กฎ 20 ไมล์และหลายมิติชีวิตที่เราควร DCA

DCA ย่อมากจาก Dollar-Cost Averaging

เป็นหลักการลงทุนที่เรียบง่ายแต่ได้ผล นั่นก็คือทยอยซื้อหุ้นหรือกองทุนเก็บไว้ด้วยความสม่ำเสมอ

เช่นบางคนอาจทำเรื่องหักเงิน 10,000 บาทจากบัญชีทุกเดือนเพื่อซื้อ SSF อัตโนมัติ สิ้นปีก็จะมีเงินในกองทุน 120,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้เอาไปลดหย่อนภาษีได้

Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money ก็ใช้หลักการ DCA สำหรับการลงทุนของเขาเอง เงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายประจำเดือนเขาจะเอาไปซื้อ Index Funds (กองทุนรวมดัชนีหุ้น) ที่ค่าบริหารจัดการต่ำ เขาไม่ได้วิเคราะห์ว่า sector ไหน หรือ industry ไหนน่าลงทุน ไม่ดูด้วยว่าจะเข้าซื้อเมื่อไหร่ หรือจะเทขายเมื่อไหร่ (not trying to time the market) สิ่งเดียวที่เขาทำคือทยอยซื้อเก็บไปเรื่อยๆ อ่านรายละเอียดได้ในบทที่ 20 – Confessions ในหนังสือดังกล่าว

Housel เคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องที่เขาโดนวิจารณ์หนักมากที่สุดสำหรับหนังสือ The Psychology of Money ก็คือบทที่ 20 ที่พูดถึงการจัดการเงินของตัวเขาเองนี่แหละ – ทรัพย์สินเขามีแค่ 3 อย่างเท่านั้น คือบัญชี savings กองทุนรวม และบ้าน

เพราะผู้อ่านหลายคนนึกว่า Housel จะมีวิธีการที่ซับซ้อนกว่านี้หรือดูฉลาดกว่านี้ พอเห็นว่าเขาซื้อกองทุนรวมดัชนีแบบไม่ได้ใช้ความคิดหรือความพยายามเลย จึงอดผิดหวังไม่ได้

แต่สำหรับผม หากเราอ่านสิ่งที่ Housel พยายามสื่อมาทั้งเล่มแล้ว เราก็ควรจะได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน

เพราะ “เวลา” หรือ “t” นั้นคือ “ตัวเลขยกกำลัง” ในสมการผลตอบแทนการลงทุน

ผลตอบแทนต่อปีจะเยอะเท่าไหร่ ไม่สำคัญเท่าเราอยู่กับมันยาวนานแค่ไหน

อีกอย่าง ผลตอบแทนนั้นควบคุมยากเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก แต่เราจะลงทุนยาวนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับเราเป็นหลัก


ใครที่ทำเพจ Facebook อาจจะรู้สึกว่าปีที่ผ่านมา algorithm ของมันแปลกๆ

บางโพสต์ก็มียอด reach เยอะมาก บางโพสต์ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทั้งๆ ที่เราก็ตั้งใจเขียนและเชื่อว่ามีดีเหมือนกัน

แน่นอนว่าบทความจะปังหรือไม่นั้นขึ้นกับหลายปัจจัย แต่คนที่ทำเพจมานานจะเข้าใจดีว่าก่อนหน้านี้ยอด reach มันไม่ได้แปรผันขนาดนี้

ในสัปดาห์เดียวกัน จึงอาจมีบางโพสต์ที่ขึ้นไปถึง 1000 แชร์ และอีก 3 โพสต์ที่เหลือมียอดแชร์ไม่ถึง 100 แชร์

เมื่อตั้งใจเขียนบทความมากๆ แต่ยอดแชร์ต่ำ คนทำ content ย่อมเสียขวัญกำลังใจและอาจต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง

เราจะหยุดเขียนตอนนี้ แล้วไปลองแพลตฟอร์มอย่างอื่นเช่น TikTok ดีหรือไม่

เราควรจะรอให้ Facebook มันเสถียรเรื่องการจัดการ reach กว่านี้ แล้วค่อยกลับมาเขียนดีหรือไม่

สิ่งเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับการเลือกว่าจะลงทุนใน industry ไหน รวมถึงการพยายามที่จะหาจังหวะเข้า-ออกจากตลาดหรือ time the market ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก

ผมเลยเลือกที่จะ DCA บล็อกของผมต่อไป ก็คือเขียนวันละโพสต์ไปเรื่อยๆ ถ้ายอดแชร์เยอะก็ดี ถ้ายอดแชร์น้อยก็เข้าใจว่ามันก็เป็นแบบนี้


หนึ่งในบทความของผมที่มีคนแชร์เยอะที่สุดคือ “กฎ 20 ไมล์” ที่ว่าด้วยการแข่งขันว่าใครจะพิชิตขั้วโลกใต้ได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ระหว่างคณะของนักสำรวจของชาวนอร์เวย์ชื่อ Roald Amundsen และ คณะของนักสำรวจชาวอังกฤษนาม Robert Falcon Scott

บทสรุปคือคณะของอมุนด์เซนนั้นพิชิตขั้วโลกใต้ได้ก่อนและกลับถึงบ้านโดยปลอดภัย ส่วนคณะของสก๊อตนั้นไปถึงขั้วโลกใต้ช้ากว่า 35 วัน และเสียชีวิตกันทั้งคณะในขากลับ

หนึ่งสิ่งที่คณะของอมุนเด์เซนทำแตกต่างออกไป ก็คือการเดินทางให้ได้ 20 ไมล์ทุกวัน ไม่ว่าอากาศจะดีหรือร้ายก็จะเดินทางวันละ 20 ไมล์เสมอ ส่วนคณะของสก๊อตนั้น ถ้าอากาศดีหน่อยก็จะโหมเดินทางให้ได้ไกลๆ ส่วนวันที่อากาศแย่หน่อยก็อาจจะแทบไม่ได้ออกเดินทางเลย

(หลังจากปล่อยบทความนี้ออกไป ก็มีคนมาให้ข้อมูลเพิ่มว่ามันยังมีปัจจัยอื่นๆ อยู่อีกที่ทำให้อมุนด์เซนสำเร็จและสก๊อตล้มเหลว ดังนั้นการเดินทางวันละ 20 ไมล์ไม่ใช่ปัจจัยหลักของการพิชิตขั้วโลกใต้ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าบางทีบางบทเรียนก็ไม่จำเป็นต้องถูกต้อง 100% ตราบใดที่เราสามารถหยิบมันมาใช้ในบริบทที่เหมาะสมแล้วมันเวิร์ค ผมก็คิดว่ามันควรค่าแก่การนำมาพูดถึง)

คณะของอมุนด์เซน จึง DCA การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ อากาศจะดีจะร้ายอย่างไร ก็เก็บให้ได้วันละ 20 ไมล์เสมอ


เมื่อเรามองไปรอบตัว เราจะเห็นการ DCA หรือกฎ 20 ไมล์เต็มไปหมด

ความสำเร็จไม่เคยเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แม้กระทั่งยอดนักเตะอย่าง Lionel Messi ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“It took me 17 years & 114 days to become an overnight success.”

เมสซี่ต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนมาเกือบทั้งชีวิต ก่อนที่จะ “ประสบความสำเร็จชั่วข้ามคืน” ในเสื้อของทีมบาร์เซโลนา

คำสุภาษิตจีนบอกว่า ความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดิน

อากาศจะดีหรือร้ายเป็นเรื่องของฟ้าดิน ตลาดจะขึ้นจะลงเป็นเรื่องของฟ้าดิน algorithm เฟซบุ๊คก็เป็นเรื่องของฟ้าดิน

เรื่องของมนุษย์อย่างเรา ก็คือจะยืนระยะอยู่ในเกมนี้ได้นานแค่ไหน เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่เราควบคุมได้

ลอง DCA ชีวิตของเราในหลากหลายมิติ เพื่อจะเดินทางไป-กลับขั้วโลกใต้โดยสวัสดิภาพครับ

วิธีวิ่งเร็ว-ทำงานเก่ง

วันก่อนผมผ่านไปเจอบทความหนึ่ง ซึ่งเสียดายว่าไม่ได้เซฟเก็บเอาไว้เลยไม่สามารถแปะแหล่งอ้างอิงได้ แต่ไอเดียมีประโยชน์มาก เลยขอนำมาเล่าสู่กันฟังตรงนี้ครับ

ผู้เขียนเล่าว่า ตอนที่เขาสมัครเข้าชมรมกรีฑาตอนมัธยมปลาย พ่อได้บอกเคล็ดลับเขาไว้อย่างหนึ่ง

“มองหาคนที่วิ่งเร็วที่สุดในกลุ่ม แล้วพยายามวิ่งตามเขาให้ทัน” (Find the fastest runner on the track and try to keep up with him)

ซึ่งเมื่อเขาทำตามคำแนะนำของพ่อ เขาก็กลายมาเป็นนักวิ่งที่ผลงานดีลำดับต้นๆ ในชมรม

พอเรียนจบออกมาทำงาน เขาจึงใช้หลักการเดียวกัน คือหาคนที่ฉลาดที่สุดในแผนกแล้วพยายามตามเขาให้ทัน – find the smartest person in the department and try to keep up with him or her.

เป็นวิธีที่น่าจะเหนื่อยน่าดู แต่ก็น่าจะพาให้ชีวิตเราไปได้เร็วขึ้นนะครับ

ว่าด้วยเรื่องเงินเดือนนายกรัฐมนตรี

บทความนี้มีจุดตั้งต้นจากการที่ผมอ่านเจอคำถามนี้ใน Quora:

What are the most underpaid jobs?

อาชีพอะไรที่ได้เงินเดือนน้อยเกินไป?

Asim Qureshi ซึ่งเคยเป็น VP ของ Morgan Stanley และ Credit Suisse มาตอบคำถามนี้ว่า อาชีพที่เงินเดือนน้อยเกินไปคือครูกับ Heads of Government (นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี หรือตำแหน่งใดก็ตามที่บริหารประเทศนั้น)

สำหรับอาชีพครูนั้น คนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยว่าควรได้เงินเดือนมากกว่านี้

แต่สำหรับนายกนั้นเขารู้ดีว่าคงมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง (controversial)

Asim เล่าว่าตอนที่เขาอายุยี่สิบปลายๆ และลาออกจาก Credit Suisse เงินเดือนของเขามากกว่า Tony Blair นายกของอังกฤษหลายเท่า

เขามองว่าเมื่อผู้บริหารประเทศได้ผลตอบแทนน้อยเกินไป ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการคอรัปชั่น และย่อมหมายความว่าเราอาจไม่ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมาบริหารบ้านเมือง

เราปรารถนาดีต่อคนในครอบครัวของเรายังไง เราก็ควรปรารถนาดีต่อคนในชาติเราอย่างนั้นไม่ใช่หรือ?

ไม่มีนายก (หรือประธานาธิบดี) คนไหนในโลกที่ได้เงินเกินปีละ $600,000 เหรียญ ยกเว้นประเทศเดียวคือสิงคโปร์ซึ่งได้เงินปีละ 2.2 ล้านเหรียญ ในขณะที่เงินเดือนของ CEO ในบริษัทที่รายได้สูงสุด 500 บริษัทในอเมริกานั้นมีรายได้เฉลี่ยปีละ 11 ล้านเหรียญ

Asim บอกว่า ลีกวนยูซึ่งเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์และอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นคนที่ตั้งกฎให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนสูงๆ เพื่อจะได้โฟกัสที่การทำงาน ทำงาน ทำงาน มากกว่าที่จะเข้ามาหากิน


คำตอบของ Asim บน Quora จบเท่านี้ แต่ผมสงสัยก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แค่กูเกิล prime minister salaries by country ก็เจอหน้า Wikipedia ที่บอกว่านายกแต่ละประเทศได้เงินเดือนเท่าไหร่บ้าง จากนั้นก็หาข้อมูลอื่นๆ มาเสริม

ถ้าใครอยากดูข้อมูลประกอบบทความนี้ไปด้วย ลองเข้า Google Sheets อันนี้แล้ว Make a copy หรือดาวน์โหลดมาเล่นได้ครับ

https://bit.ly/ampmsalaries

Wikipedia มีรายชื่อเกือบ 200 ประเทศ แต่ที่มีข้อมูลเงินเดือนนายกนั้นมีเพียง 144 ประเทศ

5 อันดับแรกได้แก่

  1. สิงคโปร์ ปีละ 1.6 ล้านเหรียญ (ต่างจากที่ Asim บอกว่าได้ 2.2 ล้าน) หรือตกเดือนละ 4.3 ล้านบาท (ใช้อัตราแลกเปลี่ยนของ 1 USD = 32 บาทเพราะข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนในตารางของ Wikipedia บอกว่ามาจากปี 2019)
  2. ฮ่องกง เดือนละ 1.5 ล้านบาท
  3. สวิตเซอร์แลนด์ 1.3 ล้านบาท
  4. สหรัฐอเมริกา 1.1 ล้านบาท
  5. เยอรมันนี 990,000 บาท

อันดับ 6-10 ได้แก่ออสเตรีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 700,000-980,000 บาท

ส่วนนายกของไทยนั้นจำง่ายมาก ได้อันดับที่ 100 พอดี รับอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับบทความที่ iTax เคยเขียนเอาไว้

อันดับข้างเคียง (95-105) ได้แก่บัลแกเรีย เวเนซูเอล่า ปาเลสไตน์ บุรุนดี เบลีซ แทนซาเนีย แซมเบีย ตองก้า และโบลิเวีย

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นายกไทยได้เงินเดือนน้อยกว่าฟิลิปปินส์ (สองแสนห้า) มาเลเซีย (แสนหก) และอินโดนีเซีย (แสนสี่) แต่ได้มากกว่าพม่า (แปดหมื่นเจ็ด) และกัมพูชา (แปดหมื่น) ที่ประหลาดและเชื่อได้ยากหน่อยคือเวียดนามที่ Wikipedia ระบุว่านายกได้เงินเดือนแค่สองหมื่นกว่าบาทเท่านั้น

แน่นอนว่าถ้าดูเงินเดือนอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ควรจะดูเรื่องอย่างค่าครองชีพ (Cost of Living Index) จำนวนประชากร และ GDP ของประเทศนั้นๆ ด้วย

อย่างที่กล่าวไป ถ้าดูเงินเดือนอย่างเดียว ไทยได้อันดับที่ 100 จาก 144 ประเทศ (ที่มีข้อมูลเงินเดือนนายก) หรืออยู่ที่ 30th percentile (Percentile ยิ่งต่ำแสดงว่ายิ่งอยู่รั้งท้าย)

ถ้าดูเงินเดือนโดยคิดเรื่องค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ ด้วย ไทยจะได้อันดับที่ 78 จาก 100 ประเทศ (เพราะ Cost of Living Index ไม่ได้มีครบทุกประเทศ) หรือประมาณ 22nd percentile

ประเทศไทยมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 20 จาก 190 ประเทศ (89th percentile)

ถ้าเอาเงินเดือนนายกหารด้วยจำนวนประชากร ไทยจะได้อันดับที่ 109 จาก 125 ประเทศ (13th percentile) (ผมตัดประเทศที่ประชากรน้อยกว่าสามแสนคนออกไปก่อน ไม่งั้นอันดับต้นๆ จะมีแต่ประเทศเล็กๆ ที่เราไม่รู้จัก)

โดยนายกไทยจะได้เงินเดือน 1.7 บาทสำหรับการดูแลประชาชน 1000 คน ใกล้เคียงกับพม่า (1.6 บาท) และฟิลิปปินส์ (2.2 บาท) แต่แพ้มาเลเซียกับอินโดนีเซียที่ได้เงินเดือนประมาณ 5 บาทต่อการดูแลประชากร 1000 คน

ประเทศไทยมี GDP มากเป็นอันดับที่ 26 จาก 189 ประเทศ (86th percentile)

ถ้าเอาเงินเดือนหารด้วย GDP ไทยจะได้อันดับที่ 105 จาก 126 ประเทศ (17th percentile)

สำหรับทุกๆ $1 million ของ GDP นายกไทยได้เงินเดือนเกือบสลึง (24 สตางค์) น้อยกว่าพม่า (1.34 บาท) ฟิลิปปินส์ (65 สตางค์) กับมาเลเซีย (44 สตางค์) แต่มากกว่าอินโดนีเซีย (12 สตางค์)

คำถามว่าถ้านายกได้เงินเดือนเยอะแล้วคอรัปชั่นจะน้อยลงหรือเปล่า (ไม่ว่าจะเป็น causation หรือ correlation ก็ตาม) ผมคิดว่าข้อมูลอาจยังไม่ได้บ่งชี้ขนาดนั้น

ใน 180 ประเทศ ไทยเป็นอันดับที่ 114 เรื่องการต่อต้านคอรัปชั่น (37th percentile)

5 ประเทศที่คอรัปชั่นน้อยที่สุดคือเดนมาร์ค ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสิงคโปร์ ซึ่งนายกได้เงินเดือนอันดับที่ 26, 43, 12, 38 และ 1 ตามลำดับ (คิดเรื่องค่าครองชีพแล้ว)

ถ้าดูประเทศที่นายกได้เงินเดือนเยอะที่สุด 5 ประเทศโดยคิดเรื่องค่าครองชีพแล้ว ก็จะเห็นว่าบางประเทศยังมีการคอรัปชั่นพอสมควร (ตัวเลขในวงเล็บยิ่งสูง แสดงว่าคอรัปชั่นยิ่งเยอะ)

Singapore (5)
Hong Kong (12)
South Africa (71)
Austria (13)
Turkey (101)


บทสรุป

  1. เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นายกไทยถือว่าได้เงินเดือนค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึง GDP และจำนวนประชากร
  2. ถ้าเราขึ้นเงินเดือนให้คนในรัฐบาลเยอะๆ เราอาจจะเหมือนสิงคโปร์หรือฮ่องกงที่คอรัปชั่นน้อย หรืออาจจะเหมือนแอฟริกาใต้หรือตุรกีที่คอรัปชั่นยังเยอะอยู่ดีก็ได้

อย่างที่คุณ Asim เขียนไว้ว่าหัวข้อนี้มันละเอียดอ่อนและน่าจะทำให้เกิดการโต้แย้ง แต่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่น่านำไปขบคิดต่อ เพราะ

  1. ถ้ามองด้วยเลนส์ของนักเศรษฐศาสตร์ คนเราจะตอบสนองต่อแรงจูงใจเสมอ (People respond to incentives) เพียงแต่ว่า incentives ที่ว่านั้นมันจะพาให้คนส่วนใหญ่ดีขึ้นหรือคนส่วนใหญ่แย่ลง
  2. ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณเนื้อหาครึ่งแรกจาก Quora: Asim Qureshi’s answer to What are the most underpaid jobs?