
ผมเคยคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่น ผมในฐานะที่มีลูกสาวเหมือนกันเลยถามว่าพอโตไปเป็นวัยรุ่นแล้วคุยกันยากมั้ย อาจารย์ก็เลยเล่าว่าเด็กวัยนี้จะมีความต่อต้านผู้ใหญ่อยู่ในตัวอยู่แล้ว พอเราบอกว่าอยากให้เขาทำ A เขาก็จะทำ B ดังนั้นวิธีแก้ก็คือการบอกให้เขาทำ B เขาจะได้ทำ A อย่างที่เราต้องการ 😉
เพื่อนผมอีกคนหนึ่งก็เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้ามีคนมาบอกว่าทำ A สิ แถมยังพูดย้ำด้วยว่าอย่าลืมทำ A นะ สุดท้ายเขาก็จะพานไม่ทำมันซะเลย ทั้งที่ๆ ตอนแรกตั้งใจจะทำ A อยู่แล้ว
ปฏิกิริยาเช่นนี้ มีชื่อเรียกในทางจิตวิทยาว่า psychological reactance หรือในอีกชื่อที่น่าจะติดหูกว่าก็คือ boomerang effect
เหตุใดจึงเกิด boomerang effect ที่ห้ามสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น หรือขอให้ทำสิ่งใดแล้วกลับไม่ยอมทำสิ่งนั้น
เพราะหนึ่งในสิ่งที่คนเราหวงแหนมากที่สุดก็คืออิสรภาพ การโดนใครสั่งให้หันซ้ายหันขวา แม้จะมาจากความหวังดี มันก็ยังเป็นการริดรอนอิสรภาพ สิทธิและตัวตนของเขาอยู่ดี
ดังนั้น การทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่โดนสั่งมา ก็คือการได้เรียกสิทธินั้นกลับคืนมา แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันอาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ตาม
สำหรับคนที่ชอบจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่หรือเจ้านาย ก็ควรระลึกถึง boomerang effect นี้เอาไว้
จะได้ไม่พูดเยอะเกินไปจนเสียงานครับ