ไม่มีทีมงานที่แย่ มีแต่หัวหน้าที่แย่

“There are no bad teams, only bad leaders”
-Jocko Willink

คนทำงานทุกคนมีศักยภาพอยู่ในตัว ผู้นำที่ดีคือคนที่สามารถดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของทีมได้

เวลาทีมฟุตบอลฟอร์มตก คนแรกๆ ที่จะโดนตำหนิก็คือผู้จัดการทีม

ถ้าทีมทำงานช้า เกี่ยงงาน ไม่ให้ความร่วมมือ คนที่ควรโดนตำหนิก็คือหัวหน้าเช่นกัน

ถ้าเราเป็นหัวหน้า แล้วลูกน้องยังทำงานไม่ได้ดั่งใจ ลองกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ว่าเราสอนเขาดีพอหรือยัง ใช้คนถูกกับงานหรือยัง เรามีความเป็นผู้ใหญ่พอหรือยัง

มีคนกล่าวไว้ว่าฝูงแกะที่นำโดยสิงโตนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าฝูงสิงโตที่มีแกะเป็นจ่าฝูง

ถ้ารู้ตัวว่าทีมของเรามีสิงโตเป็นหัวหน้า ก็ขอแสดงความยินดีด้วย แม้งานจะหนัก งานจะยาก แต่เราก็ยังโชคดีกว่าใครหลายคน

แต่ถ้าทีมของเรามีแกะเป็นหัวหน้า หรือหนักกว่านั้นคือมีเด็กเลี้ยงแกะเป็นหัวหน้า ก็ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการหล่อหลอมตัวเองให้เก่งและแกร่งกว่าเดิม

และเรียนรู้ว่าโตขึ้นเราจะไม่เป็นหัวหน้าแบบนั้นครับ

เมื่อ Google เลือกคนโดยดูใบปริญญา

หนึ่งในคุณลักษณะขององค์กรที่ดีคือการเปิดกว้างให้พนักงานได้ลองย้ายแผนกเพื่อทำอะไรใหม่ๆ (job rotation)

แม้ว่า Google จะเป็นองค์กรที่ใครๆ หลายคนชื่นชม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยเดินหมากผิดเลยในเรื่องการบริหารจัดการคน

ทีม Product Management คือทีมที่ทำงานร่วมกับ software developers โดยมี PM หรือ Product Managers เป็นคนคอยตัดสินใจว่าซอฟท์แวร์เวอร์ชั่นถัดไปจะมี features อะไรใหม่และจะต้องแก้ปัญหา (bug fixes) อะไรบ้าง

กูเกิ้ลเคยมีกฎเหล็กว่าคนที่จะเข้ามาอยู่ในทีม Product Management จะต้องเรียนจบสาขา Computer Science มาเท่านั้น ทำให้พนักงาน Google หลายคนหมดสิทธิ์ที่จะย้ายเข้าทีมนี้แม้จะมีไอเดียดีๆ ที่อยากทำให้บริษัทมากมายก็ตาม

เมื่อไม่สามารถทำสิ่งที่ต้องการได้ หลายคนจึงเลือกที่จะลาออกจากกูเกิ้ลเพื่อไปทำสิ่งที่เขาวาดไว้ในหัวให้เป็นจริงขึ้นมา

Biz Stone ลาออกไปก่อตั้ง Twitter

Ben Silbermann ลาออกไปก่อตั้ง Pinterest

และ Kevin Systrom ลาออกไปก่อตั้ง Instagram

ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าสามคนนี้ได้ย้ายไปทำ Product Management และได้ลองสร้างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ Google บริษัทจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เดี๋ยวนี้ Google ไม่ได้มีกฎที่บังคับให้คนสมัครทีม Product Management ต้องจบ Computer Science อีกแล้ว

เรื่องการรับคนโดยดูปริญญาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะถ้าพื้นฐานไม่แน่นพอก็ทำงานลำบาก

แต่นี่คือยุคที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการเรียนในระบบ หากพนักงานได้แสดงศักยภาพให้เห็นว่าน่าจะทำงานนี้ได้ องค์กรก็ควรให้โอกาสเขาได้ลองดูสักตั้ง

ถ้าทำไม่ได้ก็คงไม่เสียหายมากนัก

แต่ถ้าทำได้ขึ้นมา เขาอาจกลายเป็น game changer ของเราก็ได้นะครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ Radical Candor โดย Kim Scott

สามปีของนิกที่ Wongnai กับผู้ชายที่ชื่อ “ยอด ชินสุภัคกุล”

20200809

สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนอาจทราบข่าวที่ LINE MAN กับ Wongnai จะควบรวมกัน โดย “ยอด” ยอด ชินสุภัคกุล ที่เป็น CEO และ Co-Founder ของ Wongnai จะขึ้นเป็น CEO ของบริษัทใหม่ในเดือนกันยายนนี้

สิ้นเดือนสิงหาคมจึงจะเป็นวันสุดท้ายของบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด

และวันที่ 1 กันยายน 63 จะเป็น “วันแรก” ของ LINE MAN Wongnai

วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ยอดโพสต์ความรู้สึกที่มีต่อโอกาสครั้งใหม่นี้ลงเฟซบุ๊ค

และ “บอย” ซึ่งเป็น CTO และ co-founder ก็โพสต์เล่าความหลังให้ฟังด้วยเช่นกัน

เมื่อวานนี้ ผมไปอ่านเจออีกโพสต์หนึ่งของ “นิก” ที่ตอนนี้เป็น Marketing & Operations Director ของ Wongnai คิดว่ามีประโยชน์สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต เลยขออนุญาตนิกมาลงในบล็อกนี้ครับ

—–

“วันแรกที่พบกัน”

– นัดสัมฯ บ่ายสองที่ปานจิตต์ ไปถึงเลท 15 นาที คิดในใจสงสัยไม่รอดแน่ รอซักพัก คนสัมฯ เดินมาเรียกเองที่หน้าประตู คำแรกที่พูดกับเราคือ “นิก เชิญ” น้ำเสียงห้วน ๆ โหด ๆ หน่อย

– สัมฯ อยู่นานพอควร ตำแหน่ง BD โดนบอกตอนนั้นเลยว่า “คุณไม่ใช่ BD”

– สัมฯ เสร็จออกมาถาม feedback พี่หลุยส์ ได้คำตอบว่า “ยอดบอกแค่ว่านิกดูเป็นคนดีนะ” คิดในใจ คงไม่ได้ทำงานที่นี่ละ

– สรุปวันถัดมา ยังไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากสัมฯ พี่เมโทรมา “บริษัทรับเข้าทำงานตำแหน่ง Offline Marketing & PR Manager นะคะ” ทั้งที่เราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลยแม้แต่น้อย

– งงมาก แต่ก็ใช้เวลาตัดสินใจรับ offer ภายในเวลาไม่ถึงสิบนาที เงินเดือนมากกว่าที่เก่าไม่เท่าไหร่ แต่การตัดสินใจครั้งนี้คือเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล และตั้งแต่นั้นเราก็ไม่เคย say no กับสิ่งที่พี่ยอดพี่หลุยส์ offer ให้แม้แต่ครั้งเดียว

>> พี่ยอด ผู้ที่มองถึง potential มากกว่าสิ่งที่เห็นหรือเป็นอยู่ตรงหน้า เป็นเหตุผลที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ที่ Wongnai ในทุกวันนี้ ซึ่งต่างจากวันแรกที่เข้ามามาก ๆ มาไกลแบบที่เรายังไม่เชื่อในตัวเองด้วยซ้ำว่าเราจะมาอยู่ตรงนี้ได้ แต่พี่ยอดเชื่อไปก่อนหน้านั้นแล้ว และทำให้เราบอกตัวเองเสมอว่าจะไม่ทำให้พี่ยอดผิดหวัง

“บทเรียนจากการทำงานกับพี่ยอด”

– Speed is king “เดี๋ยวนี้ปลาเร็วกินปลาช้ากันทั้งนั้น”

– Don’t be perfectionism “อย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ
ตั้งเป้าไว้สาม ทำได้หนึ่งก็ถือว่าทำได้บ้างแล้ว อย่าใจร้ายกับตัวเอง”

– Impact matters “ทำแล้วได้อะไรมั้ย ถ้าทำแล้วไม่ได้ให้เลิกทำ ระบบ ระเบียบ วิธีการ เปลี่ยนได้ทั้งนั้น ถ้ามันไม่เวิค”

– No silo “Make the company great ไม่ใช่ make your team great เอา goal ของบริษัทเป็นที่ตั้งเสมอ”

– The way you type reflects yourself “พิมพ์ให้ถูก สะกดให้ถูก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ตั้งใจ และเป็นมืออาชีพ”

– Stop being bureaucratic “อย่าให้คำว่าระบบมาตีกรอบ ระบบทำให้ทุกอย่างช้า ถ้าสอนให้ทีมเข้าใจเป้าหมายและสิ่งที่เค้าควรทำ ระบบก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป”

– Done is better than perfect “คุณคิดเยอะคิดนานไปก็เท่านั้น คิดไปทำไปแก้ไป ถึงจะทันคนอื่นเค้า”

– Saying yes with some conditions is much better than saying no “อย่าตีกรอบตัวเองด้วยคำว่าทำไม่ได้ ทำได้แต่ compromise บางอย่าง อย่างน้อยมันก็ยังได้ทำ”

– Emailing is an art “เขียนอีเมลหรือบทความให้คิดถึงคนอ่าน มันเป็นศาสตร์ของคนเป็น leader”

– Negative feedback grow you, not positive “อย่าหลงดีใจไปกับคำชม คำติต่างหากที่ทำให้เราเติบโต”

– Always lead by example “วิธี lead ทีมที่ดีที่สุดคือการทำให้ดู”

>> พี่ยอด ผู้เป็นเสมือนครู สามปีที่ได้เรียนกับครูคนนี้เราเดินทางมาไกลมาก และเดินไปในทิศทางที่มั่นใจว่าถูกต้อง เคยโกรธ เคยน้อยใจพี่ยอดเวลาโดนดุโดนว่า แต่สุดท้ายทุกครั้งที่ตั้งสติได้และพยายามทำความเข้าใจ นำสิ่งนั้นมาปฏิบัติทีไร กลายเป็นเราที่ได้พัฒนาปรับปรุงตัวเองไปทีละนิด มาถึงวันนี้วิธีคิดหลายอย่างเปลี่ยนไปมากมายจริง ๆ ถึงเราอาจจะยังไม่ดีที่สุด แต่เราดีขึ้นกว่าวันแรกแน่ ๆ

“คำสอนนอกห้องเรียน”

– วันยกน้ำชาตอนแต่งงาน พี่ยอดให้พรว่า “อย่าเอาความ perfectionist มาใช้กับชีวิตคู่นะ” คำนี้ทำให้มีสติในการใช้ชีวิตคู่อยู่ตลอดจริง ๆ

– หลังแต่งงานพี่ยอดบอกว่า “คนเราต้องมีลูกนะ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเราเป็นประชากรที่ดี เราต้องส่งต่อประชากรที่ดีให้กับโลกใบนี้ต่อไป” คำนี้ทำให้คนที่เคยไม่อยากมีลูกอย่างเราเริ่มเปลี่ยนความคิด

– หลังจากเริ่มคิดที่จะมีลูก พี่ยอดบอกว่า “บริษัทสนับสนุนเต็มที่ ไม่ต้องกังวลนะ something is more important than work” คำนี้ทำให้เราพยายามใส่ใจครอบครัวมากขึ้น

>> พี่ยอด ผู้ที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับชีวิตด้านอื่น ๆ ของพนักงาน พี่ยอดนอกเวลางานคือคนที่คุยเล่นกับพนักงาน ถามไถ่หลายสิ่งอย่าง และใส่ใจจำมันได้มากกว่าที่เราคิด พี่ยอดคือคนที่มีอิทธิพลกับชีวิตเราในหลาย ๆ ด้าน

เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ผ่านไปสามปีกว่าแล้ว

สามปีที่ Wongnai ผ่านไป ปีแรกของ LMWN กำลังจะเริ่มขึ้น ขอบคุณพี่ยอดที่ทำให้พวกเราได้มีโอกาสสัมผัส once-in-a-lifetime experience ในครั้งนี้

So proud to be a part of this legend. I commit myself to make your mission come true. We’re gonna bring pride to Thai startup.

***ทุกปาร์ตี้ที่บริษัทเรามักจะขอให้วงดนตรีเล่นเพลง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ให้พี่ยอดในตอนจบเสมอ เพราะท่อนฮุคของเพลงนี้มันบอกแทนสิ่งที่พี่ยอดกำลังทำอยู่จริง ๆ ฟังเพลงนี้เวอชันไหน ก็ไม่ขนลุกเท่าเวลาพี่ยอดตะโกนใส่ไมค์และมีพนักงานกอดคอกระโดดกันร้องตามอย่างบ้าคลั่ง (วงไหนจะมาเล่นในงานที่บริษัทเรา ต้องแกะเพลงนี้มานะ)

“เราจะออกไปแตะขอบฟ้าด้วยกัน”
#LMWN #dayone


ขอบคุณเนื้อหาจาก

นิก บันทึกไว้เตือนความทรงจำ…สามปีของนิกที่ Wongnai กับผู้ชายที่ชื่อ “ยอด ชินสุภัคกุล” 

ถ้ายังอินอยู่ ตามไปอ่านโพสต์ของยอด ของบอย และบล็อกของผมได้ครับ

ยอด: https://www.facebook.com/yod.chinsupakul/posts/10223503012863396

บอย: https://www.facebook.com/pattrawoots/posts/10158463473478043

ผมเขียนถึงยอดในปี 2018 : ถอดรหัสการทำงานของ ยอด Wongnai

และถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็ขอ tie-in เบาๆ ว่าเรากำลังเปิดรับคนกว่า 100 ตำแหน่งครับ >> careers.lmwn.com