ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราเร็วไม่พอ ปัญหาอยู่ที่เราชะลอไม่เป็น

วันนี้เป็นวันแรกของการกลับมาทำงาน หลังจากได้หยุดกันฉ่ำๆ มาหลายวัน

ช่วงสงกรานต์ผมอยู่กรุงเทพ ขับรถไปไหนก็สบาย วันไหนเปิดแอร์นอนอยู่บ้านก็รู้สึกว่ามีเวลาว่างมากมายจนรู้สึกไม่ค่อยชิน

เมื่อได้อยู่เฉยๆ ก็เริ่มมองเห็นว่า บางทีปัญหาของใครหลายคน คือเราหลงลืมไปแล้วว่าการหยุดพักคืออะไร

เหตุการณ์ Crystal Pub ก่อนสงกรานต์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พนักงานออฟฟิศจำนวนไม่น้อยต้องทำงานที่บ้าน 100%

ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวลางานกับเวลาส่วนตัว ออกไปไหนก็ไม่ได้ เลยอยู่แต่หน้าจอคอม สายตาจับจ้องกับข้อความที่เด้งเข้ามาและรู้สึกว่าต้องตอบทันที

ถ้าเราเป็นผู้จัดการหรือผู้บริหาร ตารางจะแน่นมาก ต้องวิ่งจากประชุมหนึ่งไปสู่อีกประชุมหนึ่งแทบทั้งวัน เวลากินข้าวเข้าห้องน้ำยังแทบจะหาไม่ได้

มนุษย์เราไม่ได้ถูกวิวัฒนาการเพื่อให้มานั่งหน้าจอคอมทั้งวัน การที่เราต้องมาเจอสภาพแบบนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น


ในหนังสือ Outlive ของ Peter Attia สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นย้ำมาก ก็คือการฝึกกล้ามเนื้อทั้งสองฝั่ง

Concentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อหดตัว

Eccentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อยืดตัว

เวลาเราออกกำลังกาย เรามักจะใส่ใจแต่ตอน concentric loading หรือตอนที่กล้ามเนื้อหดตัว และเราต้องออกแรง

เช่นถ้าเราวิดพื้น เราก็จะใส่ใจกับการดันตัวขึ้น ถ้าเราโหนบาร์เพื่อ pull up เราจะใส่ใจแต่ตอนดึงตัวขึ้นมา

แต่ eccentric loading ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือขากลับที่เรา “ผ่อนแรง” ตอนวิดพื้นก็คือตอนที่เราค่อยๆ งอข้อศอกให้อกลงไปชิดพื้น ตอนโหนบาร์ก็คือตอนขาลง

ถ้าเดินขึ้นบันไดคือ concentric loading การเดินลงบันไดก็คือ eccentric loading

ถ้า Concentric loading คือการเหยียบคันเร่ง

Eccentric loading ก็คือการเหยียบเบรคนั่นเอง

ถ้าขาของเรามีกล้ามเนื้อเบรคที่แข็งแรง มันจะช่วยเราตอนเจอเหตุไม่คาดฝัน เช่นตอนเดินลงพื้นต่างระดับโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของ “การล้ม” ของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เรากลัวกันนัก

วิธีการฝึกกล้ามเนื้อเบรค ก็คือให้ใส่ใจกับจังหวะ “ขาลง” ให้มากขึ้น

เช่นตอนเดินลงบันได ให้ก้าวลงด้วยท่าปกติ แต่จงใจทำให้ช้าลง ให้เท้าลอยอยู่ในอากาศแบบ slow motion แล้วนับในใจ 1-2-3 ก่อนจะที่เท้าจะสัมผัสพื้น

พอลองทำแล้วจะรู้เลยว่ายากกว่าที่คิด เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่เราไม่เคยให้ความสำคัญ


โอกาสในการฝึกกล้ามเนื้อเบรคทางใจของเรานั้นมีทั้งวัน

ตอนเช้า ถ้าตื่นไปวิ่ง เตือนตัวเองว่าไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็ว แต่วิ่งสบายๆ เพื่อที่เราจะได้รักการวิ่งและรู้สึกกอยากกลับมาวิ่งอีกในวันรุ่งขึ้น

ตอนกลางวัน แทนที่จะไล่ตอบข้อความในไลน์หรือในสแล็ค ก็ให้จัดเวลาได้พักเที่ยง กินข้าวแบบได้พูดคุยกับผู้คนและไม่เล่นมือถือ จะได้รับรู้รสชาติอาหารได้ดีกว่าที่เคย

ตอนกลางคืน เวลาดูซีรี่ส์ในเน็ตฟลิกซ์จบหนึ่งตอน แทนที่เราจะปล่อยให้ Play next episode ลองกลั้นใจกดปุ่มปิดทีวี

ตลอดทั้งวัน แทนที่จะตะโกนในใจว่า go go go!

เราควรกระซิบบอกตัวเองบ่อยๆ ว่า you can slow down.

เพราะหลายต่อหลายครั้ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราเร็วไม่พอ

ปัญหาอยู่ที่เราชะลอไม่เป็นครับ

อ่านหนังสือยังไงให้ลืมได้เร็วๆ

ช่วงหยุดยาวถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะได้หยิบหนังสือจากกองดองขึ้นมาอ่าน

สำหรับใครที่ชอบหนังสือประเภท non-fiction อาจจะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่อย่างหนึ่ง คือพออ่านจบได้ไม่นาน ก็มักจะลืมเนื้อหา หรือแทบไม่ได้หยิบอะไรจากหนังสือมาใช้ในชีวิตจริง จนรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเล่มมันนั้นมันสูญเปล่าหรือไม่ คนกลุ่มนี้จึงเฟ้นหาวิธีที่จะช่วยให้เขาจดจำเนื้อหาได้มากกว่านี้

เขาว่ากันว่า การไฮไลต์หนังสือเฉยๆ นั้นไม่ได้ช่วยในการจดจำ เพราะสมองของเราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหามากเพียงพอ

เทคนิคที่จะช่วยให้อ่านแล้วไม่ลืมก็เช่น

  • จดโน๊ตตรงพื้นที่ว่างในหนังสือว่ามันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วอย่างไร
  • สร้าง Output เช่น สรุปหนังสือออกมาในคำพูดของเรา เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเขียนเป็นบทความ
  • จดโน้ตด้วยเทคนิค Zettelkasten ของเยอรมัน ที่สามารถเอาทุกอย่างมาเชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นโน้ตเก่าหรือโน้ตใหม่

บทความวันนี้จะมาบอกว่า บางทีเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบข้างบนเลยก็ได้นะครับ

เพราะถ้าหากเรารู้สึกว่าจะต้อง “รีดประโยชน์” จากการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจก็จะกลายเป็น “งานอีกหนึ่งชิ้น” ขึ้นมาทันที

การจดเพื่อให้จำได้นั้นเป็นการทำเพื่อตัวเราในอนาคต แต่มันกลับทำให้ตัวเราในวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขกับการอ่านหนังสือ

มีบทความหนึ่งที่ผมชอบมากของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks

บทความนี้มีชื่อว่า “How to forget what you read

คุณ Burkeman เขาเป็นคนแบบนี้แหละครับ ชอบเขียนบทความที่ตั้งคำถามกับกระแสหลัก ในเมื่อกูรูส่วนใหญ่สอนว่าจะอ่านหนังสือยังไงให้จำได้นานๆ เขาก็เลยตั้งชื่อบทความว่าอ่านยังไงให้ลืมได้เร็วๆ ผมเลยขออัญเชิญมาเป็นชื่อของบทความวันนี้ด้วยเสียเลย


Burkeman เคยเป็น productivity geek มาก่อน ลองเครื่องมือ productivity มาแล้วแทบทุกชนิด

เขาเคยตั้งกฎกับตัวเองว่าจะอ่านหนังสือวันละ 30 นาที จากนั้นจะใช้เวลาอีกวันละ 30 นาทีเพื่อจดโน้ตและจัดระเบียบโน้ต โดยไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเขาต้องหาเวลาเพิ่มอีก 60 นาทีเพื่อทำสองสิ่งนี้ในตารางชีวิตที่ยุ่งมากพออยู่แล้ว

หลังจากลองแล้วล้มเหลว เขาก็ได้ข้อสรุปว่าเราไม่ต้องพยายามจดจำทุกอย่างที่อ่านก็ได้

Burkeman ให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้

1.การลืมคือตัวกรองอย่างหนึ่ง

      “Forgetting is a filter.”

      อะไรที่ไม่สำคัญ สมองจะทำหน้าที่ลืมให้เราโดยอัตโนมัติ

      แต่ถ้าสิ่งที่เราอ่านมันมีความหมายกับเรามากพอ เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายาม

      แน่นอนว่ามีบางบริบทเช่นการเรียนหรือการทำงานที่เราจำเป็นต้องจำให้ได้เยอะที่สุด แต่สำหรับการอ่านส่วนใหญ่ เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนั้น

      การที่สมองทำหน้าที่เป็นตัวกรองให้นั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่แล้ว อะไรที่เราอินก็จะติดอยู่ในหัว อะไรที่เราไม่อิน สมองก็จะช่วยคัดออกให้

      แต่ถ้าเราทดแทนกลไกนี้ด้วยการจดโน้ตและจัดระเบียบ สมองของเราจะเต็มไปด้วย “ประเด็นที่น่าจะสำคัญ” จน “ประเด็นที่สำคัญที่สุด” ถูกกลืนหายไป

      Paulo Coelho ผู้เขียนนิยาย Alchemist เคยให้สัมภาษณ์กับ Tim Ferriss เอาไว้ว่า*

      “Forget notebooks. Forget taking notes. Let what is important remains. What’s not important goes away.”

      ไม่ต้องไปสนใจสมุด ไม่ต้องไปสนใจการจดโน้ต อะไรที่สำคัญจะยังคงอยู่กับเรา อะไรที่ไม่สำคัญมันจะจากเราไปเอง


      2.ยิ่งเทคนิคที่เราใช้ต้องลงแรงมากเท่าไหร่ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือมากขึ้นเท่านั้น

        ถ้าเรารู้สึกว่าการหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านนั้นจะต้องตามมาด้วยการจดโน้ต ความน่าจะเป็นก็คือเราอาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นไปเลย เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาหรือไม่มีแรงมากพอ

        แทนที่จะได้อ่านหนังสือที่เราอยากอ่านจริงๆ เราจึงอาจจะเลือกอ่านหนังสือที่อ่านง่าย เพียงเพราะเรารู้สึกว่ายังพอจดโน้ตไหว ยังพอเขียนสรุปไหว


        3.เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อดาวน์โหลดข้อมูลมาเก็บไว้ในสมอง เราอ่านหนังสือเพื่อหล่อหลอมตัวตน

          “The point of reading, much of the time, isn’t to vacuum up data, but to shape your sensibility.”

          งานทุกชิ้นที่เราอ่านนั้นจะมีผลกับเราเสมอ แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ดังนั้นวิธีการที่เรามองโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่เราไม่จำเป็นต้องจดจำเนื้อหาได้เป๊ะๆ

          สุดท้ายแล้ว สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง ก็คือมุมมองที่เรามีต่อโลก ต่อผู้คนและสิ่งรอบตัว และนำมุมมองนั้นมาสร้างเป็นผลงานและสร้างคุณประโยชน์ในแบบของเราเอง


          จุดประสงค์ของบทความนี้ไม่ได้จะบอกให้ลืมทุกสิ่งที่เราอ่าน หรือให้ทิ้งการจดโน้ตไปทั้งหมด

          หากเราเป็นคนชอบจดโน้ต ก็จงจดต่อไปในรูปแบบที่เราถนัด

          ส่วนใครที่ไม่ชอบจดโน้ต ก็ขอให้มีความสุขกับการได้อ่านหนังสือดีๆ โดยไม่ต้องมีกฎกติกามากมาย

          มาถึงวัยนี้แล้ว การอ่านหนังสือควรเป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ใช่ด้วยความกล้ำกลืนหรือด้วยความมีระเบียบวินัย

          และขอให้เชื่อเถอะครับว่า เมื่อได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม หรือบทความดีๆ สักตอน ต่อให้เราจดจำเนื้อหาได้เล็กน้อยเพียงใด การอ่านนั้นย่อมไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน


          * บทสัมภาษณ์ที่ Paulo Coelho ให้ไว้กับ Tim Ferriss ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ How to forget what you read ของ Oliver Burkeman แต่ระหว่างที่เขียนบทความนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ Coelho ขึ้นมาได้พอดี แม้จะเคยฟังบทสัมภาษณ์นี้เพียงครั้งเดียวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า อะไรที่มีความหมายกับเรา เราจะจำมันได้โดยไม่ต้องพยายามจริงๆ

          เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

          เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

          เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ มุมหนึ่งที่ผมไปเยือนบ่อยที่สุดคือมุม Self-Improvement หรือ Self-Help

          มีหนังสือมากมายที่สอนว่าเราจะทำงานเก่งกว่านี้ได้อย่างไร จัดการตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ดูแลร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร

          พ็อดแคสต์ชื่อดังหลายรายการที่ผมฟังก็จะโคจรรอบหัวข้อประมาณนี้

          ดูเหมือนมนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือถ้าให้ตรงประเด็นยิ่งกว่านั้นก็คือ ทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี

          แต่สมการชีวิตที่ “ดี” ก็มีส่วนประกอบสองอย่าง คือความจริงของโลกภายนอก กับความคาดหวังของโลกภายใน

          ที่ผ่านมาเราพยายาม “พัฒนา” ความจริงของโลกภายนอก เพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้น ดูดีขึ้น

          แต่ไม่ว่าเราจะพัฒนาไปเท่าไหร่ ความคาดหวังของโลกภายในมักจะตามทันเสมอ

          เพราะในโลกโซเชียลนั้น เรื่องมหัศจรรย์ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา

          ในความหมายที่ว่า เรื่องราวของคนระดับ Top 1% หรือแม้กระทั่ง Top 0.01% จะถูกแชร์ให้เราเห็นอยู่ทุกวัน จนรู้สึกว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ทั้งที่จริงแล้วมันไม่มีอะไรปกติเลย

          เมื่อเห็นคนที่เก่งกว่า รวยกว่า ดูดีกว่า เราก็อาจจะมีปฏิกิริยาหนึ่งในสามอย่างนี้

          หนึ่ง คือเราฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจ และเราก็ออกไป “วิ่ง” เพื่อไขว่คว้า

          สอง คือเรารู้สึกด้อยค่า ว่าทำไมเราถึงยังไม่ดีเท่าเขา

          สาม คือปฏิเสธเส้นทางของคนเหล่านั้น อารมณ์หมาจิ้งจอกกับองุ่นเปรี้ยว

          แต่มันอาจจะมีทางที่สี่ก็ได้

          กลับมาที่สมการนี้

          ชีวิตที่ดี = ความเป็นจริงของโลกภายนอก – ความคาดหวังของโลกภายใน

          สำหรับคนที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่าเราต้องทำความจริงของโลกภายนอกให้ดีขึ้นก่อน อย่างน้อยให้ถึงจุดที่เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองและคนที่เรารักได้

          แต่มีงานวิจัยมากมาย ที่ระบุว่าเมื่อเรามีรายได้ถึงจุดหนึ่ง การมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้นำพามาซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันอีกต่อไป

          คำถามสำคัญก็คือเรามาถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังหมายถึงมิติอื่นๆ ด้วยเช่นความแข็งแรงหรือความดูดี

          เพราะถ้าเราคิดแต่จะ beat yesterday เราก็กำลังหลบตาความจริงที่ว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

          เมื่อถึงจุดที่โลกภายนอกดีพอแล้ว เราจึงควรกลับมาจัดการโลกภายในให้พอดี

          ในการ์ตูนเรื่อง One Piece มีตัวละครหนึ่งเคยพูดเอาไว้ทำนองว่า

          “สัญญาณของการเติบโต คือการยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง”

          พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผม เคยบอกไว้ว่า

          “เราสามารถชื่นชมคนอื่นได้ โดยไม่ต้องอยากเป็นอย่างเขา”

          เมื่อเราเรียนรู้ที่จะสงบศึกกับตัวเอง รู้ตัวว่าเราเหมาะกับอะไร ไม่เหมาะกับอะไร และยอมรับว่าต่อให้เราพยายามกว่านี้ มันก็จะได้ประมาณนี้แหละ

          เราก็อาจโล่งอกที่ไม่ต้อง “วิ่ง” ไปตลอด และไม่รู้สึกผิดกับการอยู่เฉยๆ

          เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต การพัฒนาตัวเองจะไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับตัวเองครับ

          สิ่งสำคัญคือการกลับมาใหม่วันพรุ่งนี้

          ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมเริ่มเข้าฟิตเนสและจ้าง personal trainer เพราะอยากเพิ่มความน่าจะเป็นที่ตัวเองจะสะสมกล้ามเนื้อไว้เพียงพอก่อนถึงวัยเกษียณ (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability)

          สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตได้ คือไม่ว่าจะเป็นตอนยืดเส้น ตอนเล่นเวท หรือตอนคูลดาวน์ เทรนเนอร์จะพูดเสมอว่า “ช้าๆ นะครับ”

          ผมเดาว่า สิ่งหนึ่งที่เทรนเนอร์ห่วงที่สุด คือคนที่เรียนด้วยบาดเจ็บ

          การที่คนคนหนึ่งบาดเจ็บเป็นเรื่องที่ไม่ดีในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่สำหรับเทรนเนอร์มันจะทำให้เขาสูญเสียรายได้อีกด้วย (เวลาจ้างเทรนเนอร์ เราจะซื้อแพคเกจเป็นจำนวนครั้ง เช่น 20/30/50 ครั้ง ถ้านักเรียนบาดเจ็บ ก็จะไม่ได้ใช้สิทธิ์ ทำให้การซื้อแพคเกจครั้งต่อไปต้องกระเถิบออกไป หรือไม่เกิดขึ้นอีกเลยในกรณีที่เจ็บยาว)

          สิ่งสำคัญสำหรับเทรนเนอร์ จึงไม่ใช่กล้ามที่ใหญ่ขึ้นในเวลาอันรวดเร็วของนักเรียน แต่คือการที่นักเรียนรู้สึกว่าตัวเองมีความก้าวหน้า ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ได้รับบาดเจ็บ จะได้มาฟิตเนสและใช้บริการเทรนเนอร์ได้เรื่อยๆ


          ในยุคที่เราเสพโซเชียลมีเดียและเห็นคนอื่นไปได้ไกลและไปได้เร็วกว่าเรา มันก็อาจหล่อหลอมให้เราเป็นคนใจร้อนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

          ถ้าใครเป็นสายวิ่ง ก็อยากจะทำสถิติใหม่ของตัวเอง

          ถ้าใครเป็นสายทำ content ก็อยากให้ยอดคนติดตามมากขึ้นโดยไว

          ถ้าใครลงทุน ก็อยากให้พอร์ตของตัวเองเติบโตแบบก้าวกระโดด

          การเป็นคนคิดใหญ่-ไม่คิดเล็กนั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ถ้าเราเป็นคนคิดใหญ่ที่ใจร้อนก็อาจส่งผลเสีย เพราะเราอาจใช้ทางลัด เราอาจทำอะไรเกินตัว หรือเราอาจใช้ความโลภแทนที่จะใช้สตินำทาง

          สิ่งหนึ่งที่ Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money เน้นย้ำ ก็คือเราควรวางแผนการเงินของตัวเองให้ “ฆ่าไม่ตาย” – be financially unbreakable.

          เราจึงควรมีเงินสดให้เพียงพอ และไม่ทุ่มหมดหน้าตักกับการลงทุนใดลงทุนหนึ่ง เพราะว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ

          อะไรก็ตามที่ทำแล้วมีโอกาสเจ๊ง แม้ว่าความน่าจะเป็นจะต่ำแค่ไหน แต่ถ้ามันจะทำให้เราไม่สามารถกลับมาสู่เกมนี้ได้อีกเลย เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงมันให้มากที่สุด


          Naval Ravikant นักลงทุนคนแรกๆ ในธุรกิจอย่าง Uber และ Twitter เคยกล่าวไว้ว่า

          “All the returns in life, whether in wealth, relationships, or knowledge, come from compound interest.”

          ไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุน แต่ทั้งเรื่องความสัมพันธ์และความรู้ ก็ล้วนตั้งอยู่บนผลตอบแทนทบต้นหรือ compound interest

          หมายความว่า เราควรมองอะไรให้ไกลๆ และไม่ต้องใจร้อน ผลตอบแทนแต่ละปีอาจไม่ต้องสูงมาก แต่ถ้าเราอยู่กับมันได้นานพอ compound interest จะทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรง และเมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีเราก็อาจไปได้ไกลจนตัวเองยังแปลกใจ

          เมื่อบวกสองอย่างเข้าด้วยกัน คือหนึ่ง อย่า “บาดเจ็บ” จนต้องออกจากเกม สองคืออยู่ในเกมนั้นให้นานพอเพื่อให้ผลตอบแทนทบต้นทำงาน ก็จะเป็นแนวคิดที่ช่วยนำทางชีวิตเราได้

          ถ้าเราออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เราก็ไม่จำเป็นต้องซ้อมหนักอย่างบ้าคลั่ง แต่ซ้อมให้มีความสุขและไม่ฝืนร่างกายตัวเองเกินไป เพื่อที่ว่าเราจะได้อยากกลับมาซ้อมอีกในวันพรุ่งนี้ และเราจะยังมีร่างกายที่สมบูรณ์เพื่อกลับมาซ้อมได้เรื่อยๆ

          สำหรับคนทำงาน เราอาจไม่จำเป็นต้องทำงานเป็นบ้าเป็นหลังจนเป็นออฟฟิศซินโดรมและโรคซึมเศร้า แต่เราควรเลือกหัวหน้าที่เราเคารพและอยากทำงานด้วย และเลือกองค์กรที่มีโอกาสเติบโต จากนั้นเราก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และสนุกไปกับมัน เมื่อเราเอ็นจอยงานและทำได้ดีติดต่อกันเป็นเวลานาน ความก้าวหน้าย่อมตามมาเอง

          ถ้าเราลงทุน ก็เลือกการลงทุนที่ถูกจริตของเรา ไม่ทำให้เราเครียดจนนอนไม่หลับ และให้แน่ใจว่าถ้าพอร์ตนี้เจ๊งไป ครอบครัวจะไม่เดือดร้อน

          ไม่ว่าจะเรื่องงาน การออกกำลังกาย หรือการลงทุน เราไม่จำเป็นต้องเล็งผลเลิศในเดือนนี้หรือปีนี้ แต่ควรเล็งผลที่ดีพอและพอดีในอีก 10 ข้างหน้า

          เมื่อนั้นเราจะเป็นคนที่รอได้ เมื่อนั้นเราจะไม่ทำอะไรผิดธรรมชาติ

          เพราะสิ่งสำคัญ คือการกลับมาใหม่วันพรุ่งนี้ครับ

          การตัดสินใจ 3 ระดับ: หมวก ทรงผม และรอยสัก

          James Clear บอกไว้ว่า คนเรามีการตัดสินใจได้ 3 ระดับ

          ระดับแรกคือการตัดสินใจระดับหมวก

          ถ้าลองหมวกใบนี้แล้วไม่ชอบ ก็หยิบหมวกใบอื่นขึ้นมาใส่ได้ ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ดังนั้นจงตัดสินใจโดยไม่ต้องคิดนานเกินไป

          ระดับที่สองคือการตัดสินใจระดับทรงผม

          ถ้าเราตัดผมทรงนี้ไปแล้วเราไม่ชอบ ก็จะลำบากหน่อย เพราะอาจจะเปลี่ยนทรงผมได้ไม่มากนัก หรือกว่าจะได้ตัดทรงใหม่ก็ต้องรอเวลาให้ผมยาวกว่านี้

          ระดับที่สามคือการตัดสินใจระดับรอยสัก

          การตัดสินใจแบบนี้แทบจะย้อนกลับไปแก้อะไรไม่ได้ สักแล้วสักเลย หรือต่อให้พยายามลบก็จะเหลือร่องรอยอยู่ดี ดังนั้นต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วน

          เมื่อเจอเรื่องให้ต้องตัดสินใจ ลองจำแนกแยกแยะให้ดีว่ามันคือการตัดสินใจระดับ หมวก ทรงผม หรือรอยสักนะครับ


          ขอบคุณที่มาจาก 3-2-1: On hats, haircuts, and tattoos