ถาม: คุณอยู่ออฟฟิศดึกแค่ไหน
ตอบ: ผมบอกลูกน้องทุกคนว่า ในการทำงานของเรา เราไม่ได้ทำงานให้ Q House เราทำงานเพื่อดูแลครอบครัวของเราเอง ไม่ต้องคิดว่าเรามีหนี้บุญคุณซึ่งกันและกันนะ เราทำงานกันแบบแฟร์ๆ มืออาชีพ เราทุกคนทำงานเพื่อตัวเอง เรามาทำงานด้วยกันที่นี่ เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลครอบครัวของเรา ดังนั้น ถ้าผมเห็นคุณนั่งทำงานทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม ทุกวันๆ แบบนี้ผมว่าผิดปกติแล้ว แสดงว่าบริษัทเราใช้งานคุณมากเกินไป หรืออีกทางหนึ่ง ประสิทธิภาพในกาารทำงานของคุณยังไม่ดี ถ้าคุณกลับบ้านสามทุ่มทุกวันมันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าคุณไม่มีเวลาเหลือไปอยู่กับครอบครัว ผมมาทำงานเช้าทุกวัน แต่ผมจะไม่กลับดึก ผมขอเวลากลับบ้านไปหาครอบครัว”– ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
a day BULLETIN issue 470, 27 Feb 2017
เรื่อง: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ, จักริน อินต๊ะวงศ์
ภาพ: กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร
สไตลิสต์: Hotcake
คำพูดของอดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีน่าจะโดนใจหลายๆ คน
โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่ดึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเพราะวัฒนธรรมองค์กรหรือวัฒนธรรมทีมมันเป็นอย่างนั้น
ผมอยากหยิบคำพูดด้านบนมาคุยต่อ 2 ประเด็น
คือเรื่องของบริษัทและเรื่องของครอบครัว
ถ้าใครได้ตามอ่านบทความ Sapiens ของผม จะเข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์ครองโลก คือความสามารถในการร่วมมือกันผ่าน fiction/collective imagination
“บริษัท” ก็เป็น fiction อย่างหนึ่งที่มนุษย์ร่วมสร้างขึ้นมาชายชาวฝรั่งเศสสามารถทำงานร่วมกับผู้หญิงชาวอเมริกันที่เขาไม่เคยเห็นหน้าค่าตาได้เพียงเพราะว่าเขาทั้งสองต่างเป็นพนักงานของบริษัทรถยนต์ยี่ห้อ “เปอร์โยต์” เหมือนกัน
“เปอร์โยต์” ไม่ใช่รถ ไม่ใช่ตึก ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่พนักงาน เป็นเพียง “สิ่งปลูกสร้างในจินตนาการ” ที่ทำให้เราไว้ใจกันมากพอและช่วยให้เราทำงานร่วมกันง่ายขึ้นแค่นั้นเอง
คำว่า “ครอบครัว” สำหรับผมแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือครอบครัวที่ให้กำเนิดเรา และครอบครัวที่เราให้กำเนิด
ครอบครัวชนิดแรกก็คือพ่อแม่พี่น้อง ครอบครัวชนิดที่สองก็คือสามี-ภรรยาและลูก
และสำหรับบางคนก็โชคดีที่มีครอบครัวชนิดที่สาม คือครอบครัวที่ไม่ได้ผูกพันทางสายเลือดแต่ก็รักกันมากพอที่จะพึ่งพากันได้ยามเดือดร้อน ซึ่งครอบครัวชนิดนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสองแห่งใหญ่ๆ คือที่โรงเรียน และที่บริษัท
สำหรับคนในวัยคุณชัชชาติ ย่อมใช้เวลากับครอบครัวชนิดที่สองคือภรรยาและลูกมากที่สุด
แต่สำหรับคนหนุ่มสาวที่เพิ่งทำงานมาใหม่ๆ ครอบครัวที่เขาสนิทใจและมีความสุขที่สุดเวลาได้อยู่ด้วยอาจเป็นครอบครัวที่เขาสร้างขึ้นที่บริษัทก็ได้
Yuval Noah Harrari ผู้เขียน Sapiens เคยอธิบายไว้ใน Podcast ของ James Altucher ว่ามนุษย์เราอยู่ใกล้ชิดกับ fiction มากเสียใจเรามักจะลืมไปเลยว่าอะไรเป็น fiction และอะไรไม่ใช่ fiction
หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะระบุว่าอะไรเป็น fiction หรือไม่ คือตั้งคำถามว่า “Can it suffer” มันเป็นทุกข์ได้รึเปล่า?
“บริษัทเปอร์โยต์” ไม่สามารถเป็นทุกข์ได้ เพราะมันไม่มีตัวตนอยู่จริง
ที่เป็นทุกข์ได้จริงๆ คือพนักงานเปอร์โยต์ เพราะมีตัวตน มีเลือดมีเนื้อ และมีคนที่เขาต้องดูแล
คำว่า “ครอบครัว” สำหรับผมแบ่งออกได้เป็นสองชนิด คือครอบครัวที่ให้กำเนิดเรา และครอบครัวที่เราให้กำเนิด
สำหรับคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องเลือกระหว่าง “บริษัท” กับ “ครอบครัว” เรามักจะเลือกอย่างแรก
เพราะมันตัดสินใจง่ายดี เนื่องจากบทลงโทษชัดเจนกว่า
เพราะถ้าเราทำงานไม่เสร็จ เราโดนเจ้านายดุแน่ๆ แต่ถ้าเรากลับบ้านดึก อย่างมากก็โดนแฟนบ่น
แต่ถ้าเราคิดจะเล่นแต่ “เกมสั้น” อย่างนี้ วันหนึ่งเราอาจจะหมดโอกาสเล่น “เกมยาว” ก็ได้
เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าเราเลือกบริษัทบ่อยไปหน่อยแล้ว ให้พึงระลึกว่าบริษัทเป็นเพียง fiction ที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง suffer ไม่ได้ และเราเองเป็นเพียง 0.1% ในองคพายพของเขา
คนที่รอเราอยู่ที่บ้านต่างหาก ที่เป็นของจริง เป็นคนที่ suffer ได้ และเราเป็น 50% ของชีวิตเขา
อย่าปล่อยให้ “เรื่องที่แต่งขึ้น” มาหลอกเราว่ามันมีความสำคัญกว่า “สิ่งที่มีชีวิตจิตใจ” นะครับ
ขอบคุณเนื้อหาและภาพจาก a day BULLETIN issue 470, 27 Feb 2017
ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่
ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com