แฟนผมบอกว่าผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะเป็นพิเศษ เยอะแบบผิดปกติ
ถ้ามองย้อนกลับไป น่าจะมีปัจจัยอยู่สามข้อ
- ตอนเด็กๆ พ่อผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะเหมือนกัน ครอบครัวผมฐานะปานกลาง จึงแทบไม่เคยซื้อของเล่นราคาแพงหรือกินอาหารร้านหรู แต่สิ่งเดียวที่พ่อแม่ผมไม่เคยประหยัดเลยคือการซื้อหนังสือให้ลูก
- ตอนมัธยมปลายผมไปเรียนนิวซีแลนด์ซึ่งมีฟรีทีวีมีแค่สามช่อง รายการเดียวที่ดูได้คือซิตคอม Friends เวลาว่างเหลือเยอะ เลยขนหนังสือจากเมืองไทยไปอ่านที่นั่น และสมัครสมาชิกมติชนสุดสัปดาห์เพื่อติดตามข่าวสารในเมืองไทย
- ตอนที่รถไฟใต้ดินเปิดทำการ ผมเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปทำงาน จากที่เคยขับรถไปจอดสวนลุมไนท์บาซ่าร์และเดินไปตึกอื้อจื่อเหลียง ผมเปลี่ยนเป็นขึ้นรถไฟฉึกฉักจากสถานีหัวหมากไปลงที่หยุดรถอโศก เดินไปขึ้นรถใต้ดินสถานีเพชรบุรีตัดใหม่แล้วลงที่สถานีลุมพินี – 80% ของเวลาเดินทางจึงสามารถใช้อ่านหนังสือไปด้วยได้ แต่ที่ได้อ่านเยอะที่สุดคือตอนรอรถไฟฉึกฉักเพราะมักจะมาสาย 15-30 นาทีเสมอ (สมัยนั้นยังไม่มี smartphone ด้วย เลยไม่มีอย่างอื่นให้ดู)
เมื่อหนังสือคือส่วนสำคัญของชีวิต ผมก็เลยมีเวลาได้ขบคิดและเรียนรู้จากคนอื่นเรื่องการอ่านหนังสือ และคิดว่าบางมุมมองน่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่ติดตาม Anontawong’s Musings เลยขอนำมาแชร์ไว้ตรงนี้ครับ
- Naval Ravikant นักลงทุน VC ชื่อดังบอกว่าการนั่งนับจำนวนหนังสือที่อ่านจบคือการวัดผลที่เปล่าดาย “The number of books completed is a vanity metric. As you know more, you leave more books unfinished.“
- ได้ยินครั้งแรกผมก็รู้สึกค้านในใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงเริ่มมองเห็นว่าทำไมเราไม่ควรตั้งเป้าว่าเดือนนึงหรือปีนึงจะอ่านหนังสือได้กี่เล่ม เพราะเมื่อเราตั้งเป้าเป็นจำนวนหนังสือที่จะอ่านให้จบ สิ่งที่อาจตามมาจะมีดังนี้
- เราจะให้เวลากับการอ่านหนังสือที่อ่านง่ายๆ เพราะอยากทำตัวเลข
- เราจะไม่ค่อยอ่านหนังสือหนาๆ หรือหนังสือยากๆ เพราะใช้เวลาเยอะเกินไป กว่าจะอ่านจบอาจกินเวลา 1-2 เดือน
- เราจะไม่อ่านหนังสือดีๆ ซ้ำสองรอบ ทั้งที่หนังสือบางเล่มมีความลึกซึ้ง และการอ่านรอบสองจะได้ประโยชน์มากกว่าการอ่านรอบแรก
- เราจะมีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือในกระแส หนังสือออกใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่หนังสือที่มีคุณค่าเสมอไป
- Ravikant ยังบอกอีกว่า แทนที่เขาจะอ่านหนังสือ 100 เล่ม เขาอยากอ่านหนังสือระดับตำนาน 10 เล่มจบ 10 รอบมากกว่า ผมว่า Ravikant อาจจะพูดเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เข้าใจประเด็นว่าปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ
- Nassim Taleb ผู้เขียน The Black Swan, Antifraigle และ Skin in the Game บอกว่าเขาไม่ชอบไปโรงเรียน และคนที่สอบได้คะแนนดีๆ นั้นมักจะรู้ดีแต่เรื่องที่อยู่ในหนังสือเรียน
- แต่ Taleb ชอบอ่านหนังสือที่หลากหลาย เขาเกิดในเลบานอนและโตมาในยุคที่มีสงครามกลางเมือง เลยใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่แต่กับหนังสือเพราะออกไปไหนไม่ค่อยได้
- Taleb ไม่เคยจดว่าตัวเองอ่านหนังสือจบไปกี่เล่ม แต่จะจดว่าแต่ละวันอ่านหนังสือไปกี่นาที/กี่ชั่วโมง
- สำหรับคนที่ชอบทำสถิติหรือจดตัวเลข ผมคิดว่าการเอา “ระยะเวลาที่ใช้อ่านหนังสือในแต่ละวัน” น่าจะเป็น KPI ที่มีความเป็นกลางมากกว่า และจะช่วยคลี่คลายปัญหาที่ผมกล่าวถึงด้านบนได้ (อ่านแต่หนังสือง่ายๆ ไม่อ่านหนังสือยากๆ ไม่อ่านซ้ำทั้งที่ควรอ่าน) เพราะเราไม่สนใจจำนวนเล่มที่อ่านจบอีกต่อไป สนใจแต่ว่าเราได้ใช้เวลากับการอ่านมากน้อยแค่ไหน
- Taleb ยังแนะนำอีกว่าอย่าอ่านหนังสือที่ใหม่กว่า 10 ปี เพราะไม่รู้ว่ามันดีจริงรึเปล่า ถ้าอีก 10 ปียังมีคนพูดถึงอยู่เราค่อยอ่านก็ยังไม่สาย ส่วนหนังสือที่อายุเกิน 100 ปี หรือ 1000 ปียิ่งควรอ่าน เพราะมันได้รับการกลั่นกรองจากกาลเวลามาแล้ว
- ผมเคยเขียนบทความ “ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ” โดยยกตัวอย่าง “พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ที่ได้ไอเดียสดใหม่ในการบริหารคนและองค์กรจากการอ่านคัมภีร์เต้าเต๋อจิง
- อีกประเด็นนึงสำหรับหนังสือเก่า ก็คือสมัยก่อนนั้นการทำหนังสือสักเล่มต้นทุนสูงมากถึงมากที่สุด (เรากำลังพูดถึงยุคก่อนที่ Gutenberg จะปฏิวัติการผลิตหนังสือ) ดังนั้นหนังสือเก่าแก่จึงจำเป็นต้องเขียนให้กระชับ เนื้อๆ เน้นๆ เพื่อจะได้มี waste ให้น้อยที่สุด
- มองกลับมาสมัยนี้ ที่ใครจะสร้าง content อะไรที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้โดยแทบจะไม่มีต้นทุน (เช่นบทความนี้!) สิ่งที่เขียนออกมาอาจมีเนื้อหาที่ไม่ได้เข้มข้นเท่ากับหนังสือเก่าแก่
- ส่วนหนังสือใหม่ที่อยู่ในกระแส ใครๆ ก็อ่านกัน เมื่อเราอ่านหนังสือเหมือนกับคนอื่น เราก็จะคิดเหมือนกับคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราขาด edge หรือข้อได้เปรียบ
- ไม่ได้แปลว่าหนังสือใหม่ไม่ควรอ่านเลยนะครับ เพียงแต่ควรจะเลือกให้ดีๆ เท่านั้นเอง หนังสือเล่มโปรดของผมหลายเล่มก็ได้อ่านตั้งแต่ตอนออกใหม่ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sapiens, The Psychology of Money หรือ Four Thousand Weeks.
- อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้ Taleb อ่านหนังสือได้เยอะๆ ก็คือถ้าหนังสือเล่มไหนน่าเบื่อเขาจะเลิกอ่านทันที – Life is too short to be reading a boring book.
- แต่เราต้องไม่สับสนระหว่างหนังสือน่าเบื่อกับหนังสืออ่านยาก อย่างหนังสือของ Taleb ทุกเล่มนั้นอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันจะมีอะไรบางอย่างที่ดึงให้เรากลับไปอ่านต่อและใช้เวลาทำความเข้าใจกับมัน (ซึ่งถ้าเราตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเล่มของหนังสือที่จะอ่านให้จบ เราก็อาจไม่พร้อมที่จะใช้เวลากับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งได้นานๆ ซึ่งผิดกับการตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือวันละกี่นาที)
- แต่ก่อนผมเคยมีกติกาว่าถ้าอ่านหนังสือแล้วก็อยากอ่านให้จบ และไม่ควรอ่านหนังสือพร้อมกันเกิน 3 เล่มไม่อย่างนั้นจะอ่านไม่จบสักเล่มเดียว
- อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจ Nopadol’s Story เคยตั้งข้อสังเกตว่าการที่เราทนอ่านหนังสือไม่ดีให้จบถือเป็น sunk cost fallacy อย่างหนึ่ง
- เดี๋ยวนี้หนังสือที่ผมอ่านไม่จบจึงมีมากกว่าหนังสือที่ผมอ่านจบ มีความรู้สึกผิดอยู่บ้างแต่ก็เริ่มชินแล้ว
- อีกหนึ่งความรู้สึกผิดที่คนรักหนังสือชอบมีกันก็คือ “กองดอง” ขนาดมหึมา แต่พอมีงานหนังสือทีไรก็อดไม่ได้ที่จะซื้อมาทำให้กองดองมันใหญ่ขึ้นไปอีก
- Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks เคยเขียนบทความชื่อ “Treat your to-read pile like a river, not a bucket” – ให้มองว่าหนังสือคือแม่น้ำที่เราเลือกจะตักน้ำขึ้นมาดื่มเมื่อไหร่ก็ได้ อย่าไปมองว่ามันคือถังน้ำที่เราต้องคอยเทน้ำออกให้หมด
- เมื่อเราไม่ได้มองการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” แบบเดียวกับที่เรามอง to do list แต่เป็นเพียงทางเลือกในการใช้เวลาและพักผ่อนหย่อนใจ ความรู้สึกผิดต่อกองดองก็จะมีน้อยลง
- วิธีที่จะอ่านหนังสือได้มากขึ้นคือการไม่เอามือถือเข้าห้องน้ำ
- เวลาอ่านหนังสือผมจะมีไฮไลท์หลักๆ อยู่สามแบบ หนึ่งคือไฮไลท์ปกติ สองคือไฮไลท์ประเด็นสำคัญของหนังสือ และสามคือไฮไลท์ว่าเรื่องนี้เอาไปเขียนบล็อกได้
- ไฮไลท์ปกติผมจะใช้ดินสอขีดเส้นแนวดิ่งด้านข้างของย่อหน้าหรือประโยคนั้นๆ ไฮไลท์ประเด็นสำคัญของหนังสือจะใช้เครื่องหมาย + (ตอนแรกใช้ * แต่เครื่องหมาย + ออกแรงขีดน้อยกว่า) ส่วนไฮไลท์เรื่องที่เอาไปเขียนบล็อกได้ก็จะใช้ตัว B
- หน้าแรกด้านในมักจะมีพื้นที่ว่าง ผมจะทำ Index เอาไว้ว่าผมใส่ + ไว้หน้าไหนและใส่ B ไว้หน้าไหนบ้าง เวลาจะกลับมาทวนก็สามารถเจาะดูหน้าเหล่านั้นได้เลย
- บางทีผมก็ใส่เครื่องหมายอื่นเอาไว้ด้วย เช่น T (Typo สะกดผิด), A (Action สิ่งที่เราควรเอาไปลงมือทำจริง)
- ผมยังไม่เคยใช้ Kindle สำหรับการอ่านหนังสือ น้องที่ออฟฟิศบอกว่าจะเอามาให้ผมดูหลายครั้งแล้วแต่ก็คลาดกันทุกที ถ้าใครอ่าน Kindle อยู่แล้วรบกวนแนะด้วยครับว่าเราสามารถไฮไลท์ได้หลากหลายอย่างที่ผมเขียนข้างบนได้รึเปล่า (ผมลองเสิร์ชดูคร่าวๆ เหมือนจะไฮไลท์ด้วยสีต่างกันได้)
- หนังสือเป็นเล่มมีข้อดีคือกรีดเล่มดูได้ง่าย แถมหนังสือมันสวยด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าใครเคยไปเดิน Open House ชั้นบนสุดของ Central Embassy จะเข้าใจดีว่าหนังสือคืออุปกรณ์ตกแต่งชั้นยอด
- แต่ข้อเสียของหนังสือก็คือใช้พื้นที่และมีฝุ่นเยอะ ผมเองเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่นเลยมีความสัมพันธ์แบบ love-hate relationship กับหนังสือเก่าๆ บนชั้นอยู่เหมือนกัน ถ้าจะหยิบมาอ่านบางทีก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วย
- พอชั้นเริ่มเต็ม และเราเพิ่งไปเดินงานหนังสือมา หนังสือใหม่ก็จะเริ่มไปกินพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในบ้าน ทำให้ห้องรกไม่ spark joy ซึ่งถ้าอ่าน Kindle เป็นหลักคงจะไม่เจอปัญหานี้
- ผมเคยถามพี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาว่าจัดการหนังสือยังไง พี่ภิญโญตอบว่าต้องมีการคัดออกทุกปี เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ให้หนังสือใหม่ และไม่ยึดติดกับหนังสือที่เราไม่คิดจะอ่านอีกแล้ว ส่วนถ้าไม่อยากให้หนังสือมีฝุ่น ก็ควรเก็บอยู่ในตู้กระจกหรือไม่ก็เก็บไว้ในห้องที่ไม่เปิดหน้าต่าง
- แอปสรุปหนังสือผมน่าจะใช้ครบทุกยี่ห้อ และเลิกใช้ไปแล้ว เหตุผลอยู่ในบทความชื่อ “เหตุผลที่ผมเลิกใช้บริการ Book Summaries”
- ผมเคยพยายามฟัง Audiobook ตอนขับรถไปทำงาน แต่ไม่ค่อยเข้าหัวเท่าไหร่ จะไฮไลท์ก็ทำไม่ได้ จะกลับมาทบทวนยิ่งลำบาก
- สิ่งที่ผมมักจะฟังตอนขับรถคือสัมภาษณ์หรือปาฐกถาของนักเขียนที่ผมกำลังอ่านหนังสือของเขาอยู่ ยกตัวอย่างเช่นล่าสุดผมอ่านหนังสือ Skin in the Game ผมก็จะไล่ฟัง Podcast/Youtube ที่ Nassim Taleb พูดถึงหนังสือเล่มนี้เป็นสิบคลิป พอกลับไปอ่านหนังสืออีกครั้งก็จะกระจ่างกว่าเดิมมาก ผมทำเช่นเดียวกันนี้กับนักเขียนคนโปรดคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Yuval Noah Harari (Sapiens), Morgan Housel (The Psychology of Money) และ Oliver Burkeman (Four Thousand Weeks)
และนี่คือมุมมองการอ่านหนังสือของผมในปี 2023
ไว้อนาคตถ้ามีมุมมองเพิ่มเติมจะมาแชร์อีกนะครับ