หลังจากตั้งใจเขียนบล็อกวันละตอนมาได้ห้าปีกว่า เมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 บล็อก Anontawong’s Musings มีบทความครบ 2,000 บทความแล้ว
ผมเคยเขียนบทความ “สิ่งที่อยากบอกหลังเขียนบล็อกครบ 1,000 ตอน” เอาไว้ มารอบนี้เลยอยากจะฉลองเล็กๆ ด้วยการพูดถึงอีก 20 เรื่องที่จะไม่ซ้ำกับตอนแรกนะครับ
1. Keystone Habit
ในหนังสือ The Power of Habit ผู้เขียนบอกว่า Keystone Habit คืออุปนิสัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตเข้าที่เข้าทางและทำให้อุปนิสัยที่ดีอื่นๆ ตามมาด้วย เช่นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะเป็นคนที่เข้านอนเร็ว ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับผม การเขียนบล็อกก็ keystone habit เช่นกัน เพราะมันบังคับให้ผมต้องตื่นเช้า เพื่อจะได้เขียนบล็อกได้โดยไม่กระทบเวลางานและเวลาอยู่กับครอบครัว ทำให้ผมอ่านหนังสือ ทำให้ผมสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น การเขียนบล็อกทุกเช้าจึงกลายเป็น ritual ที่ผมคุ้นเคยและติดใจไปเรียบร้อย
2. อ่านหนังสือให้ใส่ B
เมื่อรู้ตัวว่าต้องเขียนทุกวัน สิ่งหนึ่งที่จำเป็นไม่น้อยกว่าการอ่านหนังสือคือการทำให้เนื้อหาที่อ่านเจอนั้นกลับมาตามหาได้ง่าย
เวลาอ่านหนังสือผมจะมีวิธีการไฮไลท์อยู่หลายแบบ อ่านได้ในบทความ วิธีไฮไลท์หนังสือทั้งเล่มด้วยดินสอแท่งเดียว
สิ่งหนึ่งที่เพิ่มมาจากบทความนี้ ก็คือการใส่ตัวอักษร “A” หรือ “B” กำกับเอาไว้ด้วย
A คือ Action
B คือ Blog
แล้วผมก็จะใช้หน้าแรกของหนังสือซึ่งมักจะมีพื้นที่ว่างทำเป็น Index เอาไว้ เช่น
B 123, 145, 201
แสดงว่าเนื้อหาในหน้า 123, 145, และ 201 นั้นสามารถเอาไปเขียนเป็นบล็อกได้ วันไหนคิดอะไรไม่ออก ก็หยิบหนังสือที่เคยอ่านขึ้นมา เปิดไปหน้า index ที่เราทำเอาไว้ แล้วก็พลิกดูหน้าเหล่านั้น ก็มักจะได้หัวข้อที่เหมาะสมสำหรับการเขียนบล็อกครับ
3. บทความดีๆ จะมาเป็นระลอก
การเขียนบล็อกก็เหมือนการเล่นกระดานโต้คลื่น บางทีทะเลก็ไร้คลื่นหรือมีแต่คลื่นลูกเล็กๆ บทความที่เขียนก็จะไม่ได้หวือหวาทั้งในแง่เนื้อหาหรือเสียงตอบรับ แต่บางคราวก็จะมีคลื่นลูกใหญ่ๆ มาติดกัน บทความที่เขียนในช่วง 4-5 วันนั้นก็จะได้รับการตอบรับดีเป็นพิเศษ เป็นช่วง “มือขึ้น” ของบล็อกเกอร์ก็ว่าได้ จากนั้นก็จะกลับมาเจอวันที่ตันๆ เขียนอะไรไม่ค่อยออกอีกครั้ง เป็นวัฏจักรที่เราต้องทำความรู้จักและยอมรับ
4. การสะกดคำให้ถูกสำคัญมาก
คุณวิศรุต สินพงศพร เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจังเคยมาพูด Wongnai WeShare ว่าคนอ่านเวลาจะแชร์บทความอะไรเขาก็อยากจะดูดี ถ้าบทความนั้นเขียนแล้วสะกดผิดเยอะคนอ่านก็จะไม่ค่อยอยากแชร์เพราะมันดูไม่ดี
ผมเองก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ค่อยเป๊ะนัก แต่ก็ระวังมากขึ้นเยอะหลังจากได้ฟังคุณวิศรุตในวันนั้น
5. ถ้าคิดไม่ออกให้ออกไปวิ่ง
การวิ่งก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองคล้ายๆ กับตอนอาบน้ำแต่กินระยะเวลายาวนานกว่า วิ่งไปก็รู้ตัวไป สักพักก็จะใจลอยคิดนู่นคิดนี่จนไปเจอหัวข้อที่น่าสนใจและกลายเป็นบทความดีๆ ในเวลาต่อมา
สำคัญคือต้องวิ่งที่ความเร็วและระยะทางที่กำลังพอดี ถ้าวิ่งเร็วเกินไปจะเหนื่อยจนคิดไม่ออก ถ้าวิ่งไกลเกินไปกว่าจะวิ่งเสร็จก็จะลืมไปแล้วว่าคิดอะไรได้ระหว่างที่วิ่ง
6. ขอแค่หนึ่งตอนล่วงหน้า
ผมเคยตั้งเป้าหมายว่าต้องมีบทความในสต๊อคไว้ซัก 15 ตอน แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังทำไม่ได้ เคยได้มากที่สุดก็แค่ 7 ตอนเท่านั้น แต่ผมได้เรียนรู้แล้วว่า ขอแค่มีหนึ่งตอนล่วงหน้าก็เพียงพอแล้ว เพราะมันจะทำให้เราไม่เครียด และทำให้เรามีเวลาเพียงพอที่จะเขียนบทความของวันมะรืนนี้ได้โดยไม่ต้องคาดคั้นตัวเองเกินไป
7. วาง KPI ลง
เขียนมาเกือบ 6 ปี ยอดคนตามยังไม่ถึงสามหมื่นคน แต่การโตช้าๆ ก็มีข้อดีตรงที่คนที่ไลค์เพจเรานั้นค่อนข้างเป็นกลุ่ม niche ที่ติดตามกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ค่อยมีนักเลงคีย์บอร์ด เป็นความผูกพันที่สบายใจและไม่กดดัน
8. วิธีรับมือกับคนที่มาคอมเมนท์แรงๆ
คนที่ทำเพจย่อมต้องเจอคนที่มาเขียนข้อความในเชิงไม่เห็นด้วย บางทีก็ตำหนิติเตียน บางทีก็กวนประสาท แน่นอนว่าเราอ่านแล้วก็อยากจะชี้แจงหรือตอบโต้ แต่พอตระหนักว่าพรุ่งนี้เราก็จะเขียนตอนใหม่แล้ว ผมเลยคิดได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปปกป้องตนเอง เขาผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เรานี่แหละที่ต้องอยู่ตรงนี้และผลิตงานต่อไปเรื่อยๆ
9. Writer
คือชื่อเครื่องมือที่ผมใช้เขียนบทความทั้ง 2,000 ตอน และใช้จดโน๊ตอื่นๆ อีกมากมาย ข้อดีคือมันหน้าตาโบราณ พื้นสีดำ อักษรสีเขียว ไม่มีอย่างอื่นที่เป็น distraction และผูกกับ Gmail ของเราดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวหาย ใครสนใจลองเข้าไปดูได้ที่ writer.bighugelabs.com
10. สรุปหนังสือแบบยาวๆ แล้วเราจะได้ประโยชน์ที่สุด
ผมสรุปหนังสือแบบแยกเป็นหลายตอนมาแล้ว 3 เล่มด้วยกัน
Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harari (20 ตอน)
Brave New Work by Aaron Dignan (15 ตอน)
The Black Swan by Nassim Nicolas Taleb (10 ตอน)
ส่วนอีกเล่มนึงสรุปเป็นแค่ตอนเดียวแต่ก็ยาวมากก็คือ วิธีการจัดบ้านแบบ KonMari จากหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up by Kondo Marie
เหตุผลที่เลือกสรุปหนังสือเหล่านี้เพราะผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนควรศึกษา อยากให้ได้อ่านกันเยอะๆ แต่คนที่จะได้ประโยชน์จากการสรุปหนังสือมากที่สุดก็คือตัวผมเอง เพราะทำให้ตัวเองเข้าใจเนื้อหาลึกซึ้งไปอีกขั้นนึงจนนำไปเปลี่ยนแปลงการทำงานและการใช้ชีวิตได้จริงๆ
11. เพจที่ไม่แชร์เรื่องของคนอื่น
ถ้าได้ติดตามเพจ Anontawong’s Musings กันมาสักพัก จะสังเกตว่าผมแทบไม่เคยแชร์โพสต์จากเพจอื่นเลยยกเว้นว่ามันจะมีความเชื่อมโยงกันโดยตรง เช่นเพจคิดด้วยภาพที่เอา Sapiens ไปแปลงเป็นการ์ตูนย่อยง่าย
เหตุผลที่ไม่ได้แชร์โพสต์คนอื่นมีอยู่ 2 ข้อ
– อยากให้ผู้อ่านมีประสบการณ์ที่คงเส้นคงวา คือรู้ว่าถ้าเข้ามาเพจนี้ก็จะได้อ่านแต่คอนเทนท์ของเพจนี้แน่ๆ
– ถ้าแชร์ของคนอื่น เราอาจจะย่อหย่อนเรื่องการเขียนบทความของตัวเอง
Content ดีๆ จากเพจอื่นผมจึงเก็บไว้แชร์แต่ใน profile ส่วนตัว
12. พอดคาสท์
มีหลายคนเชียร์ให้ผมทำพอดคาสท์ แต่ผมเป็นคนที่พูดไม่เก่งและไม่รู้ด้วยว่าจะพูดอะไร สิ่งเหล่านี้มันฝึกฝนได้ก็จริง แต่ผมยังรู้สึกว่าการเขียนมันได้รับการกลั่นกรองที่ดีกว่า กลับไป edit ได้ และที่สำคัญมัน search ได้ด้วย (พอดคาสท์ของไทยยังไม่มีบริการ transcript ให้เสิร์ชได้เหมือนพอดคาสท์เมืองนอก)
ด้วยงานที่ทำอยู่ ด้วยครอบครัวที่มี ผมยังไม่อยากใช้เวลากับ “งานราษฎร์” ไปมากกว่านี้ เพราะมันย่อมจะไปเบียดเบียนเวลาส่วนอื่นอย่างช่วยไม่ได้
13. Lindy Effect
ผมอ่านเจอคอนเซ็ปต์นี้ในหนังสือ The Black Swan ซึ่งกล่าวว่าอะไรที่อยู่มานานก็มีโอกาสจะอยู่ต่อไปอีกนานเพราะมันผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลามาแล้ว ในขณะที่ของใหม่ๆ ที่หวือหวานั้นมีสิทธิ์มาเร็วไปเร็ว
บล็อกนั้นเกิดขึ้นมาก่อนจะมี social media ก่อนจะมี FB Live ก่อนจะมี TikTok ดังนั้นผมก็เลยมีความเชื่อว่า Blog เป็นสื่อที่ผ่านการทดสอบมาเป็นอย่างดีแล้ว และคงจะอยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ Anontawong’s Musings ไม่เคยทำ Facebook Live หรือ Podcast เลย
14. Blockdit
Blockdit เป็นแอปหน้าตาคล้ายๆ เฟซบุ๊ค แต่สร้างโดยทีมงานชาวไทยอย่างลงทุนแมน ผมเข้าใจว่าจุดมุ่งหมายของเขาคือการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับคอนเทนท์ที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ ผมได้ลองปล่อยบทความลง Blockdit มาเกือบสองปีแล้ว ถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ดี บางตอนเขียนแล้วได้เงินด้วย จะมาเล่าให้ฟังโดยละเอียดในโอกาสต่อไป แต่ตอนนี้ขอเชียร์ให้โหลดมาเล่นดูครับ
15. LINE Official Account
หลายคนอาจไม่รู้ว่าบล็อกนี้มี LINE Official Account ด้วย ถ้าเข้า LINE แล้วเสิร์ชหา @anontawongsmusings ก็จะเจอ แต่ก่อนผมปล่อยบทความทางช่องทางนี้ มีคนตามอยู่หกร้อยกว่าคน แต่พอเขาปรับจาก LINE@ เป็น LINE OA เปลี่ยนโมเดลการเก็บเงินใหม่ ก็รู้สึกว่าค่าใช้จ่ายสูงเกินไป คือเดือนละ 1,500 บาท ซึ่งพอรวม Agency Fee และ VAT แล้วค่าใช้จ่ายจะตกปีละสองหมื่นกว่าบาท เลยหยุดไว้ก่อน แต่ก็ยังโพสต์ลง Timeline ทุกวันนะครับ เพียงแต่ต้องเสียเวลากดเข้าไปดูในหน้า Posts/Home เท่านั้นเอง
16. All Magazine
All Magazine คือนิตยสารแจกฟรีที่เต็มไปด้วยนักเขียนชั้นครูอย่างคุณวินทร์ เลียววาริณและอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ หาได้ตาม 7-Eleven ทั่วกรุงเทพและในบางจังหวัด
ต้องขอบคุณทีมงานออลแม็กกาซีน ที่ให้ผมเขียนคอลัมน์ “มุมละไม” มาเกือบ 30 ตอนแล้ว คอลัมน์นี้จะฉายด้านสว่างของมนุษย์ ลองอ่านตัวอย่างได้ในตอน พ่อผู้ให้ชีวิตใหม่ ซึ่งเล่าเรื่องราวของโบรกเกอร์จากเมืองผู้ดีที่กลายมาเป็นผู้ช่วยให้เด็กชาวยิวเกือบ 700 ชีวิตรอดพ้นจากนาซีและเก็บงำเรื่องนี้เป็นความลับถึง 50 ปี
17. นิทานวันศุกร์
ผมกำลังมีความคิดว่าจะคัดสรรนิทานวันศุกร์มาทำเป็นเล่ม มีภาพประกอบสวยๆ อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะวางแผงหรือขายตรงดีเพราะคงจะไม่ได้ mass มาก (เกรงใจสำนักพิมพ์) ใครอยากอ่านหรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรมาบอกกันได้นะครับ
18. เขียนหนังสือ
หนึ่งในความท้าทายต่อจากนี้คือการเขียนหนังสือเป็นเล่มๆ เพราะที่ผ่านมาหนังสือทั้งสองเล่มของผมล้วนเกิดจากการรวบรวมบทความในบล็อกมาจัดหมวดหมู่เท่านั้นเอง แต่การเขียนหนังสือจากศูนย์เลยนั้นเป็นเรื่องยากมาก ผมเคยพยายามลองทำมาแล้วแต่ยังไม่สำเร็จและมีเหตุให้ต้องพักไปเสียก่อน
19. เขียนบล็อกภาษาอังกฤษ
เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่ทำไปแล้วนิดหน่อย และคิดว่าน่าจะได้กลับมาทำอีกในเร็วๆ นี้ เนื้อหาอาจจะไม่ได้แปลจากภาษาไทยตรงๆ แต่ก็คงจะไม่ทิ้งกันนัก ถือเป็นการฝึกปรือภาษาอังกฤษ และหวังว่าจะได้นำเสนอเรื่องของการรู้เนื้อรู้ตัวให้กับฝรั่งที่อาจจะเก่งเรื่องคิดแต่ไม่เก่งเรื่องการเห็นความคิด
20. ขอบคุณกัลยาณมิตร
แม้จะเคยเขียนขอบคุณไปแล้วตอนครบ 1,000 ตอนแต่ก็อยากจะเขียนถึงอีกครั้ง เพราะกัลยาณมิตรนั้นสำคัญจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวที่เข้าใจและช่วยแชร์ คนทำสื่อต่างๆ ที่ผ่านมาเห็นบทความแล้วนำไปขยายผลต่อ รวมถึงคนอ่านผู้น่ารักที่คอยส่งกำลังใจมาให้อยู่เสมอ ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรเหล่านี้ผมคงหยุดเขียนไปนานแล้ว
ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ สัญญาว่าจะเขียนต่อไปเรื่อยๆ ครบ 3,000 ตอนเมื่อไหร่จะมาอัพเดตให้ฟังอีกครั้งนะครับ 🙂
—–
อ่านบทความทั้ง 2,000 ตอนได้ที่ anontawong.com/archive