South Pole
ถูกต้องที่สุดเลยครับ ขอบคุณมากนะครับจะกำลังใจให้นะครับผม
LikeLike
Pingback: 20 ไมล์ • สม่ำเสมอ | เม่น · บล็อก
ขออนุญาตเอาคอนเท้นต์ไปทำคลิปนะคะ
LikeLike
ดีจังเลยค่า ขอบคุณที่แชร์เรื่องดีๆนะคะ
LikeLike
บทความดีมากเลยครับ… ผมติดตามมาจาก FB
ืnoinar
LikeLike
เยี่ยมครับ เป็นกำลังใจให้ครับ
LikeLike